กำเนิดจักรราศี
จักรวาล ถ้าเราแหงนหน้าขึ้นมองดูบนท้องฟ้า จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายรูปครึ่งวงกลมครอบตัวเราอยู่ ท้องฟ้าที่เรามองเห็นอยู่นี้ เรียกว่า ท้องฟ้าเบื้องบน ใต้เราลงไปยังมีท้องฟ้าอีกครึ่งหนึ่งที่เรามองไม่เห็น เรียกว่า ท้องฟ้าเบื้องล่าง ทั้งสองประกบกันเป็นลูกทรงกลมที่ใหญ่มหึมา มีปริมณฑลกว้างใหญ่ไพศาลโดยไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า จักรวาล และตัวเราสมมุติว่า อยู่ที่จุดศูนย์กลางของลูกทรงกลมนี้ตลอดเวลา เมื่อทรรศนะในท้องฟ้ามีความกว้างไกลโดยไม่มีที่สิ้นสุด ทางดาราศาสตร์ จึงได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็นส่วนๆ เรียกส่วนหนึ่งๆ นั้นว่า เอกภพ
เอกภพ หมายถึง การรวมเอากลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ เข้าเป็นดาราจักร แต่ละดาราจักรต่างก็มีดาวฤกษ์รวมกันอยู่มากกว่าแสนล้านดวง
นอกจากจำนวนดาวฤกษ์ดังกล่าวแล้ว มวลสารและเทหวัตถุอื่นๆทุกชนิด ที่อยู่ในดาราจักรของดาวฤกษ์เหล่านี้ นับเป็นวัตถุในเอกภพเดียวกันทั้งสิ้น เฉพาะในเอกภพของเรานี้ ดวงอาทิตย์เป็นเพียงดาวฤกษ์ดวงเล็กๆดวงหนึ่ง ในจำนวนดาวฤกษ์กว่าแสนล้านดวง จำนวนเอกภพเชื่อกันว่าไม่มีที่สิ้นสุด และอยู่เรียงรายสลับซับซ้อนกันไป จนไม่สามารถที่จะบอกความแน่นอนอะไรได้ ทั้งๆที่โลกเราได้พัฒนาก้าวไกลในทางวิทยาศาสตร์ จนถึงยุควิทยาศาสตร์แห่งพลังงานเหนือธรรมชาติแล้วก็ตาม
ทางช้างเผือก เป็นสัญญลักษณ์ที่สำคัญของเอกภพของเรา ในขณะเดือนมืดไม่เห็นแสงจันทร์ ถ้าท้องฟ้าโปร่ง จะเห็นวงแสงสีขาวเป็นรูปโค้งใหญ่คาดอยู่บนท้องฟ้า วงแสงมหึมาบนท้องฟ้าเรียกว่า ทางช้างเผือก เป็นแถบของแสงสว่างคาดอยู่บนท้องฟ้า เป็นวงกลมจากทางทิศเหนือไปทางทิศใต้ มีความกว้างและความสว่างของแสงไม่เท่ากันตลอด แสงต่างๆเกิดจากดาวที่มีแสงน้อย แต่มีจำนวนมากมายหลายพันล้านดวง แถบนี้มีความกว้างคิดเป็นระยะเชิงมุมตั้งแต่ 5 องศา ถึง 50 องศา โดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศา
เส้นผ่าศูนย์กลางของทางช้างเผือก ถือว่าเป็นเส้นศูนย์สูตรของเอกภพ ซึ่งทำมุมกับเส้นศูนย์สูตรโลกประมาณ 62 องศา และขั้วเหนือขั้วใต้ของเอกภพ ก็จะมีการเอียงไปทางเหนือและไปทางใต้ จากเส้นศูนย์สูตรประมาณ 28 องศา บริเวณที่มองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนที่สุด คือ บริเวณราศีธนู จากการศึกษาเรื่องทางช้างเผือกนี้ ช่วยให้เราได้รู้จักโครงสร้างของเอกภพดียิ่งขึ้น
สุริยจักรวาล ดวงอาทิตย์ของเราเป็นดาวฤกษ์ดวงเล็กๆดวงหนึ่งในเอกภพ สุริยจักรวาล หมายถึง อาณาเขตโดยเฉพาะของดวงอาทิตย์ ซึ่งในดาราจักรน้อยๆนี้ มีดวงอาทิตย์เป็นประธานอยู่ท่ามกลาง มีดาวเคราะห์ต่างๆรวมทั้งดาวบริวารของดาวเคราะห์นั้นๆ ดาวหาง รวมถึงวัตถุอื่นๆ ตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก ซึ่งต่างก็โคจรอยู่รอบๆดวงอาทิตย์ อาณาเขตของสุริยจักรวาลของเรายังไม่ทราบแน่ชัดในขณะนี้
โลก ในบรรดาดาวเคราะห์ต่างๆในสุริยจักรวาล เราถือว่า โลกเป็นดาวเคราะห์ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นที่ให้กำเนิดแก่มนุษย์ มนุษย์ได้อาศัยอยู่เป็นเวลานานมาแล้ว และคงจะอยู่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน โลกที่เราอาศัยอยู่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8,000 ไมล์ เมื่อนำเอาไปเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว โลกเรามีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ 108 เท่า เพราะฉะนั้น จำนวน 108 จึงมีความหมายที่สำคัญในหลายทรรศนะในวิชาโหราศาสตร์ โลกหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก รอบแกนซึ่งต่อระหว่างขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ การหมุนรอบตัวเองของโลกในลักษณะนี้ ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้า รวมทั้งดวงอาทิตย์ ตลอดจนดวงดาวต่างๆ ค่อยๆเคลี่ยนที่จากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า ท้องฟ้าหมุนรอบโลก ถ้าเราอยู่ ณ เส้นศูนย์สูตรโลกซึ่งมีความยาวประมาณ 25,000 ไมล์ ในการที่โลกหมุนรอบตัวเอง ณ จุดที่เราอยู่บนพื้นโลกจะมีอัตราความเร็วประมาณ 1,040 ไมล์ต่อ 1 ช.ม. การที่โลกหมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบ เราใช้กำหนดเป็นมาตรฐานของ 1 วัน มาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานทางดาราศาสตร์พบว่า การหมุนรอบตัวเองของโลกจะไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอด ยิ่งนานวันเข้า โลกจะหมุนรอบตัวเองช้าลงทุกที ยังผลให้เวลาในวันหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการแกว่งส่ายของโลก และเกิดจากการเสียดสีของน้ำในมหาสมุทรกับพื้นผิวโลก
การที่โลกหมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกัน เป็นผลให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์โคจรเคลี่ยนที่ไปปรากฎอยู่ตามกลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ซึ่งมีความบูดเบี้ยวน้อยมาก ระยะทางเฉลี่ยระหว่างจุดศูนย์กลางของโลกกับดวงอาทิตย์ ประมาณ 92 ล้าน 9 แสนไมล์ หน่วยดาราศาสตร์ Astronomical unit
เนื่องจากโลกโคจรเป็นรูปวงรี ในประมาณต้นเดือน ม.ค.ของทุกปี ราววันที่ 3 ม.ค. โลกจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด ณ จุดนี้เรียกว่า perihelion โลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์น้อยกว่าระยะทางเฉลี่ยประมาณ 1 ล้าน 5 แสนไมล์ ดังนั้นโลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 91 ล้าน 4 แสนไมล์ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในปฎิทินดาราศาสตร์ จะอยู่ที่ราศีมังกร ประมาณ 12 องศา (ทั้งนี้กำหนดให้ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ตรงกับความเป็นจริงบนท้องฟ้า) ดวงอาทิตย์จะโคจรบ่ายเบนไปทางทิศใต้ประมาณ 22 องศา 50 ลิบดา จากเส้นศูนย์สูตรฟ้า ในวันนี้ ดวงอาทิตย์จะโคจรเร็วที่สุดในอัตรา 61 ลิบดา 9 ฟิลิบดา ต่อ 1 วัน คิดตามเวลามาตรฐานที่กทม. ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 6.45 น. ตกเวลาประมาณ 17.59 น. เวลากลางวันน้อยกว่ากลางคืนประมาณ 46 นาฑี
ในประมาณต้นเดือน ก.ค.ของทุกปี ราววันที่ 5 ก.ค. โลกจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ณ จุดนี้เรียกว่า aphelion โลกจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าระยะทางเฉลี่ยประมาณ 1 ล้าน 5 แสนไมล์ ดังนั้นโลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 94 ล้าน 4 แสนไมล์ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ราศีกรกฎ ประมาณ 12 องศา ดวงอาทิตย์จะโคจรบ่ายเบนไปทางทิศเหนือประมาณ 22 องศา 50 ลิบดา ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะโคจรช้าที่สุดในอัตรา 57 ลิบดา 11 ฟิลิบดา ซึ่งช้ากว่าวันที่โลกโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ประมาณ 3 ลิบดา 58 ฟิลิบดา คิดตามเวลามาตรฐานที่กรุงเทพ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 5.59 น. ตกเวลาประมาณ 18.45 น. เวลากลางวันมากกว่ากลางคืนประมาณ 46 นาฑี
ปีนักษัตร การโคจรของโลกครบหนึ่งรอบพอดี เรียกว่า หนึ่งปีนักษัตร การสังเกตหนึ่งปีนักษัตรครบหนึ่งรอบพอดี เราต้องสมมุติดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่งขึ้นเป็นจุดมาตรฐาน ถ้าเราเห็นดวงอาทิตย์โคจรผ่านจุดนี้ 2 ครั้งติดต่อกันเมื่อใด นับเป็นเวลา 1 ปีนักษัตรเมื่อนั้น การนับปีทางวิธีนี้ เป็นปีที่แท้จริงทางดาราศาสตร์ ซึ่งมีเวลาคงที่ โดยคิดตามเวลาพระอาทิตย์เฉลี่ย คือ ปีนักษัตร = 365.25636042 วัน หรือ = 365 วัน 6 ช.ม. 9 นาฑี 9.5 วินาฑี ในปัจจุบันนี้ทางดาราศาสตร์ได้พบว่า เวลาของปีนักษัตรจะค่อยๆเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.01 วินาฑีทุกๆปี โลกมีอัตราความเร็วในการโคจรรอบดวงอาทิตย์คิดเฉลี่ยประมาณ 18.5 ไมล์ต่อ 1 วินาฑี หรือประมาณ 66,600 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 26 ไมล์ต่อ 1 วินาฑี หรือ 93,600 ไมล์ต่อชั่วโมง โลกจะโคจรหลุดออกไปจากบริเวณที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ และโลกก็จะมีระบบโคจรเช่นเดียวกันกับดาวหางต่างๆ
โลกหมุนรอบตัวเองและหมุนรอบดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกัน การโคจรของโลกแบบนี้ ทำให้แกนของโลกหมุนแกว่งส่ายไปเป็นรูปกรวยกลมรอบแนวดิ่ง ไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับที่โลกหมุน แกนของโลกเอียงทำมุมประมาณ 23.5 องศา กับแนวดิ่งที่ตั้งฉากกับระนาบของการโคจรของโลก ปรากฏการณ์อันนี้ทำให้แกนของโลกเคลื่อนที่เป็นกรวยกลม โดยจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับโลกหมุน จะครบรอบหรือครบคาบพอดี กินเวลาประมาณ 25,791 ปี
สุริยวิถี Ecliptic การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเรามองเห็นเสมือนหนึ่งว่า ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก เราจะเห็นว่า ดวงอาทิตย์โคจรไปตามวิถีทางของมันตายตัวเป็นประจำทุกๆปี ทางโคจรของจุดศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ที่เห็นในท้องฟ้านี้ เรียกว่า ระมิมรรค เป็นวงกลมรีสมมุติที่ใหญ่โตมาก เป็นวงรีที่เหมือนกับวงโคจรของโลกทุกประการ แต่ได้ขยายใหญ่ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด เพระฉะนั้น ระวิมรรค หรือ สุริยวิถี จึงใหญ่กว่าวงโคจรของโลกมากมายหลายแสนหลายล้านเท่า เป็นวงโคจรที่นักดาราศาสตร์ได้สมมุติขึ้น เพื่อคำนวนพิกัด และอัตราความเร็วของการโคจรของดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ รวมถึงจุดคราสพระอาทิตย์ และจุดคราสพระจันทร์ นักดาราศาสตร์สมมุติเอาว่า ดวงดาวต่างๆโคจรอยู่บนเส้นระนาบสุริยวิถีด้วยกันทั้งสิ้น
เราสมมุติว่า สุริยวิถีเป็นที่สิ้นสุดของอาณาเขตฟ้า เส้นต่างๆที่กำหนดขึ้นบนผิวโลกทุกๆเส้น ต่างก็ขยายไปอยู่ในอาณาเขตอันเดียวกันกับเส้นสุริยวิถีทั้งหมด ดังนั้นเส้นศูนย์สูตรโลกก็กลายเป็นเส้นศูนย์สูตรฟ้า เส้นรุ้งและเส้นแวงของโลกก็ไปเป็นเส้นรุ้งเส้นแวงฟ้า จุดขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ก็เป็นจุดขั้วเหนือและขั้วใต้ของฟ้าตามลำดับ
ท้องฟ้าที่กำหนดขึ้นนี้ จะเต็มไปด้วยเส้นต่างๆ เช่นเดียวกันกับบนผิวโลกทุกอย่าง และมีอาณาเขตไม่มีที่สิ้นสุด วัตถุทุกชนิดที่เรามองเห็นบนฟ้าต่างก็ปรากฎอยู่บนระนาบรูปทรงกลมใหญ่ที่เราสมมุติขึ้นทั้งสิ้น เราถือเอาว่า จุดศูนย์กลางของท้องฟ้าอยู่ ณ จุดของผู้ที่ดูท้องฟ้านั่นเอง เส้นขนานต่างๆ ไม่ว่าจะมีระยะห่างกันสักเท่าใด จะมีทิศทางตรงไปยังจุดเดียวกันบนรูปทรงกลมสมมุตินี้ ดังนั้นเราจะมองเห็นดาวทุกๆดวง ต่างก็มีตำแหน่งเป็นภาพลวงตา อยู่บนระนาบพื้นผิวทรงกลมใหญ่วงนี้ทั้งหมด ตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ จึงไม่ใช่ตำแหน่งที่แท้จริง เป็นแต่เพียงทิศทางของดวงดาวเท่านั้นเอง ด้วยประการเช่นนี้ เราจึงมีการกำหนดระยะของดวงดาวต่างๆเป็นจำนวนองศา ไม่ใช่วัดเป็นจำนวนไมล์ และเราเรียกระยะมุมของดาวต่างๆเป็นระยะเชิงมุม จากกฎเกณฑ์อันนี้เอง เราจึงวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้เท่าๆกัน คือ ประมาณครึ่งองศาเท่านั้น โดยทำนองเดียวกัน ระยะที่เรามองเห็นระหว่างดาว 2 ดวง ก็คือ มุมระหว่างแนวทิศทางของดาวทั้ง 2 ดวงนั่นเอง ซึ่งวัดเป็นองศาบนเส้นวงกลมสมมุตินี้
วิษุวัต Vernal equinox เส้นสุริยวิถี และเส้นศูนย์สูตรฟ้า จะตัดกัน 2 จุด และจุดทั้งสองนี้จะอยู่ตรงข้ามกันพอดี ถ้าโลกโคจรมาถึงจุดนี้ จากการมองเห็นด้วยตาเปล่า เราจะเห็นดวงอาทิตย์โคจรมาถึงจุดนี้ จะมีปรากฎการณ์พิเศษบนพื้นโลก คือ ในวันนี้ ถ้าเราอยู่ที่เส้นศูนย์สูตรโลก เวลากลางวันจะเท่ากับเวลากลางคืนพอดี จุดตัดทั้งสองนี้ เรียกว่า วิษุวัต จุดวิษุวัตซึ่งดวงอาทิตย์โคจรผ่านแล้ว ดวงอาทิตย์จะปัดไปทางทิศเหนือของเส้นศูนย์สูตรฟ้า เรียกว่า อุตรวิษุวัต vernal equinox เมื่อดวงอาทิตย์โคจรมาถึงจุดนี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่ที่เส้นศูนย์ฟ้าพอดี คือ ไม่ไม่ปัดไปทางไหนอีก ถ้าเราอยู่ที่เส้นศูนย์สูตรโลก ในเวลาเที่ยงวันในวันนี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงกับศรีษะของเราพอดี ในวันนี้ดวงอาทิตย์มี กรันติ declination = 0 องศา ต่อจากวันนี้ไป ดวงอาทิตย์จะค่อยๆปัดไปทางทิศเหนือของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าวันละเล็กวันละน้อย
ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในวันนี้ จะตรงกับประมาณวันที่ 21 มี.ค.ของทุกๆปี ตามปฏิทินดาราศาสตร์ในระบบนิรายนะ ดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ราศีมีนประมาณ 6 องศา 37 ลิบดา (ปฏิทินสากลหรือสายนะ ที่กำหนดให้ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษตรงตามความเป็นจริงบนท้องฟ้า จะอยู่ที่ 0 องศา ของราศีเมษ)
จุดวิษุวัตเมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่านแล้ว ดวงอาทิตย์จะปัดไปทางทิศใต้ของเส้นศูนย์สูตรฟ้า เรียกว่า ทักษิณวิษุวัต autumnal equinox เมื่อดวงอาทิตย์โคจรมาถึงจุดนี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่ที่เส้นศูนย์สูตรฟ้าพอดี คือ ไม่ปัดไปทางไหนอีก ถ้าเราอยู่ที่เส้นศูนย์สูตรโลก ในเวลาเที่ยงวันของวันนี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่บนศรีษะของเราพอดี ในวันนี้ดวงอาทิตย์มี declination = 0 องศา ต่อจากวันนี้ไป ดวงอาทิตย์จะค่อยๆปัดไปทางทิศใต้ของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าวันละเล็กวันละน้อย
ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในวันนี้ จะตรงกับประมาณวันที่ 23 ก.ย.ของทุกปี ตามปฏิทินดาราศาสตร์ในระบบนิรายนะ ดวงอาทิตย์จะอยู่ในราศีกันย์ประมาณ 6 องศา 37 ลิบดา (ปฏิทินสากลหรือสายนะ ที่กำหนดให้ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษตรงตามความเป็นจริงบนท้องฟ้า จะอยู่ที่ 0 องศา ของราศีตุลย์)
เส้นสุริยวิถีและเส้นศูนย์สูตรฟ้า มีระนาบต่างกัน โดยทำมุมเอียงประมาณ 23.5 องศา จุดบนเส้นสุริยวิถีที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้ามีอยู่ 2 จุด เรียกว่า มหากรันติ solstice จุด 2 จุดนี้ จะอยู่ตรงข้ามกันพอดี และต่างก็อยู่ห่างจากจุดวิษุวัต 90 องศาพอดี ถ้าดวงอาทิตย์โคจรมาถึงจุดทั้งสองนี้ เราจะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้ามากที่สุด
จุดบนเส้นสุริยวิถีที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางทิศเหนือมากที่สุด เรียกว่า อุตรยัน summer solstice ณ จุดนี้จะมีปรากฎการณ์พิเศษเกิดขึ้นบนพื้นโลก คือ เวลาในภาคกลางวันจะมากกว่าเวลาในภาคกลางคืนมากที่สุด (เป็นวันที่มีเวลากลางวันนานที่สุด และเวลากลางคืนน้อยที่สุด) จะตรงกับประมาณวันที่ 22 มิ.ย. ของทุกๆปี ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจุดอุตรายัน ฤดูกาลในเมืองไทยเราจะเริ่มเข้าฤดูฝน
จุดบนเส้นสุริยวิถีที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางทิศใต้มากที่สุด เรียกว่า ทักษิณายัน winter solstice ณ จุดนี้จะมีปรากฎการณ์เกิดขึ้น คือ เวลาในภาคกลางคืนจะมากกว่าในภาคกลางวันมากที่สุด (เป็นวันที่มีเวลากลางคืนนานที่สุด มีเวลากลางวันน้อยที่สุด) จะตรงกับประมาณวันที่ 22 ธ.ค. ของทุกๆปี ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจุดทักษิณายัน เป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาว ฤดูนี้ดวงอาทิตย์จะอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า และขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตกทางทิศตะวันตกเฮียงใต้ เรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"
จักรราศี horoscope การหมุนรอบตัวเองของโลกทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ นักปราชญ์ในสมัยโบราณ ได้กำหนดให้การโคจรของดวงอาทิตย์บนระนาบเส้นสุริยวิถี ซึ่งโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ ออกเป็น 12 กลุ่ม โดยใช้การโคจรของดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปี เป็นเกณฑ์ในการคำนวน โดยกำหนดว่า ดวงอาทิตย์โคจร 1 ปี 365 วัน ผ่านกล่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มใช้เวลาโคจรประมาณ 1 เดือน และกำหนด 1 กลุ่มดาวฤกษ์ เรียกว่า 1 ราศี รวมทั้งหมดเป็น 12 เดือน 12 ราศี เรียกว่า จักรราศี แต่ละราศีมีอาณาเขต 30 องศา