"หลักในการตอบ ๔ วิธี"
คนที่เผ้าพระพุทธเจ้านั้นมีทุกระดับฐานะทางสังคม คือจากบุคลระดับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้น ลงไปจนถึงจัณฑาลที่เป็นวรรณะต้องห้ามสำหรับคนในสมัยนั้น เจตนารมณ์ในการมาเฝ้าพระบรมศาสดานั้นก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะคนที่ถือตนเองว่าเป็นนักปราชญ์มักจะมาเฝ้าเพื่อต้องการทดสอบทำนองลองดีก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ในฐานะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงแสดงธรรมให้คนเหล่านั้นเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง กลายเป็นคนอ่อนน้อมยอมตนนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก จนถึงกับสร้างความริษยาอาฆาตให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มผลประโยชน์ คือคณาจารย์เจ้าลักธิที่มีอยู่ก่อน แม้ว่าคนเหล่านั้นเพียรพยายามทำลายพระบรมศาสดาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ต้องพ่ายแพ้พุทธานุภาพไปในที่สุด
ในกรณีของคนที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อถามปัญหานั้น พระบรมศาสดาทรงมีหลักในการตอบ ๔ วิธีด้วยกันคือ
๑. เอกังสพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไปโดยส่วนเดียวอย่างเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๒. วิภัชพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงจำแนกตัวไปตามลักษณะของเรื่องนั้น ๆ อย่างเช่น ปัญหาที่ว่าคนตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ? พระบรมศาสดาจะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมี อยู่การเกิดก็ต้องมี เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มี
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงใช้ปัญหาที่ถามมานั้นเองย้อนถามไปอีกทีแล้วจะออกมาเป็นคำตอบเอง
๔. ฐปนียะ ปัญหาบางเรื่องบางอย่าง เป็นเรื่องไร้สาระบ้างตั้งคำถามผิดบ้าง พูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้ฟังบ้าง พระบรมศาสดาจะทรงนิ่งเสียไม่ตอบ เพราะพระพุทธเจ้าดำรัสทุกคราวของพระพุทธเจ้าวางอยู่บนหลักที่ว่า "ต้องเป็นเรื่องจริง เป็นธรรมมีประโยชน์ เหมาะสมแก่กาล คนฟังอาจจะชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างก็ได้ แต่ถ้าคุณสมบัติ ๔ ประการข้างต้นมีอยู่จะตรัสพระดำรัสนั้น"
|