|
|
เที่ยวทั่วไทย-ศิลป์แผ่นดิน
ศิลป์แผ่นดิน
วันนี้ผมของดพาไปเที่ยวสักวัน เพื่อเล่าเรื่อง "ศิลป์แผ่นดิน" ที่ผมได้มีโอกาสไปชมมา ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการสุดพรรณา สถานที่จัดแสดงคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ซึ่งเปิดการแสดงเป็นงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๕ เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕ๆ จนถึง ๑๓ มกราคม ๒๕๕๑ การแสดงศิลป์แผ่นดิน มีมาแล้ว ๔ ครั้ง ในวโรกาสที่ต่าง ๆ กันคือ
ครั้งที่ ๑ ๘ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ ในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ
ครั้งที่ ๒ ๑๒ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๙ ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ครั้งที่ ๓ ๒๓ กรกฎาคม - ๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒
ครั้งที่ ๔ ๓ กรกฎาคม - ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ และ
ครั้งที่ ๕ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ - ๑๓ มกราคม ๒๕๕๑ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พ.ศง๒๕๔๙ และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๒๕๕๐
ผมพึ่งมีโอกาสได้เข้าไปชมในครั้งที่ ๕ และก่อนหน้านี้เคยพาท่านผู้อ่านไปชม "ศิลป์" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า มีระดับศิลป์แผ่นดินบ้างหรือไม่ ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และที่ศูนย์ศิลปาชีพ ระหว่างประเทศ (อยู่ก่อนถึงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ห่างสัก ๑๐๐ เมตร) แต่ทั้งสองศูนย์นี้ ไม่ได้ร่วมงานระดับศิลป์แผ่นดิน มาให้ชมทั้งหมด ซึ่งมีอยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๐ จำนวน ๒๘ ชิ้น ที่ได้นำมาแสดงในงานครั้งที่ ๕ นี้
ความเป็นมาของ "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ" ซึ่งมีพระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ที่ได้พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
"ข้าพเจ้า ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำของพระราชทานไปทรงช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทำอย่างไร จึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาวคือ ทำให้มีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงหาแหล่งน้ำให้ทำไร่ ทำนา ของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติ ต่อบ้านเมือง ทรงพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่าง ๆ ทรงคิดว่านี่เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ"
งานส่งเสริมศิลปาชีพ ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเริ่มต้นขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ และได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ร่วมกับการบริจาคของผู้ที่เห็นคุณค่า และซาบซึ้งในพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์นี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร การอนุรักษ์และส่งเสริมหัตถกรรมไทยโบราณของชาติไว้มิให้เสื่อมสูญ เพื่อเป็นการเปลี่ยนอาชีพของราษฎรไทยบางท้องถิ่น และชาวไทยภูขาที่ปลูกฝิ่น หรือราษฎรที่ตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งราษฎรที่ละทิ้งถิ่นไปหาอาชีพอื่น ให้หันมาประกอบงานหัตถกรรม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ มีศูนย์ฝึกอบรมและจัดจำหน่ายผลงานของสมาชิกอยู่ทั่วภูมิภาค เช่น ศูนย์ศิลปาชีพแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตุงติง เชียงใหม่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม บ้านจาร บ้านส่องดาว สกลนคร และศูนย์ศิลปาชีพ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส เป็นต้น "สถานที่ฝึกอบรมศิลปาชีพแห่งแรก ถือว่าเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมมูลนิธิ ฯ อยู่ภายในสวนจิตรลดา ซึ่งเป็นดั่งครอบครัวใหญ่ ที่มีสมาชิกจำนวนมาก ปัจจุบันมีการฝึกอบรมทั้งสิ้น ๒๓ แผนก " เช่น แผนกช่างเครื่องเงิน เครื่องทอง แผนกคร่ำ (ประดิษฐ์ลวดลาย โดยการตีฝังเส้นเงิน เส้นทอง ลงบนโลหะที่เป็นเหล็ก) แผนกถมทอง แผนกทอผ้าไหมมัดหมี่ แผนกทอผ้าแพรวา แผนกปั้น แผนกลงยาสี แผนกงานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ แผนกปักผ้า แผนกจักสานไม้ไผ่ลายขิด แผนกสานย่านลิเภา เป็นต้น
งานศิลป์แผ่นดินที่จัดนำมาแสดง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในครั้งนี้นั้น ได้จัดแสดงไว้ ณ ชั้นบนของพระที่นั่ง เป็นผลงานที่เคยแสดงมาแล้ว ๑๘ ชิ้น และมีงานชิ้นสำคัญ ๑๐ ชิ้นใหม่ ที่นำมาแสดงในครั้งนี้ ผมจะเล่าเฉพาะงานสำคัญ ๑๐ ชิ้นใหม่ งานบางชิ้นที่นำมาแสดงนั้น บางชิ้นต้องใช้คนทำกว่า ๒๐ คน ทำงานกันเป็นเดือน จึงจะสำเร็จมาเป็นงานระดับ "ศิลป์แผ่นดิน"
เมื่อประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้ว ผมเดินทางไปราชการที่ประเทศอิสราเอล และเที่ยวกลับได้แวะเที่ยวประเทศอินเดีย กับคณะอีก ๓ คน เป็นการส่วนตัว ได้มีโอกาสไปชมโรงงานผลิตงานศิลป์ของเขา เห็นจิตรกร กำลังนั่งแกะงาช้างเพียงงาเดียว ให้เป็นรูปรถศึก ที่มีม้าเทียมลากถึง ๘ ตัว และมีขุนศึกยืนบนรถศึก ถือแซ่เฆี่ยนม้า พร้อมทั้งมีอาวุธปักอยู่ด้านท้ายของรถศึก ถามจิตรกรที่กำลังนั่งแกะสลักว่า เมื่อไรจะเสร็จ เขาตอบว่า "ไม่ทราบ" ถามว่าทำมานานหรือยัง เขาก็ตอบว่าทำมา " สามปีแล้ว " ค่าจ้างยังไม่ทราบว่าจะได้ทั้งหมดเท่าไร แต่เขาก็พอใจที่ได้ทำงาน แม้จะนานก็ตาม ทางโรงงาน เลี้ยงตัวเขาและลูกเมียทุกคน พร้อมทั้งให้ที่อยู่อาศัยด้วยเรียกว่า เสร็จเมื่อไร ก็เมื่อนั้น มีอาหารกินทั้งครอบครัว มีที่พัก ได้ทำงานที่รัก เสร็จได้เงินก้อน
ศูนย์ศิลปาชีพ ก็คงอยู่ในแนวเดียวกัน แต่ทำให้แก่คนทั้งประเทศ หากทำตามพระราชดำริ ก็จะมีงานทำ มีอาชีพ ที่อาจจะเป็นได้ทั้งอาชีพเสริม และอาชีพหลัก ผมเคยทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนา เมื่อสัก ๒๐ ปีมาแล้ว บริเวณชายแดน ครั้งหนึ่งไปทำที่บ้านเวินบึก ตำบล / อำเภอ โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจุดนี้อยู่ในรอยต่อของไทย ลาว และกัมพูชา ได้นำหน่วยงานต่าง ๆ ไปร่วมด้วยถึง ๒๓ หน่วยงาน และประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แต่พอผมปลดเกษียณอายุราชการแล้ว กลับไปเที่ยว เข้าไปถามชาวบ้านที่ระดับผู้ใหญ่จำผมได้ และยังเรียก พ่อโอภาส บอกว่าหลังจากที่คณะผมเข้าทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนา ช่วยให้เขามีอาชีพแล้ว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ เสด็จมาเยี่ยมหมู่บ้านนี้ และพระราชทานอาชีพใหม่ให้แก่พวกเขาคือ ศิลปาชีพ ในด้านงานทอผ้า ทรงโปรด ฯ พระราชทานทุนทรัพย์ สร้างศาลา สร้างสำนักงานให้พวกเขาได้ทำงาน และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกัน บ้านเวินบึก จึงเจริญขึ้นพ้นจากความยากจน
เมื่อขึ้นไปยังชั้นบนที่จัดเป็นที่แสดงนิทรรศการ งานชิ้นแรกที่ได้เห็นคือ
บุษบกจัตุรมุขพิมาน บุษบกเรือนยอดจำหลักไม้
เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรรหงส์ สร้างจำลองจากเรือในรัชกาลที่ ๑
สีวิกากาญจน์ พระราชยาน สำหรับเจ้านายฝ่ายใน ที่สูงศักดิ์
พระที่นั่งพุดตานถมทอง สร้างจำลองแบบมาจากพระที่นั่งพุดตานไม้ ที่วังหน้า
พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง สร้างด้วยเหล็กคร่ำทอง จำลองจากพระบวรราชวัง
ผ้าปักไหมน้อย "ป่าหิมพานต์" ตามคำเสภาในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
ตำนานเพชรรัตน์ เป็นฉากไม้แกะสลัก บรรยายถึงกำเนิดของแก้ว ๙ ประการ
ห้องปีกแมลงทับ ห้องแปดเหลี่ยม ผนังแต่งด้วยแผ่นสานลิเภา สอดปีกแมลงทับ
สุรินทรสุรอัปสร ฉากเขียนสีบนพื้นทอง เรื่องสุรินทรอัปสร
ม้านิลมังกร ม้านิลมังกร จำหลักไม้ ประดับด้วยเกล็ดนิล ม้าของสุดสาคร
งานแต่ละชิ้น งามสุดจะบรรยาย เสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ ผมได้แต่ซื้อโบชัวร์ ของมูลนิธิแผ่นละ ๒๐ บาท แล้วตัดภาพส่งมาให้ บก. ฯ ช่วยกรุณานำภาพลงให้ด้วย ไม่ทราบว่าจะได้ภาพชัดแค่ไหน คงจะมีงานศิลป์แผ่นดินอีกในโอกาสสำคัญ มีเมื่อไร ถ้าทราบขอให้ไปชมให้ได้ ค่าเข้าชมคราวนี้คนละ ๑๐๐ บาท ในงานมีร้านขายของที่ระลึก ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพจำหน่ายด้วย หากให้ผมแนะนำที่เที่ยววันนี้ ก็ขอแนะให้ไปเที่ยวเขาดินวนา ก็แล้วกัน เพราะอยู่ติดกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ผมไม่ได้ไปเที่ยวเขาดินวนา มานานกว่า ๔๐ ปีแล้ว เขาว่ามีร้านอาหารอร่อย ผมจะหาโอกาสไปชิม
ร้านอาหารที่จะพาไปชิมวันนี้ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ แถว ๆ สมุทรปราการ ใกล้ ๆ กับบางพลี ที่ผมเคยพาไปเที่ยวตลาดบางพลีใหญ่ ๑๔๐ ปี และพาไปไหว้หลวงพ่อโต ที่วัดบางพลีใหญ่ใน มาแล้ว
เส้นทางไปทางด่วยจะสะดวกที่สุด พอถึงบางนาก็แยกออกไปทางเส้นทางด่วนลอยฟ้า ที่ป้ายบอกไปชลบุรี แล้วลงที่ช่องทางแรก ป้ายบอกว่าวงแหวนรอบนอก ลงแล้วก็กลับรถหน้าโลตัส มาทางบางนา จะมีถนนแยกซ้ายคือ ถนนเมืองแก้ว ป้ายที่เห็นชัดคือ ป้ายโรงเรียนนานานชาติ คอร์คอเดียน เลี้ยวซ้ายเข้ามาประมาณ ๘๐๐ เมตร เลยสถานีตำรวจภูธรบางพลี เลย รร.ราชวินิจ บางแก้ว ไป ๒๐๐ เมตร ร้านอยู่ขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปจอดรถที่ลานจอดรถหน้าร้านได้ จอดรถสะดวก ร้านเหมือนซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ หน้าบันไดขึ้นมีดอกเทียนหยด สีม่วงเข้ม (สีเข้มอย่างนี้หายาก)
ต้องสั่ง จานนี้ราคา ๒๐๐ บาท แต่อร่อยคุ้มราคาคือ มัสหมั่นซี่โครงหมูอ่อน หอมกลิ่นแกง เสริฟมาพร้อมขนมปังปิ้ง ๒ แผ่น โรยด้วยมันฝรั่ง หอมใหญ่ มะเขือเทศ จะกินกับข้าวสวย หรือเอาขนมปังจิ้ม ก็อร่อยไปอีกแบบ
สเต็กหมูจิ้มแจ่ว จานนี้ควรจะต้องสั่งเช่นกัน หั่นมาเป็นชิ้นใหญ่ มีน้ำซ๊อสราดน้ำขลุกขลิก จิ้มน้ำแจ่ว ขอบจานวางผักใบสะระแหน่ โหระพา แตงกวา หอมแดง พริก
หมูสับปลาเค็ม ไม่ควรโดดข้ามไป สับหมูกับปลาเค็ม ทอดมาเป็นแผ่นกลม เสริฟมาพร้อมหอมแดง และพริกขี้หนูสับ
ไส้อั่ว ร้านชวนชิม มีขิง ถั่วลิสง ใบโหระพา สั่งข้าวนึ่งอนามัยสีแดง กลิ่นหอม
แกงยอดผักริมรั้ว สารพัดผัก คล้ายแกงเลียง ใส่ปลากรอบ ซี่โครงอ่อน ตำลึงยอดฟักแม้ว เห็ด ยอดผักขจร เม็งมะพร้าว ซดร้อน ๆ ชื่นใจ
โต๊ะที่เขาน่าจะมาบ่อย มักจะสั่ง "ปีกไก่รมควัน" ดูท่าอร่อย ฝากไว้คราวหลัง
ของหวานที่ชวนแนะคือ วุ้นกะทิ มะพร้าวอ่อน หวานมัน
จัดร้านเหมือนห้องอาหารในบ้าน ภาพที่หาชมยากคือ ภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ประทับนั่งให้เอลวิส เพรสลี่ ได้นั่งพระเก้าอี้ร่วม
เมนูเพื่อสุขภาพของร้านคือ หมูสับกระเทียมทอด สเต็กคั่วหมู ซุปขาหมู ผัดผักริมรั้ว ปลากรอบ ซี่โครงอ่อน ไม่ได้สั่ง เพราะมาเห็นขึ้นเมนูเอาไว้ จะอิ่มแล้ว
..................................................
|
Update : 7/7/2554
|
|