หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    โรงงานผลิตทุกข์
    ตามหลักธรรมแล้ว ทุกข์ไม่ว่าทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ถ้าไม่มีสาเหตุทำให้เกิด แต่แสดงตัวขึ้นมาเฉยๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่น กายจะปรากฏทุกข์ขึ้นมา ต้องมีสาเหตุที่ทำให้เป็นส่วนบกพร่องของกายปรากฏขึ้นมา ทุกข์จำต้องปรากฏขึ้นมาตามจุดบกพร่องนั้นๆ แม้ทุกข์ทางใจก็จำต้องแสดงขึ้นมาตามจุดบกพร่องของใจ ที่เรียกว่าความเลินเล่อเผลอสติ นี่เป็นจุดบกพร่องของใจที่ยังทุกข์ให้เกิดขึ้นได้
           
           เมื่อสุขทุกข์เกิดขึ้นตามสาเหตุดีชั่วเป็นหลักประกันอยู่แล้ว การตำหนิติชมในผล คือสุขทุกข์ จึงไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องส่งเสริมสมุทัยให้ทำการสั่งสมทุกข์เพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น
           
           ฉะนั้น เพื่อดับทุกข์ให้ถูกต้องตามมรรคปฏิปทา ผู้รับทราบทุกข์ที่เกิดขึ้นจึงควรจับทุกข์ขึ้นเป็นเป้าหมาย แล้วพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์โดยรอบคอบด้วยปัญญา เช่น วันนี้เราไม่สบายใจ เพราะคิดถึงเรื่องอะไรจึงเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่สบาย ไม่สบายใจกับสิ่งใดหรือกับผู้ใด เกิดขึ้นที่ไหน ขณะนี้ความไม่สบายตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งอยู่กับอะไร ความไม่สบายนี้เป็นใครหรือเป็นของใคร ท่านว่าความไม่สบายเป็นต้นนี้เป็นของจริงอันประเสริฐ มิได้เป็นใครและเป็นของใครทั้งนั้น
           
           การใช้ปัญญาตามขุดค้นเข้าไป ก็จะพบต้นเหตุอย่างชัดเจนว่า โรงงานผลิตทุกข์ คือ ใจที่ไม่มีสติไม่มีปัญญารักษาตน ปล่อยให้ความคิดปรุงอันเป็นฝ่ายสมุทัยสั่งสมทุกข์ขึ้นมา โดยไม่มีการต้านทานขัดขวาง ใจจึงได้รับความทุกข์อย่างไม่มีใครช่วยได้ ทุกข์มีสาเหตุเกิดขึ้นได้ดังที่กล่าวมานี้แล
           
           ฉะนั้น ผู้พิจารณาเพื่อดับทุกข์โดยชอบธรรม จึงควรใช้ปัญญาจดจ้องเข้าไปในจุดที่แสดงอาการกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จุดนั้นเป็นที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์และสมุทัยทั้งมวล และเป็นโรงงานใหญ่โตและแข็งแรงมั่นคงมาก ต้องทดสอบดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจิตจะไปทำความสำคัญว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเราและเป็นของเราขึ้นมา ความสุขทุกข์ก็จะกลายเป็นเรา เป็นของเราขึ้นมาตามๆ กัน คำว่า “เรา” กับความคิดดี คิดชั่ว และสุขทุกข์ ก็จะเชื่อมเข้าเป็นอันเดียวกันจนหาทางแก้ไขไม่ได้
           
           ฉะนั้น จงคอยสังเกตด้วยสติปัญญา ตามลำดับที่ความคิดดีหรือชั่วเกิดขึ้นภายในใจ ทั้งขณะตั้งอยู่และดับไป พร้อมทั้งการทราบต้นเหตุที่เกิดขึ้นของสิ่งเหล่านั้น ไปในระยะเดียวกัน เช่น ความดีใจเสียใจ เป็นต้น เกิดขึ้น จงจับจุดนี้แล้วขุดค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เรื่องความสุขความทุกข์ที่เป็นผลซึ่งออกมาจากจุดเดียวกันก็จะดับไป แล้วเปลี่ยนสภาพขึ้นมาใหม่ ให้จิตตามรู้กันตามลำดับของเรื่องที่ยังไม่จบสิ้นลงโดยสิ้นเชิง ยังจะได้คติที่สำคัญๆ จากการพิจารณาในเวลานั้นด้วย
           
           วิธีดำเนินจิตต้องถือความสัมผัสและความกระเพื่อมของจิตเป็นเป้าหมายของการพิจารณา จิตจะแสดงตัวขึ้นมาอย่างไร เช่นแสดงเป็นความเสียใจและเศร้าหมองขึ้นมา อย่าตื่นเต้นตกใจไปตามอาการที่แสดงนั้นๆ จงพิจารณาให้รู้โดยทั่วถึง ตามหลักสติปัญญาของผู้ต้องการ ทราบต้นเหตุแห่งเรื่องทั้งปวง ไม่ให้มีจุดบกพร่องต่อการพิจารณา ความเสียใจและเศร้าหมองเป็นสาเหตุมาจากสมุทัย ความดีใจและผ่องใสเป็นสาเหตุมาจากมรรค คือข้อปฏิบัติทั้งสองประเภทนี้ จงถือเป็นทางเดินของสติปัญญาต่อไป อย่าไปยึดเอาความเศร้าหมองและความผ่องใส จะกลายเป็นเราขึ้นมาในระยะที่ไปยึดเขา เรากับเขาจะแก้กันไม่ตก เพราะความผ่องใสเราก็เสียดายและรักสงวน ส่วนความเศร้าหมองเราก็เกลียดชัง ความเกลียดชังก็เป็นเรื่องของเรา แม้เราไม่ชอบความเศร้าหมอง แต่เรากลับชอบความเกลียดชัง จึงถือความเกลียด ชังขึ้นมาเป็นตัวโดยไม่รู้สึก กิเลสกับเราจึงมีโอกาสคละเคล้ากันได้อย่างนี้
           
           เรื่องมารยาของใจที่มีกิเลส มันแสดงอาการหลอกลวงเราได้ร้อยแปดพันประการ เพื่อการดำเนินไปด้วยความสะดวกและราบรื่น จงถือเอาเรื่องดี เรื่องชั่ว และความเศร้าหมองผ่องใส เป็นต้น เป็นทางเดินของสติปัญญา จิตจะแสดงอาการอย่างใดขึ้นมา จงทราบ และทำ ความเข้าใจกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาทันที อย่าไปทำความเข้า ใจเอาเองว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่ควรไว้วางใจ และควรถือเป็นหลักยึดของใจ จะกลายเป็นความพลั้งเผลอและหลงยึดเอาสิ่งนั้น แล้วกลายเป็นสมมติจุดหนึ่งขึ้นมาให้เป็นเครื่องกดถ่วงใจโดยไม่รู้สึก เมื่อสิ่งที่เห็นว่าเป็นสิ่งถูกกับใจสลายตัวลงไป และสิ่งที่ไม่ชอบใจเข้ามากีดขวาง ใจก็จะแสดงความเสียใจขึ้นมา นั่นเป็นเรื่องเสริมสมุทัย ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก
           
           ดังนั้นเพื่อความรอบคอบต่อทางดำเนินของตน จงทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นด้วยดี ว่าเมื่อยังมีอารมณ์ดี ชั่ว และสุข ทุกข์ ปรากฏในวงปฏิบัติของจิต ก็แสดงว่าทางเดินของเรายังมีอยู่ ยังไม่ถึงที่สุดซึ่งควรจะหยุดการเดิน และจำต้องเดินตามสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าไม่ว่าดีว่าชั่ว และไม่ว่าจิตจะแสดงอาการใดๆ ออกมา ต้องตามรู้ตามเห็นด้วยการพิจารณา และถือจุดหรืออาการ นั้นๆ เป็นทางเดินของสติปัญญา โดยพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าได้นอนใจกับสิ่งใดๆ เมื่อสิ่งที่กล่าวมายังปรากฏอยู่กับ ใจมากน้อย ให้ถือว่าสิ่งที่ปรากฏนี้แล กำลังเป็นทางเดินของจิตและสติปัญญาอยู่เวลานี้ เรายังมีทางเดินต่อไปอีก ยังไม่สิ้นสุดทางเดินของเรา จนกว่าสติปัญญาจะรู้รอบคอบ และสิ่งทั้งหลายที่เคยปรากฏกับใจ ก็สลายตัวลงไปพร้อม ทั้งรากฐานของมันที่เป็นจุดของสมมติอันสำคัญ
           
           เมื่อทุกสิ่งที่เคยเป็นข้าศึกของใจสลายตัวลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว นั่นแลการเดินทางของจิต มีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นเพื่อนสอง ย่อมยุติลงเพียงเท่านั้น นั่นเชื่อว่าหมดทางเดินจริงๆ การหมดทางเดินจากสมมติ ดี ชั่ว นั่นแล ท่านเรียกว่า วิมุตติ เราจะไปหาวิมุตติที่ไหนกัน นอจากจะทำลายสมมติออกจากใจหมดแล้ว ก็เป็นวิมุตติขึ้นมาเท่านั้น ไม่มีที่ไหนเป็นวิมุตติตามความคาดหมายของใจ ซึ่งเป็นเจ้าอารมณ์
           
           คำว่า วิมุตติ กับนิพพาน นั่นเป็นไวพจน์ของกันและกัน คือใช้แทนกันได้ เช่นเดียวกับการกินกับการรับประทาน ซึ่งเป็นความหมายอันเดียวกัน พูดเพียงคำใดคำหนึ่ง โลกก็รู้ทั่วถึงกัน จิตที่เป็นวิมุตติของท่านผู้หลุดพ้นเพราะกำลังความเพียร จะย้อนกลับเห็นคุณค่าของความเพียรที่พาตะเกียกตะกายและล้มลุกคลุกคลานจนถึงแดน เกษมในปัจจุบันอย่างเต็มที่ และเห็นโทษแห่งความเกียจคร้าน และความโง่เขลา ที่พาให้ซบเซาเหงาหงอย เพราะความบีบบังคับของกิเลสบาปธรรมซึ่งเป็นเจ้าครองใจ ไม่มีเวลาปลดแอกพอให้อยู่สบายสักเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน
           
           นี่แล การดำเนินตามแบบ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นสรณะ ย่อมมีจุดจบที่เป็นที่หวัง ดังที่อธิบายมา
           
           (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา
           เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๘)

           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)


    • Update : 29/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch