|
|
การวิ่งวัวลาน
|
|
|
|
|
ประเพณีการวิ่งวัวลานเป็นที่นิยมของจังหวัด ภาคกลางตะวันตก ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เข้าใจว่ามูลเหตุที่มีการวิ่งวัวลานคงจะมาจากการที่เกษตรกรแต่ดั้งเดิมมีการลงแขกนวดข้าวโดยการใช้วัวผูกกับหลักให้วิ่งไปรอบหลักเสาไม้รอบวงข้าวที่กองสุมไว้ จึงได้มีผู้คิดนำเอาวิธีการนี้มาใช้ และเพิ่มจำนวนวัวที่วิ่ง แรกเริ่มเดิมทีก็นำเอาวัวมาวิ่งแข่งกันเพื่อความสนุกสนาน นิยมจัดการแข่งขันในบริเวณวัด ต่อมาทางกรรมการวัดก็เกิดความคิดที่จะหาเงินเข้าวัดเพื่อก่อสร้างและบูรณะวัด โดยเรียกเก็บเงินจากเจ้าของวัวที่นำมาวิ่งตัวละ 5-10 บาท ชาวบ้านก็แข่งขันกันในการหาวัวเข้ามาวิ่งให้ได้มากที่สุด เพื่อต้องการเป็นผู้ชนะซึ่งจะได้รับรางวัลเป็นขันน้ำพานรอง ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2500 จึงได้มีผู้ริเริ่มเดิมพันการแข่งขันวิ่งวัวลานกันขึ้น ต่อมาย้ายจากแข่งขันในวัดมาจัดการแข่งขันนอกวัดบ้าง โดยชาวบ้านจัดเอง การวิ่งวัวลานในปัจจุบันจะเริ่มฤดูกาลแข่งขันโดยเริ่มเมื่อนวดข้าวเสร็จ คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ส่วนมากกฎหมายอนุญาตให้มีการเล่นวัวลานเฉพาะในเวลากลางวัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น แต่ที่ปรากฏจริง ๆ นั้น ถ้าจะดูวัวลานจะต้องไปดูตั้งแต่ 2 ทุ่ม เป็นต้นไป ยันย่ำรุ่งถ้าจะพิจารณาถึงความเป็นจริง การให้วัวมาวิ่งตอนกลางวันนอกจากวัว และคนต้องตากแดดกันทั้งวันแล้ว คงจะไม่สนุกทั้งผู้ดูและผู้เล่นเป็นแน่ จึงได้อนุโลมกันมาโดยตลอด และเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในรายละเอียดได้ดีขึ้นใคร่ขอแนะนำส่วนประกอบต่าง ๆ ในการแข่งขันวัวลานพอสังเขปดังนี้ |
สนามเล่น
|
ประกอบด้วยลานดินมีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ตรงกลางจะมีเสาใหญ่ทำด้วยเนื้อแข็งปักไว้อย่างมั่นคงที่สุดสำหรับผูกวัว ซึ่งเรียกเสาไม้นี้ว่า "เสาเกียด" ที่ริมสนามจะมีหอคอยสูงประมาณ 3-5 เมตร เพื่อให้คณะกรรมการ และโฆษกของงานขึ้นไปนั่งสังเกตการณ์ |
|
|
การวิ่ง
|
วัวที่เข้าวิ่งจะประกอบไปด้วย
วัวผูก หรือ วัวพวง วัวผูกนี้ส่วนใหญ่ผู้จัดการแข่งขันจะจัดหามาเอง โดยอาศัยการไหว้วานจากสมัครพรรคพวก และการวิ่งแต่ละครั้งจะต้องมีวัวผูกอย่างน้อย 19 ตัว
วัวสาม เป็นวัวที่ผูกถัดมาจากวัวพวง ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องเตรีมไว้เช่นกัน และจะต้องเลือกวัวที่มีฝีเท้าพอ ๆ กับวัวที่จะแข่งขัน (วันยืนและวัวติด) เพราะถ้าวัวสามวิ่งช้ากว่าวัวแข่งจะดึงวัวยืนให้แพ้
วัวยืน และ วัวติด วัวสองตัวนี้ เป็นวัวที่เข้าแข่งขัน ตัวที่ยืนติดจากวัวสาม เรียกว่า "วัวยืน" และตัวอยู่นอกสุดเรียกว่า "วัวติด" วัวยืน และวัวติดนี้คนที่เป็นเจ้าของจะต้องมาจับฉลากกันว่าตัวไหนจะเป็นวัวยืน ตัวไหนจะเป็นวัวติด แล้วจึงวิ่งรอบเสาเกียด 3 รอบ |
วิธีการผูกวัวจะต้องผูกวัวติดกับเชือกเส้นใหญ่ที่ผูกเป็นห่วงคล้องไว้กับเสาเกียด เรียกว่า เชือกพวง ซึ่งจะผูกเข้ากับวัวพวง ติดตามด้วยวัวสามวัวยืน และตัวนอกสุดเป็นวัวติด ก่อนปล่อยวัวให้วิ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยจับวัวให้วัวอยู่ในแถวตรงก่อน ซึ่งผู้จับวัวนี้ชาวบ้านเรียกว่า "เชน" มีจำนวนประมาณ 10-15 คน ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหนุ่มวัยฉกรรจ์ซึ่งนำวัวพวงมาในการแข่งขันนั่นเอง ซึ่งพวกเชนนี้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด คงจะรับรางวัลสินน้ำใจ เช่น เสื้อยืดคนละ 1 ตัว
ดังที่เรียนให้ทราบแล้วว่า วัวยืนและวัวติดจะต้องวิ่งกันคนละ สามรอบของเสาเกียด แต่ละรอบกรรมการซึ่งอยู่บนหอคอยจะขานว่า "หู" "ผาน" หรือ "สวาบ" หรือ "หลุด" เมื่อวัววิ่งเลยธงได้เสีย แต่ถ้าวัวหลุดตั้งแต่ยังไม่ถึงธงได้เสียจะต้อง กลับมาตั้งต้นกันใหม่ ถ้าวัวหลุด 3 ครั้ง ถือว่าแพ้ ต้องมาสลับที่กับวัวยืนใหม่ การที่กรรมการขานคำว่า "หู"หมายความว่า ชนะแค่หู ซึ่งจะมีคะแนนให้ 3 คะแนน และ "ผาน" แปลว่า ชนะแค่หน้าหนอก หรือระดับหนอกได้ 2 คะแนน "สวาป" ชนะแค่สวายได้ 1 คะแนน คะแนนนี้ให้เฉพาะวัวติด ว่าจะเกาะวัวยืนได้นานแค่ไหน |
|
|
Update : 2/7/2554
|
|