หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-บึงฉวาก (๒)
    บึงฉวาก (๒)

                บนเส้นทางระหว่าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ไปยังอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๔๐ มีบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่มากกว่า ๒,๐๐๐ ไร่ บึงน้ำธรรมชาติที่กว้างใหญ่สุดสายตานี้ กลางบึงเต็มไปด้วยดอกบัวหลวงทั้งสีขาว และสีชมภู และพอระหว่างเดือนกันยายน ยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จะมองเห็นเป็ดแดงฝูงใหญ่ ลอยตัวจับกลุ่มอยู่ตามกอบัว
                บึงธรรมชาติบึงนี้คือ บึงฉวาก ซึ่งในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ชาวสุพรรณที่นิยมไปท่องเที่ยวกัน แต่นักท่องเที่ยวจะมาจากทุกสารทิศ อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว มาเที่ยว มาชม มากินอาหารอร่อย
                บึงฉวาก ได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยเริ่มต้นจากความริเริ่มของ นายจรินทร์ กาญจโนมัย ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้เข้ามาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่รอบบึง เพราะเห็นว่าบึงฉวากมีธรรมชาติที่งดงาม มีนกน้ำจำนวนมากอาศัยอยู่ จึงได้ประสานงานไปยังกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยได้ประกาศมาตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๖ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก จึงได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อครอบคลุมพื้นที่ ๓.๒ ตารางกิโลเมตร บึงฉวากรับน้ำจากคลองและทุ่งนา ใกล้ ๆ จึงมีตะกอนโคลนไหลเข้ามาทำให้บึงตื้นเขิน นานไปพืชน้ำก็ขึ้นรก เกิดน้ำเน่าเสีย ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๗ "นายบรรหาร ศิลปอาชา" จึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำโครงการพัฒนาบึงฉวาก เฉลิมพระเกียรติ์  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จึงได้มีการขุดลอกบึงให้กักเก็บน้ำไว้ได้มากถึง ๑๐ ล้านลูกบาศ์กเมตร สามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้มากถึง ๖,๕๐๐ ไร่ และพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่าง ๆ คือ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า กรมปศุสัตว์ อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพ และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น
                เมื่อบึงฉวากได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแล้ว ก็สามารถคุ้มครองสัตว์ป่า และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ในพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ไร่  นี้ไว้ และการที่ทั่วบึงฉวากมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ในบึง บึงฉวากจึงถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ ( RAMSAR CONVENTION) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑
                เส้นทาง  การเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปยังบึงฉวาก ผมเดินทางไปจากบ้านลาดพร้าว ไปผ่านสี่แยกเกษตรศาสตร์ แล้วต่อไปตามถนนวงศ์วาน เรื่อยไปจนข้ามสะพานพระนั่งเกล้า ต่อไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ไปจนชนกับถนนสายบางบัวทอง - สุพรรณบุรี ก็เลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานไป) จากนั้นก็จะไปพบสามแยก เราไปทางกึ่งซ้าย (กึ่งขวา ไปบางปะอิน) เข้าถนนสาย ๓๔๐ ซึ่งถนนสายนี้จะไปยังสุพรรณบุรี และเลยไปจนถึง อ.หันคา จ.ชัยนาท ได้ เส้นทางก็จะผ่านตัวจังหวัดสุพรรณบุรี วันไปยังไม่ได้แวะเข้าไปแต่วันกลับเลี้ยวเข้าไป เพื่อไปนมัสการหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี จากทางแยกเข้าตัวเมืองสุพรรณบุรีก็ไปผ่าน แยกเข้าอำเภอศรีประจันต์ที่จะต่อไปยัง อำเภอดอนเจดีย์ได้ ต่อจากนั้นพอถึงหลัก กม.ที่ ๑๒๘ ทางซ้ายคือ ร้านอาหารที่เขียนคำว่า คลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์ ซึ่งได้พามาชิมกุ้งทอดเกลือแล้ว เลยต่อไปอีก ๒ กม. พอถึง กม.๑๓๐ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังอำเภอสามชุก ไปตลาดร้อยปี แต่คราวนี้เราจะไปบึงฉวาก ก็ตรงต่อไปจากสามชุกไปอีกประมาณ ๑๓ กม. ตรง กม.๑๔๓ จะมีทางแยกซ้ายไปยังอำเภอด่านช้าง ที่มีอ่างเก็บน้ำกระเสียว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของสุพรรณบุรี เลยแยกนี้ก็จะผ่านที่ว่าการอำเภอเดิมบางนางบวช พอถึง กม.๑๔๗.๘ มีทางแยกซ้าย มีป้ายบอกไปบึงฉวาก การไปบึงฉวากนั้น ไม่ต้องกลัวหลงทาง รับรองว่าขอให้ไปตามถนนสาย ๓๔๐ ตรงแน่วเรื่อยไปพอใกล้จะถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ว่าใกล้ก็หลายสิบกิโลเมตร จะพบป้ายบอกทางไปบึงฉวาก เฉลิมพระเกียรติไปตลอดทาง เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าตรงเส้นทางแยก กม.๑๔๗.๘ แล้ว ก็ตามป้ายไปเรื่อย เลี้ยวขวาที ซ้ายที พอผ่านแผงขายปลาแห้ง ปลาสลิดซึ่งปลาสลิดดอนกำยาน เมืองสุพรรณนั้นมีชื่อเสียงดังพอ ๆ กับปลาช่อนแม่ลา เมืองสิงห์บุรี เลยจากแผงขายปลาแห้ง ปลาเค็มไปสัก ๒ กม. ก็เลี้ยวขวาผ่านประตู มีป้ายบึงฉวากใหญ่โตเลยทีเดียว จากนั้นก็วิ่งเลาะขอบบึงไปเรื่อย ๆ ทางซ้ายคือ บึงฉวากที่มีพื้นที่ในน้ำประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ พื้นที่บนพื้นดินอีกประมาณ ๕๐๐ ไร่เศษ ทางฝั่งขวาของถนนคือ ร้านอาหารอยู่ติด ๆ กันไป พอผ่านประตูเข้าบึงฉวากไปแล้ว ก็พบร้านมีป้าย คลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อยติดอยู่ด้วยคือ ร้านแม่ลาปลาเผา ที่ผมนั่งอยู่นี่ กับเลยไปอีกร้านหนึ่งชื่อร้านครัวแม่ลาปลาเผา ผมก็บอกกับหนุ่มว่าจะมาสั่งอาหาร จองเอาไว้ก่อนอีกสักเดือนจะยกคณะมาชิม เขาก็บอกว่าให้ไปที่ร้านครัวแม่ลา เพราะร้านใหม่กว่า สถานที่ดีกว่า มีป้ายคลีน ฟู๊ด ฯ เช่นเดียวกันและห้องสุขาได้มาตรฐาน เขารีบเน้นห้องสุขา เพราะรู้ว่าผมสนับสนุนเรื่องให้ร้านอาหารมีห้องสุขาเป็นสากล เพื่อสงเคราะห์คนพิการ คนสูงอายุ คนอ้วนและชาวต่างประเทศ (กระทรวงสาธารณะสุขเพิ่มหญิงมีครรภ์ ผมรวมไว้กับคนอ้วน) ก็ดีใจที่มีส่วนช่วยให้กิจการเขารุ่งเรือง และเชื่อว่ามีอีกหลายร้อยร้านที่กิจการขยายออกไปจากเดิม เมื่อเราไปเขียนชักชวนให้มาชิมกัน และผมไม่เคยไปขอหรือไปรับทรัพย์จากร้านอาหารร้านใด หรือไปกินฟรีแม้แต่ครั้งเดียว จึงเชื่อในคุณภาพของร้านอาหารที่พาไปชิมได้ ส่วนจะอร่อยสุด ๆ หรือไม่นั้นก็ต้องยกให้ผมบ้าง เพราะบางทีเรดาร์เจาะพลาด แต่ก็อร่อย อาจจะไม่อร่อยที่สุดของย่านนั้นหรือเมืองนั้น เมื่อสั่งอาหารกันแล้วก็ไปเที่ยวบึงฉวากได้ อาหารที่สั่งมานั้นจะขาดไม่ได้เลยทีเดียวคือ ปลาเผา สะเดาฟาดไฟ ห่อหมก แกงคั่วหอยขม
                แหล่งท่องเที่ยว  บึงฉวากแบ่งแหล่งท่องเที่ยวออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ ได้ ๓๒ ส่วนคือ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา สำรวจค้นคว้าวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่า มีอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่นเสือโคร่ง จระเข้ นกยูง ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังขาว กวางป่า ชะมดเช็ด กบทูดและงูหลาม มีกรงขนาดใหญ่ ตกแต่งให้คลายธรรมชาติ มีนกอยู่รวมกันมากกว่า ๓๐ ชนิด เช่น นกยูง นกแว่นสีเทา ไก่ป่า ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกแก้วโมง นกกระตั้ว เป็ดก่า เป็ดแดง นกกระเรียน นกกาบบัว เป็นต้น มีกรงเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายากเช่นกรงเสือ กรงสิงโต กรงนกน้ำ กรงไก่ฟ้า และกรงสัตว์ปีก มีคอกสัตว์ เช่น กวางป่า เก้ง เนื้อทราย ละอง ละมั่ง รวมทั้งอูฐและม้าลาย
                การท่องเที่ยวทุกจุดในบึงฉวาก โดยพาหนะส่วนตัว โดยเฉพาะในวันหยุดที่จอดรถมักจะเต็มแทบทุกจุดการท่องเที่ยว ทางบึงฉวากจึงมีรถพ่วงบริการนักท่องเที่ยว จ่ายเงินคนละ ๒๐ บาท ไปได้ทุกจุดท่องเที่ยว ขึ้นลงได้ทุกจุด และยังมีเฉพาะที่อุทยานผัก ฯ อีกต่างหาก จากสวนสัตว์ต่อไปยังอุทยานผักพื้นบ้าน ฯ ได้รวบรวมผักพื้นบ้านไทยจากพื้นบ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อมุ่งให้ประชาชนได้ศึกษาการปลูก การขยายพันธ์ ทั้งประเภทไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาเลื้อย ไม้น้ำ ไม้ล้มลุก ไม้ชื้นแฉะ และไม้หัวเหง้า เมื่อไปถึงวอุทยานผักพื้นบ้านเข้าไปในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ผ่านเข้าไปทางด้านซ้ายเป็นที่จอดรถที่วิ่งเฉพาะในอุทยาน ฯ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒๖ ไร่ และมีพืชผักประมาณ ๕๐๐ ชนิด แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๘ โซน เป็นผักกินได้ ประมาณ ๙๘  มีรถพาวิ่งชม พร้มทั้งมีไกด์สาวน้อยคอยบรรยาย รถพาชมคนละ ๕ บาท ชมเฉพาะในอุทยาน ฯ ขืนเดินชมเอง หากไม่มีความอดทนเพียงวพอแล้วละก็อย่าเสี่ยงจะดีกว่า ขาจะลากไปต่อไม่ไหว แดดร้อนด้วย ไปกับรถฟังเขาบรรยายเย็นสบาย ครบรอบแล้วสนใจตรงไหนเป็นพิเศษก็เดินเจาะไปชมเป็นจุด ๆ ไป มีโซนไม้ศักดิ์สิทธิ์ โซนตระกูลส้ม โซนตระกูลมะ เช่น มะม่วงเบา มะตูม การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ตระกูลกล้วยต่าง ๆ ที่ชอบใจคือพืชไม้เลื้อยคือ น้ำเต้า บอกว่ามี ๑๕ ชนิด แต่ที่อุทยานแห่งนี้รวมเอามาปลูกไว้เพียง ๙ ชนิด ปลูกในกระถางบำรุงดิน ออกลูกสวยทีเดียว ทำเป็นซุ้มเอาไว้ก็มี สนใจด้านนอกใกล้ ๆ ที่รถจอดมีซุ้มขายเครื่องดื่ม ขายหนังสือ ขายเมล็ดพันธ์น้ำเต้าด้วย พันธ์ฟักข้าวก็มี ข้อเสียคือเมล็ดเก่าเก็บนานไป ไม่หมุนเวียนเลยทำให้เพาะยาก หรือผมจะเพาะไม่เป็นก็ไม่ทราบ ขายซองละ ๑๐ บาท ซื้อทั้งชุด ๑๕๐ บาท และฝั่งตรงข้ามซุ้มมีผักสดขายน่ากิน ตอนทางเข้ามาทางขวามือมีแผงขายผัก ขายต้นไม้ เช่นต้นฟักข้าวต้นละ ๒๐ บาท ต้นผักหวานป่า ต้นมะละกอ ฯ ล้วนแต่ราคาย่อมเยาทั้งนั้น อย่างแพงคือ ๒๐ บาท ส่วนชื่อผักในอุทยานนั้นชื่อประหลาด ๆ ก็มี เช่นผักพ่อค้าตีเมีย บอกว่าหากทำสุกแล้วรสชาติจะเหมือนกับผักสด ผัวเมียเลยแย่งกันกิน เมียลืมชู้ก็มี สาวไกด์บรรยายประวัติให้ฟังด้วย นอกจากนี้ยังมีไม้ประจำจังหวัดต่าง ๆ เช่นชุมพร สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ฯ
                สถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำ  อยู่เลยอุทยานผัก ฯ ไป มองจากอุทยานผักจะเห็นน้ำในบึงที่ใสสอาด เห็นทางเดินเลียบขอบบึงที่กั้นหลังคาเอาไว้ให้เดิน มีท่าจอดให้เช่าจักรยานน้ำไปถีบเล่นในบึงได้ เมื่อถึงสถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำ ต้องเสียค่าเข้าชมคนละ ๓๐ บาท แต่เข้าชมได้ทั้งในอาคารสัตว์น้ำทั้ง ๒ อาคาร และบ่อจระเข้น้ำจืด รวมทั้งการแสดงการจับจระเข้ที่แสดงเป็นรอบ วันที่ผมไปได้ชมรอบบ่าย ๑๔.๐๐ ในอาคารหลังที่ ๑ มีตู้ปลาขนาดใหญ่ ๑ ตู้ และขนาด ๓ ลบม.อีก ๒๔ ตู้ อาคารหลังที่ ๒ มีตู้ปลาขนาด ๔๐๐ ลบม. ๑ ตู้ มีอุโมงค์ลอดใต้ตู้ชมปลาว่ายอยู่บนหัวเราได้แต่อุโมงค์สั้นไปหน่อยคือยาวเพียง ๘.๕ เมตรเท่านั้น มีตู้ปลาน้ำจืดอีก ๓๐ ตู้ ส่วนตู้ปลาน้ำเค็มอยู่ในอาคารหลังแรก พันธ์ปลาทั้งไทยและเทศ ประมาณ ๑๑๐ ชนิด ปลาที่น่าสนใจเช่นปลาบึก เป็นพันธ์ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาช่อนงูเห่า ความจริงชื่อน่ากลัวแต่ไม่มีพิษ ปลากะโห้เป็นปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก ปลาม้าที่ชุกชุมที่สุดในสุพรรณบุรีจนตั้งชื่อเป็นอำเภอคือ อำเภอบางปลาม้า ปลาตาบอด ปลากลับหัว ปลาไหลไฟฟ้า เมืองไทยไม่มีแต่เขานำมาจากอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ ชมปลาในตู้ที่ตั้งอยู่ในห้องแอร์จนอิ่มตา อิ่มใจแล้วเดินออกไปชมจระเข้ สงสัยเวลาแสดง โทร ๐๑๙๔๘ ๙๒๑๔
                ครัวแม่ลา อยู่ทางขวาของเส้นทางเข้ามาตรงข้ามกับกรงนกยูง วิ่งเข้ามาเรื่อย ๆ มองทางขวาเอาไว้ก็จะพบเอง อาหาร ต้องสั่งคือปลาช่อนเผา สะเดาฟาดไฟ แปลกตรงนี้ตรงที่ไม่ได้เอาสะเดาไปลวก แต่เอาไปย่างไฟ เขาเรียกของเขาว่าสะเดาฟาดไฟ ปลาช่อนเผาแล้วใส่จานปลา แต่เขามีวิธีแกะหนังปลาออกไม่เหมือนใคร แกะแล้วหนังปลาจะกางออกเหมือนเป็นจานรองเนื้อปลาที่ขาวจั๊วะ ต้องจิ้มน้ำปลาหวาน เด็ดใบสะเดา วางปลาเผาราดด้วยน้ำปลาหวาน ระวังไปหลายคนปลาตัวเดียวจะแย่งกัน ให้สะใจ ๒ คนต่อ ๑ ตัวแหละดี
                แกงคั่วหอยขม ไม่ลำบากในการแกะเนื้อหอยจากตัวหอย เขาแกะมาให้เสร็จ น้ำแกงเข้มข้น คลุกข้าวอร่อยนัก
                ปลาคังลวก จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ ทอดมันชิ้นโต เข้าเอกลักษณ์ของผมคือ เหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ ยังไม่จบมาเมืองปลา แกงป่าปลาเนื้ออ่อนซดก็ดี ราดข้าวก็ได้ ร้านนี้ไม่มีของหวานจะกิน ของหวานไปหน้าทางเข้าสถานแสงพันธุ์สัตว์น้ำ "เฉาก๊วยชากังราว" ตั้งขายอยู่ที่นี่แต่ถอดป้ายเที่ยวไป กินไปออกแล้ว
                รีสอร์ท ที่แห่งธรรมชาติโอบขุนเขา จากบึงฉวากย้อนกลับออกมา แต่ไม่ได้กลับไปออกสาย ๓๔๐ ออกก่อนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ก็เลี้ยวขวาวิ่งเลาะขอบบึง ไปจนกระทั่งถนนสายนี้ไปบรรจบกับถนนสายที่มาจากสี่แยก ที่หากเลี้ยวซ้ายก็ไปอำเภอเดิมบางนางบวช เราก็เลี้ยวขวามาตามถนนสาย ๓๓๕๐ มุ่งหน้าไปทางด่านช้าง เดิมจะไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำกระเสียวที่ด่านช้างด้วย แต่วันที่ไปกำลังแล้งน้ำในอ่างมีน้อย จึงไม่สวย ไม่เป็นทะเลสาบเหมือนบึงฉวาก มาตามสาย ๓๓๕๐ ได้สัก ๑๓ กม. จะมีถนนแยกซ้ายเลี้ยวซ้ายไป ๓๐ กม. ตามถนนสาย ๓๔๙๖ จะบรรจบกับถนนสาย ๓๐๓๘ ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างอำเภอดอนเจดีย์ ที่ตั้ง "ราชานุสาวรีย์ ยุทธหัตถี" เมื่อบรรจบแล้ว หากเลี้ยวซ้ายไป ๓ กม.  ก็จะถึงดอนเจดีย์ แต่เรายังไม่ไปดอนเจดีย์ จึงเลี้ยวขวา วิ่งไปจนบรรจบกับถนนสาย ๓๓๓ ที่บ้านกระแสโสม ถนน ๓๓๓ คือ ถนนที่มาจากอำเภอด่านช้าง ไปได้จนถึงอำเภออู่ทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๓๓ วิ่งไปจนถึงหลัก กม. ๒๐ จะเห็นป้ายรีสอร์ท และป้ายวัดทุ่งดินดำ ถึงสามแยกก็เลี้ยวขวาไปทางอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี รีสอร์ทอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แต่ห่างจากตัวอำเภอเลาขวัญสัก ๒ กม. และห่างจากเขตเลาขวัญไม่กี่ร้อยเมตร นับว่าแปลกที่รีสอร์ทแห่งนี้ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ใกล้เคียงเลย แต่กล้ามาสร้างรีสอร์ท ที่มีอาหารดี ที่พักดี ได้รับป้าย คลีนฟู๊ด กู๊ด เทสท์ ด้วยและอาหารก็อร่อยจริง ราคาไม่แพง สถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้เคียง ก็ห่างออกไปนับสิบ กม. คือ ดอนเจดีย์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว บึงฉวาก และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง ที่มีค่าควรแก่การไปชมอย่างยิ่ง เมื่อเลี้ยวขวาวิ่งมา ๖ กม. ก็จะเห็นประตูทางเข้ารีสอร์ทอยู่ทางซ้าย เลี้ยวเข้าไปแล้ว วิ่งตรงไปชนสำนักงานและที่พักได้เลย ที่พักดีมากไม่แพง คณะผมพักราคาห้องละ ๕๐๐ บาท อยู่ชั้นล่างของสำนักงาน รีสอร์ทแห่งนี้อยู่ได้ เพราะอาหารดี ที่พักดี ไม่แพง บริเวณร่มรื่น ไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยที่ปลูกขึ้นเอง ที่ อ.เลาขวัญนั้น ได้ชื่อว่ามีความแห้งแล้ง แต่ที่บริเวณรีสอร์ทนี้ ในเขตอู่ทองกลับชุ่มชื้น เขาบอกว่ามีน้ำซับ ทำให้ต้นไม้ขึ้นงอกงาม มีสนามกอล์ฟเข้าใจว่าคงจะสัก ๓ หลุม ไม่ได้เดินไปดู ร่มเย็นจริง ๆ ที่พักใต้สำนักงานมีสัก ๑๐ ห้อง แต่มีเรือนพักที่ปลูกแยกออกไปอีกต่างหาก ห้องขนาดเล็กกว่า ถามว่าแขกมากไหม เขาบอกว่าพออยู่ได้ เพราะหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งข้าราชการนิยมมาจัดสัมมนากันที่นี่ เรียกว่าจัดที่นี่ตกกลางคืนอยู่กันพร้อมแน่ ไม่รู้ว่าจะหนีไปเที่ยวที่ไหน คำขวัญของรีสอร์ทคือ "ดินดำ น้ำใส เขาสวย อากาศดี" เป็นคำขวัญที่ตรงกับความจริงไม่ต้องอธิบาย ยิ่งยามเช้าอากาศดีจริง ๆ กลางคืนตกดึกแทบจะไม่ต้องเปิดแอร์ เพราะอากาศเย็นสบาย หากฤดูหนาวคงจะหนาว เพราะผมไปพักกันตอนต้นฝน แต่ฝนยังไม่ตก อากาศยังเย็น อาหารมีทั้งมื้อเช้า และมื้อเย็น มื้อกลางวันก็มี แต่เรากินของเขา ๒ มื้อ เช้าเย็น เท่านั้น จะนั่งกินกันที่ระเบียงก็ได้ สั่งอาหารมาชิมคือ ปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย ทอดเก่ง น่ากินมาก ปลาตัวโต ยกมาก็ได้กลิ่นอร่อยนำทางมาเลยทีเดียว
                ยำสามกรอบ นักดื่มชอบมาก พอ ๆ กับปลาคังลวกจิ้ม ผัดเผ็ดหมูป่า หมูป่าแท้แน่นอน เคี้ยวสนุก เพราะหนังกรุ๊บ ๆ ยังมีอีก ยอดมะพร้าวผัดกับกุ้ง และมาสุพรรณในวันหนึ่ง กินอาหาร ๓ มื้อ ต้องมีปลาม้า ปลาดังเมืองสุพรรณ ให้ได้อย่างน้อยสักมื้อ มื้อนี้สั่ง ต้มยำปลาม้า เนื้อปลาอร่อยนัก ซดน้ำแกงต้มยำร้อน ๆ ชื่นใจ ของหวานไม่มี ปิดท้ายด้วยผลไม้
                อาหารเช้ามาเป็นชุด เป็นชุดข้าวต้มพุ้ย กับข้าวมีหลายอย่าง เช่น ไข่เจียวเจ้าเก่า ยำเกี๊ยมฉ่าย ยำไข่เค็ม หมูทอด ฯ แล้วปิดท้ายด้วยกาแฟ ชา โอวัลติน
                ที่รีสอร์ทแห่งนี้มีเฟอร์นิเจอร์ ทำด้วยรากไม้แดง ไม้มะค่า สวยมากจำหน่ายด้วย รวมทั้งไม้กวาด ขนซื้อกันมาคือ ไม้กวาดท่าทางคุณภาพดี

    ...............................................................



                    จบรายการทัวร์คณะใหญ่ด้วยการไปตลาดร้อยปี ที่อำเภอสามชุก ไปเที่ยวบึงฉวาก กินปลาช่อนเผาสะเดาฟาดไฟ ไปรีสอร์ท กินปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย มาสักการะมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทย ที่ดอนเจดีย์ หากมีเวลาขอแนะว่า ตอนไปจากดอนเจดีย์เพื่อจะไปยังอำเภอศรีประจันต์นั้น  ๖ กม. จากดอนเจดีย์เลี้ยวซ้ายไปหน่อย มีป้ายนำคือ  "วัดลาดสิงห์" บริเวณวัดนี้คือ ที่ตั้งทัพทางปีกขวาของกองทัพสมเด็จพระนเรศวร ปีกซ้ายคือ บริเวณหนองสาหร่าย ที่เวลานี่ไม่มีอะไรให้ชม นอกจากทุ่งนา แต่ที่วัดลาดสิงห์มีพระบรมรูป ๓ พระองค์ และโบสถ์เก่าแก่ รวมทั้งพระประธานศักดิ์สิทธิ์ ให้เคารพบูชาด้วยน่าไปแวะ เลยมาถึงศรีประจันต์ก่อนข้ามแม่น้ำ ทางแยกขวาเข้าวัดบ้านกร่าง บริเวณวัดคือ ที่พักทัพของสมเด็จพระนเรศวร หลังจากได้ชัยชนะแล้ว ก่อนยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา มาพักทัพที่ริมแม่น้ำท่าจีน ตรงริมน้ำวัดบ้านกร่างและได้สร้าง พระขุนแผนขึ้นไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง ที่เป็นพระเครื่องที่ดังมาจนถึงทุกวันนี้

                    พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เป็นของวัดดอนเจดีย์ อยู่ห่างออกไปจากราชานุสาวรีย์ประมาณ ๓๐๐ เมตร ภายในพระตำหนัก มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ประทับนั่งคู่กัน และอีกด้านหนึ่งมีพระพี่นางสุพรรณกัลยา ประทับยืน มีวัตถุมงคลให้เช่า และทางวัดกำลังจะสร้างวิหารมีพานวางพระผงสุพรรณไว้ บอกว่าใครทำบุญร้อยบาท หยิบพระผงสุพรรณไปได้หนึ่งองค์ ผมไปทีไรก็ทำบุญหยอดตู้ร้อยบาท หยิบพระมาหนึ่งองค์ แม้จะเป็นพระสร้างใหม่ แต่ผงสุพรรณแท้แน่นอน ด้านหน้าพระตำหนัก มีห้องจำหน่ายวัตถุมงคล และน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์

                    ดอนเจดีย์  คือ ที่ตั้งของราชานุสาวรีย์ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ชนช้างกับพระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ เวลานี้ทราบว่ามีการพิจารณาจะเปลี่ยนแปลง วันทรงกระทำยุทธหัตถีจาก ๒๕ มกราคม มาเป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ซึ่งผมไม่มราบข้อเท็จจริง ไม่กล้าออกความเห็นอะไร ไม่เหมือนกับสถานที่สวรรคต ของสมเด็จพระนเรศวร บอกว่าที่เมืองหาง แต่ผมกลับเห็นด้วยกับฝ่ายที่บอกว่า เสด็จสวรรคตที่อำเภอเวียงแหง เชียงใหม่ มากกว่า รวมทั้งการยกทัพจากเชียงดาว ข้ามเขาไปเป็นระยะทางในปัจจุบัน ๕๔ กม. ไม่มีแหล่งน้ำ ผมเชื่อว่ายกไปจากเมืองคงเลาะลำน้ำแม่แตงไปมากกว่า กองทัพกำลังพลเป็นแสนขาดน้ำไม่ได้ ส่วนวันที่เปลี่ยนเป็น ๑๘ มกราคม นั้นจะถูกต้องหรือไม่ ไม่ขอวิจารณ์เพราะในประวัติศาสตร์ ย่อมไม่มีวันที่ มีแต่เดือนไทย ขึ้น/แรม เท่านั้น
                    เมื่อกระทำยุทธหัตถี ได้ชัยชนะแล้วโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นไว้ และมาค้นพบในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยืนยันว่าใช่แน่ เมื่อกราบบังคลทูลแล้ว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จมาบวงสรวง มาเคารพราชานุสาวรีย์แห่งนี้แล้ว ก็ไปที่องค์พระสถูปเจดีย์ที่อยู่ด้านหลัง ภายในมีพระสถูปเจดีย์ดั้งเดิม ที่ยังเหลือซากอยู่ และสร้างครอบเอาไว้ ภายในมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับยืน มีภาพจิตรกรรมหลายภาพ แสดงพระประวัติของพระองค์ และจำลองการต่อสู้ ซึ่งภาษาทหารเรียกว่า "โต๊ะทราย" จำลองภาพสนามยุทธเอาไว้ให้ชม

    • Update : 29/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch