|
|
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - บำรุงกาย บำรุงใจ
มีคนบางคนเข้าใจว่า การกระทำความดี หรือปฏิบัติกิจศาสนานั้น เป็นเรื่องของคนแก่ ส่วนคนหนุ่มสาวนั้นยังไม่จำเป็น ความเข้าใจในรูปนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เหมือนกับอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ ทุกคน ถ้าร่างกายของใครขาดอาหาร ก็คงถึงแก่ความตาย
ธรรมะเป็นอาหารหล่อเลี้ยงใจ ใจของใครขาดธรรมะเขาก็คงเป็นอยู่แบบคนที่ตายแล้ว การตายในขณะเป็นอยู่ เป็นการตายที่ร้ายแรงกว่าการตายของคนตายจริงๆ เพราะคนตายจริงๆ ไม่ให้โทษแก่ใคร แต่คนตายยังเป็นอยู่เพราะขาดคุณความดีนั้น เป็นภัยต่อสังคมมาก จึงเป็นตายที่น่ากลัวโดยแท้
ชีวิตที่ต้องการอยู่อย่างคนเป็น จึงต้องมีธรรมะประจำใจ ธรรมะเป็นเกราะป้องกันมิให้เราตกไปสู่ความชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อีกประการหนึ่งการกระทำความชั่วย่อมเกิดแก่คนทุกเพศทุกวัย ถ้าหากเขาไม่มีเครื่องห้ามเครื่องกันแล้ว ความลำบากก็เกิดแก่เขาได้ง่าย โดยเฉพาะ คนหนุ่มสาวจิตใจกำลังคึกคะนองร้อนแรง ถ้าเอนไปในทางดีก็ดีนัก ถ้าเอนไปในทางชั่วก็ชั่วนัก แต่ส่วนมากมักเอนไปในทางที่ชั่ว เพราะธรรมชาติของใจคน มีปกติเดินไปในทางต่ำอยู่เสมอ ยิ่งขาดการห้ามด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่ ประดุจม้าคะนองที่ขาดสารถีบังคับ ม้าที่กำลังคะนองและพยศต้องการมีบังเหียนและควานม้าผู้จับบังเหียนไว้ฉันใด คนหนุ่มสาวที่กำลังคะนองก็ควรจักมีสิ่งสำหรับบังคับไว้ฉันนั้น สิ่งนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าธรรมะ
คนหนุ่มสาวยังมีหวังที่จะอยู่ไปในโลกอีกนานปีมากกว่าคนแก่ และจักมีโอากาสได้กระทำความดีแก่โลกมากขึ้นไปอีก ความจำเป็นในการแสวงหาหลักทางใจจึงมากกว่าคนแก่เป็นธรรมดา คนไม่มีหลักศาสนาในใจเป็นคนปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว เขาอาจทำผิดทำเสียเมื่อไร ก็ได้...
ธรรมกับอธรรมให้ผลต่างกัน คือ ธรรมจะนำตนไปสู่สถานที่ดี อธรรมนำตนไปสถานที่ชั่ว ท่านชอบอย่างไหนก็เลือกเอาเอง นึกว่าท่านคงไม่เลือกอธรรมแน่ๆ เพราะใจของท่านยังปรารถนาความสุขความเจริญอยู่ จึงหวังว่าท่านคงเลือกเอาธรรมะเป็นฝ่ายดี เป็นฝ่ายที่ทำให้ท่านเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
การที่เราเรียกกันว่ามนุษย์นั้น ย่อมหมายถึงร่างกายและจิตใจอันอาศัยกันอยู่ ดังคำว่า กายกับใจประกอบกันเข้า คำว่า “คน” จึงเกิดขึ้น ถ้ามีกายไม่มีใจ หรือมีแต่ใจไม่มีกายก็หมดความเป็นคน ทั้งสองอย่างต้องอาศัยรวมกันเป็นอยู่เสมอ ในการบำรุงจึงต้องบำรุงทั้งสองอย่าง แต่คนเราส่วนมากมักพอใจบำรุงแต่ส่วนร่างกาย หาสนใจ การบำรุงใจไม่ มิใช่แต่ได้บำรุงเท่านั้น ซ้ำร้ายยังทำลายใจกันเสียด้วย
การทำลายใจของตนก็คือ การห่างเหินจากธรรมะนั่นเอง ถ้าเราบำรุงกายด้วยอาหารการกิน อาบน้ำตกแต่ง อย่างไหนแล้ว เราก็ต้องบำรุงใจด้วยอาหารและน้ำฉันนั้น อาหารของกายเป็นคำข้าว อาหารของใจเป็นธรรมะ ถ้าร่างกายอ้วนพี เพราะได้รับการบำรุงอย่างดีแล้ว ก็ควรบำรุงใจให้เป็นอย่างนั้นด้วย ใจที่ขาดการบำรุงเป็นใจที่ซูบผอม ขาดกำลังสำหรับต่อสู้ เมื่อขาดกำลังย่อมแพ้ข้าศึกได้ง่าย ข้าศึกทางกายได้แก่โรคภัยนานาชนิด ข้าศึกทางใจได้แก่ความชั่ว ทำใจให้อ่อนแอนั่นเอง
ความชั่วที่เรียกว่า กิเลสบ้าง มารบ้าง ซาตานบ้างก็มี และถ้าเอาชนะไม่ได้ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อมัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ดังคำที่ว่า “การพ่ายแพ้เป็นความทุกข์” ทุกข์เพราะตกอยู่ในอำนาจของมารร้ายที่คอยดึงไปสู่หลุมอบาย ตกเป็นทาสของมัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “การเป็นทาสเป็น ทุกข์หนัก” แต่ถ้าเรามีหลักในทางใจ มีอาหารหล่อเลี้ยง มีกำลังสลัดต่อต้าน โดยวิธีการเข้าหาการฟังธรรมะ สนทนาธรรมะ คิดค้นธรรมะให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติธรรมะนั้นๆ ให้ใจอ้วนพีมีกำลังมั่นคง ไม่มีข้าศึกใดๆ มาย่ำยีได้เลย เมื่อไม่มีข้าศึกมารบกวน ก็นอนหลับอย่างเป็นสุขในหมู่ของคนที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ทั้งหลายธรรมะย่อมรักษาคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมอย่างนี้
มีพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า “ธมฺมกาโม ภวํ โหติ - ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ” ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่ใคร่ธรรมก็เป็นคนเสื่อมแน่
ความใคร่ธรรมก็คือความอยากได้ในทางดี ตรงกันข้าม กับความชังธรรม อันหมายถึงความไม่ปรารถนาในทางดีเสียเลย
ภาษิตไทยโบราณ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” จั่วเป็น ของสูง เสาเป็นของต่ำและหนักด้วย นับว่าเป็นคำเตือนใจได้อย่างดี ให้พยายามทำตนเป็นคนเบากันเถิด อย่าเป็นคนหนักด้วยบาปอกุศลกันเลย คนจักเบาใจได้เพราะ การกระทำในทางดี ทางดีเป็นทางธรรม เป็นทางของพระ ที่ได้ประกาศไว้เป็นตัวศาสนา ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต จึงเป็นการสมควรที่พวกเราจักเปลี่ยนใจเดินทางของศาสนา อันเป็นทางที่สงบและปลอดภัย
การเดินก็เช่นเดียวกัน อย่ามัวให้ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เป็นอันขาด เมื่อรู้สึกตนต้องการธรรมแล้ว ก็จงลงมือทำทันที เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ถ้าหากจะทำความดีจงทำทันทีอย่าช้าไว้เป็นอันขาด เพราะการทำความดีช้าๆ อาจตกไปสู่บาปเสีย” อีกแห่งหนึ่งตรัสสอน ไว้ว่า “ความเพียรควรทำเสียแต่วันนี้ อย่าผัดไว้ค่อยทำเลย เพราะใครจักรู้ได้ว่า ชีวิตจักตายในวันนี้” คิดอย่างนี้ เป็นการคิดเพื่อเตือนใจให้เข้าหาความดี
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรมวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 121 ธันวาคม 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
|
Update : 8/7/2554
|
|