|
|
มองเป็นเห็นธรรม - สันติภาพของโลก เริ่มที่ตนเอง
“เออ..อยากได้เงินก็อ้างธรรมเนียมจีนมาขอเลยหรือเจ้าต้อย”
“เปล่าครับ คือแบบว่า ถ้าหลวงพ่อเมตตาให้เงินผมเป็นแต๊ะเอีย ผมก็จะได้นำเงินไปสร้างสุขให้กับคนที่ใช่เลยของผมในวันวาเลนไทน์ต่อน่ะครับ “
“เอ็งนี่..ธรรมเนียมอะไรของชาติไหน ก็เอาหมด ลืมเลือนสมบัติธรรมเนียมประเพณีของปู่ย่าตายาย ประเทศไทยจึงยุ่งเหยิงทุกวันนี้”
“โอ้โห.. ขอเงินแต๊ะเอียนิดเดียวนี่นะ จะเทศน์ยาวเลยหรือครับ”
“ผู้ใหญ่สอน ก็ว่าเทศน์ ผู้ใหญ่ว่ากล่าว ก็หาว่าไม่เข้าใจวัยรุ่น ผู้ใหญ่เตือน ก็ไม่ฟัง แล้วไอ้ที่เอ็งไปก่อเหตุกันให้ผู้ใหญ่ตามแก้ไขนี่จะว่ายังไงล่ะ”
“เรื่องชิลๆ ครับ ผมทำเรื่องเสร็จก็แล้วกันไป ไม่เห็นเดือดร้อนเลย หลวงพ่อจะมายุ่งยากกับเรื่องผมทำไมครับ”
“ข้าไม่ยุ่งได้ไง เอ็งเป็นศิษย์ข้า ไปทำความเดือดร้อนมา พ่อแม่เอ็งก็ว่าข้าไม่สั่งสอน ชาวบ้านที่รู้จักก็ว่าข้ามัวแต่ สอนคนอื่น ไม่สอนลูกศิษย์ของตน แล้วพาลว่ากันต่อไปอีกว่าข้านี้ล่ะที่ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อม เอ็งจะว่าไง ไอ้ต้อย”
“ช่างเขาสิหลวงพ่อ เขาอยากพูดก็พูดไป หลวงพ่อก็อย่าไปสนใจ ผมยังไม่สนใจเลย อุเบกขาไว้หลวงพ่อ แล้วเดี๋ยวก็เงียบไปเอง”
“เอ้าไอ้นี่ ลามปามอีกแล้ว สอนทีไรก็ไม่จำ เราอยู่ในสังคม เราต้องเงี่ยหูฟังความในสังคมบ้าง เรื่องดีที่เป็นตัวอย่างเขาได้ เราก็ควรทำ เรื่องไม่ดีมีโทษสร้างความเดือดร้อนให้เขา ก็ไม่ควรทำ สังคมจึงจะอยู่กันอย่างมีความสุข เอ็งจะอยู่คนเดียวได้ไงล่ะ หนอยแน่ะ..ริมา สอนให้ข้าวางอุเบกขา น่านักนะ....เอ็งนี่”
“แหม..หลวงพ่อ ผมก็พูดตามประสาวัยรุ่นนี่ครับ ผิดตรงไหนล่ะ เรื่องใครเรื่องมัน ไม่เกี่ยวกัน สังคมเคยช่วยผมให้อิ่มหรือครับหลวงพ่อ มีแต่หลวงพ่อเท่านั้นที่อนุเคราะห์ผมให้มีความเจริญเติบโตในชีวิต หรือหลวงพ่อจะทวงบุญคุณกับผมครับ”
“เออ.. สงสัยครูที่โรงเรียนไม่ได้สอนสำนึกความเป็นไทยให้เอ็ง ถึงมีความคิดพิลึกอย่างนี้ โทษครูก็ไม่ได้ ไม่รู้ว่าไอ้เวรตะไลคนไหนที่เอาวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ออกจากหลักสูตรประถมศึกษา เอ็งมันซวยจริงๆ ที่เกิดในระบบการศึกษาทุนนิยม คนที่เป็นนักการศึกษาเห็นแก่ได้ เอาวิชาการมาหากิน คิดเป็นแต่เรื่องโกยเงินใส่ตัวกรรมจริงๆ”
“บ่นอีกแล้วหลวงพ่อ วัยรุ่นเซ็งนะครับ”
“มานั่งใกล้ๆ หน่อย อยู่ไกลเตะไม่ถึง เขกกบาลไม่ได้ มานั่งตรงนี้ จะเอาปัญญาดีๆ ใส่หัวเอ็งบ้าง จะได้รู้สำนึกในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เพื่อเอ็งจะได้มีความคิดที่ดี ข้าก็อาจจะพิจารณาเงินแต๊ะเอียให้ก็ได้”
“อย่าเอาเงินมาล่อผม แล้วเอามือเท้ามาระรานผมนะหลวงพ่อ ผิดกฎหมายนะครับ เขาห้ามทำร้ายเยาวชนคนสำคัญของชาติ ไม่เห็นพ่อแม่เพื่อนผมที่โรงเรียนจะพูดมากเหมือนหลวงพ่อเลย ให้เงินลูกแล้วก็จบกันไป ลูกจะไปเหลวแหลกยังไงก็ไม่สน ดูอย่างเด็กที่ขับรถไปชนรถตู้จนตายตั้งหลายศพที่ทางด่วนซิครับ ไม่เห็นพ่อแม่จะว่าอะไรเลย เดี๋ยวเอาเงินตบหัวไปเท่านั้น เรื่องก็เงียบแล้ว หลวงพ่อนี่ไม่ทันสมัยเลย “
“นี่ถ้าไม่เห็นแก่หน้าพ่อแม่เอ็งที่อุตส่าห์เอามาฝากเป็นลูกศิษย์ข้าละก็ เอ็งงานเข้าแน่ กรรมของข้าจริงๆ ไม่รู้ว่าชาติก่อนไปทำอะไรไว้ เอ็งถึงมาให้ข้าใช้เวรในชาตินี้ เอ้ามานั่ง ไม่เตะไม่ตีหรอก แค่อยากจะคุยกับวัยรุ่นให้ทันสมัยหน่อย”
“โห.. “งานเข้า” ทันสมัยจริงๆหลวงพ่อ โชคดีของผมที่งานไม่เข้า หลวงพ่อมีอะไรก็พูดมาเลยครับ เพราะผมมีนัดกับเพื่อนที่ร้านแมค “
“ไอ้ต้อย เอ็งไปพูดเรื่องเด็กที่ขับรถชนคนอย่างนั้นไม่ถูก เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ วิจารณ์มั่วๆ จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เอ็งไม่รู้หรือว่าที่ด่าเด็กทั่วเน็ตนั้นน่ะ เพราะเป็นความกดดันทางสังคม เครียดเรื่องชนชั้นเลยลงไปที่เด็กหมด เอ็งเจออย่างเขา เอ็งก็ซุกพ่อแม่เหมือนกัน ข้าว่าเป็นกรรมของเด็กกับคนตายและคนเจ็บที่ผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ เด็กและครอบครัวเขาก็ต้องรับกรรมในอดีตที่ให้ผลในปัจจุบัน ข้าก็สังเวชสลดใจกับทั้งสองฝ่าย นี่ถ้าเป็นเอ็งไปก่อเรื่อง ข้าก็เดือดร้อนไม่ต่างกับพ่อแม่เด็กหรอก อกเขาอกเรา ต้องรู้จักคิดไว้ เอ็งไม่ต้องกลัวว่าตราชั่งศาลจะเอียงไปตามอำนาจเงิน ผู้พิพากษาที่ดีมีความสำนึกและรู้จักหน้าที่ว่าตนปฏิบัติงานในพระ-ปรมาภิไธยของในหลวงก็ยังมีอยู่ คงพิพากษาตัดสินได้ตามตัวบทกฎหมายที่กำหนด ไม่มีใครหนีกรรมไปพ้นหรอกไอ้ต้อย”
“ก็เขาพูดกันให้แซดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ผมยังเชื่อเลย หลวงพ่อลองซื้อผมซิ ผมก็ขาย ความดีมีไว้ขายนะหลวงพ่อ”
“คิดอย่างนี้เชียวหรือวะ และถ้าข้าขอซื้อนิสัยชั่วๆของ เอ็งนี่จะคิดเท่าไหร่ล่ะ”
“แหะๆ..เอาจริงหรือหลวงพ่อ”
“เออ.. เอาซิวะ เอ็งจะคิดเท่าไรว่ามา”
“ไม่รู้สิ ผมก็คิดไม่ถูก เพราะนิสัยผมก็ไม่ชั่วนะ เป็นนิสัยวัยรุ่นธรรมดาๆ”
“ไหนว่าซื้อได้ไง เอ็งจำไว้นะ..เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้เสมอไป ที่ข้าเลี้ยงดูเอ็งนี่ ข้าก็ไม่ได้คิดเงินกับพ่อแม่เอ็งเลย ข้าก็เลี้ยงแบบพระ มีอะไรก็กินกันไป ค่าเล่าเรียนพ่อแม่เอ็งรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายอันไหนที่ข้าจ่ายได้ ข้าก็จ่าย อันไหนพ่อแม่เอ็งจ่ายได้ เขาก็รับภาระไป เขาอยากให้เอ็งเป็นเด็กดีจึงฝากมาอยู่กับข้า เห็นมั้ย..ความรักความห่วง ใยของพ่อแม่ก็ซื้อไม่ได้หรอกไอ้ต้อยเอ๊ย”
“หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ผมก็รู้สึกผิดแล้ว ขออโหสินะครับ แบบว่าไม่ได้ตั้งใจกวนหลวงพ่อ แต่วัยรุ่นก็คิดอะไรแบบชิลๆ ง่ายๆ ไม่คิดมากหรอก”
“เออ.. ข้าอโหสิให้ เอ็งต้องปรับปรุงตัวให้มีกิริยามารยาทสมเป็นลูกของพ่อแม่เอ็ง และเป็นศิษย์ข้า ทำอะไรต้องรู้จักคิด กิริยาอาการที่เอ็งแสดงออก ใครเขาไม่ว่าเอ็งหรอก แต่เขาด่ามาถึงพ่อแม่เอ็งและข้าด้วย ต้องรู้ตัวไว้ เงินทุกบาทที่เขาถวายข้ามา ก็เพื่อให้ข้าใช้บำรุงร่างกายด้วยปัจจัย ๔ และช่วยสนับสนุนบำรุงศาสนสถานในวัด ที่ข้านำมาเลี้ยงเอ็งก็เป็นส่วนที่ข้าได้สละสุขปัจจัยของข้าให้เอ็งต้องตั้งใจเรียนให้สมกับเงินที่เขาจรดหัวถวายมานะ ไม่ใช่สุรุ่ยสุร่าย ไร้สาระ อ้างว่าเป็นวัยรุ่นอยู่เรื่อย ข้าไม่ใช่แบงค์ชาตินะที่จะผลิตเงินให้เอ็งผลาญได้”
“ครับ ผมจะจำไว้ครับ”
“เงินแต๊ะเอียน่ะ เขาให้เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กๆได้เจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดี ข้าให้เอ็งอยู่แล้วทุกวัน ไม่จำเป็นต้องให้อีก ฟุ่มเฟือยไป ส่วนเอ็งจะไปทำอะไรในวันวาเลนไทน์กับคนที่ใช่เลยนั้น ก็ต้องรู้ไว้ว่าถ้าเขาท้องขึ้นมาละก็ พ่อแม่เอ็งจะเดือดร้อน เห็นไหมข่าวทำแท้งเด็กตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าศพเมื่อปลายปี ๕๓ น่ะ วัยรุ่นคิดสั้นเอาแต่สุขส่วนตัว เมื่อสุขหมด ท้องป่อง ทำไงละ ทีนี้ ฆ่าเด็กเลย กลัวขายหน้าบ้าง ไม่พร้อมบ้าง ใจจืดใจดำทำกรรมชั่ว ที่สุดกรรมนั้นก็มาหลอนไปตลอดชีวิต สุขภาพก็เสื่อมโทรม อยู่อย่างทรมานใจ ที่สุดก็โดนหลอก ให้ทำพิธีตัดกรรมบ้าง ทำบุญตัดเวรกับเด็กบ้าง หลอกกันทั้งนั้น แผลเป็นในใจมันแก้ยาก เอ็งจำไว้ แล้วอย่าไปทำใครเขาท้องมาให้เสื่อมเสียถึงชาติตระกูลพ่อแม่เอ็ง ถ้ายังมีความเคารพรักพ่อแม่อยู่ มันผิดศีลข้อ ๓ และเป็นบาปด้วย.. จำไว้”
“ครับผม”
“อะไรกัน พูดแค่นี้หรือ”
“ก็หลวงพ่อเทศน์ซะผมกลัวเลย ก็ต้องจำให้ได้อย่างเดียวซิครับ ผมก็รักพ่อแม่ และเคารพหลวงพ่ออยู่นี่ครับ”
“ไอ้ต้อยเอ๊ย รู้มั้ย พระพุทธเจ้าท่านเห็นความยุ่งยากที่ก่อปัญหาสังคมอย่างนี้ ทุกพระองค์จึงสอนหลักการในพระพุทธศาสนาเหมือนกันว่า ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส คนเราถ้าทำตนได้ตามหลักการนี้ ชีวิตก็ไม่วุ่นวาย มีแต่ความสุขอยู่เสมอ”
“นี่ไม่ใช่โอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าแสดงในวันมาฆบูชาหรือหลวงพ่อ”
“นี่ล่ะคือหลักการเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา เอ็งรู้ไหมว่าต้องทำอย่างไร”
“ก็พอรู้อยู่ครับ ไม่ทำบาป ก็คือไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ทำกุศลคือทำดีให้แก่ตนและผู้อื่น ทำดีบ่อยๆ จิตใจก็ผ่องใส ถูกไหมหลวงพ่อ”
“ถูก...แต่ไม่ครบตามหลักการ ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น พูดขยายความมากก็จะจำไม่ได้ พูดง่ายก็คือ การรักษาศีล เพราะศีลจะเป็นเครื่องป้องกันผู้ปฏิบัติไม่ให้ไปเบียดเบียนชีวิตร่างกายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา ไม่ละเมิดประเพณีอันดีงาม การยังกุศลให้ถึงพร้อม ก็คือ การประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของธรรมที่ดี สำหรับชาวบ้าน ศีลก็คือ ศีล ๕ ธรรมก็คือ ธรรม ๕ ที่คู่กับศีล ที่เรียกว่าเบญจศีลเบญจธรรม คนที่ประพฤติตนตามหลักของศีลและธรรม หรือที่เรียกว่าผู้มีศีลธรรม ย่อมได้รับผลเป็นความสุขกายสุขใจ ทำกิจการงานใดๆ ก็มีแต่ความสุข คิดถึงการกระทำของตนครั้งใดก็มีความสุข นี่ก็คือ การทำจิตของตนให้ผ่องใส นั่นเอง พอเห็นทางประพฤติตนไหมล่ะเจ้าต้อย”
“ชัดแจ้งเลยหลวงพ่อ นี่ถ้าผมยึดมั่นในหลักการนี้ ผมก็จะมีความสำเร็จในชีวิตแน่นอนนะครับหลวงพ่อ”
“ข้าก็คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าเอ็งมีศีลมีธรรมแล้ว เอ็งก็สามารถตั้งใจเรียนหนังสือ หรือทำงานใดได้อย่างมีสติ ด้วยสำนึกในความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครู อาจารย์ ในหลวง เอ็งก็จะมีความสุขตลอดไป”
“จริงหรือครับ”
“เออ..แต่เอ็งต้องมีความอดทนที่จะต่อสู้กับกิเลส สิ่งเลวร้ายในจิตใจของเอ็งก่อนนะ ความอยากได้ ความโกรธ และความหลงนี้ มันมีอยู่ในกมลสันดานของทุกคน คนที่ปล่อยตัวตามอำนาจของมัน ก็มักจะทำความชั่วบาปได้อย่างง่ายดาย ไม่คิดถึงเรื่องการทำความดีเลย จิตใจของเขาก็มีแต่ความหวาดระแวงกลัวผล กรรมที่ตนได้ก่อเอาไว้ มาเบียดเบียน คนที่ยึดมั่นในหลักการของพระพุทธเจ้า มีความอดทน ทำตนไม่ให้ตกไปในอำนาจของสิ่งเลวร้ายในจิตใจ ก็ย่อมต้องรักษาศีลธรรมของตนอย่างเข้มแข็ง พยายามรักษาตนให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม นำพาตนไปหาสุขประโยชน์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต แสวงหาความ สำเร็จของชีวิตที่ตนปรารถนาบนพื้นฐานของความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงสั่งสอนเราต่อว่า ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม เอ็งลองตรึกดูว่าจริงไหม”
“จริงครับ ถ้าอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ยั่วยวนชวนหลงใหล อย่างที่วัยรุ่นกำลังเป็นอยู่ขณะนี้ ผมก็สามารถหาความสำเร็จได้พบในที่สุด หลวงพ่อครับ.. แล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนพระบ้างหรือครับ”
“สอนซิ ในหลักการโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธองค์สอนพระว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียน ผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ และทรงสอนแนวทางการประพฤติสมณธรรมไว้ว่า ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ ซึ่งถ้าพระสงฆ์รูปใดสามารถประพฤติได้เป็นกิจวัตร ที่สุดก็สามารถเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือพระนิพพานข้าไม่อธิบายให้เอ็งรู้ความมากหรอก รอเอ็งเรียนจบ แล้วมาบวชพระ ข้าจะสอนให้”
“ถ้าผมทำตามหลักการที่สอนพระได้ ผมก็ไม่ต้องทะเลาะกับใครเลยนะหลวงพ่อ”
“ใช่..การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น ก็จะทำให้ไม่ทำร้ายกัน ทำให้มีความสำรวมอยู่ในศีลธรรมได้ดียิ่งขึ้น เมื่อไม่แก่งแย่งชิงดีกัน ก็จะมีจิตใจที่สันโดษ รู้จักแสวงหาทรัพย์สินสมบัติตามกำลังในแนวทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม การกินอยู่ก็พอเพียงแก่การดำรงชีวิตให้มีความสุข สบายทางร่างกาย ที่อยู่อาศัยก็พอเพียงกับการหลับนอน พักอาศัย จิตใจก็สำรวมอยู่ในศีลธรรมได้ดีเสมอไป ทำได้ดังนี้ก็จะสนองพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงได้เลย”
“สังคมไม่วุ่นวายเลยนะหลวงพ่อ”
“ไม่วุ่นวาย ไม่ทะเลาะกัน ไม่กล่าวร้ายกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน นี่เป็นสังคมไทย ที่บรรพชนสร้างสรรค์ไว้เป็นแนวทางแก่ลูกหลาน เมื่อความขัดแย้งไม่มีทั้งทางความคิด ทางวาจา และทางกาย สันติสุขก็เกิดขึ้น สันติสุขก็จะนำมาซึ่งสันติภาพในสังคม เมื่อทุกสังคมสามารถมีผู้ปฏิบัติได้ดังนี้ ประเทศนั้นก็จะมีสันติภาพ เป็นที่หมายปองของผู้ปรารถนาสันติสุข ถ้าทุกประเทศมีประชากรประพฤติตนได้เช่นนี้ โลกก็ไม่มีความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ภาวะสงคราม โลกก็มีแต่สันติภาพเสมอไป”
“ทำได้หรือหลวงพ่อ”
“เอ็งไม่ต้องไปห่วงโลกหรอก เอ็งเริ่มที่ตัวของเอ็งก่อน แล้วเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเขา มันก็จะแพร่พันธุ์แห่งความดีไปสู่ทุกคน สังคมประเทศชาติก็จะมีสันติภาพได้ในที่สุด โลกนี้ก็จะไม่มีความขัดแย้ง ที่จะทำให้เกิดภาวะสงครามทำลายล้างกัน ทำได้ไหมล่ะ”
“ได้ครับ ผมจะเริ่มทำแต่เดี๋ยวนี้เลยครับ”
“ตกลงไม่เอาแล้วใช่ไหมเงินแต๊ะเอีย”
“เอาครับ.. ก็หลวงพ่อจะอวยพรให้ผมเจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดี ผมจะไม่รับได้ไงครับ”
“แหมๆ..ไอ้ศรีธนญชัย ไปหยิบในตู้นั่น ให้ ๑๐๐ บาทตามธรรมเนียมนะ”
“ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ วัยรุ่นดีใจจริงๆ ครับ ได้ทั้งธรรมได้ทั้งเงิน ขออนุญาตไปใช้เงินก่อนนะครับ”
“เออ.. ไปเถอะ ข้าจะทำกิจของข้าเสียที หวังว่าสิ่งที่สอนไปนี้คงจะไม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวานะ”
“ครับผม”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
|
Update : 6/7/2554
|
|