หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    อนุสาสนีปาฏิหาริย์ พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเป็นอัศจรรย์
    พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเป็นอัศจรรย์ ซึ่งเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ ได้แก่ คำสอนที่จูงใจผู้ฟังให้นิยมคล้อยตามได้โดยสามารถชี้แจงแยกแยะหัวข้อธรรมให้พิสดารด้วยอุปมาอุปมัยที่ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเห็นจริงดุจหงายของคว่ำอยู่ ทำให้ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วได้แสดงตนเป็นสาวก และรับคำสอน ไปปฏิบัติตามจนได้บรรลุประโยชน์โภคผลตามสมควรแห่งการปฏิบัติของแต่ละบุคคล
           
           หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนามีปรากฏเป็นข้อมูลบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในคัมภีร์พระบาลีไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาบาลีอันถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉาน แล้วทรงจำนำมาประยุกต์ประดิษฐ์ถ้อยคำไทยร่วมสมัยเหมาะกับสถานการณ์เพื่อประกาศเผยแผ่เทศนาอบรมสั่งสอนให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจโดยง่าย และพิจารณาเลือกสรรน้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของตน จึงมีศรัทธาประชาชนได้รวบรวมคำสอนเหล่านั้นไว้นำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือธรรมะเผยแพร่แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป มีทั้งจัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในโอกาสต่างๆบ้าง จัดพิมพ์เพื่อการพาณิชย์บ้าง
           
           ปัจจุบันเป็นยุคข่าวสารข้อมูล หลักคำสอนสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้รับการนำไปเผยแผ่อย่างกว้างขวางแพร่หลายในสื่อวัสดุต่างๆ มีทั้งรูแปบบเป็นแถบบันทึก เสียง (เทป/ซีดี.) รูปแบบเป็นภาพประกอบเสียง (วีดีโอ./วีซีดี./ดีวีดี.) รวมถึงการเผยแผ่ทางเครือข่ายเชื่อมโยงที่กว้างไกล (เว็บไซต์ของอินเตอร์เน็ต)
           
           ดังนั้น พุทธศาสนิกชนผู้สนใจที่จะศึกษาหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาว่ามีความอัศจรรย์อย่างไร ก็สามารถศึกษาได้จากแหล่งความรู้อ้างอิงหรือสื่อวัสดุต่างๆ
           
           ในที่นี้ได้นำคุณลักษณะด้านคำสอนแห่งพระพุทธศาสนาตามนัยที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ได้ประมวลไว้ มาเสนอให้เห็นประจักษ์ ดังนี้
           
           ๐ พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายในอิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส หรือถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
           
           ๐ พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่จะพึ่งผู้อื่น สอนให้มีความอดทนต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอ พอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์ และความสุขมาให้ สอนให้มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน ยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ต้องมีความขยั่นหมั่นเพียร
           
           ๐ สอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำด้วยความโลภ คือ อยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลง คือไม่รู้ความจริง บางครั้งก็นึกว่าดีแต่กลายเป็นทำชั่ว
           
           ๐ สอนเน้นในเรื่องความเป็นผู้กตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนพระคุณท่าน และสรรเสริญว่าใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดีและประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
           
           ๐ สอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกัน ก็ให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จึงเท่ากับสอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ให้ระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ ใหม่ๆ อาจทำได้ยาก แต่ถ้าลองฝึกหัดทำดูบ้าง จะได้รับความเย็นใจ สงบร้อน หมดเวรหมดภัย
           
           ๐ สอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น จึงเท่ากับสอนให้หว่านแต่พืชที่ดี คือพยายามทำแต่กรรมดี พยายามละเว้นความชั่วทั้งปวง
           
           ๐ สอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ใช่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ จึงเท่ากับสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง
           
           ๐ สอนมิให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับความเชื่ออยู่เสมอ สอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติ และการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
           
           ๐ สอนยิ่งกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือ เทศบาลปกครองเฉพาะท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลก็ปกครองเฉพาะประเทศ แต่พระพุทธศาสนาสอนให้มีโลกบาลธรรม คือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ ต่อการทำบาป ทำชั่ว ประพฤติทุจริตทุกชนิดทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวหวาดหวั่นต่อผลของบาปทุจริตที่จะกระทำลงไปนั้น
           
           ๐ สอนให้มีสติกับปัญญาคู่กัน คือ ให้มีความเฉลียวคู่กับความฉลาด ไม่ใช่เฉลียวอย่างเดียวหรือฉลาดอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติกับสัมปชัญญะ อันเป็นตัวปัญญาคู่กันและถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
           
           ๐ สอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดีและสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้าในคุณความดี
           
           ๐ สอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เป็นการสอนให้ยกจิตใจให้สูงขึ้นในที่สุด จึงเท่ากับสอนให้ยอมเสียน้อย เพื่อไม่ให้เสียมาก
           
           เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น อันจะต้องเสียสละบ้างก็ควรพิจารณา และสอนให้เอื้อเฟื้อแผื่อแผ่ทั้งทางวัตถุและทางน้ำใจ เพื่อจะได้อยู่อย่างผาสุกร่วมกัน ในสังคม สอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนที่นับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้าง
           
           ๐ สอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่ให้เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
           
           ๐ สอนมิให้ใช้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นให้ถูกทาง
           
           ๐ สอนให้รักษากายวาจาให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความคิดมิให้ผิด แต่ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติตามลำดับต่ำสูงทางพระพุทธศาสนา จึงเท่ากับสอนว่า เมื่อมีศีล คือรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยได้ ย่อมเป็นอุปการะให้สมาธิเกิดได้เร็ว สมาธิคือการที่ใจตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
           
           พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆ ไปในตัว
           
           ๐ สอนให้มองโลกโดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า สรรพสิ่งมีความไม่เที่ยงแท้ถาวรคงทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดติดยึดถือ เพื่อจะได้มีความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้โดยง่าย
           
           ๐ สอนให้ถือธรรม คือความถูกความตรงเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่ หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมหรือความถูกตรงเป็น สำคัญ
           
           ๐ สอนปรมัตถ์คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความ จริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องกับสังคม ก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและวาจาตามสมควร เช่น เมื่อเข้าประชุมชน ก็ให้ทำตนให้เข้าได้กับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่เมื่อถือว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากับใครไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติ ก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดมิให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
           
           ๐ สอนให้ดับทุกข์ โดยรู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุ และการดับทุกข์ ได้แก่ ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
           
           ๐ สอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ สอนไม่ให้ลืมตนทะนงตน หรือ ขาดความระมัดระวัง ถือว่าความประมาทเป็นทางแห่งความตาย และความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
           
           ๐ พระพุทธศาสนามิได้สอนให้ย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยทรงเล่าเรื่องความผิดของพระองค์ในสมัยยังทรงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญ ถ้ารู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบแล้วจะต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นเสมอ
           
           พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สำหรับผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นจะเพราะชาติสกุล เพราะทรัพย์ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
           
           ๐ พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลางระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อน กับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนทางสายกลางระหว่างความเห็นที่ว่าเที่ยงกับความเห็นที่ว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน อะไรก็ตามมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ย่อมไม่ดี
           
           (จากส่วนหนึ่งของหนังสือคู่มือพุทธศาสนิกชน)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


    • Update : 1/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch