การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
• เป็นรูปแบบที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด โดยบ่อที่นิยมจะมาขนาด 3 x 4 เมตร หรือใหญ่กว่า
• สะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดบ่อ ควบคุมโรครวมถึงการจับแบบทยอยจับได้
• บ่อส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ที่เป็นพื้นบกสำหรับกบอาศัยอย่างน้อย 70% ของบ่อ ที่เหลือเป็นพื้นน้ำ
ลักษณะบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงกบ
• โดยทั่วไปแล้วบ่อเลี้ยงกบจะเป็นบ่อเอนกประสงค์ คือ ใช้ตั้งแต่ผสมพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด อนุบาลลูกกบ จนถึงเลี้ยงกบขุนหรือกบเนื้อ
• บ่อเลี้ยงกบ มักเป็นบ่อซีเมนต์ มีหลายรูปแบบ เช่น ปูกระเบื้อง ทาสีเหลือง มีหลายขนาด เช่น 3×4 , 3.2×4 , 4×4 , 4×5 , 4×6 เมตร สูง 1.2 เมตร ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
• บ่อเลี้ยงจะมีการเทคานและใช้อิฐบล็อค 4 – 6 ก้อนก่อเป็นผนัง พื้นบ่อมีการเทปูนหนาพอสมควรเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม ด้านในของบ่อทั้ง 4 ด้าน จะฉาบผิวสูงประมาณ 30- 50 เซนติเมตร
• บ่อกบควรตั้งอยู่กลางแจ้ง มีแสลนกรองแสงทำเป็นหลังคาและกันแดด รวมทั้งมีตาข่ายกันนกหรือศัตรูที่จะเข้ามาจับกินกบ
• มีการวางระบบน้ำ โดยเดินท่อพีวีซีไปยังทุกบ่อ เพื่อเติมน้ำในขณะที่เปลี่ยนน้ำออกจากบ่อ
ภาพ บ่ออนุบาล ลูกกบ
น้ำสำหรับใช้เลี้ยงกบ
• ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำ เช่น ความเป็นกรดด่างของน้ำ (พีเอชประมาณ 7 จะดี) ความกระด้าง ค่าอัลคาไลนิตี้ ปริมาณแอมโมเนีย แร่ธาตุในน้ำ ฯลฯ ว่าเหมาะสมหรือไม่
• หากน้ำที่ใช้เป็นกรด จะต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำและตรวจวัดความเป็นกรดด่างของน้ำอีกครั้งหนึ่ง และมีการพักน้ำดังกล่าวไว้ก่อนนำมาเลี้ยงกบ
• น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะซึ่งคุณภาพของน้ำมักจะไม่สม่ำเสมอหรือปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ดังนั้นควรพิจารณาในการนำมาใช้ ถ้าจะนำมาใช้ควรมีบ่อพักเก็บกักน้ำไว้ก่อน
• หากน้ำที่ใช้เป็นน้ำบาดาลควรผ่านการกรองและพักน้ำไว้ก่อนนำมาใช้ แต่บางที่มีคุณภาพดีก็นำมาใช้เลี้ยงกบรุ่นๆได้เลยเช่นกัน
ข้อดี
1. เลี้ยงในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่ทุ่งไร่ ทุ่งนาได้ดี
2. อายุการใช้งานของบ่อปูนจะนานและเอนกประสงค์กว่าแบบอื่นๆ
3. เปลี่ยนถ่ายน้ำได้บ่อยๆ และง่าย รวดเร็ว
4. ให้อาหารง่าย ไม่เปลืองอาหารมากนัก
5. ควบคุมดูแลโรคได้ง่ายกว่าแบบอื่นๆ เพราะมองเห็นกบได้ง่ายกว่า
6. เป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าที่สุดทางหนึ่ง
7. สามารถจับกบขายได้ตลอดเวลา
ข้อเสีย
1. อันตรายต่อผู้เลี้ยงที่มีอายุมาก เนื่องจากบ่อปูนจะลื่นมากเมื่อขังน้ำไว้นานๆ และมีตะไคร่น้ำเกาะติด ทำให้เสี่ยงต่อการลื่นล้มเป็นอัมพาฒ หรือเป็นลมแดด หัวฟาดจนจมน้ำเสียชีวิตได้
2. ลงทุนในครั้งแรก สูงกว่าแบบอื่นๆมาก ระยะเวลาคืนทุนนานมาก
3. กบมักจะมีกลิ่นเหม็นอับ หรือมีกลิ่นปูนติดตัวมาด้วย ขาดความเป็นธรรมชาติเล็กน้อย
4. ถ้าทำขอบบ่อไม่เรียบ มักเกิดปัญหาโรคกบเป็นแผล จากการกระโดดชนผนังปูน
5. ถ้าเลิกเลี้ยงและต้องการใช้พื้นที่ไปทำกิจการอื่นๆ ต้องเสียค่าทุบและรื้อถอนค่อนข้างสูง