|
|
เที่ยวทั่วไทย-ตลาดร้อยปี ศรีประจันต์
ตลาดร้อยปี ศรีประจันต์
ผมเคยเล่าถึงตลาดร้อยปีที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณ ที่อำเภอสามชุก ไปแล้ว เดี๋ยวนี้ตลาดสามชุกดังระเบิด วันหยุดนักท่องเที่ยว ไปจับจ่ายใช้สตางค์กันแน่นเลยทีเดียว ตอนนี้สุพรรณบุรีมีตลาดร้อยปีเปิดอีกแห่งหนึ่ง ที่อำเภอศรีประจันต์ ซึ่งวันราชการก็มีร้านรวงเปิดขายตามปกติ ร้านจะตั้งอยู่ริมถนนแคบ ๆ รถวิ่งทางเดียวได้ สวนกันไม่ได้ แต่พอวันหยุดพ่อค้า แม่ค้า ก็จะมาตั้งแผงขายกัน คงจะเกินกว่าห้าสิบเจ้าขึ้นไป และบางร้านพอมีโต๊ะให้นั่งชิมได้ ค้นพบอาหารอร่อยที่พอจะนั่งชิมได้อยู่ ๒ ร้าน ส่วนอร่อยแต่ไม่มีที่ให้นั่งมีมากมายหลายสิบร้าน เรียกว่าไปตลาดนี้ก็หอบกลับมาเลยทีเดียว เป็นตลาดริมแม่น้ำ มีเรือบริการท่องเที่ยวตามลำน้ำ ตอนนี้บริการฟรีเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ ฝั่งตรงข้ามกับตลาดคือ "วัดบ้านกร่าง" ซึ่งผมและชาวค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ค่ายทหารที่ตั้งอยู่ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องเป็นหนี้บุญคุณ วัดบ้านกร่าง และท่านเจ้าอาวาส ซึ่งครองวัดอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
วัดบ้านกร่าง เมื่อ ๒๔ ปี ที่แล้ว ไม่ได้สะอาดงดงามเหมือนทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก นอกจากชาวบ้าน ชาวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ผมย้ายไปรับราชการที่ค่ายทหารทุ่งสง เป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ แต่ยังไม่มีชื่อ แม่ทัพภาคที่ ๔ ในเวลานั้นคือ พลโท จวน วรรณรัตน์ ท่านบอกว่า "โอภาส คุณชอบเขียนหนังสือ ช่วยตั้งชื่อค่ายให้ด้วย" ผมก็เสนอนามค่าย "เทพสตรีศรีสุนทร" (ปัจจุบัน ชาวภูเก็ตเรียกท่านท้าวว่า ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร แต่นามค่ายเป็นนามพระราชทานไม่เปลี่ยนตาม) และได้รับพระราชทานนามค่าย ตามที่กราบบังคลทูลขึ้นไป พอปี พ.ศ.๒๕๒๖ โปรดเกล้าให้ผมเป็นนายพล และเป็นผู้บัญชาการหน่วยกองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ ในค่ายนี้ ผมได้อธิษฐานขอท่านท้าวเอาไว้ว่า หากผมได้เป็นนายพลในค่ายนี้ ผมจะสร้างอนุสาวรีย์ของท่านอีกแห่งหนึ่ง พอเป็นนายพลสมดังคำอธิษฐาน ผมก็หาสตางค์เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งต้องใช้เงินสำหรับสร้างรูปปั้นท่านท้าวทั้งสอง ประมาณเก้าแสนบาท และต้องเปลี่ยนรูปไม่เหมือนกับที่ภูเก็ต เพราะผู้ว่า ฯ ภูเก็ต ในเวลานั้นอ้างว่า ชาวภูเก็ตไม่ยอมให้สร้างเหมือน ที่ภูเก็ตถือดาบเตรียมรบ ผมเลยแก้เป็นถือดาบชูขึ้น ประกาศชัยชนะ ท่านอาจารย์ สาโรจ จารักษ์ เป็นผู้ปั้นรูปท่านท้าวทั้งสอง และบอกผมว่า ที่ผมจะปั้นให้พี่เป็นรูปสุดท้าย เพราะเวลานั้นท่านไม่ได้ปั้นรูปเหมือนอีกแล้ว และก็สุดท้ายจริง ๆ ผมไปเยี่ยมน้องชายที่ศรีประจันต์ เล่าให้น้องฟัง น้องชายผมพาไปหาหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่าง พอหลวงพ่อทราบ ท่านก็พาผมลงไปในกรุพระ ที่อยู่ใต้เจดีย์ที่อยู่หลังวิหาร และให้ผมแบก "พระขุนแผน กับพระพลายเพชร พลายบัว" มาหนึ่งกล่องแม่โขง ท่านบอกว่า ไปหาทางเปลี่ยนให้เป็นเงินสร้างอนุสาวรีย์ ผมทำหนังสือถึงหน่วยทหารต่าง ๆ โดยเฉพาะนายพลทหารปืนใหญ่ บอกว่ามีพระขุนแผน ให้เช่าองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท พระทั้งกล่องมี ๑,๔๐๐ องค์ พอดี ให้เช่าได้เงินมามากพอที่จะสร้างอนุสาวรีย์ได้
พระขุนแผนที่วัดบ้านกร่างนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สร้างขึ้นหลังจากที่ทำสงครามยุทธหัตถี ที่ดอนเจดีย์ (ห่างออกไปประมาณ ๑๕ กม.) ชนะแล้ว มาพักพลที่ริมน้ำท่าจีน ตรงบริเวณวัดบ้านกร่าง และสร้างพระขุนแผน พลายเพชร พลายบัว ไว้มากมาย กล่าวกันว่า สร้างไว้ ๘๔,๐๐๐ องค์ ตอนที่พบนั้น เพราะน้ำในแม่น้ำท่าจีนตื้นเขิน พระผุดขึ้นมาให้เห็น หลวงพ่อจึงเก็บเอาไว้ และนำองค์ที่แตกหักไม่สมบูรณ์ มารวมกันสร้างพระขุนแผนขึ้นใหม่ นิมนต์เกจิอาจารย์จากทั่วประเทศมาปลุกเศก ขอใช้คำว่าดูเหมือน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ และบรรจุไว้ในกรุ เวลานี้พระขุนแผนรุ่งแรก ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๓๕ ที่วัดยังมีอยู่ราคาองค์ละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนองค์เล็กสร้างใหม่ ที่กุฎิเจ้าอาวาส ราคาองค์ละ ๑,๕๐๐ บาท วัดบ้านกร่าง เวลานี้สวยมาก มีพระเจดีย์ริมน้ำ (เคยอยู่กลางน้ำ) รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จมาถึง ๒ ครั้ง มีอุโบสถ ซึ่งมีหลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระประธาน มีพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยศิลปะอยุธยาในวิหารพ่อแก้ว มีมณฑปประดิษฐานพระพุทธจำลอง ชายน้ำมีพระเจดีย์กลางน้ำ อุทยานมัจฉา พาลูกหลานไปซื้ออาหารปลาโยนลงไปถูกใจลูกหลานมาก และติดกับวัดก็มีตลาดเก่าอีก ตลาดหนึ่งอายุไม่ถึงร้อยปี เพราะสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙
กลับมาตลาดร้อยปี ศรีประจันต์ เส้นทาง หากไปจากกรุงเทพ ฯ มาตามถนนสายตลิ่งชัน - สุพรรณบุรี แล้วมาเข้าถนนสาย ๓๔๐ ซึ่งจะยาวไปจนถึงชัยนาท ซึ่งจะผ่านสามชุก ผ่านเดิมบางนางบวช ผ่านบึงฉวาก ผ่านชัยนาท ไปได้ถึงนครสวรรค์ ผมไปจากลาดพร้าว มาตามถนนนวมินทร์ มาต่อถนนงามวงศ์วาน วิ่งตรงไปข้ามสะพานพระราม ๓ ไปเลี้ยวขวาเข้าถนนสายตลิ่งชัน ไปบางบัวทอง เข้าสาย ๓๔๐ ไปผ่านทางแยกเข้าวัดไผ่โรงวัว แยกเข้าอยุธยา ผ่านบางปลาม้า ที่ไม่ขอแนะคือ พอเข้าเขตสุพรรณจะมี แผงขายกุ้ง ปักป้าย ๑๐๐ บาท คือ กุ้งน่าจะตายแล้ว เอามาเผาใส่กล่องขายกล่องละ ๑๐๐ บาท หากกุ้งเป็นอยู่ในน้ำ กก.ละ ๒๖๐ บาท เนื้อไม่แน่น พอเข้าเขตสุพรรณบุรี เมืองที่สร้างไว้สวย สะอาดตา ผ่านร้านสาลี่ ทางขวามือเหมาะแวะขากลับ จากนั้นไปอีกประมาณ ๑๕ กม. ก่อนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ มีป้ายบอกตลาดร้อยปี ก็เลี้ยวซ้ายเข้าตลาดที่ กม. ๑๑๒.๕ เป็นทางแคบเลี้ยวเข้าไปนิดเดียว ทางซ้ายจะเป็นประตูวัดยาง เข้าไปจอดรถในวัดนี้ มีศาลตา มีพระพุทธรูปปูน
เดินออกจากประตู หรือจะเดินไปจนสุดทางถนนริมน้ำก็ได้ สองข้างทางของตลาด จะมีแผงขายของมากมาย ในวันหยุด ร้านขายของที่นี่ล้วนอัธยาศัยดี เชิญชวนให้ชิม ให้ซื้อ มองดูก็รู้ว่าสะอาด น่ากิน ท่าทางอร่อย บางร้านทำไม่ทัน เช่น ร้านขนมไข่ปลาโบราณ มีรสลูกตาล รสเผือก ต้องสั่งเอาไว้แล้ว กลับมารับ ตัวเรือนแถวไม้เป็นบานเฟี้ยม หน้าต่างเป็นบานเกล็ด ช่องลมเป็นไม้สัก ไม้สักฉลุลายเครือวัลย์ ชั้นล่างจะปูด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ ขนมดังเมืองสุพรรณคือ ขนมสาลี่ แต่ที่ตลาดนี้ก็มีขาย อาหารเหนือก็มี ม้าห้อ ซื้อกลับมากิน ข้าวต้มผัดมัดจิ๋ว แต่เหนียวหนึบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน น่ากินไปหมด หรือเจ้าทองม้วน ทำกันสด ๆ สั่งได้ว่าจะเอากรอบ หรือเอาอย่างนิ่ม ๆ ไปครั้งเดียว ชิมได้ไม่สมใจ เห็นจะต้องไปอีกหลายครั้ง และเมื่อสำรวจแล้ว คงกลับเอามาเล่าให้ฟังกันอีก
ข้อเสีย มีนิดเดียว ขอแนะนำประชาสัมพันธ์ของตลาด ที่ตั้งเวทีแล้วเปิดเครื่องขยายเสียงดังลั่น พูดไม่หยุด จะเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวตลาดร้อยปี หากอยากจะเปิดเครื่องขยายเสียง ควรเปิดเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรี อย่าให้ดังนักจะสร้างสรรค์บรรยากาศของตลาดร้อยปี มากกว่า
ใบรัตนาคาร ในอดีตคือ ร้านจำหน่ายผ้าไหมไทย กางเกงปังลิ้น หรือกางเกงแพรจีน ของตลาดนี้ แต่ที่สำคัญคือ ร้านนี้เป็นที่ก่อกำเนิดของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ อารยางกูร ปราชญ์ในพระพุทธศาสนา "ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตโต " ตั้งอยู่ท้ายตลาดใกล้ท่าเรือ เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ๔ คูหา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมูลนิธิ ชาติภูมิ (ป.อ.ปยุตโต) ภายใน "ใบรัตนาคาร หรือพิพิธภัณฑ์" จัดชั้นล่างแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ จำลองบรรยากาศในร้านเหมือนในอดีต ส่วนที่ ๒ มีมุมอ่านหนังสือ และแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยเดียวกับโยมบิดาของท่าน จัดแสดงชีวิตของท่านในวัยเด็ก เป็นครูผู้รักการสอนมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเริ่มจากมีน้อง ๆ และเด็กในละแวกบ้าน เป็นลูกศิษย์ ท่านสอนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ และเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยแล้ว ท่านก็สอนที่มหาจุฬา ฯ นานถึง ๑๒ ปี และยังสอนที่สถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา ๓ แห่ง ในห้องสมุดมีหนังสือกว่า ๓๐๐ เรื่อง มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เข้าไปชมแล้วก็ชื่นชมในปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาองค์นี้ และผมเองเคารพเลื่อมใสท่านมานานแล้ว พึ่งมาทราบว่าถิ่นกำเนิดของท่าน อยู่ในตลาดร้อยปี ศรีประจันต์ นี้เอง เสียดายที่ไม่มีหนังสือของท่านมาวางขาย
ริมแม่น้ำ มีแพลอยอยู่เยื้องหน้าอำเภอ มีร้านอาหารอร่อย ชิมกันมาหลายครั้งแล้ว นั่งกินในแพลอยอยู่ในแม่น้ำท่าจีน แต่ไปวันนี้ไม่ได้แวะชิม เพราะกลัวจะไม่ได้บรรยากาศของตลาดร้อยปี
แวะมาชม หาความรู้จากใบรัตนาคารแล้ว ก็เลี้ยวซ้ายเดินไปสัก ๑๐ เมตร มีร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด ต้มยำขาเป็ดหม้อดิน บอกว่าปกติขายอยู่ที่ศูนย์ราชการสุพรรณบุรี วันหยุดจึงมาขายที่ตลาดนี้ อยู่ปากทางที่จะเดินไปลงเรือท่องเที่ยว หรือเรือจ้างข้ามฟากไปวัดบ้านกร่าง มีโต๊ะ เก้าอี้ให้นั่ง
สั่งมาชิม คือ บะหมี่แห้ง ขาเป็ดพะโล้ อย่าปรุงก่อนเป็นอันขาด เป็ดรสเยี่ยม
ก๋วยเตี๋ยวเป็ด เส้นใหญ่น้ำ ห้ามปรุงก่อนชิม น้ำซุปยอมเยี่ยม ซดชื่นใจ
ขาเป็ดต้มยำ หม้อดิน รสออกจะเผ็ดไปนิดหนึ่ง คนชอบเผ็ดซดสะดวก
ใกล้อิ่ม จะมีจานขนมถ้วยอร่อยพอใช้ ยกมาตั้ง ไม่กิน ไม่เสียเงิน
อิ่มแล้ว ออกจากร้านเลี้ยวขวาไปนิดเดียว ซื้อข้าวห่อใบบัวอร่อยมากกลับบ้าน
ของหวาน หากมาตามถนน ๓๔๐ ไม่เลี้ยวซ้ายเข้าตลาดร้อยปี ตรงไปอีกนิดเดียว ถึงสี่แยกไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายถนนเส้นนี้จะไปยังดอนเจดีย์ หากตรงไปสัก ๕๐ เมตร จะมีสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน เชิงสะพานทางขวามือคือ ร้านขนม หากข้ามสะพานเลี้ยวซ้ายถนน ๓๐๓๘ ไปวัดบ้านกร่าง ถ้าเลี้ยวซ้ายเชิงสะพานไปแพป้าสร้อย
ร้านนี้ อยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนแห่งนี้ เคยชิมกันมาหลายครั้ง ต้องขอยกย่องให้ในความอร่อยของขนมเค้ก ไม่น่าเชื่อ ขนมเค้กอร่อย ๆ จะมาอยู่ตรงนี้ จัดร้านเก๋ น่านั่งเข้ากับบรรยากาศ ไปดูที่ตู้ใส่ขนมเค้ก ชี้เอาตามใจชอบ ราคาย่อมเยา สั่งขนมอย่างเดียวไม่ดีแน่ ต้องสั่งกาแฟเย็น หรือกาแฟร้อน มานั่งจิบด้วย จึงจะอร่อยสมใจ
ขออธิบายไว้ด้วยว่า นามศรีประจันต์ นั้น ไม่ใช่ชื่อนามในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ศรีประจันต์มาจากคำว่า " ศรี " แปลว่า ความดี " ประจันต์ แปลว่า กั้น หรือปลายแดน รวมความแปลว่า "เขตอันสมบูรณ์" หากจ่ายยังไม่จุใจ ให้ไปจ่ายต่อที่ตลาดสามชุก
........................................
|
Update : 11/7/2554
|
|