|
|
เที่ยวทั่วไทย-เขื่อนคลองท่าด่าน (๒)
เขื่อนคลองท่าด่าน (๒)
เขื่อนคลองท่าด่าน เป็นโครงการที่พัฒนาจากโครงการท่าด่าน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่ราบเชิงเขา เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้แก่ราษฎรตอนล่าง ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว มีน้ำต้นทุนช่วยเหลือราษฎรในการเกษตร เพื่อการอุปโภคและบริโภค การผลิตน้ำประปา การอุตสาหกรรม การชะล้างดินเปรี้ยว และไล่น้ำเค็มในฤดูแล้ง ทำให้ลดการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง ที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายก เส้นทางไปเมื่อถึงนครนายกแล้ว ไปตามถนนสายไปน้ำตกนางรองสาย ๓๐๔๙ จนถึง กม.๑๗.๒๐๐ ให้เลี้ยวขวาไปหน่อย แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อขึ้นไปยังสันเขื่อน ชมความงามของพื้นน้ำในอ่างเก็บน้ำ รถวิ่งขึ้นได้จนถึงสันเขื่อน ไม่ต้องขออนุญาตใครอีก ถนนลาดยางอย่างดี กว้างพอที่จะรถวิ่งสวนกันได้อย่างสบาย และจะผ่านศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง ที่สร้างไว้ใหญ่โต สวยงาม เมื่อถึงสันเขื่อนแล้ว จอดรถ ณ ที่จอดรถที่มีป้ายบอกว่าจุดชมวิว ชมที่จุดชมวิวจะสวยมาก ผมไปชมตอนบ่ายแล้ว แต่เงาที่ทาบบนพื้นน้ำก็ยังสวยมาก หากเป็นยามเช้าแสงอาทิตย์จะส่องมาตรงหลังเขา เงาของเทือกเขาจะทอดลงมาในพื้นน้ำ น่าจะสวยกว่าตอนบ่ายหรือตอนเย็น แต่ไปตอนไหนก็สวยทั้งนั้น เขื่อนนี้สันเขื่อนสร้างจากที่ราบไปถึงยอดเนิน ไม่สูงมากและจะแปลกกว่าทุกเขื่อนในประเทศไทย เพราะสร้างฐานเริ่มจากพื้นราบ เป็นเขื่อนประเภทคอนกรีตบดอัด ประเภท high paste แห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้สาร Pozzian เช่น ขี้เลื่อย ประมาณ ๑๒๐ - ๑๕๐ กก. ต่อปริมาณคอนกรีต ๑ ลูกบาศก์เมตร ผสมกันและถมบดอัดเป็นแกนของตัวเขื่อน โดยใช้ขี้เถ้าลอยจากการเผาถ่านริกไนต์ จากการผลิตกระแสไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนของเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นเขื่อนค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย (เคยใช้ระบบนี้ในการสร้างเขื่อนปากมูล เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖) ต่างประเทศเริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๓ เขื่อนแบบนี้ใช้วัสดุในการก่อสร้างราคาต่ำสุด ก่อสร้างได้รวดเร็วแต่ต้องการรากฐานที่มั่นคง ความสูงของเขื่อนสูงสุด ๙๕ เมตร ความยาว ๒,๖๐๐ เมตร สันเขื่อนสูงจากระดับน้ำทะเล ๑๑๔ เมตร ความกว้าง ๖ เมตร บริเวณน้ำเข้าอ่างเฉลี่ย ๓๓๗ ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี พื้นที่รับน้ำฝน ๑๙๔ ตารางกิโลเมตร คือ บริเวณเขาสมอปูนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การก่อสร้างในวันที่ผมไปชมยังอยู่ระหว่างการตกแต่งพื้นที่โดยรอบ
เมื่อลงจากสันเขื่อนแล้ว หากเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานจะมายังลาน ที่มองเห็นน้ำที่เขื่อนปล่อยลงมายังกับน้ำพุ ยังไม่ได้นำน้ำไปทำกระแสไฟฟ้า อาจะจะผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องขนาดเล็ก คงจะได้ไฟฟ้าพอใช้ทั่วบริเวณเขื่อน วิ่งเลาะผนังเขื่อนไปเรื่อย ๆ จะพบทางแยกขวามีป้อมยาม แต่ผ่านเข้าไปได้ (หากตรงไปจะเข้าเขตที่ทำการชลประทาน) เป็นถนนสายเดิมก่อนสร้างเขื่อนจะวิ่งกลับไปยังนครนายกได้ โดยไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเดิม ผมกลับตามเส้นทางนี้ เพราะจะไปวัดสำคัญอีก ๒ แห่ง คือ วัดคีรีวัน เมื่องเลี้ยวขวาตรงป้อมยามแล้วมาประมาณ ๙ กม. ประตูเข้าวัดคีรีวันจะอยู่ทางซ้ายมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บนยอดเขา ที่รถวิ่งขึ้นไปได้ จนถึงวิหารมีลานจอดรถได้ ซึ่งวิหารแห่งนี้ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง บอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก เพราะองค์จริงที่วัดพระแก้วนั้น หน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว แต่องค์ในวิหารของวัดคีรีวัน หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว มีเครื่องทรงครบ ๓ ฤดู วันที่ผมไปเครื่องทรงฤดูฝน มีน้ำหนักถึง ๑ ตัน ประดับตกแต่งด้วยเพชรแท้ ๗ กะรัต พลอยแท้มากกว่า ๒,๐๐๐ เม็ด และทับทิมอีกนับไม่ถ้วน ในวิหารมีพระพุทธบาทจำลอง
ออกจากวัดคีรีวัน เลี้ยวซ้ายจะไปนครนายกมาผ่านวัดท่าซุง มาพบเข้าโดยบังเอิญและตั้งใจจะมาเช่นกัน แต่ไม่นึกว่าเข้าทางถนนสายนี้ได้ ความตั้งใจคือ เพื่อเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้สักทอง บอกว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่เมื่อนมัสการในอุโบสถแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าองค์ที่วัดบุพพาราม เชียงใหม่กับองค์นี้ องค์ไหนจะใหญ่กว่ากัน และวัดนี้ยังมีวิหารหลวงพ่อทองดี คงจะเป็นอดีตเจ้าอาวาส
จบการมาเที่ยวเขื่อนคลองท่าด่าน หรือเขื่อนขุนด่านปราการชล (ยังไม่เป็นทางการ) จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวทริปนี้ ตั้งใจจะไป "ละลุ" ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ทราบแต่ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่เกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติแบบแพะเมืองผี ที่จังหวัดแพร่ แต่เส้นทางยังไม่ทราบแน่ชัด อ่านจากเอกสารท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็บอกเส้นทางไม่ชัดเจน ต้องไปเองละก็รู้แน่ จึงตั้งใจไปอุทยานแห่งชาติ ปางสีดา ไปละลุ ไปปราสาทสด็กก็อกธม และไปกินอาหารเวียดนาม เจ้าแรกของอรัญประเทศ สุดท้ายก็ไปตลาดโรงเกลือ ตลาดชายแดนไทย - กัมพูชา
เมื่อกลับจากเขื่อนตามเส้นทางสายเก่า ก็มาโผล่เลยตัวเมืองมาหน่อย บรรจบถนนสุวรรณศร หรือทางหลวงสาย ๓๓ ไปผ่าน "ตลาดผลไม้หนองชะอม" ซึ่งอยู่ก่อนถึงสี่แยกเนินหอม ประมาณ ๖ กม. (ดูจากหลัก กม.) เป็นตลาดขายพืชผักผลไม้ที่ปลูกในปราจีนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งผลผลิตสำเร็จรูปของผลไม้ เช่น มีหน่อไม้สด ก็มีหน่อไม้ดอง หน่อไม้ต้ม เที่ยวไปแวะซื้อพอติดรถไปเป็นเสบียง แต่วันกลับขนซื้อกลับมา พ้นตลาดแล้วคือสามแยก หากเลี้ยวขวาจะไปยังศูนย์ราชการ ของปราจีนบุรี และเข้าเมืองทางถนนสายนี้ก็ได้ วิ่งต่อไปอีก ๖ กม. จะผ่านร้านขายพืชพันธุ์ไม้ สวนปราจีนบุรีนั้น เป็นทั้งสวนผลไม้และสวนผลิตพันธุ์ไม้ "ของแท้" ราคาย่อมเยา วิ่งไปถึงวงเวียนเนินหอม หากเลี้ยวขวาก็เข้าเมืองปราจีนบุรี เลี้ยวซ้ายผ่านกองพลทหารราบที่ ๒ ไปขึ้นเขาใหญ่ ไปลงทางอำเภอปากช่องได้เลย และตรงมุมขวามีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เลยต่อไปทางฝั่งซ้ายก็จะเป็นทางเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ ที่อยู่เชิงเขาอีโต้ มีร้านอาหารเปิดบริการหลายร้าย และน้ำตกเขาอีโต้อยู่ไม่ไกลกัน น้ำตกแหล่งนี้มีน้ำมากเฉพาะในฤดูฝน ฤดูแล้งน้ำแทบจะไม่มีเลย เป็นแหล่งสำราญของพวกผม นายทหารหนุ่มที่พาสาวมาเที่ยวเมื่อสัก ๔๐ ปีที่แล้ว
จากทางแยกเข้าน้ำตกเขาอีโต้ จะไปผ่านสี่แยกกบินทร์บุรี ก่อนถึงสี่แยกสัก ๒๐ เมตร ทางขวามือติดถนนคู่ขนานมีร้านอาหารอร่อย ที่ไม่ง้อใครเสียด้วย ขนาดผู้ว่า ฯ มาแกก็ไม่เชิญให้นั่ง เพราะทั้งร้านมีโต๊ะอยู่ ๔ - ๕ ตัว เต็มแล้วเต็มเลย ไม่รู้จะเสริมอย่างไร ต้องนั่งคอยคิวอยู่บนรถ อาหารอร่อยราคาพอสมควรที่อร่อยแปลก คือ ผัดผักกะเฉดชลูดน้ำ เป็นผักกระเฉดที่เขาปลูกในน้ำไหล กดให้จมในน้ำไว้สัก ๓ วัน แล้วจึงปล่อยให้ยอดชลูด พ้นน้ำขึ้นมาไม่มีฟองสีขาว ๆ หุ้ม มีแต่ยอดที่ชลูดสีเขียวอ่อนผัดแล้วจะกรอบ อร่อยมาก อาหารอื่นก็พวกกุ้ง เช่น กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย และจานเด็ดอีกจาน ก็ต้องต้มยำกุ้งแม่น้ำ
จากสี่แยกกบินทร์บุรี ที่เลี้ยวขวาจะไปพนมสารคาม ไปฉะเชิงเทรา กลับกรุงเทพ ฯ ได้ แต่หากเลี้ยวซ้ายก็จะไปแก่งหินเพิง ไปล่องแก่ง ไปทับลาน ไปได้จนถึงปักธงชัย นครราชสีมา แต่หากตรงไปก็จะไปยังจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมาสระแก้วเดี๋ยวนี้มาได้ ๒ เส้นทางคือ
เส้นทางที่ ๑ มาตามถนน ๓๐๔ ผ่านฉะเชิงเทรา ผ่านพนมสารคาม ผ่านศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยศาลมานิดเดียว จะเลี้ยวขวาไปสระแก้ว วัฒนานคร อรัญประเทศเลยก็ได้ ถนนดีมาก หรือจะตรงมาจนถึงสี่แยกกบินทร์บุรี แล้วเลี้ยวขวาก็ได้ ระยะทางใกล้เคียงกัน นครนายก - สระแก้ว ๑๐๙ กม.
เส้นทางที่ ๒ จากกรุงเทพ ฯ มาผ่านนครนายก ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี สระแก้ว
สระแก้ว - สระขวัญ ก่อนถึงชุมชนของสระแก้ว จะผ่านเทศบาลสระแก้ว หลัก กม.๒๔๖ หากเลี้ยวขวาไปทางเทศบาลซอย ๒ ไปด้านหลังของเทศบาล จะมีสวนสาธารณะ สระแก้ว สระขวัญ ซึ่งสถานที่นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรี ได้นำทัพไปตีเสียมราฐ ได้เคยมาพักทัพที่ริมสระทั้งสองนี้ และถือกันว่าน้ำในสระทั้งสองนี้ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำไปใช้ในพิธีต่างๆ เช่นในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ป้ายนำเที่ยวอธิบายไว้ว่า สระแก้วมีบัวหลวง ส่วนในสระขวัญมีบัวแดง แต่ผมไปใน พ.ศ.๒๕๔๖ กับ ๒๕๔๙ ไม่มีบัวเลย แถมยังปล่อยให้หญ้าในสวนสาธารณะแห่งนี้ รกจนชาวบ้านเอาควายเข้ามาเลี้ยง น่าเสียดายความสวยงามทั้ง ๆ ที่อยู่หลังเทศบาล นามของสระแก้ว เป็นที่มาของนามจังหวัด
ร้านอาหารในตัวอำเภอเมืองสระแก้ว ที่อร่อยถูกปาก ถูกใจไม่ค่อยเจอ เคยพบและชวนชิมเอาไว้ร้านหนึ่ง อยู่ตรงข้ามกับ สภอ.เมือง เป็นร้านเก่าแก่ ขนาดพื้นเป็นไม้กระดาน ไปคราวหลังรวมทั้งคราวนี้ เห็นร้านปิดประตูใส่กุญแจทุกที อาจจะหมดทายาทที่จะทำร้านต่อ ส่วนร้านที่ชิมไว้ อาหารดี ใช้ได้ก็ขอแนะเอาไว้ทั้ง ๓ ร้านเลย
ตรง กม.๒๔๖ ฝั่งซ้ายมือ ร้านใหญ่โต เป็นร้านรวมของฝากจากสระแก้ว เช่น หมูกระจก (ค่อนข้างแข็ง) ขนมแห้ง ๆ มีมาก คงจะขายส่งด้วย อาหารมีก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋น เย็นตาโฟ ขาหมูพะโล้ ข้าวแกงไปชี้เอาที่ในตู้ มีน้ำพริกปลาทู ผัดเผ็ดปลาดุก และพะแนงหมู ราคาย่อมเยา
ตั้งแต่ยามเช้าไปยันบ่าย ร้านอยู่เลย อ.เมือง ไปนิดหนึ่งประมาณ กม. ๒๔๙.๕๐๐ เยื้อง ๆ กับดงขายเฟอร์นิเจอร์ไม้มะค่า ก่อนถึงทางแยกที่จะเลี้ยวขวาไปจันทบุรี เป็นศาลากว้างใหญ่ มีอาหารขายหลายชนิดทั้งคาวและหวาน โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวปลา เกาเหลาปลา สั่งมาแล้วต้องสั่งข้าวสวยร้อน ๆ เอามาพุ้ยด้วย ก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยวหมู เกาเหลา ข้าวขาหมู เย็นตาโฟ มีหมดอร่อยใช้ได้ บนโต๊ะวางขนมถ้วย ขนมตาล ขนมกล้วยเอาไว้ กินถึงจะคิดเงิน
ร้านข้าวต้ม ออกขายตอนเย็น ประมาณ กม. ๒๔๘.๕๐๐ ขาไปอยู่ขวามือ เยื้องโรงพยาบาล กับข้าวมีมากหลายอย่างไปชี้เอาก็แล้วกัน
ข้อมูลการท่องเที่ยวสระแก้ว ขอข้อมูลได้ที่ ศูนย์ท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ สระแก้ว ๐๓๗ ๔๒๕ ๐๓๒ และสมาคมรักษ์ปางสีดา ๐๑ ๔๒๙ ๒๘๔๒ หรือขอจาก ททท. ภาคกลางเขต ๘ ที่นครนายก ๐๓๗ ๓๑๒ ๒๘๒ หรือ อช.ปางสีดา ๐๑ ๘๒๖ ๑๕๑๑
อุทยานแห่งชาติปางสีดา พื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าสมบูรณ์มาก มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง แต่จะไปสะดวกไม่ต้องเดินไกลมีเพียงแห่งเดียว คือ น้ำตกปางสีดา นอกนั้นจะต้องเดินไปชม หรือต้องเตรียมไปค้างคืนกันเลยทีเดียว
เส้นทางไปอุทยาน จากตัวเมืองสระแก้ว ผ่านไฟสัญญาณแรกแล้ว เลี้ยวเข้าซอยเทศบาล ๑๗ เป็นสายตรงไปเลยก็ได้ หรือจะผ่านตลาด ผ่านย่านชมุชนเสียก่อน ก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเทศบาล ๑๙ ผ่านหน้าตลาด หน้า สภ.อ. ผ่านสถานีรถไฟ ไปบรรจบกับถนนสาย ๓๔๖๒ ไปอีก ๒๗ กม. ถึงสามแยกหากตรงไปจะเป็นสาย ๓๔๘๕ ให้เลี้ยวซ้ายจะไปผ่านด่านอุทยาน เข้าไปแล้ว ทางซ้ายศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สถานที่กางเต็นท์ (เอาเต็นท์ไปเอง) สุขา ร้านอาหาร ในอุทยานมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกหน้าผาใหญ่ ห่างที่ทำการ ๒.๔ กม. แต่ต้องเดินเข้าไป น้ำตกผาตะเคียน ห่างอุทยาน ๒.๔ กม. เดินเท้าเข้าไป น้ำตกถ้ำค้างคาว เข้าทาง กม.๒๒ เดินอีก ๑๐ กม. น้ำตกแควมะค่า เข้าทาง กม.๔๐ เดินต่ออีก ๖ กม. กม.๒๕ เป็นจุดชมวิว ชมหุบเขากว้างเหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ตก ทุ่งหญ้าบุตาปอด เป็นทุ่งหญ้ากว้างลักษณะคล้ายทุ่งหญ้ามอสิงโต ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสัตว์เข้ามาอาศัยจำนวนมาก อช. จัดทำหอดูสัตว์ไว้ด้วย การไปชมต้องเดินไปกลับประมาณ ๕ กม. ต้องติดต่อทราบเส้นทางจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น และใน อช.มีนก มากกว่า ๒๐๐ ชนิด จึงเป็นที่นิยมของนักดูนกเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งจระเข้น้ำจืด มีแห่งเดียวในประเทศไทยคือ ในอุทยานปางสีดา ผมยังไม่เคยเข้าไป เพราะคนละเส้นทางกับทางเข้าอุทยาน ต้องเลี้ยวซ้ายก่อนถึงสามแยกคือ เลี้ยวที่แยกคลองผักขม - ทุ่งโพธิ์ ตรงไปยังหมู่บ้านวังทะลุ ไปจนถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน ปด.๑ แล้วเลยต่อไปทางเขาเจดีย์
ส่วนถนนสายเข้ามาในอุทยานคือ สาย ๓๔๖๒ นี้ตัดผ่านอุทยานไปออกได้ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนคราชสีมา แต่ฤดูฝนรถเก๋งคงจะไปไม่ได้ วันหลังผมจะไปใหม่ตอนไปดูผีเสื้อ
เที่ยวน้ำตกปางสีดา อยู่ห่างจากที่ทำการ อช. เพียง ๘๐๐ เมตร ขับรถไปจอดที่ลานลงน้ำตกมีห้องสุขาบริการพร้อม เดินลงไปประมาณ ๖๐ เมตร ทางไม่ชันนัก ตกลงมาจากผาหิน ๓ ชั้น สูงประมาณ ๑๐ เมตร ในฤดูฝนสวยมาก ฤดูแล้งคงขนาดช้างเยี่ยว บรรยากาศร่มรื่น ชาวสระแก้วหิ้วขวด หิ้วกระติกน้ำแข็ง หิ้วอาหารลงไปนั่งกินกัน ใครไปช้าหาที่นั่งไม่ได้ กลับมานั่งกินกันที่ข้าง ๆ รถ
ชมผีเสื้อ ไปน้ำตกไปฤดูฝน หรือปลายฝนต้นหนาวจะสวยที่สุด น้ำจะใส แต่หากไปชมผีเสื้อ ซึ่ง อช.ปางสีดา เป็นแหล่งชมผีเสื้อสำคัญอีกแห่งไม่แพ้ อช.แก่งกระจาน ได้พบผีเสื้อกลางวันแล้วไม่น้อยกว่า ๓๕๐ ชนิด ดูผีเสื้อดูได้ตั้งแต่เช้ายันเย็นเหมือนการดูนก จุดชมผีเสื้อห่างจากจุดจอดรถประมาณ ๕๐ เมตร อยู่ข้างทาง มีเทศกาลดูผีเสื้อจัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ ในฤดูแล้ง ยิ่งแล้งฝนไม่ตก ผีเสื้อจะออกมามาก ส่วนเทศกาลครั้งที่ ๒ ช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ฝนเริ่มตกแล้ว ผีเสื้อจะมีน้อยกว่า เขาก็จัดกิจกรรมอื่นร่วมไปด้วย เช่น นำสินค้าโอท๊อปมาจำหน่าย และสามารถล่อให้ผีเสื้อออกมาให้เห็นได้ ด้วยการใช้ดอกไม้ ผลไม้ (เน่ายิ่งดี) สับปะรด มะละกอ วางล่อผีเสื้อได้ทั้งนั้น หรือจะแอบเอาฉี่ของเราเอง ราดทรายกลิ่นก็จะล่อผีเสื้อได้ กิจกรรมที่เขาจัดเพื่อให้คนไปชมผีเสื้อมากขึ้น จัดในวันเสาร์ อาทิตย์ เช่น ในปี ๔๙ ที่ผ่านมา เดือน มิย. - ก.ค. เขาจัดสัปดาห์ดูผีเสื้อควบไปกับโอท๊อป ผีเสื้อกับมรดกโลก มรดกทางธรรมชาติ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ ๔ แห่ง และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอีก ๑ แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว และบุรีรัมย์ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จัดดูผีเสื้อควบกับกิจกรรมกีฬา เป็นต้น
ชมน้ำตก เล่นน้ำตกในแอ่งที่ไม่มีอันตราย หรือดูผีเสื้อ ชมวิวจนอิ่มแล้ว ก็กลับออกมาตามเส้นทางเดิม พอถึงสามแยกหากจะกลับเข้าเมืองสระแก้วก็เลี้ยวขวา แต่หากจะไปเที่ยวต่อ หรือไปวัฒนานคร ไปอรัญประเทศ ไปบุรีรัมย์ก็เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนสาย ๓๔๘๕ เพื่อไปยังอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก เลี้ยวมาประมาณ ๕ กม. จะพบทางแยกซ้าย ดูจากป้ายปากทาง เมื่อเลี้ยวซ้ายแล้วก็ตรงเรื่อยไป จนชนกับอ่างเก็บน้ำที่สามแยก ระหว่างทางจะเห็นคลองส่งน้ำ มีน้ำไหลเหมือนน้ำตกน้อย ๆ ไปตลอดทาง ทางด้านซ้ายก็จะเป็นหนองน้ำเป็นหย่อม ๆ เมื่อถึงสามแยกหากเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังที่ทำการของชลประทาน ในวันหยุดจะเห็นชาวเมืองเป็นส่วนใหญ่มาลงเล่นน้ำกัน เล่นน้ำตกว่ายไม่ได้ แต่เล่นน้ำในอ่างเก็บน้ำว่ายน้ำได้ และมีห่วงยางคล้องตัว เล่นน้ำกัน พื้นน้ำกว้าง วิวสวย เพราะอีกด้านเป็นเทือกเเขา หากถึงสามแยกแล้ว ไม่เลี้ยวซ้ายมาเล่นน้ำ เลี้ยวขวาวิ่งข้ามสันอ่างเก็บน้ำไป ก็จะมีที่เล่นน้ำ เล่นเรือได้ มีร้านอาหารและหากเลยต่อไปอีก ก็จะไปถึงสถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่า ช่องกล่ำบน เขตอำเภอวัฒนานคร สถานที่นี่เป็นโครงการในพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกหายาก และใกล้จะสูญพันธุ์เอาไว้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ เว้นเวลาหวัดนกระบาด จะปิดชั่วคราว สัตว์ใกล้สูญพันธุ์มีทั้งสัตว์ปีก ไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ ไก่ป่า นกยูง นกขุนทอง เป็ดก่า และยังมีสัตว์อื่น เช่น ลิง เก้ง กวาง เนื้อทราย หมาจิ้งจอก เป็นต้น
ผมขอแถมร้านอาหารที่นนทบุรี เคยชวนชิมไปแล้ว แต่ตอนนี้เขาขยายกิจการออกไปอีก เพิ่มอาหารมากชนิด และอาหารบางอย่างหาอร่อย ๆ กินยากเข้าทุกวัน แต่ย่านนี้จะมาชุมนุมกันอยู่หลายร้านคือ "ก๋วยเตี๋ยวแกง" หรือเมื่อก่อนเรียกกันว่า ก๋วยเตี๋ยวแขก ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อ มีส่วนคล้ายข้าวซอย แต่ยุคนี้คนไม่กินเนื้อมีมากขึ้น บางร้านจึงมีทั้งไก่และเนื้อ อีกอย่างที่หากินไม่ยาก แต่หาอร่อยก็ยากเหมือนกันคือ ข้าวหมกไก่ และข้าวหมกไก่ และข้าวหมกแพะ ผมไปเจอย่านนี้เข้าเมื่อครั้งไปชิมก๋วยเตี๋ยวผู้กำกับ และต่อมาร้านก็ทำข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวแกงบ้าง ผมก็ตามไปชิม อร่อยถูกใจ รวมทั้งซุปเนื้อและซุปหางวัว จึงขอเอามาเล่าไว้ตอนท้ายของการมาเที่ยวสระแก้ว หวังว่าท่านผู้อ่านท่านหนึ่งที่เคยว่า ผมว่าเขียนมาเที่ยวทองผาภูมิ ทำไมเอาร้านอาหารในกรุงเทพ ฯ มาเขียนด้วย ผมเขียนแถมให้ ถ้าแหล่งที่ไปเที่ยวไม่มีอาหารที่ถูกตามคุณลักษณะของผม หรือย่านนั้นเราชิมไปแล้วหนึ่งมื้อ แต่ยังเที่ยวต่อก็เอาในกรุง หรือใกล้กรุงมาแทรกไว้
เส้นทาง จากสี่แยกเกษตรศาสตร์ ข้ามทางรถไฟ พอถึงสี่แยกแครายเลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนข้ามสะพานพระราม ๕ พอลงสะพานให้เข้าถนนคู่ขนานทันที มองทางซ้ายจะเห็นซอย เห็นป้ายไปวัดสังฆทานที่โบสถ์สวยนัก ทางขวาฝั่งตรงข้ามคือ ร้านก๋วยเตี๋ยว มองเห็นป้ายตัวโตชัดเจน แต่ต้องวิ่งต่อไปจนถึงสะพานแล้วกลับรถใต้สะพาน วิ่งย้อนกลับมาตามทางคู่ขนาน จะผ่านร้านอาหารอิสลามหลายร้านล้วนยกป้าย ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวแกง จนใกล้จะถึงสะพานพระราม ๕ จะเห็นร้านก๋วยเตี๋ยว ทางซ้ายมือ มีลานจอดรถข้างร้านจอดรถสะดวก สั่งอาหาร
จะสั่งก๋วยเตี๋ยว บะหมี่แห้ง น้ำต้มยำ อร่อยหมด แทบจะไม่ต้องปรุง เย็นตาโฟก็อร่อยแนะไปแล้ว ผมไปวันนี้ สั่งเต้าหู้ทอด เขาทอดเก่ง น้ำจิ้มอร่อย เอามาเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยเสียก่อน จานต่อไปสั่งที่ตั้งใจจะมาชิมคือ
ข้าวหมกไก่ ข้าวนุ่ม หอมกรุ่น มีไก่เนื้อนุ่มสีเหลืองอ่อนมา ๑ ขา อวบ ๆ พร้อมด้วยน้ำส้มพริกดำ ข้าวหมกไก่สูตรของบังยูซุป อำเภอองค์รักษ์ ข้างหมกไก่ต้องสั่งคู่กับ
เกาเหลาเนื้อวัว สูตรดั้งเดิม ไม่ใส่เลือด ไม่ใส่กะทิ หรือชอบใจก็สั่งซุปหางวัวเสียเลย ไม่คาวออกรสเปรี้ยวนิด ๆ ซดตอนยกมาร้อน ๆ ตามด้วยข้าวหมกไก่ อร่อยนัก
ก๋วยเตี๋ยวแกง มีทั้งเนื้อและไก่ อร่อยมาก ไม่ต้องปรุงเลย กลิ่นหอม หอมชวนกิน
อาหารไทยคุณยายก็มี ใครจะกินข้าวแกงไปชี้เอาในตู้ สูตรมารดาผู้กำกับ คุณยายลงมือทำเอง ข้าวแกงไปชี้เอาในตู้ เขียวหวานหมูก็มีแต่ที่ต้องสั่ง โฆษณาไว้ว่า "สุดยอดไข่พะโล้" เคี่ยวพะโล้จนน้ำเข้าเนื้อไข่ เป็นสีดำ ทั้งไข่ หมู เต้าหู้ ไข่เหนียวหนึบ รสพะโลซึมซาบเข้าไป
ยังมีอีก ขนมจีน ซาวน้ำ ขนมจีนน้ำยา ข้าวคลุกกะปิ เกาเหลาเอ็น
ปิดท้ายด้วยขนมหวาน ที่ผมตั้งชื่อให้ว่าปังแดง เวลาสั่งให้ยืนหน้าโต๊ะแล้วชี้เอา ใส่อะไรบ้าง แต่กินที่ร้านต้องสั่งว่าหวานเย็น ร้านยกป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย
|
Update : 16/7/2554
|
|