สิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงและเตรียมตัวก่อนเลี้ยงกบ มีขั้นตอนสรุป ดังนี้
1. ต้องศึกษาหาความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงกบจากฟาร์มกบโดยตรงหรือผู้ที่เลี้ยงกบอยู่แล้ว อย่าอาศัยแค่อ่านจากเว็ปหรือหนังสือ เพราะการปฏิบัติจริงต้องละเอียดอ่อนกว่ามากๆ (การเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นงานที่ยุ่งยาก ลำบาก และต้องมีเวลาดูแลเอาใจใส่ตลอดทั้งวัน ต้องหมั่นสังเกตอาการ ตลอดเวลา ถ้ารู้ช้าจะเสียหายเกือบทั้งหมด และขาดทุนในที่สุด)
2. กำหนดต้นทุนที่จะใช้เลี้ยงและเงินหมุนเวียนต่อเดือน โดยให้แบ่งดังนี้
2.1 เงินค่าสิ่งปลูกสร้างและทำสถานที่ใช้เลี้ยง
2.2 เงินค่าลูกพันธุ์กบ ราคาลูกพันธุ์กบเฉลี่ยตัวละ 1 – 2 บาท (อย่าซื้อตัวเล็กมากๆ เพราะเลี้ยงไม่ค่อยรอด แม้ราคาจะถูกกว่านี้ก็ตาม ทำให้เสียกำลังใจ)
2.3 เงินค่าอาหารกบ เพื่อเลี้ยงจนจับขายได้ ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 2 – 2.5 เดือน(ถ้าใช้ลูกพันธุ์กบอายุ 45 วัน ขึ้นไป)
2.4 เงินค่ายารักษาโรค จะใช้มากถ้าระบบน้ำที่ใช้เลี้ยงไม่ค่อยดี และช่วงต้นฤดูฝน
ต้นทุนการเลี้ยงกบ เพื่อให้ได้กบโตขนาด 4 ตัว/กก. จำนวน 1 กก. เพื่อจำหน่าย (คิดให้แบบเฉลี่ยๆนะครับ)
- ค่าลูกพันธุ์กบ 4 ตัว เป็นเงิน 4 x 1 = 4 บาท
- ค่าอาหารกบประมาณ 1 กก. เป็นเงิน 1 x 25 = 25 บาท (ถ้าใช้ลูกพันธุ์ราคาตั้งแต่ 2 บาทขึ้นไป ค่าอาหารจะลดลงอีกเล็กน้อย)
ดังนั้น รวมต้นทุน เป็นเงิน 4 + 25 = 29 บาท/กบโต 1 กก. (ไม่รวมค่าแรง ค่าอุปกรณ์และค่าบริหารจัดการ)
ฉะนั้น ถ้าท่านเลี้ยงกบ จำนวน 1,000 กก. สมมุติจับขายที่ราคา 45 บาท/กก. โดยใช้เวลาประมาณ 2.5 เดือน
ท่านจะได้กำไร เป็นเงิน (45 – 29) x 1,000 = 16,000 บาท เฉลี่ย 6,400 บาท/เดือน
สรุป เลี้ยงกบขายปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ย 24 – 29 บาท/กบโต 1 กก.
(กำไรขึ้นอยู่กับราคาขายที่พ่อค้าคนกลางที่รับซื้อ แต่ถ้าขายปลีกในระแวกบ้านจะได้ราคาดีกว่ามากๆครับ)
ดังนั้น อย่าคาดหวังรายได้จากการเลี้ยงกบ ให้มากนัก เพราะถ้าคุณคำนวณเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรง ค่ายารักษาโรค ให้ดีคุณอาจจะพบว่าคุณแค่มีงานทำ คือ “ได้เลี้ยงกบ” แต่คุณแทบจะไม่ได้กำไรอะไรเลย จึงฝากไว้เป็นข้อคิดก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงนะครับ ผมคนจริงใจก็บอกกันไปตรงๆแบบนี้ เพาะว่ามันเหมาะกับผู้ที่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วและเลี้ยงกบเป็นอาชีพเสริม หากมีกบเหลือมากๆก็จำหน่ายพันธุ์ลูกกบและกบโตให้พ่อค้าคนกลางครับ
3. เลือกรูปแบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่และระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำ
หากคุณกำลังจะให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงมีอายุมาก ช่วยเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมทางฟาร์มแนะนำให้คุณใช้กระชังบนดินเป็นทางเลือกแรก เพราะปลอดภัยที่สุด (บ่อดิน และบ่อปูน จะเสี่ยงต่อการลื่นล้มเป็นอัมพาฒ หรือเป็นลมแดด จมน้ำเสียชีวิตได้ เพราะอาจต้องใช้สะพานเดินลงไปให้อาหารภายในบ่อ(ถ้าบ่อใหญ่ๆ)
(แนะนำกระชังแบบตั้งบนพื้นดิน เติมน้ำใช้เลี้ยงกบได้ทันที ทั้งประหยัดและปลอดภัยที่สุด)
4. หาฟาร์มกบ ที่จำหน่ายพันธุ์ลูกกบ ในบริวเณใกล้เคียง เพื่อสะดวกต่อการขนย้ายลูกกบ ให้มากที่สุด แต่อย่าโทรสั่งทางโทรศัพท์ ให้ลองแวะไปดูขนาดหรือของจริงก่อนซื้อจะดีและคุ้มค่าที่สุดครับ (เสียเวลาเสียน้ำมัน ดีกว่าได้ของไม่ดีหรือย้อมแมวนะครับ)
5. ผู้เลี้ยงต้องพร้อมและมีเวลาพอสมควรเพราะการเลี้ยงกบเพื่อขายต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ หมั่นคัดขนาดลูกกบ เพื่อป้องกันกบเป็นโรคและกัดกินกันเอง
6. ยังไม่ต้องกังวลเรื่องสายพันธุ์กบมากนัก ให้ไปซื้อลูกพันธุ์จากฟาร์มใดก็ได้มาทดลองเลี้ยงดูก่อน เพราะว่าทุกฟาร์มย่อมมีสายพันธุ์กบที่ตลาดต้องการอยู่แล้ว (ถ้าสายพันธุ์ของเขาไม่ดีจริงๆ เขาคงไม่กล้าเลี้ยงเยอะๆไว้เพื่อขายหรอกครับ)
7. ยังไม่ต้องกังวลเรื่องการตลาดและที่ขายจนเกินไป เนื่องจากสินค้าเกษตรต้องผลิตให้ได้ก่อน จึงจะเสนอขายได้ เพราะผู้ซื้อต้องเห็นสินค้าก่อนซื้อไปบริโภค (เลี้ยงไม่ถึง 500 กก. แนะนำให้ขายในพื้นที่ใกล้เคียง เลี้ยงมากกว่านี้จะมีพ่อค้าคนกลางไปซื้อที่หน้าฟาร์มของท่านเองนะครับ) ประเทศเรามีผู้บริโภคกบอยู่ทั่วไปครับ ขายได้แน่นอน
8. การเลี้ยงกบจะเริ่มช่วงเดือนใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นช่วงที่ราคาดีๆ เพราะถ้าท่านเริ่มเลี้ยงใหม่ๆโอกาสที่จะเลี้ยงรอดและได้ราคาดีตามช่วงที่ท่านคาดไว้ก็มีไม่มากหรอกครับ ดังนั้นให้คิดว่าเริ่มวันนี้ เริ่มไว เลี้ยงได้เลี้ยงรอดเร็วก็จะได้ขายราคาดีในรอบต่อๆไปครับ (ช่วงหน้าฝนใหม่ๆ กบจะมีราคาถูกที่สุดครับ จากนั้นจะเริ่มขึ้นจนถึงก่อนฤดูฝนถัดไป)
9. อย่าทุบหม้อข้าวหม้อแกง แบบรอรายได้จากการเลี้ยงกบเท่านั้น ท่านต้องมีอาชีพอื่นๆทำควบคู่ไปก่อน เพราะอาชีพเกษตรจะยากตรงที่เราควบคุมธรรมชาติ ไม่ได้ คาดเดายากครับ
10. อย่าท้อแท้เมื่อเลี้ยงครั้งแรกๆแล้วพบว่ากบตายไปมาก เพราะเป็นปกติที่การเริ่มเลี้ยงในระยะแรกๆจะต้องไม่มีผลกำไร ให้ลงทุนต่อไปและแก้ไขปัญหาต่างๆที่พบโดยปรึกษาผู้รู้หรือผู้ที่เลี้ยงกบมาก่อน
11. ผู้ที่เริ่มเลี้ยงแนะนำให้หาซื้อลูกพันธุ์กบมาทดลองเลี้ยงสัก 1 ปี ก่อน แล้วค่อยหาพ่อแม่พันธุ์กบมาเพาะเองต่อไป จะคุ้มค่าเงินและเวลามากกว่า
12. ราคาที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อกบที่หน้าฟาร์มส่วนใหญ่ต่ำสุดที่ 23 บาท/กก. สูงสุดที่ 65 บาท/กก. และขายปลีกตามท้องตลาดต่ำสุดที่ 60 บาท/กก. สูงสุดที่ 130 บาท/กก. สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ส่วนภาคอื่นๆราคาส่วนใหญ่สูงกว่าภาคกลางเฉลี่ย 10 – 20 บาท/กก. (ผมรวบรวมข้อมูลจากที่ผมได้เคยสอบถามจากคนที่พอรู้จักกันมาครับ โดยราคาต่ำสุดมักอยู่ในเดือน กรกฎาคม และสูงสุดที่ปลายๆเดือนเมษายน ของทุกปีครับ) ดังนั้นท่านต้องคำนวณต้นทุนการเลี้ยงดีๆก่อนตัดสินใจเริ่มเลี้ยงกบครับ
มีการรับซื้อกบคืนจริงๆ หรือกลลวงกันแน่?
มีบางที่ ที่อาจจะบอกหรือรับปากกับท่านว่าเขารับซื้อคืนแน่นอน โดยให้ราคาเท่าโน้นเท่านี้ ถ้าซื้อลูกพันธุ์จากเขาไป ท่านจงคิดใตร่ตรองให้มากๆ ว่าท่านเลี้ยงมากน้อยเพียงใด และอยู่ไกลจากฟาร์มนั้นๆเท่าใด แล้วเขาจะยอมเสียเวลา เสียน้ำมันวิ่งมารับซื้อกบจำนวนเพียงไม่กี่กิโลกรัมกลับไปอย่างที่ว่าไว้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เขาจะรู้ว่าถ้าขายให้ท่านไปแล้ว(ขาจร หรือ คนเลี้ยงหน้าใหม่ๆ) ท่านมักจะมาซื้อซ้ำอีกไม่เกิน 2 ครั้ง (บางทีอาจถูกยัดกบที่มีปัญหาปนมาให้ท่านอีกด้วย) บางแห่งก็แค่พูดๆไปเพื่อให้ขายได้เท่านั้นก็มี ท่านต้องระวังและคิดทบทวนอย่างรอบคอบก่อนซื้อนะ เพราะมีหลายท่านถามมาและบ่นให้ผมฟังประจำว่ามีเจอผู้ขายแนวนี้เยอะ จึงเตือนไว้ล่วงหน้า สังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นผู้ที่ผลิตลูกอ๊อดเองจะต้องมีพ่อแม่พันธุ์ และบ่ออนุบาลลูกอ๊อด ไม่ใช่มีแค่บ่อพักลูกกบเล็กไว้รอขายต่ออย่างเดียว
การเริ่มต้นเลี้ยงผู้เลี้ยงจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญๆ ได้แก่
1. ราคาขาย เมื่อกบโตได้ขนาด
ซึ่งปกติราคากบจะสูงในช่วง ปลายๆพฤศจิกายน – กลางพฤษภาคม ของทุกปี ดังนั้นกว่าที่เราจะขายกบได้ต้องเลี้ยงประมาณ 2 – 3 เดือน จึงต้องกะเวลาให้โตพร้อมขายในช่วงนี้ครับ
2. โรคที่เกิดจากกบ
จากประสบการณ์ พอจะสรุปได้ว่า กบจะเป็นโรคมากในเดือน กรกฏาคม – ตุลาคม อันเนื่องมาจากเป็นหน้าฝน เช่น โรคตาขาวขุ่น กระแตเวียน แผลพุฟอง ขาแดง ปากแดง ซึ่งสาเหตุที่เกิดจะยังไม่ชี้แจงเพราะประเด็นคือ ถ้าผู้เริ่มเลี้ยงยังไม่มีประสบการ์มากนักจะทำให้ท้อได้หากเริ่มเลี้ยงกบในช่วงนี้ และเกิดเป็นโรคขึ้น
3. แหล่งที่มาของลูกกบ แบ่งเป็นจะเพาะลูกเอง หรือหาซื้อลูกกบจากที่อื่นๆมาเลี้ยง
3.1 การเพาะลูกกบจะสำเร็จได้ง่าย(กบไข่ง่ายกว่า)ในช่วง กรกฏาคม – ตุลาคม
3.2 หาซื้อลูกกบมาเลี้ยง ช่วงกรกฏาคม – ตุลาคม ราคาลูกกบจะถูกกว่าช่วงอื่นๆ แต่ราคาจำหน่ายกบโตก็จะต่ำตามไปด้วย เช่น 25 ถึง 32 บ./กก.
ดังนั้นสรุปเป็นสูตรง่ายๆ ดังนี้ครับ
1.กรณีซื้อลูกกบจากที่อื่นๆมาเลี้ยง
1.1 เริ่มเลี้ยง ช่วงต้นฤดูหนาวหรือปลายฝน – เดือนกุมภาพันธ์
ข้อดี คือ เมื่อกบโตจะขายได้ราคาดีกว่า + โอกาสกบเป็นโรคอาจจะต่ำกว่า
ข้อเสีย คือ ลูกพันธุ์ราคาจะค่อนข้างสูง + ถ้าหนาวๆกบจะไม่ค่อยโตและตายเยอะ
1.2 เริ่มเลี้ยง ช่วงต้นฤดูฝน – เดือนกันยายน
ข้อดี คือ ลูกพันธุ์ราคาจะถูกกว่า + ลูกพันธุ์จะหาง่าย
ข้อเสีย คือ เมื่อกบโตจะขายได้ราคต่ำ + โอกาสกบเป็นโรคอาจจะสูงที่สุด
2.กรณีซื้อพ่อแม่พันธุ์กบมาเพาะลูกกบเอง
2.1 เริ่มเลี้ยง ช่วงต้นฤดูหนาวหรือปลายฝน – เดือนกุมภาพันธ์
ข้อดี คือ หากเพาะลูกได้จะสามารถขายลูกกบได้ในราคาสูง + เมื่อกบโตจะขายได้ราคาดีกว่า + โอกาสกบเป็นโรคอาจจะต่ำกว่า
ข้อเสีย คือ หากมือใหม่ก็ยากที่จะเพาะพันธุ์ได้สำเร็จง่ายๆ + ถ้าหนาวๆลูกอ๊อดจะไม่ค่อยโตและตายเยอะ
2.2 เริ่มเลี้ยง ช่วงต้นฤดูฝน – เดือนกันยายน
ข้อดี คือ การเพาะพันธุ์ลูกกบจะสำเร็จได้ง่ายๆ (กบจะไข่เยอะ)
ข้อเสีย คือ ลูกกบที่เพาะได้จะขายยากและราคาต่ำ + เมื่อเลี้ยงกบโตจะขายได้ราคต่ำ + โอกาสกบเป็นโรคอาจจะสูงที่สุด + การดูแลลูกอ๊อดค่อนข้างจะยาก บางครั้งฝนตกหนักลูกอ๊อดอาจน็อคตายทั้งบ่อ
จากข้อมูลดังกล่าวที่เราได้รวบรวมไว้จากประสบกาณ์เฉพาะสถานที่ของเรา จึงสรุปได้ว่า
1. การเลี้ยงในปีแรกๆคงจะยังไม่ได้กำไรอะไรมากนัก นอกจากได้ประสบการณ์เพื่อใช้ในปีถัดๆไป
2. ผู้เลี้ยงต้องตั้งใจจริง ไม่ท้อ ไม่เลิกล้มกลางคัน เมื่อพบปัญหาต้องปรึกษาผู้ที่เลี้ยงมาก่อน
3. เมื่อยอมรับได้เรื่องการขาดทุนบ้างในระยะแรก และไม่ท้อเมื่อเกิดปัญหา
ก็จะสรุปได้ว่าเริ่มเลี้ยงช่วงปลายฤดูฝน น่าจะดีและเหมาะสมกับผู้เลี้ยงมือใหม่มากที่สุดครับ
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการเกิดโรค และก็จะขายได้ราคาดีกว่า เมื่อกบโตพร้อมขาย