|
|
เที่ยวทั่วไทย-ตลาดโก้งโค้ง
ตลาดโก้งโค้ง
ตลาดโก้งโค้ง ชื่อออกจะไม่คุ้นหูนัก แต่ชื่อแปลกดีเป็นตลาดที่มีความเป็นมาเก่าแก่หลายร้อยปีแล้ว ได้มีการรื้อฟื้นกันขึ้นมาเปิดขึ้นเป็นตลาดใหม่ ที่น่าไปเที่ยวไปจับจ่ายซื้อสินค้า รวมทั้งไปนั่งกินอาหารอร่อย ๆ ราคาย่อมเยาด้วย ตลาดโก้งโค้ง ตั้งอยู่ ม. ๕ ถนนสายบางปะอิน - วัดพนัญเชิง (ติดวัดบ้านเสน) ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.อยุธยา เส้นทางไปตลาดนี้ไปได้หลายเส้นทาง
เส้นทางที่ ๑ ไปไหว้พระเสียก่อน คือ ไปตามถนนสายเอเซีย แยกเข้าอยุธยา พอถึงเจดีย์ยักษ์ (ยังไม่ข้ามแม่น้า) ก็เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าวัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา และมีเจดีย์ใหญ่ คือ "พระเจดีย์ชัยมงคล" วันนี้ผมไม่ได้แวะวัดใหญ่ชัยมงคล วิ่งเลยต่อไปยัง "วัดพนัญเชิงวรวิหาร" แวะไหว้ หลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือซำปอกง จากนั้น วิ่งไปตามถนนผ่านวัดไปตามสายไปบางปะอิน ผ่านหมู่บ้านญี่ปุ่น เปิดให้เข้าชมได้ เสียค่าเข้าชมคนละ ๒๐ บาท เลยต่อไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งลอดใต้สะพานตรงไป ตลาดโก้งโค้งจะอยู่ทางขวามือ ติดกลุ่มบ้านเรือนไทย "บ้านแสงโสม" ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดที่กลับมาฟื้นฟูใหม่ในครั้งนี้ และไม่เก็บค่าเช่าที่กับแม่ค้า พ่อค้า เป็นผลให้ขายสินค้าราคาถูก
เส้นทางที่ ๒ มุ่งตรงมาตลาดโก้งโค้งเลย มาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวเข้าถนนสาย ๓๒ หรือสายเอเชียแล้ว แยกซ้ายตามป้ายไปบางปะอิน จะเลยไปเที่ยวพระราชวังบางปะอิน ก่อนก็ตรงไป หากไม่แวะก็เลี้ยวขวามาผ่านสถานีรถไฟบางปะอิน ไปอีกประมาณ ๘.๕ กม. ก็จะถึงตลาดโก้งโค้ง (ห่างจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ๒๔ กม.)
เส้นทางที่ ๓ คงจะต้องบอกว่า เป็นเส้นทางของผู้ที่ค่อนข้างอุตริอย่างผม (ทำให้รู้จักถนนเกือบทั่วประเทศไทย) คือ ไปจากบ้านลาดพร้าว ออกถนนรามอินทรา เข้าถนนวงแหวนเลี่ยงเมือง พอผ่านด่านเก็บเงินไปแล้ว ไปแยกซ้ายไปทางจะไป อ.คลองหลวง หรือตลาดไท วิ่งตามป้ายปทุมธานีเรื่อยไป จนชนสาย ๓๔๗ เลี้ยวขวา (ต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถมา) ไปจนถึง กม.๓๔ เลี้ยวขวาเข้าสาย ๓๕๖ ไปจนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ แล้วเลี้ยวซ้ายกลับรถจะเห็นป้ายหมู่บ้านญี่ปุ่น ให้เลี้ยวขวา เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว จึงจะเห็นป้ายวัดพนัญเชิง ไปตามถนนสายนี้ จะผ่านหมู่บ้านญี่ปุ่นทางซ้าย ผ่านบ้านญี่ปุ่นไปอีก ๒ กม. ก็จะถึงวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตรงข้ามกับบ้านญี่ปุ่นคนละฝั่งแม่น้ำคือ บ้านโปร์ตุเกส)
วัดพนัญเชิงวรวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธไตรรัตนนายก ที่ชาวจีนเรียกว่า "ซำปอกง" ที่สร้างแล้วเหมือนพระสามพี่น้องมีเพียง ๓ องค์ องค์ที่วัดพนัญเชิงคือ องค์พี่ใหญ่ รองลงมาคือ ที่วัดกัลยา ฝั่งธนบุรี และอีกองค์น้องเล็ก ที่วัดอุภัยภาติการาม จ.ฉะเชิงเทรา ทั้ง ๓ องค์ นี้นิยมเรียกกันว่า ซำปอกง และยังมีที่สร้างเลียนแบบอีกมากมายหลายสิบวัด วัดพนัญเชิง ตั้งอยู่ริมน้ำตรงจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้าป่าสัก อยู่ทางฝั่งนอกเกาะเมืองอยุธยา ประวัติย่อของหลวงพ่อซำปอกง มีว่า วัดพนัญเชิง สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๕๘๗ ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา และได้มีการสร้าง "พระเจ้าพแนงเชิง" เมื่อ พ.ศ.๑๘๖๗ ต่อมาเรียกว่า พระพนัญเชิง หรือหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น สูง ๑๙ เมตร มีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ พระพักตร์บางส่วนได้พังทลายลงมา เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตสภา จึงโปรดให้ ศาตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ดำเนินการซ่อมพระพักตร์ เปลี่ยนอุณาโลมจากเดิมทองแดง เป็นทองคำ
ส่วนที่คนจีนเรียกว่า หลวงพ่อซำปอกง หมายถึง ขันทีนามว่า "เจิ้งเหอ" เป็นแม่ทัพเรือผู้เกรียงไกร ในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อสิ้นชีวิตได้รับการยกย่องให้เป็นเทพ ตามธรรมเนียมจีนและเชื่อกันว่า เจิ้งเหอ เคยเดินทางมากรุงศรีอยุธยา และร่วมปฎิสังขรณ์พระพนัญเชิง ซึ่งที่ตั้งของวัดอยู่ในย่านที่พักอาศัยของชาวจีน ในกรุงศรีอยุธยา
หลวงพ่อโต อยู่ในวิหารใหญ่องค์กลาง สูงติดเพดาน ส่วนทางขวาของวิหารหลวงพ่อ เป็นวิหารพระพุทธรูป ทางซ้ายคือ พระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์ องค์กลางคือ พระพุทธรูปนาค เป็นพระประธาน
ทางด้านขวา ริมแม่น้ำมี ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ศาลเจ้ากวนอู แท่นยืนของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ซึ่งผู้ไปไหว้หลวงพ่อโตแล้วมักจะไปไหว้เจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วย ส่วนที่ท่าน้ำมีเรือรับจ้างพาเที่ยวรอบเกาะอยุธยา
รอบบริเวณของวัด เต็มไปด้วยร้านค้า มีทั้งอาหารและของฝาก สินค้าโอท๊อป
จากวัดพนัญเชิง วิ่งมาตามถนนที่จะมายังบางปะอิน ถนนข้างวัด ผ่านบ้านญี่ปุ่น ผ่านร้านอาหารหลายร้าน ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำ เลยวัดพนัญเชิงมาสัก ๒ กม. สังเกตุทางขวาไว้ดี ๆ จะชิมอาหารกลางวันที่ร้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศเยี่ยม พาลูก พาหลานไปด้วยจะได้เห็นเรือพ่วง ลากจูงเรือไปขนทรายที่ อ.ป่าโมก มาเข้ากรุง ฯ ผ่านร้านอาหารมา ถึงสะพานลอดใต้สะพานวิ่งเลาะเลียบแม่น้ำมาอีกหน่อย จะถึงตลาดโก้งโค้ง ผมไปชิมอาหารที่ร้านชายน้ำก่อน แล้วจึงมาตลาดโก้งโค้ง
สวนอาหารชายน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งโต๊ะไว้ริมแม่น้ำหลายโต๊ะ ในศาลาก็มี เลือกนั่งริมน้ำ บรรยากาศแจ่มแจ๋ว ลมแม่น้ำพัดหน้าเย็นสบายไม่ต้องใช้พัดลม
ต้มโคล้งปลาเนื้ออ่อนย่าง เสริฟมาในหม้อไฟ ร้อนซดชื่นใจดีนัก อมเปรี้ยวนิด ๆ
กุ้งเผา ไปช้าไปนิด กุ้งแม่น้ำตัวโต ๆ หมดแล้ว ได้ขนาดกลางเท่าที่เห็นในภาพ แต่ก็นับว่าตัวโต มีมันกุ้งเหลืองอ่อนน่ากินนัก สั่งมา ๑ กก. ราคา กก.ละ ๘๐๐ บาท ราคามาตรฐานของกุ้งแม่น้ำ ย่างแล้วผ่าซีกมาให้เรียบร้อย ตักมันกุ้งคลุกข้าว ราดเสียด้วยน้ำจิ้มรสแซ๊บ ของเขาอร่อยอย่าบอกใครเชียว หรือ จะคลุกด้วยน้ำปลาพริก เขาก็มีมาให้
ปลาสังกระวาด ทอด หรือ จะเอาปลารากกล้วยทอด ผมสั่งปลาสังกระวาดทอด รสเค็มนิด ๆ ทอดกรอบ กินได้ทั้งตัว เอาไว้แนมแกงฉูฉี่
ฉูฉี่ปลาเนื้ออ่อน รสอ่อน เติมน้ำปลาพริกเสียนิด ก็จะอร่อยขึ้นอีก
ห่อหมกใบยอ และใบโหระพา ห่อใหญ่ รสไม่จัด ตักกินเปล่า ๆ ก็อร่อย
ของหวาน เฉาก๊วย แต่ไม่ได้ชิม เพราะหมด
จากสวนอาหาร เลี้ยวขวามาลอดใต้สะพาน ไปยังตลาดโก้งโค้ง ตลาดนี้มีประวัติว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตรงจุดนี้ ของแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตกาลเป็นด่านขนอน (ด่านเก็บภาษี) และเป็นสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด ทั้งที่เป็นสินค้าจากชุมชน และสินค้าที่มาจากต่างเมือง จะมาชุมนุมค้าขายกันในบริเวณริมแม่น้ำแห่งนี้ โดยผู้ขายก็จะวางขายสินค้ากับพื้นดิน หรืออาจจะมีอะไรปูรองรับ ส่วนคนขายก็นั่งอยู่กับพื้นดิน ทีนี้เวลาคนซื้อจะซื้อสินค้า หากไม่นั่งยอง ๆ ก็จะต้อง "โก้งโค้ง" เพื่อเลือกดูสินค้า กริยาการโก้งโค้งของคนไทยโบราณ ทำได้สุภาพ นุ่มนวล ไม่เหมือนใคร กล่าวกันว่าไม่มีชาติใดทำได้เหมือน เพราะเป็นกริยาที่แสดงถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นกริยาที่สุภาพเมื่อโน้มตัวลงไป ส่วนคนขายก็นั่งเรียบร้อยอยู่กับพื้น ภาพการซื้อขายจึงแสดงถึงความอ่อนโยน ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
ภาครัฐและภาคเอกชนของชาวพระนครศรีอยุธยา จึงอยากให้เกิดบรรยากาศของตลาดโบราณแห่งนี้ขึ้น จึงร่วมกันจัดตลาดโก้งโค้ง ขึ้นที่บริเวณบ้านแสงโสม โดยตลาดจะเปิดตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ ในวันพฤหัสบดี ถึงวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ทุกวันที่ตลาดนัดเปิดเวลา ๑๐.๐๐ จะมีการรำวงกลองยาว และทุกวันอาทิตย์ ต้นเดือนเวลา ๑๐.๓๐ มีการทำบุญตักบาตรเหรียญ อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.ไปที่ ๐๓๕ ๗๒๘ ๒๘๖ , ๐๘๙ ๑๐๗ ๘๔๔๓
เมื่อเข้ามาในบริเวณตลาดที่สร้างเป็นโรงยาวประมาณสัก ๗๐ เมตร สุดทางเป็นอาคารคอนกรีต อยู่ติดกับแม่น้ำ สาวประชาสัมพันธ์ขายเครื่องจักสาน นึกอย่างไรไม่ทราบ เดินมาถามผมว่ามาครั้งแรกใช่ไหม ตอบเธอไปว่าใช่ เธอก็เล่าเรื่องให้ฟัง ถามถึงอาคารหลังริมน้ำ บอกว่าต่อไปจะให้เช่า หรือเอาไว้จัดแสดงสินค้าพื้นบ้านของอยุธยา เช่น สินค้าโอท๊อป
พอเริ่มเดินเข้าตัวตลาดจะเห็นแม่ค้านุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนกระบอก หากเป็นแม่ค้าสาว มักจะนุ่งซิ่น สวมงอบ ทางซ้ายเจ้าแรกเป็นผักสด อาฆาตเอาไว้ซื้อตอนกลับออกมา ติดกันเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม อาฆาตเอาไว้เช่นกัน เห็นปลาสลิดจานโปรดอดใจซื้อไม่ได้ ตัวโตน่ากินจริง ๆ ทางขวาเริ่มด้วยข้าวเม่าทอด กล้วยทอด ห่อหมก ขนมเปียกปูน ขนมเหนียวกับขนมถั่วแป๊บ รับรองความอร่อยเพราะซื้อกลับมาชิม ขนมขี้หนูหากินยากแล้ว ขนมตาล เครื่องหอม และเครื่องสำอางต่าง ๆ ที่แปลกเห็นในตลาดนี้มี ๒ ร้าน คือ น้ำในโอ่งดินใบน้อย มีป้ายบอกชื่อและราคา เช่น น้ำอุทัยทิพย์ และน้ำเปล่าโบราณ ลอยดอกมะลิแก้วละ ๒ บาท น้ำมะตูม น้ำลำใย น้ำโอเลี้ยง อีกหลายน้ำใส่ไว้ในโอ่ง ทั้งนั้น ราคาแก้วละ ๕ บาท จะผ่านร้านสินค้าต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วจะมีทางแยกขวาเข้าศูนย์อาหาร ตรงหัวมุม มีแผงขายลูกชิ้นปลากราย น่ากินซื้อกลับมา แม่ค้าลุกมาคุยด้วย ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์มาคุยกับผม มาพบอีกทีตอนซื้อลูกชิ้นปลากราย แม่ค้ายังสาวใหญ่ เลยบอกว่าตลาดพอไปได้ เพราะพึ่งเปิดได้ไม่ถึงปี นักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ทัวร์เริ่มเข้าแล้ว ผมเองก็รู้จักจากประชาสัมพันธ์ของทัวร์ว่า ไปเที่ยวตลาดโก้งโค้ง - ไหว้พระนอน (พระนอนจักรสีห์ ที่สิงห์บุรี พระนอนขุนอินทประมูล ที่ อ.โพธิ์ทอง และพระนอน วัดสะตือ ที่ อ.ท่านเรือ) บอกว่าปกติเป็นอาจารย์ราชภัฎ พอวันหยุดก็มาช่วยกันขายของในตลาด จะขายได้น้อย ได้มาก ก็ไม่ขาดทุน เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ร้าน
ในแยกขวาที่เข้ามายังศูนย์อาหาร ยังมีร้านอาหารไม่มากนัก ดูแล้วน่ากินหลายร้าน ผลัดเอาไว้ก่อน วันหลังไปจะนั่งชิมแต่ในตลาดนี้ มาวันนี้ไม่แน่ใจว่ามีอาหารแค่ไหน เลยชิมเสียที่สวนอาหารชายน้ำ มีก๋วยเตี๋ยว น้ำ แห้ง ชามละ ๑๐ บาท หอยทอดกระทะใหญ่ น่ากินมากหรือมาก ๆ ไม่ได้ถามราคา ส้มตำ ผัดไท ข้าวขาหมู อาหารตามสั่ง มีน้ำในโอ่งดิน แบบเจ้าข้างนอกและอีกหลายอย่าง ทั้งคาวและหวาน รวมทั้งผลไม้เชื่อม เช่น สาเก กล้วยไข่เชื่อม ฯ
หากเดินผ่านทางแยกเข้าศูนย์อาหาร เป็นพวกจักสานต่าง ๆ แม่ค้าประชาสัมพันธ์ ก็ขายสินค้าพวกจักสาน และสุดทางคือ เครื่องปั้นดินเผา ฝีมือดี ราคาถูกจริง ๆ ผมช่วยเขาประชาสัมพันธ์เสียเลยว่า ไปเที่ยวตลาดโก้งโค้ง แล้วจะล่องกลับมาเที่ยวศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ที่อยู่ติดกัน หรือเลยไปไหว้พระในอยุธยา ก็จะเป็นมงคล
..................................................
|
Update : 9/7/2554
|
|