หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - 4 หลักธรรมเพื่อการอยู่ดีกินดี

    ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : 4 หลักธรรมเพื่อการอยู่ดีกินดี มีหลักฐานมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

    การทำงานด้วยความเพียรนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในอรรถหรือความหมายขยายความแห่งสัมมาวายามะ ความว่า “ให้ปลูกฝังความพอใจในการงานนั้น พยายามปรารภความเพียรที่สืบเนื่องไปเรื่อยๆ ให้รักษาคุณภาพของจิตที่ก้าวไปในจุดนั้นๆ ไว้ให้ดี พร้อมกับพยายามทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
           
           ท่านบุรพาจารย์โบราณบัณฑิตได้แสดงลักษณะของคนที่ทำงานด้วยความเพียรไว้ว่า “คนที่ได้ชื่อว่ามีความเพียรหรือขยันนั้นจะต้องทำงานในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ อนิกขิตตธุรตา ทำงานอันอยู่ในความรับผิดชอบให้สำเร็จๆ ไป ไม่ทอดธุระ อนิพพินทตา ทำงานที่แทรกซ้อน เข้ามาให้สำเร็จ โดยไม่ชักช้า อสังครตา ทำการงานนั้นๆ ด้วยความยินดี เอาจริงเอาจังในงานนั้นๆ จนสำเร็จ”
           
           นอกจากนี้ หลักพระพุทธศาสนายังแสดงว่า “ผู้ทำงาน จะต้องไม่ปล่อยให้งานที่ทำคั่งค้างอากูลอย่างที่พูดกันว่า ดินพอกหางหมู” เพราะงานในลักษณะนี้ไม่เป็นมงคลสำหรับผู้กระทำแน่นอน ในทำนองเดียวกัน หากทำในทางตรงกันข้ามย่อมเป็นมงคลสำหรับบุคคลนั้น ดังมีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในมงคลสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕) ว่า “อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การงานที่ไม่คั่งค้างอากูล นี่ก็เป็นอุดมมงคล”
           
           เนื่องจากความเพียรพยายามเป็นได้ทั้งในทางที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ดังนั้น การทำความเพียรในทางพระพุทธศาสนาทุกระดับคำสอน จึงต้องเป็นไปในทางที่ชอบธรรม คือไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม หลักการใช้ความเพียรพยายามในการประกอบอาชีพทำธุรกิจการงานต่างๆ ในทรรศนะทางพระพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่ประโยชน์ตนและผู้อื่นเป็นสำคัญ แม้ว่าบางครั้งประโยชน์สำหรับผู้อื่นจะไม่เด่นชัดนักก็ตาม แต่กระนั้นต้องไม่เป็นการทำลายผลประโยชน์ของผู้อื่น หลักคำสอนในลักษณะเช่นนี้มีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่น “บุคคลพึงได้ประโยชน์ในที่ใดด้วยวิธีใดๆ พึงบากบั่นในที่นั้นด้วยวิธีนั้น” ซึ่งเป็นการเน้นให้บุคคลใช้ความเพียรพยายามเพื่อให้เกิดผลที่ตนต้องการ หลังจากได้พิจารณาเห็นแล้วว่า การกระทำงานใดด้วยวิธีใดจึงเกิดประโยชน์ ก็ให้ทำการงานเหล่านั้นด้วยความบากบั่นพยายามอย่างจริงจัง ดังมีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในคัมภีร์ชาดกว่า “ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นโดยชอบแก่คนที่ทำงานโดยไม่เบื่อหน่าย” ซึ่งตามปกติแล้ว คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนขยันมีความเพียรนั้น จะต้องเป็นคนที่ไม่ยอมปล่อยกาลเวลาที่จะทำประโยชน์ให้ผ่านพ้นไป ข้อนี้เป็นการดำเนินตามหลักคำสอนที่แสดงไว้ในคัมภีร์ชาดกว่า “บุรุษใดเมื่อหนาว ร้อน ลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีอยู่ ก็ครอบงำความหิวกระหายทั้งหมด ประกอบการงานทั้งหลายมิได้ขาด ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ทำประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป”
           
           การใช้ความเพียรพยายามประกอบการงานที่ทางพระพุทธศาสนาสรรเสริญ คือ ต้องรู้จักกาลและสถานที่ด้วยว่า กาลไหนควรทำอะไร ทำอย่างไร ควรปฏิบัติต่อสถานที่นั้นๆ อย่างไร คือจะต้องทำงานให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ เป็นต้น ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบปัญหาที่อาฬวกยักษ์กราบทูลถึงวิธีแสวงหาทรัพย์ได้ว่า “คนที่ทำงานได้เหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้แน่นอน”
           
           คนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด ทำงานได้เหมาะเจาะดังกล่าวนั้น อาจจะเริ่มต้นด้วยการไม่มีอะไรมากนักก็ตาม แต่อาจสามารถก่อร่างสร้างตัวตั้งตนเป็นเศรษฐีมีหลักฐานมั่นคงได้ ความข้อนี้มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในขุททกนิกายชาดก เอกกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗) ว่า “คนมีปัญญาเฉลียวฉลาดย่อมตั้งตนได้แม้ด้วยต้นทุน เพียงเล็กน้อย ดุจคนก่อไฟกองน้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น” การตั้งตนหรือการตั้งตัวในที่นี้ หมายถึงการก่อร่างสร้างตัวจากการมีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยจนมีทรัพย์สินมาก หรือจากความยากจนสู่ความมั่งคั่ง เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มหาศาล ผู้ที่สามารถตั้งตนได้ในลักษณะนี้ย่อมเป็นที่ยกย่องนับถือของคนทั่วไป
           
           แบบอย่างของการตั้งตัวได้ในลักษณะนี้ ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์อรรถกถาชาดก โดยสรุปความว่า มีชายรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งได้เก็บเอาหนูตายซึ่งแทบจะไม่มีราคาอะไร นำไปขายเป็นอาหารแมว ได้เงินมาเพียงกากณิกหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยเงินที่มีค่าต่ำสุดในสมัยนั้น แต่ด้วยเงินเพียงเท่านั้น เขาได้นำไปทำทุนประกอบกิจการจนภายหลังได้เป็นพ่อค้าใหญ่อยู่ที่ท่าเรือ และมีฐานะอยู่ในขั้นเศรษฐี นี้เป็นแบบอย่างในครั้งโบราณนานมาแล้ว คนที่ตั้งตัวได้ในลักษณะนี้ ในปัจจุบันก็มีปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น ในประเทศไทย ก็มีคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย สามารถตั้งตัวเป็นเศรษฐีหลายราย
           
           การตั้งตนก็เหมือนกับการก่อกองไฟ กล่าวคือ ในการก่อไฟนั้น เริ่มจากไฟจุดเล็กๆ เช่น ไฟจากก้านไม้ขีด ผู้ก่อไฟก็สามารถทำให้เป็นไฟกองใหญ่ที่สว่างโพลงโชติช่วง และร้อนแรงได้ ผู้จะตั้งตนก็เฉกเช่นเดียวกัน อาจจะใช้ต้นทุนซึ่งมีอยู่ไม่มากประกอบกิจการ จนมีผลกำไร เกิดทรัพย์สินมากมายมหาศาลก็ได้ แต่ก็มิใช่ว่าทุกคนจะทำ ได้ดุจเดียวกัน เพราะผู้ที่จะทำได้จะต้องเป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดและมีวิจารณญาณดีทีเดียว ซึ่งถ้าหากนำเอาประวัติการทำงานของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการตั้งตน ได้ในลักษณะนี้ ก็จะพบว่า การที่เขาสามารถก่อร่างสร้าง ตัวได้สำเร็จถึงขนาดนั้น ก็เพราะมีคุณธรรมหลายประการ อย่างน้อยก็ต้องมีหลักธรรมเพื่อการอยู่ดีกินดีมีหลักฐานมั่นคงในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ การขยันหาทรัพย์ การรู้จักเก็บรักษาและทำให้งอกเงย การรู้จักคบหาเพื่อนหรือผู้ร่วมงานที่ดี และการรู้จักใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม
           นอกจากนี้ ต้องมีคุณธรรมที่สำคัญ นั่นคือ การมีปัญญาเฉลียวฉลาด มีวิจารณญาณที่ดี กล่าวคือ ต้องเป็นคนที่มีความรู้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะคือรู้จักเหตุผล เข้าใจความเกี่ยวเนื่องกันของสิ่งของต่างๆ เช่น ในการค้าขายก็รู้จักหาทำเลที่ดี รู้ว่าความต้องการของลูกค้าอยู่ที่สินค้าอะไร เป็นต้น โดยมีวิจารณญาณคือการพิจารณาจนประจักษ์แน่ชัดว่าอะไรเป็นอะไร รู้จักจังหวะในการดำเนินการ เมื่อเห็นว่ายังไม่ถึงจังหวะ ก็ยับยั้งไว้ก่อน ต่อเมื่อจังหวะดีจึงดำเนินการ เป็นต้น เปรียบเหมือนการก่อไฟให้ลุกโพลงเป็นกองโต ขณะที่ไฟเพิ่งเริ่มติดเพียงเล็กน้อย ถ้าโหมกระพือลมมากเกินไป หรือใส่ไฟฟืนทับถมลงมากเกินไป ไฟอาจดับได้ ต้องค่อยๆ ใส่ฟืนที่ติดไฟง่ายเข้าไปทีละน้อย กระพือลมแต่พอสมควร เมื่อไฟติดดีแล้วจึงค่อยเพิ่มฟืนมากขึ้น ไฟก็จะค่อยติดและขยายกองโตมาก ขึ้นได้ การทำกิจการต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ยังมีทุนน้อยก็ทำกิจการเพียงน้อยๆ ก่อน ต่อเมื่อมีทุนมากขึ้น แล้วจึงขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้นไปตามลำดับ กิจการก็จะประสบความสำเร็จได้ดี
           
           คนมีคุณสมบัติดังกล่าวเมื่อ ทำงานได้เงินมาแล้วย่อมมีอุบาย วิธีในการที่จะรักษาเพิ่มพูนรายได้ของตนให้สูงขึ้นได้โดยดำเนิน ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓) ว่า “ผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการเลี้ยงชีวิต สมควร ย่อมรักษาทรัพย์ที่หามาไว้ได้”
           
           การที่คนเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างสะดวกสบาย จะต้องมีทรัพย์เก็บสำรองไว้ สำหรับใช้จ่ายตามสมควร เพราะหากไม่มีทรัพย์เก็บสำรองไว้แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ก็จะต้องประสบกับความยากลำบากอย่างแน่นอน ผู้ที่จะมีทรัพย์เก็บสำรองไว้ได้จะต้องเป็นผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการ และเลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่ฐานะของตน ชีวิตคนเราต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ช่วยหล่อเลี้ยงไว้ อย่างน้อยก็ต้องมีปัจจัยขั้นพื้นฐาน ๔ อย่าง คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคดังกล่าว มาแล้ว การประกอบอาชีพของคนเราก็เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยขั้นพื้นฐานดังกล่าวนั้น ในสังคมมนุษย์มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายของกินของใช้ระหว่างกัน โดยได้มีการนำเอาของมีค่าคือเงินทองมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะเงินทองมีลัษณะที่เล็กสะดวกในการนำติด ตัวไปหรือเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยที่ไม่เน่าเปื่อยผุพัง ซึ่งสมมติเรียกกันว่า ทรัพย์ และวิวัฒนาการเป็นธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้น การประกอบอาชีพของคนในสมัยต่อๆ มา หรือในยุคปัจจุบัน จึงมุ่งที่จะให้ได้ทรัพย์ธนบัตรนี้ไว้ เมื่อต้องการปัจจัยใดๆ มาเลี้ยงชีวิตจึงใช้ทรัพย์หรือซื้อหาสิ่งนั้นอีกทีหนึ่ง ผู้มีทรัพย์มากย่อมมีความสะดวกในการจัดหาสิ่งที่ต้องการ ส่วนผู้ขาดแคลนทรัพย์ก็จะมีความลำบากเดือดร้อนมาก
           
           ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยตนเองก็ดี ที่เป็นมรดกตกทอดก็ดี ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะจับใช้สอย ได้ตามใจชอบ สำคัญอยู่ที่ว่าจะใช้สอยให้เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น
           
           ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่บันดาลความสุขแก่เจ้าของ คนมีทรัพย์สมบัติมาก ก็มีโอกาสแสวงหาความสุขจากทรัพย์ได้มาก คนมีทรัพย์น้อยก็แสวงหาความสุขจากทรัพย์ได้น้อย การแสวงหาความสุขจากทรัพย์ที่ว่านี้อาจเป็นการแสวงหาในทางที่ผิดก็ได้ หรือเป็นการแสวงหาในทางที่ถูกก็ได้
           
           ที่ว่าเป็นการแสวงหาในทางที่ผิด คือใช้จ่ายทรัพย์ไปในทางอบายมุข ได้แก่ การเป็นนักเลงหญิง การเป็นนักเลง สุรา การเป็นนักเที่ยวกลางคืนหรือนักท่องราตรีมั่วสุมในวงพนัน ชอบคบคนประเภทชักนำในทางเสียทรัพย์ โดยไม่จำเป็น ส่วนในการแสวงหาความสุขจากทรัพย์ ในทางที่ถูกนั้น คือการใช้สอยทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะบริโภคใช้สอยด้วยตนเองแล้ว ควรจะให้ทาน คือการบริจาคทำบุญในพระพุทธศาสนา หรือทำสาธารณกุศล ต่างๆ ตามสมควร ซึ่งจะก่อให้เกิดความสุขใจจากการใช้จ่ายทรัพย์
           
           การขาดแคลนทรัพย์มักมีสาเหตุมาจากความเกียจคร้านทำการงาน ความมัวเมาในอบายมุข ไม่รู้จักจัดการทรัพย์ และใช้จ่ายเกินฐานะ
           
           ดังนั้น ผู้ที่จะหาทรัพย์ให้ได้และสามารถมีทรัพย์เก็บสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น จึงต้องปลูกฝังหลักคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา คือ
           
           (๑) ขยันหาทรัพย์ โดยมีความขยันในหน้าที่การงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอย เห็นความสำคัญของการทำงาน เท่ากับชีวิต
           
           (๒) รู้จักเก็บ เข้าใจจัดการ โดยมีสติปัญญาในการจัดการใช้ทรัพย์ว่าควรจะใช้เป็นค่าอุปโภคบริโภคเท่าใด จะทำทุนเท่าใด เก็บไว้สำรองเท่าใด
           
           (๓) ไม่ประมาทมัวเมาลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยวนต่างๆ เช่น กามารมณ์ สิ่งมึนเมา การเสี่ยงโชคเล่นการพนัน และการคบคนชั่วเป็นมิตร
           
           (๔) เลี้ยงชีวิตพอสมควร คือ ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปและไม่ฝืดเคืองเกินไป เป็นคนมัธยัสถ์คือใช้จ่ายในขนาดกลางๆ พอเหมาะพอดี
           
           ผู้มีคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ๔ ประการนี้แหละ พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าจะรักษาทรัพย์ที่หามาแล้วไว้ได้อย่างแน่นอน
           
           (จากส่วนหนึ่งของหนังสือพุทธธรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 118 กันยายน 2553 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


    • Update : 11/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch