หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    อบรมกรรมฐาน - อุปมานุสสติขั้นปัญญา
    ในเบื้องต้นก็ขอเชิญชวนให้ระลึกถึงอนุสสติข้ออุปสมานุสสติ ระลึกถึงธรรมเป็นเครื่องสงบระงับหรือความสงบระงับ ได้แสดงถึงอนุสสติข้อนี้มาสองคราวแล้ว คราวแรกความสงบระงับในขั้นศีล คราวที่สอง ความสงบระงับ ในขั้นสมาธิ วันนี้จะแสดงถึงความสงบระงับในขั้นของปัญญา
           
           ความสงบระงับในขั้นนี้ต้องอาศัยปัญญาที่พิจารณาจนบังเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ปัญญาจึงมีสองอย่าง ปัญญาที่เป็นส่วนเหตุ ได้แก่ปัญญาที่เป็นเครื่องพิจารณา ปัญญาที่เป็นส่วนผล ได้แก่ความรู้แจ้งเห็นจริงทำให้บังเกิดสันติคือความสงบระงับเป็นอย่างดียิ่ง ก็เพราะว่าอันความสงบระงับด้วยปัญญานั้นเป็นความระงับจากความหลง หรือจะเรียกว่าจากอวิชชา ความไม่รู้แจ้งเห็นจริง โมหะ ความหลง มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ทำให้พบกับความสงบระงับหรือสันติอย่างดียิ่ง ก็พึงพิจารณาดูถึงการที่ได้พบความจริงอันเป็นปัญญาในข้อใดข้อหนึ่งแม้ในทางคดีโลก เมื่อเป็นความจริงแท้แล้วย่อมให้เกิดประโยชน์ ระงับความหลงเข้าใจผิดด้วยประการทั้งปวง และความสงบระงับในขั้นนี้ย่อมเป็นการพบทางที่ถูกต้อง ทำให้ปฏิบัติชอบปฏิบัติถูกต้องยิ่งขึ้นสืบต่อไปด้วย
           
           ระงับความหลงตน
           
           อันความหลงทั้งหลายนั้น ความหลงในตนย่อมเป็นความหลงอันสำคัญที่สุด เป็นตัวอวิชชา เป็นโมหะ เป็นความหลงผิด รวมอยู่ในความหลงตนนี้ อันความหลงตนนั้นพิจารณาดูให้ดีว่าคืออย่างไร อันความหลงตนก็ตั้งต้นแต่ความหลงยึดถือทั้งหลาย อันเป็นความยึดถือที่ผิดด้วยอำนาจของความโลภโกรธหลงทั้งหลายทั่วๆ ไป อันเป็นเหตุให้บังเกิดอคติคือความลำเอียงไปด้วยอำนาจของความรักความพอใจบ้าง ด้วยอำนาจของความชังความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง ด้วยอำนาจของความหลงบ้าง ด้วยอำนาจของความกลัวบ้าง ความเดือดร้อนทั้งหลายย่อมเกิดจากความหลงที่ถือเอาผิดดังนี้
           
           เพราะฉะนั้น เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาว่า ความยึดถือในสิ่งที่ว่าเป็นที่รักก็ดี ในสิ่งที่ว่าเป็นที่ชังไม่ชอบก็ดี ในสิ่งที่หลงใหลติดอยู่ก็ดี ในสิ่งที่กลัวก็ดี ว่าความจริงเป็นอย่างไร พิจารณาดูเป็นขั้นๆ ในขั้นต่ำที่สุดก็คือพิจารณาถึงกรรม คือการงานที่กระทำของบุคคลที่ชอบหรือที่ชังเป็นต้นเหล่านั้นว่า ความชอบความชังเป็นต้นย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความที่ไปยึดถือในกรรมที่เขากระทำ เหมือนอย่างว่าเขาทำให้แก่ตน เมื่อเขาทำในสิ่งที่ชอบใจก็เกิดความชอบ เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เกิดความชัง เพราะไปรับเอากรรมที่เขาทำนั้นมาเป็นของตนหรือว่ามาเกี่ยวเนื่องกับตน
           
           แต่ถ้าหากว่าได้พิจารณาตามหลักกรรมของพระพุทธเจ้าว่ากรรมที่บุคคลทำย่อมเป็นของผู้ทำนั้นเอง คือกระทำความชั่ว ความชั่วก็เป็นของผู้ทำ กระทำความดี ความดีก็เป็นของผู้ทำ พิจารณาให้เห็นจริงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วมารับเอากรรมของเขามาเป็นของตนหรือมาเกี่ยวเนื่องกับตน ก็ย่อมจะวางความชอบหรือความชังเพราะเหตุที่เขากระทำดีหรือไม่ดีนั้นๆ ได้
           
           นอกจากนี้ความชอบความชังที่เนื่องมาจากความหลงยึดถือทั้งหลาย เป็นต้นว่าความหลงยึดถือในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนว่าเป็นอัตตาตัวตน ในสิ่งที่เป็นอสุภะคือความไม่งดงามว่าเป็นสุภะคือความสวย ความหลงยึดถือเหล่านี้ทำจิตใจให้เป็นจิตวิปลาส ทำทิฏฐิความเห็นให้เป็นทิฏฐิวิปลาส ทำสัญญาความกำหนดให้เป็นสัญญาวิปลาส
           
           เพราะฉะนั้น ก็ให้พิจารณาดูตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่ามีอะไรบ้างที่ยึดถืออยู่นั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นของที่งดงามจริงๆ ร่างกายของตนเองก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี สิ่งที่เนื่องกับร่างกายจะเป็นทรัพย์สมบัติ จะเป็นสิ่งอันใดอันหนึ่งก็ตามที ล้วนเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เป็นของตนที่แท้จริงและไม่เป็นสิ่งสวยงาม
           
           ความสวยงามนั้นก็มีอยู่แค่พื้นผิวภายนอก เช่นที่ตามองเห็นเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วล้วนเป็นสิ่งประกอบปรุงแต่งกันขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันต่างๆทั้งนั้น พิจารณาดั่งนี้แล้ว เมื่อความจริงปรากฏขึ้นก็จะทำให้ความดิ้นรนทะยานอยากที่เรียกว่าตัณหานั้นสงบ ทำให้ความยึดถือสงบ
           
           (อ่านต่อฉบับหน้า)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


    • Update : 3/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch