|
|
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - พระปิดทวาร สอนอะไร
ความสบายที่แท้จริงนั้น มันต้องเกิดจากจิตใจที่สบายจิตใจที่สงบ ซึ่งความจริงนั้นมันมีอยูู่่ตามธรรมชาติ แต่ว่าเราไม่ให้มันโผล่ออกมาได้ เพราะว่าเราเอาความวุ่นวายไปปิดมันเสีย เรานึกไปแต่เรื่องภายนอก นึกไปในเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสิ่งที่ถูกต้องทางกายประสาทอยู่ตลอดเวลา ความสงบไม่มีเวลาที่จะโผล่ออกมา ทีนี้เราลองปิดเสียบ้าง ลองปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปากเสียบ้าง เรียกว่าเป็นพระปิดทวารเสียบ้าง
พระเครื่องมีอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกว่า พระปิดทวารทั้งเก้า เขาทำรูปมีมือปิดตาปิดหูปิดจมูกปิดทวารหนักปิดทวารเบา ความจริงหนักกับเบาไม่ต้องปิดอะไรก็ได้มันไม่ยุ่งอะไร มันมีแต่เรื่องออก เรื่องเข้ามันไม่มีอย่างนั้น แต่ว่าทวารนี้แหละสำคัญคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท สิ่งนี้ควรปิดแล้วก็ปิดใจเสียด้วย
เขาว่าพระปิดทวารใครๆ ก็อยากได้ เพราะถ้าได้องค์นี้แขวนคอแล้ว ยิงไม่เข้าแทงไม่เข้า อะไรก็ไม่เข้า นั่นเขาพูดเป็นภาษาชาวบ้านมากไปหน่อย หาว่าวัตถุอื่นไม่เข้าร่างกาย แต่ความจริงนั้นที่เขาทำพระปิดทวารทั้งเก้าก็เพื่อจะสอนคนนั่นเอง เพื่อให้คนรู้จักปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก ปิดกาย ปิดใจ ไม่รับอารมณ์ต่างๆ
อารมณ์คือสิ่งที่จรเข้ามากระทบตา หู จมูก อันนี้มันของมาจากข้างนอก ไม่ใช่ของมีอยู่ข้างใน ทีนี้ท่านให้ปิดเสียอย่าไปมอง หรือมองก็ได้แต่มองด้วยปัญญา ฟังก็ได้แต่ฟังด้วยปัญญา ดมกลิ่นก็ดมด้วยปัญญา ลิ้มรสก็ลิ้มด้วยปัญญา ร่างกายจะไปแตะต้องสิ่งใด ก็แตะต้องด้วยปัญญา ที่ว่าด้วยปัญญาคือด้วยความรู้ รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น เราไม่มองด้วยความหลง ไม่ฟังด้วยความหลง ไม่ดมกลิ่นลิ้มรสถูกต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความหลงใหลมัวเมา หรือด้วยความเพลิดเพลิน
เช่นเราไปดูหนังมักจะดูด้วยความเพลิดเพลิน ปล่อยใจไปตามภาพบนจอ บางทีหนังมันแสดงเศร้าโศกเราพลอยเศร้าโศกไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย ทำไมจึงร้องไห้ นี่แหละเขาเรียกว่า ปล่อยใจไปตามสิ่งนั้น ลืมไปว่านั่นเป็นละครเป็นลิเก เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องเนื้อแท้ แต่ว่าการแสดงของคนเหล่านั้น เขาแสดงแนบเนียน ทำให้คนดูมองเห็นว่าเป็นความจริง แล้วก็นึกว่าเป็นเรื่อง จริง จิตใจก็คล้อยตามเรื่องนั้นไปด้วย เวลาเรื่องน่าโกรธ ก็โกรธ เวลาน่าเกลียดก็เกลียด เรื่องน่ารักน่าเศร้าใจก็รักก็เศร้าใจ ร้องไห้ร้องห่ม นี่เรียกว่าไม่ดูด้วยปัญญา ไม่ได้ใช้ปัญญาว่านี่มันละคร นี่มันลิเก หรือว่าเป็นเรื่องหนัง ที่เขาทำเป็นภาพขึ้น คนเหล่านั้นมันไม่ได้โกรธไม่ได้เคืองกัน แต่เราลืมไปเพราะเราเพลิดไปกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเพลินไปก็นึกว่ามันเป็นความจริง เลยไปโกรธกับเขาด้วย ไปรักกับเขาด้วย ไปเศร้าโศกเสียใจกับเขาด้วย อย่างนี้เรียกว่ามองด้วยไม่มีปัญญา ไม่มีสติกำกับการมอง
พระพุทธเจ้าสอนว่าให้มองอะไรด้วยปัญญา ฟังอะไรก็ฟังด้วยปัญญา ไปได้กลิ่นอะไรก็ต้องใช้ปัญญา ไปลิ้มรสอะไรก็ต้องปัญญา ไปจับต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้า ก็ต้องใช้ปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาอยู่ว่า สิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร มันให้ทุกข์ให้โทษให้ประโยชน์อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ในรูปใด ให้พิจารณาตามไปด้วย เรียกว่าดูไป มีปัญญาติดตามไป มีสติติดตามไป สิ่งนั้นจะไม่ครอบงำเรา จะไม่ทำเราให้ตื่นเต้น หรือว่าให้เสียอกเสียใจ หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลงตามอารมณ์ที่มากระทบจิตใจเราที่คงที่
คนที่มีสภาพจิตใจคงที่อย่างนี้ เหมาะที่จะไปสู่สมรภูมิชีวิต คือจะไปสู่สิ่งใดอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะไม่ทำร้ายไม่ทำให้เดือดร้อน เหมือนกับสัตว์ป่า ที่เราเอามาหัดจนเชื่องเช่นว่า ช้างป่า เขาจับมาได้ก็เอามาหัดจนเชื่อง พอเชื่องดีแล้วเขาขับเข้าไปในเมืองได้ เอาเข้าไปในเมืองใหญ่คนพลุกพล่านช้างก็ไม่ตื่นเต้น ได้ยินเสียงรถก็ไม่ตื่นเต้น คนโห่ก็ไม่ตื่นเต้น แสดงว่าช้างนั้นเป็นช้างที่ได้ฝักฝนอบรมดี แล้ว เอาไปสู่นครเมืองใหญ่ได้
คนเราจึงต้องหัดบังคับควบคุมจิตใจไว้เราจะไปไหน เราต้องเตรียมวางแผนไว้ว่า เราไปในที่นั้น เราจะสู้กับอารมณ์อย่างไร เช่นเราจะไปพูดกับคนบางประเภท ไปพูดกันในเรื่องสลักสำคัญ จิตใจของเราจะเข้มแข็งพอไหม เย็นพอไหม อดทนเพียงพอไหม ในการที่จะต่อสู้กับคนเหล่านั้น มีสติมีไหวพริบเพียงพอไหม ที่เขาจะพูดยั่วให้เราโกรธ ยั่วให้เราเกิดความน้อยอกน้อยใจ หรือว่าเสียอารมณ์ไป เสียใจไป ถ้าว่าเขาทำให้เราเป็นอย่างนั้นได้กำลังมันก็หมดไป กำลังในการต่อสู้ไม่มี เพราะเราเป็นคน หวั่นไหวง่ายต่ออารมณ์เหล่านั้น เขาทำให้เราหวั่นไหวเสียสมาธิ ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้ หาคำพูดที่หลักแหลมคม คายมาต่อสู้กับเขาไม่ได้ ก็นับว่าพ่ายแพ้ ใจไม่เย็นพอ
แต่ถ้าเราเป็นคนเตรียมใจดี จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง เราจะไปกระทบอารมณ์อะไรก็เฉยๆ เขาพูดให้กระเทือนใจ เราไม่กระเทือน เพราะเราคอยรู้ว่า คำนี้เขาพูดให้เรากระเทือนใจ เราต้องโต้กลับไป โต้กลับไปด้วยสติปัญญา ด้วยใจคอที่สงบเยือกเย็น เราจะไม่โต้ตอบด้วยอารมณ์เสีย เช่นเขาด่าเรา เราจะไม่ด่าตอบ แต่เราจะยิ้มรับคำด่า ยิ้มด้วยปัญญา ด้วยความรู้ว่า เขาว่าเรา แต่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนที่ว่านั้นมันใส่ความเรา เราไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องโกรธไม่ต้องเคือง เพราะถ้าเราโกรธเรามีปมด้อย ทำให้คนที่เป็นข้าศึกของเรา มองเห็นว่าเราโกรธ
คนโกรธนั้นเสียสมาธิ ขาดความสงบใจ ขาดไหวพริบ ขาดปัญญาที่จะคิดอ่าน มันก็แพ้อยู่ในตัวแล้ว เราแพ้อยู่ในตัวแล้ว แต่ถ้าเราไม่โกรธไม่เคือง เรายิ้มอยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถสู้เขาได้ ใจเราสงบคงที่ จิตที่สงบนั้นแหละ มันทำให้เกิดปัญญาเกิดความคิดความอ่าน แต่ถ้าจิตไม่ สงบ มันก็ไปไม่รอด
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 116 กรกฎาคม 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
|
Update : 14/7/2554
|
|