ตอนที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลานิล
ปลา เป็นอาหารในชีวิตประจำวันของชาวไทย และเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย เป็นอย่างมาก และที่สำคัญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้อง ใช้ทุนมากแรงงานก็สามารถใช้แรงงานยามว่าง ของชาวไร่ชาวนาเองได้
ประวัติความเป็นมาของการเลี้ยงปลานิล
ปลานิล เป็นปลาที่นำมาจากต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 พระเจ้าจักรพรรดิ อากิฮิโต ซึ่งขณะดำรงพระอิสริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทรงจัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัว ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยเลี้ยงในบ่อดิน เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อเลี้ยงมาได้ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สวนหลวงขุดบ่อขึ้นใหม่อีก 6 บ่อ มีเนื้อหาเฉลี่ยบ่อละประมาณ 70 ตารางเมตร ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายปลานิลด้วยพระองค์เองจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
เนื่องจากคุณสมบัติของปลานิลเป็นปลาจำพวกกินพืช เลี้ยงง่าย มีรสดี ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ในระยะเวลา 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมและมีความยาวประมาณ 1 ฟุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์สืบต่อไป
รูปร่างและลักษณะนิสัย
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง (อยู่ในตระกูล Cichlidac) มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่แอฟริกาพบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน ยูกันดา แทนแกนยิกา เนื่องจากปลาชนิดนี้เลี้ยงง่าย สามารถกินพืชและอาหารได้เกือบทุกชนิด รวมทั้งเศษอาหารต่าง ๆ สามารถแพร่ขยายพันธ์ได้ในสภาวะทั่ว ๆ ไปและเติบโตเร็ว นอกจากนี้ ปลานิลยังเป็นปลาที่มีรสดี สามารถนำมาเป็นอาหารได้หลายอย่าง และมีคนนิยมไปทำตากแห้งแบบปลาสลิดได้ ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคในหมู่ประชาชนทั่วไป
ปลานิลมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ ลักษณะพิเศษของปลานิลนั้น มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน มีเกล็ด 4 แถวตรงบริเวณแก้ม และจะมีลายพาดขวางลำตัวประมาณ 9 - 10 แถว มีนิสัยชอบอาศัยอยู่รวมกัน เป็นฝูงตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย มีความอดทน และสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่าย เหมาะสมที่จะน้ำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี
ในประเทศไทยพบปลานิลสีเหลืองขาว - ส้ม ซึ่งเป็นการกลายพันธ์จากปลานิลสีปกติ หรือเป็นการผสมข้ามพันธ์ระหว่าง ปลานิลกับปลาหมอเทศ ซึ่งนอกจากสีภายนอกที่แตกต่างจากปลานิลธรรมดาแล้ว ภายในตัวปลาที่ผนังช่องท้อง ยังเป็นสีขาวเงินคล้ายผนังช่องท้องของปลากินเนื้อ และสีของปลาเป็นสีขาวชมพูคล้ายปลากะพงแดง ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานในต่างประเทศ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักกันว่า "ปลานิลแดง"
การแพร่ขยายพันธุ์และการเจริญเติบโต
1. การแพร่ขยายพันธุ์
1 ) ลักษณะเพศ ตามปกติแล้วรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสังเกตได้โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้กับช่องทวาร ตัวผู้จะมีอวัยวะเพศลักษณะเรียวยื่นออกมา ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูค่อนข้างใหญ่และกลม ขนาดของปลาที่ดูลักษณะเพศได้ชัดเจนนั้น ต้องมีขนาดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป ในกรณีที่ปลามีขนาดโตเต็มที่แล้วนั้น อาจจะสังเกตเพศได้ด้วยการดูสีที่ลำตัว เพราะปลาตัวผู้จะมีสีเข้มตรงบริเวณใต้คางและลำตัว ต่างกับปลาตัวเมีย และยิ่งใกล้ฤดูใกล้ผสมพันธุ์ สีก็จะเข้มยิ่งขึ้น
2 ) การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด ในบ่อเลี้ยงจึงควรมีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ เช่น ไร่น้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อน ของแมลง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ควรให้อาหารสมทบด้วย เพื่อเป็นการเร่งให้พันธุ์แม่พันธุ์พร้อมที่จะทำการเพาะพันธุ์ได้ในเวลาที่เร็วขึ้น
3 ) การผสมพันธุ์และการวางไข่ ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือน/ครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้ง
พ่อแม่ปลานิลที่มีขนาดยาว 10 เซนติเมตร และมีอายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป เป็นปลาโตได้ขนาดพร้อมที่จะสืบพันธุ์ หากสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว ปลาตัวผู้ก็จะแยกตัวออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรัง โดยเลือกเอาบริเวณชานบ่อตื้น ๆ ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลงในระดับตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากกับการเคลื่อนไหวของลำตัวเขี่ยดินตะกอนออก โดยวิธีอมเอาดินตะกอนและเศษสิ่งของต่าง ๆ ในบริเวณนั้นไปทิ้งนอกรัง จะทำเช่นนี้อยู่เรื่อยไปจนกว่าจะได้รังซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมที่มีขนาดตามความต้องการ หากมีปลาอื่นอยู่ในแถบนั้นด้วย ปลานิลตัวผู้ก็จะพยายามขับไล่ให้ออกไปนอกบริเวณ ตัวมันเองจะคอยว่ายวนเวียนอยู่ในรัศมี 2-3 เมตรรอบ ๆ รัง และจะแผ่ครีบหลังอ้าปากกว้างอยู่ตลอดเวลา อาการเช่นนี้เป็นการเชิญชวนให้ตัวเมียซึ่งว่ายเข้ามาใกล้ ให้เข้ามายังรังที่ได้สร้างไว้ ปลาตัวเมียก็จะว่ายผ่านรังของปลาตัวผู้เตรียมไว้ถึง 3 รังก็มี
เมื่อต่างได้คู่แล้วก็จับคู่เคียงกันไป และจะใช้ทางดีดผัดผันแว้งกัดกันเบา ๆ หลังจากเคล้าเคลียในลักษณะ เช่นนี้ครู่หนึ่งแล้ว ปลาก็จะผสมพันธุ์ โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมีย เพื่อเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ปลาตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ 10 หรือ 12 ฟอง ในขณะเดียวกันปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไป พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่นั้น ทำอยู่เช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก โดยวิธีอมไข่เข้าไว้ในปาก แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่น ๆ ต่อไป
4 ) การฟักไข่ แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากเป็นเวลา 4-5 วัน ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัว ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ ๆ จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารธรรมชาติซึ่งติดอยู่ที่ท้อง ขณะเดียวกันแม่ปลายังคงต้องอมลูกปลาอยู่ต่อไป จนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ 3-4 วัน แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปาก ลูกปลาในระยะนี้สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็ก ๆ ซึ่งมีอยู่ในน้ำ โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือช่องเหงือก หลังจากลูกปลามีอายุ 1 สัปดาห์ จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่ แต่แม่ปลาก็ยังคอยระวังศัตรูให้ โดยว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่ แต่แม่ปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่อมีอายุได้ 3 สัปดาห์ และมักจะว่ายกินอาหารรวมกันเป็นฝูง
การแพร่ขยายพันธุ์ของปลานิลนั้น ปริมาณไข่ที่แม่ปลาวางแต่ละครั้งจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลาและฤดูกาล โดยประมาณแล้วปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละ 50-600 ฟอง แม่ปลาที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกจะให้ลูกปลาจำนวนไม่มากนัก ปริมาณไข่ของแม่ปลาจะเพิ่มมากตามขนาดของแม่ปลาที่เจริญวัยขึ้น แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ทุกระยะ 2-3 เดือนต่อครั้ง ถ้าหากบ่อเลี้ยงปลามีสภาพดีและมีการให้อาหารพอเพียงในเวลา 1 ปี แม่ปลาตัวหนึ่งจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ประมาณ 3-4 ครั้ง
5) การปล่อยปลาลงเลี้ยง
(1) จำนวนปลาที่ปล่อย เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว ดังนั้น จำนวน
ปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในบ่อครั้งแรกจึงไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มากนัก สำหรับบ่อขนาดพื้นที่ 1 งาน (400 ตารางเมตร) ควรใช้พ่อแม่ปลานิลเพียง 50 คู่ หรือถ้าเป็นลูกปลาซึ่งมีขนาดเล็กก็ควรปล่อยเพียง 400 ตัว หรือ 1 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
(2) เวลาปล่อยปลา เวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับปล่อยปลาควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็น เพราะระยะเวลาดังกล่าวอุณหภูมิของน้ำไม่ร้อนเกินไป ก่อนที่จะปล่อยปลาควรเอาน้ำในบ่อใส่ปนลงไปในภาชนะที่บรรจุปลาแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที เพื่อให้ปลาคุ้นกับน้ำใหม่เสียก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ จุ่มปากภาชนะที่บรรจุปลานิลลงบนผิวน้ำ พร้อมกับตะแคงภาชนะปล่อยให้ปลาแหวกว่ายออกไปช้า ๆ
6) การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงปลานิลในบ่อแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการเลี้ยงดังนี้
(1) การเลี้ยงปลานิลแบบเดียว โดยปล่อยลูกปลาขนาดเท่ากันลงเลี้ยงพร้อมกัน ใช้เวลาเลี้ยง 6-12 เดือน แล้ววิดจับทั้งบ่อ
(2) การเลี้ยงปลานิลหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน โดยใช้อวนจับปลาขนาดใหญ่ คัดเฉพาะขนาดปลาที่ตลาดต้องการจำหน่าย ปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเจริญเติบโตต่อไป
(3) การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาจีน ฯลฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหาร หรือเลี้ยงร่วมกับปลากินเนื้อ เพื่อกำจัดลูกปลาที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกันจะได้ปลากินเนื้อเป็นผลพลอยได้ เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลากราย และการเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาช่อน
(4) การเลี้ยงปลานิลแบบแยกเพศ คือ การเลี้ยงปลานิลเพศเดียวกันในบ่อเพื่อ
ป้องกันการแพร่พันธุ์ ส่วนมากนิยมเลี้ยงปลาเพศผู้ ซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเพศเมีย
7) การให้อาหาร
ปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด จึงเป็นปลาที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะพวกอาหาร
ธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ในบ่อ ตลอดจนสาหร่ายและแหน ถ้าต้องการให้ปลาโตเร็วควรให้อาหารสมทบ เช่น รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากมะพร้าว แหนเป็ดและปลาป่น เป็นต้น การให้อาหารแต่ละครั้งไม่ควรให้ปริมาณมากจนเกินไป ควรกะให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของปลาเท่านั้น ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราวร้อยละ 5 ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้อาหารมากเกินไปปลาจะกินไม่หมด เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายแก่ปลาได้
2. การเจริญเติบโต
ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เลี้ยงในเวลา 1 ปี จะมีน้ำหนักถึง 500 กรัม(ครึ่ง กิโลกรัม) และเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พ่อแม่ปลาซึ่งมีขนาดโตเต็มที่ เมื่อปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ จะเริ่มวางไข่ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ชุดนี้จะเริ่มวางไข่ต่อไปอีกเมื่อมีอายุประมาณ 3-4 เดือน
ด้วยเหตุที่ปลานิลแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้จำนวนของปลา
ในบ่อมีปริมาณมากจนเกินไป หากพบว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ควรจะจับลูกปลาแบ่งออกไปเลี้ยงยังบ่ออื่นบ้าง เพราะถ้าปล่อยให้อยู่กันอย่างหนาแน่น ปลาก็จะไม่เจริญเติบโตและจะทำให้อัตราการแพร่พันธุ์ลดน้อยลงอีกด้วย
คุณลักษณะของปลานิล
ปลานิล เป็นปลาที่มีเนื้อมากและมีรสดี สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอด ต้ม แกง ตลอดจนทำน้ำยาได้ดีเท่ากับเนื้อปลาช่อน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ทำเป็นปลาเค็มตากแห้งแบบปลาสลิด ปลากรอบ ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อมหรือปลาส้ม และยังนำมาประกอบเป็นอาหาร แบบอื่นได้อีกหลากหลายชนิด นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วปลานิลยังมีคุณลักษณะอีกหลายประการ ดังนี้
1. เลี้ยงง่าย มีคำกล่าวว่า "คนจนก็เลี้ยงปลานิลได้" เพราะสามารถเลี้ยงโดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารที่กินทุนอย่างการเลี้ยงปลาดุกและปลาช่อน แม้จะต้องทยอยขาย และราคาไม่แพง ผู้เลี้ยงจะไม่เดือดร้อนเวลาราคาตกต่ำ การเลี้ยงปลานิลโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยการทำให้น้ำในบ่อมีอาหารธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีการใส่ปุ๋ยแก่บ่อ ทำให้เกิดแพลงก์ตอนหรือไรน้ำ ถ้าเกษตรกรขยันทำปุ๋ยหมักใช้เองหรือเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปก็จะประหยัดอาหารได้มาก
2. หาพันธุ์ได้ง่าย พันธุ์ปลานิลนอกจากจะหาซื้อได้ง่ายจากบ่อเลี้ยงปลากินพืชทั่วไปแล้ว เกษตรกรยังสามารถเพาะพันธุ์ปลานิลได้เองโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ ในกรณีที่เกษตรมีบ่อเลี้ยงปลาจำนวนน้อยบ่อ อาจรวมกลุ่มกันเพาะพันธุ์ปลานิล แล้วแบ่งลูกปลาไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ต่อไป
3. อดทน ปลานิลมีความอดทนมาก ไม่ค่อยเป็นโรคร้ายแรง สามารถอดทนอยู่ในบ่อปลาที่มีอาหารธรรมชาติจำนวนมาก จนมีน้ำสีเขียวจัด(น้ำเสีย) ได้ เกษตรกรจึงใช้น้ำทิ้งจากบ่อประหลาดุกมาเลี้ยงปลานิล ของเสียที่ปนอยู่ในน้ำก็เหมือนปุ๋ยที่ใส่ลงเพาะไรน้ำ ถ้าจัดให้มีบ่อเลี้ยงปลานิลรับน้ำที่ระบายจากบ่อประหลาดุกก็สามารถผลิตปลานิลได้โดยแทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย
4. การผสมพันธุ์ ปลานิลผสมพันธุ์เก่ง ผลิตลูกปลาได้เร็วจนแน่นบ่อ นอกจากสามารถนำเอาความรู้เรื่องธรรมชาติการผสมพันธุ์ของปลานิลไปใช้ในการเพาะพันธุ์ลูกปลาเป็นอาชีพแล้ว การปล่อยปลาบู่ ปลาช่อน หรือกุ้งก้ามกรามลงในบ่อปลานิลได้ช่วยกันกินลูกปลาให้น้อยลงบ้าง กลายมาเป็นผลผลิตปลาบู่ ปลาช่อนและกุ้ง ซึ่งราคาต่างกันมาก พอลูกปลาลดลงแล้วพ่อแม่ปลานิลก็เร่งผลิตลูกปลามาชดเชยอีก
5. โตเร็ว ปลานิลมีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะมีขนาดเฉลี่ยในเวลา 1 ปี ผลผลิตไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี
การเจริญเติบโตของปลานิล
อายุปลา(เดือน)
|
ความยาว(เซนติเมตร)
|
น้ำหนัก(กรัม)
|
3
|
10
|
30
|
6
|
20
|
200
|
9
|
25
|
350
|
12
|
30
|
500
|
6. ไม่ทำลายกันเอง ปลานิลไม่กินลูกของตัวเอง ลูกปลาจึงมีอัตราการอดตายจากการ
สืบพันธุ์แบบธรรมชาติจำนวนมาก ในกรณีที่ไม่มีศัตรูอื่นรบกวน
7. มีตลาดจำหน่าย เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ประชาชนทั่วไปนิยมบริโภคจึงทำให้เป็นที่
ต้องการของตลาดทั่วไป
8. เลี้ยงร่วมกับปลาประเภทอื่นได้ โดยมีสูตรการเลี้ยงหลายสูตร คือ
1) ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาไน สูตรนี้เหมาะสมมากสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด
เช่น นาข้าว เพราะปลาทั้ง 3 ชนิดเป็นปลาตัวเล็ก ใช้ระยะเวลาเลี้ยงไม่นาน (ประมาณ 3-5 เดือน) จะได้ขนาดที่ตลาดนิยมบริโภคแล้ว
อัตราการปล่อย
ปริมาณลูกปลาทั้งหมดไม่ควรเกิน |
2,000 ตัว/ไร่ |
ปลาตะเพียน |
500-700 ตัว/ไร่ |
ปลานิล |
500 ตัว/ไร่ |
ปลาไน |
100 ตัว/ไร่ |
2) เลี้ยงปลาดุกและปลานิล ปลาดุกเป็นปลากินเนื้อที่ให้ราคาดี ถ้าเลี้ยงปลาดุกเพียงอย่างเดียว จะสิ้นเปลืองค่าอาหารมาก ฉะนั้นเมื่อเลี้ยงร่วมกับปลานิล ปลาดุกจะคอยเก็บกินลูกปลานิล เป็นการลดต้นทุน
อัตราการปล่อย
ปลานิล |
1,000 ตัว/ไร่ โดยประมาณ |
ปลาดุก |
70-100 ตัว/ไร่ |
ข้อพึงระวัง
เนื่องจากปลาดุกเป็นปลากินเนื้อ ฉะนั้นจะต้องปล่อยปลานิลก่อนเลี้ยงให้โตพอได้ขนาดที่ปล่อย จึงจะปล่อยปลาดุกตามไปทีหลังหรือจะปล่อยพร้อมกันไปเลยก็ได้ โดยปล่อยปลากินเนื้อตัวเล็ก ปลากินพืชตัวใหญ่
3) เลี้ยงปลานิล หรือปลาตะเพียน เป็นหลัก
ถ้ายึดปลานิลเป็นหลัก ก็ต้องลดปลาตะเพียนลง หากยึดปลาตะเพียนก็ลดปลานิลลง แล้วเลี้ยงปลาอื่นเสริม การเลี้ยงแบบนี้น้ำต้องอุดมสมบูรณ์หรือเลี้ยงในนาข้าวที่ควบคุมระดับน้ำได้ ระยะเวลาเลี้ยง 8-12 เดือน
อัตราการปล่อย
ปลานิล
|
ถ้าเป็นหลัก
|
1,000
|
เป็นรอง
|
500
|
ตัว/ไร่
|
ปลาตะเพียน
|
ถ้าเป็นหลัก
|
700
|
เป็นรอง
|
500
|
ตัว/ไร่
|
ปลาไน
|
-
|
-
|
-
|
50
|
ตัว/ไร่
|
ปลานีน- เฉา
|
-
|
-
|
-
|
50
|
ตัว/ไร่
|
ปลานีน- เล่ง
|
-
|
-
|
-
|
50
|
ตัว/ไร่
|
ปลานีน- ซ่ง
|
-
|
-
|
-
|
25
|
ตัว/ไร่
|
ปลายี่สกเทศ
|
ถ้ามีวัชพืชมาก
|
100
|
มีน้อย
|
50
|
ตัว/ไร่
|
ปลาสวาย
|
-
|
-
|
-
|
30
|
ตัว/ไร่
|
ปลาดุก
|
-
|
-
|
-
|
100
|
ตัว/ไร่
|
ลำดับการปล่อย
ปล่อยปลาเล็ก(ปลานิล ปลาตะเพียน หรือปลาไนด้วยก็ได้)ก่อนเลี้ยงจนโตขนาดที่ปลอดภัยจากปลาใหญ่เสียก่อน จึงปล่อยปลาใหญ่ (ปลาจีน ปลายี่สก ปลาดุก ปลาสวาย)ตามลงไป
|