|
|
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - กลวิธี รักษาโรคทางใจ
ชีวิตกับธรรมะจะต้องอยู่ด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าแยกตัวชีวิตออกจากธรรมะเมื่อใด ก็เหมือนกับว่าเป็นคนไม่มีชีวิต ชีวิตจะสมบูรณ์เรียบร้อยก็ต้องมีธรรมะประคับประคองจิตใจเรียกว่ามีชีวิต ใครเข้าถึงธรรมะ ผู้นั้นก็เรียกว่ามีชีวิต ทิ้งธรรมะเสียเมื่อใดชีวิตวุ่นวายเมื่อนั้น เราจะเห็นได้ง่ายๆว่า เวลาเรามีความวุ่นวายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจนั้นก็เพราะขาดธรรมะเป็นหลักคุ้มครองใจ เมื่อไม่มีธรรมะคุ้มครองใจ จิตใจวุ่นวาย มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะว่าไม่เข้าถึงธรรมะ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าถึงธรรมะ ความทุกข์หายไป ความเดือดร้อนทั้งหลาย ก็คลายจางไป ชีวิตมันสมบูรณ์ขึ้น ชีวิตกับธรรมะจึงสิ่งคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้
เราทั้งหลายที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงได้แสวงหาธรรมะเป็นหลักครองใจและก็ได้เห็นผลของธรรมะว่า ให้ความคุ้มครองให้ความสุขแก่ชีวิตของเราอย่างไรบ้าง ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหลายประการ ในแง่ต่างๆเราแก้มันได้ด้วยอะไร ถ้าที่ประพฤติธรรมก็แก้มันด้วยความรู้ความเข้าใจในธรรมะ เอาธรรมะมาแก้ปัญหา ชีวิตก็ผ่อนคลายไป พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน อันนั้นคือผลที่ปรากฏอยู่
ความไม่สบายใจนั้นก็เป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือนๆ กับโรคทางร่างกาย คนเราที่เป็นโรคทางกายต้องกินยาเพื่อรักษาโรคทางกายฉันใด เมื่อมีโรคทางจิตใจขึ้นมา ก็ต้องใช้ยาแก้โรคทางใจ ยาแก้โรคทางกายนั้นเป็นเรื่องทางวัตถุ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นวัตถุ เกิดขึ้นด้วยธาตุมีประการต่างๆ การมีโรคทางกายก็เนื่องจากว่า อะไรบางอย่างขาดไป ความต้านทานก็น้อยไป จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคทางกายขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่ารู้ทัน โรคนั้นก็จะกำเริบเสิบสาน ทำให้เราต้องพ่ายแพ้แก่โรค ร่างกายถึงแก่ความแตกดับลงไปได้ ฉันใด ในเรื่องทางจิตใจนี่ก็เหมือนกัน มันมีโรคทางใจเกิดขึ้นบ่อยๆ
โรคทางใจนั้นไม่เหมือนกับโรคทางกาย คือโรคทางกายมันมีตัวเชื้อโรคประเภทต่างๆที่เข้ามายึดเอาร่างกายเป็นเรือนของมัน เป็นที่เกิดเป็นที่อาศัย แล้วก็ทำให้เราต้องพ่ายแพ้ คนใดที่ยังมีกายปกติ ก็หมายความว่าความต้านทานทางร่างกายนั้นยังดีอยู่ เมื่อความต้านทางร่างกายยังสมบูรณ์พร้อม เราก็เอาชนะโรคได้ แต่ก็ไม่แน่นักว่าความต้านทานทางกายนี้จะดีหรือสมบูรณ์อยู่ตลอดไป มันอาจจะเกิดความเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นคนบางคนที่เรามองเห็นว่า มีร่างกายเป็นปกติแข็งแรง แต่ก็เกิดการเจ็บไข้ลงได้ทันที อันนี้แสดงว่ามันมีเชื้อโรคอย่างแรงเกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้ความต้านทานของร่าง กายนั้นสู้ไม่ได้ ก็เลยต้องยอมแพ้มัน กลายเป็นโรคประจำกายประจำตัวไป และอาจจะถึงความแตกดับลงไปเมื่อใดก็ได้
การเรียนรู้ในเรื่องโรคทางกาย ก็เพื่อจะได้มีการป้องกัน แก้ไข เมื่อโรคนั้นเกิดขึ้น เราก็จะได้มีชีวิตเป็นปกติ ไม่วุ่นว่ายมากเกินไป ฉันใด เรื่องของจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีโรคทางใจเกิดขึ้น ก็เพราะว่าเราพ่ายแพ้ ต่อสิ่งที่ยั่วยุ คืออารมณ์ประเภทต่างๆ ที่เข้ามากระทบประสาททั้งห้า คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และหกรวมทั้งใจด้วย อันนี้เป็นประตูแห่งโรคทางใจ เพราะว่ามีสิ่งภายนอก มากระทบ
เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบเข้าแล้วเราไม่สามารถจะต่อสู้มันได้ เราก็พ่ายแพ้แก่สิ่งนั้น การพ่ายแพ้ก็หมายความว่าตกเป็นทาสของสิ่งนั้น เช่น ตกเป็นทาสของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นเรื่องของวัตถุเหมือนกัน ที่เขาเรียกว่า มัวเมาในวัตถุ หลงใหลอยู่ในสิ่งนั้น ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น จิตใจก็วุ่นวายมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจถึงกับเสียผู้เสียคนไปก็ได้
การสูญเสียทางร่างกายนั้น ไม่เป็นการสูญเสียเท่าใด แต่การสูญเสียทางด้านจิตใจนั่นแหละ เป็นความสูญเสีย อันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา เพราะคนเราถ้าใจมันเสียแล้ว อะไรๆก็จะพลอยเสียไปหมด แม้ร่างกายจะเป็นปกติ แต่ว่าจิตใจมันเสียกำลังไป จะเป็นคนที่สมบูรณ์อยู่ได้อย่างไร
กำลังใจจะสูญเสียก็เพราะว่าปล่อยตัวปล่อยใจมากเกินไป ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุอันเกิดขึ้นกระทบทางจิตใจ เราไม่สามารถจะเอาชนะสิ่งนั้นได้ ที่ไม่สามารถจะเอาชนะ ได้ก็เพราะว่าไม่มีสติไม่มีปัญญา ตัวสติก็คือตัวธรรมะ ปัญญาก็คือตัวธรรมะ เราไม่มีธรรมะคุ้มครองจิตใจ เราจึงได้พ่ายแพ้แก่สิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าเรามีสติรู้ทัน มีปัญญา รู้เท่าต่อสิ่งนั้น เราไม่พ่ายแพ้แก่อารมณ์ สิ่งใดมากระทบ เราก็ปัดมันไป ไม่ยอมรับไว้โดยความไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ว่า เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ด้วยความรู้ความเข้าใจ เรียกว่าด้วยความรู้เท่าทัน
ก็เหมือนกับคลื่นที่มากระทบฝั่ง มันหายไป คลื่นที่หายไปนั้นไม่ได้ทำฝั่งให้เสียหาย เช่น เราไปยืนอยู่ที่ชายทะเล ก็จะพบว่ามีคลื่นมากระทบฝั่งอยู่ตลอดเวลา กระทบแล้วมันก็หายไป อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากระทบ จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่รู้เท่าทันมันก็ทำให้เราเสียหาย คือทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงในเรื่องนั้นๆ ความรู้สึกรุนแรงมันเป็นไปทางรักก็ได้ ทางชังก็ได้ ทางหลงก็ได้ หรือทางใดทางหนึ่งก็ได้ ถ้ารุนแรงแล้วมันก็วุ่นวายเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นไปแต่พอดีๆ ก็จะไม่เกิดความเสียหายมากเกินไป อันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ถ้าหากว่าบุคคลนั้นขาดธรรมะเป็นเครื่องประคับประคองใจก็จะเกิดปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
|
Update : 3/7/2554
|
|