หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-คลองบางกอกน้อย
    เที่ยวคลองบางกอกน้อย

               ผมไปล่องเรือในคลองบางกอกน้อยมาครับ ไม่ได้นั่งเรือในคลองนี้นานเต็มที นั่งมาตั้งแต่สมัยที่เขายังไมีมีเรือทัวร์หรือเรือที่จัดอาหารลงไปกินกันในเรือ ยิ่ง คลองบางหลวงคงจะนานเกินสี่สิบปีมาแล้ว ที่ไม่ได้นั่งเรือในคลองบางหลวงเลย สมัยก่อนคุณปู่ คุณย่า ของผมท่านเป็นชาวสวนบางขุนเทียน ตำบลคุ้งเผาถ่าน อยู่ตรงข้ามกับ วัดใหม่ยายนุ้ย (ให้ผมไปเดี๋ยวนี้ผมไปไม่ถูก หากให้ไปทางรถยนต์) เวลาจะไปบ้านสวนของคุณปู่ก็ลงเรือที่ท่าน้ำ ตลาดพลู แล้วเรือจะไปวิ่งเลี้ยวเข้า คลองบางขุนเทียน ไปขึ้นท่าน้ำสวนคุณปู่ได้เลย หรือจะเดินลัดเลาะไปตามสวนชาวบ้านก็ไปได้ แต่ให้ไปเดี๋ยวนี้ไปไม่ถูก เว้นไปทางน้ำนั่งเรือในคลองบางหลวงแล้วไปเข้าคลองบางขุนเทียนคงไปถูก ส่วนทางรถยนต์นึกไม่ออกว่าถนนสายไหนจะผ่านหลังวัดใหม่ยายนุ้ย
               ล่องเรือคลองบางกอกน้อย คราวนี้ได้ล่องเพราะตั้งใจจะไปกินอาหารที่เคยชิมกันมานานหลายปีแล้ว ตอนนี้เขามีอาหารประเภทเมนูสุขภาพ ที่กรมอนามัยออกประกาศนียบัตรรับรองให้ได้แก่ แกงเลียงกุ้งสด ผัดผักสุขภาพ กุ้งนางยำตะไคร้ แกงป่าไก่ กรือแกงป่ากระชายดำ ปลากระพงผัดพริกไทยดำ ยำมะระกุ้งสด เลยอยากไปทดลองชิมเมนูสุขภาพ แต่ปรากฎว่าไปเข้าจริงไม่ค่อยได้สั่งอาหารเมนูสุขภาพสักเท่าไร เพราะมีรายการอาหารที่ยั่วตายั่วใจมากมายหลายชนิด
               ตั้งแต่เดือนตุลาคม ร้านที่บางกอกน้อยนี้เขาจัดเรือนำเที่ยวบางกอกน้อย  ในวันอาทิตย์ เวลา ๑๖.๐๐ มีสัปดาห์ละเที่ยวเดียว ไม่เก็บสตางค์ ผมไปในช่วงนี้พอดี แต่พอหลังจากวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป เขาจัดเรือล่องคลบองบางกอกน้อยเช่นเดิม แต่คราวนี้เขาเก็บสตางค์คนละ ๓๐ บาท ลงเรือเวลา ๑๖.๐๐ และกลับขึ้นบกประมาณ ๑๗.๐๐ เศษ ๆ จะสั่งอาหารลงไปนั่งกินในเรือก็ได้เพราะในเรือจัดเป้นแบบมีโต๊ะอาหาร ส่วนเครื่องดื่มในเรือมีจำหน่าย อาหารต้องสั่งลงไปและหากไม่สั่งอาหารลงไปกินในเรือจะสั่งอาหารเอาไว้ก่อน พอขึ้นจากเรือก็้กินได้เลย ราคาอาหารในเรือเป็นราคาปกติ ผมสั่งกะทงทองกับทอดมันกุ้งลงไปชิมกันในเรือ กะทงทองนั้นหลานไปด้วย หลานชอบมาก เขาบอกเลยว่าคุณปู่ต้องสั่งกะทงทองให้เขานะ เพราะเขาเคยกินเคยชิมมาแล้ว
               เส้นทางไปร้าน เพื่อไปลงเรือล่องคลองบางกอกน้อย และไปกินอาหารมื้อเย็น ร้านนี้หากเป็นวันธรรมดาเขาเปิด ๑๔.๐๐ ตอนเที่ยวงไม่เปิด หากเป็นวันหยุดเปิดตั้งแต่เที่ยงไปยันดึก ที่นั่งกินอาหารนั้นแจ่มแจ๋วมาก คือมีระเบียงกว้างขวางอยู่ริมคอลงบางกอกน้อย หากเต็มหรือไม่อยากนั่งกลางแจ้งก็มีห้องแอร์ให้นั่ง แต่หากเป็นยามเย็นผมชอบนั่งริมน้ำที่ระเบียงและจะจองเขาไว้ก่อน จองที่นั่งในเรือและจองโต๊ะอาหาร นั่งที่ระเบียงหากหันหนเาออกสู่คลอง หากมองไปทางขวาจะเห็นสะพานรถไฟ เห็นรถไฟวิ่งข้ามคลอง มองมาทางซ้ายจะเห็นสะพานรถยนต์ข้ามคลองสะพานของถนนไปพุทธมณฑล มองเห็นรถยนต์วิ่ง แต่หกามองตรงหน้าจากโต๊ะอาหารก็จะมองเห็นเรือวิ่งผ่านหน้าสนุกดี
               เส้นทาง บอกเส้นทางง่ายที่สุดคือไปข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า เมื่อข้ามแล้วก็ตรงดิ่งผ่านสี่แยกผ่านไปจนชนสามแยก ที่ตรงนี้หากเลี้ยวขวาจะไปทางบางพลัด หากเลี้ยวซ้ายและชิดซ้ายจะผ่านหน้าสถานีขนส่งสายใต้ เมื่อผ่านสถานีขนส่งสายใต้แล้ว ถนนจะบังคับให้กลับรถมาก็จะมองเห็นป้ายร้าน จะเห็นทางเข้าสู่อู่รถเบนซ์ ใให้เลี้ยวซ้ายเข้าตรงอู่ตามป้ายไป แล้วเลี้ยวซ้ายอีกที ทีนี้วิ่งชนร้านริมน้ำเลย
               สูตรไปร้านของทางร้านเขาบอกว่า "เยื้องขนส่งสายใต้ใหม่ ติดคลองบางกอกน้อย"
               การไปล่องเรือในลำ คลองบางกอกน้อย และเรือจะเลยออกไปยัง แม่น้ำเจ้าพระยา ไปชม สะพานพระราม ๘ และอาจจะเลยไป วัดอรุณราชวราราม ไป วัดระฆังโฆสิตาราม แต่วันที่ผมล่องเรือนี้เรือไม่ได้ออกไปเพราะน้ำขึ้นสูงทำให้ลอดใต้สะพานข้ามถนนจรัลสนิทวงศ์ไม่ได้  ดังนั้นหากไปเต็มที่ของเขาจะผ่านพระอารามหลวงถึง ๔ วัดด้วยกัน และพระอารามหลวงนั้นเข้าใจยาก ผมเองเมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจต้องไปหาหนังสือมาอ่านจึงเข้าใจว่าการแบ่งประเภท ชนิดของพระอารามหลวงเป็นอย่างไร จึงถือโอกาสเอามาเล่าให้ฟังด้วย เวลาผมกล่าววถึงพระอารามหลวงในคลองบางกอกน้อยและวัดริมแม่น้ำที่เรือผ่านวันนี้จะได้เข้าใจ
               วัดหลวงหรือพระอารามหลวง  หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ขึ้นหรือวัดที่สามัญชนสร้างขึ้น สร้างแล้วทูลเกล้าถวายเป็นพระอารามหลวง แล้วทรงรับไว้ก็จะมีฐานะเป็นพระอารามหลวง
               วัดราษฎร์หรืออารามราษฎร์  หมายถึง วัดที่ราษฎรได้สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งอาจจะได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริญ์ทรงเห็นสมควรและมีพระบรมราชานุญาต
               พระอารามหลวงกับอารามราษฎร  แตกต่างกันชัดเจน ที่วัดหลวงจะอยู่ในความควบคุมดูแลของภาครัฐบาลตลอดไป โดยมี เจ้าอาวาสเป็นพระที่มีสมณศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระราชาคณะ หรือพระครูที่มีเกียรติยิ่งกว่าอธิการ  พระอารามหลวงจะได้รับกฐินพระราชทานกฐินหลวงทุกปี ประชาชนจะไปทอดแทนไม่ได้ นอกเสียจากได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น โดยปกติพระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานให้ ส่วนราชการต่าง ๆ นำไปทอดแทน และการเรียกขานนามในพระอารามหลวงนั้นจะมีคำว่า "พระ" นำหน้า ส่ววัดราษฎรจะใช้คำว่า พระ นำหน้าไม่ได้ เช่นพระอารามหลวงจะใช้ว่า พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ส่วนวัดราษฎรต้องใช้ว่า อุโบสถ วิหาร เจดีย์ ไม่มีคำว่าพระนำหน้า ซึ่งมักจะใช้กันผิดอยู่บ่อย ๆ ในกรณีที่วัดมิใช่พระอารามหลวง
               พระอารามหลวง แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ พระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นโท และ ชั้นตรี และแต่ละชนิดก็ยังแบ่งต่อไปอีก ดังนี้ คือ .-
               พระอารามหลวงชั้นเอก แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ชนิด ราชวรมหาวิหาร  ชนิด ราชวรวิหาร  และชนิด วรมหาวิหาร
               พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารทั้งประเทศไทยมีเพียง ๖ วัด คือ.-
               ในกรุงเทพ ฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธายตุยุวราชรังสฤษดิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม และ วัดอรุณราชวราราม  ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นถือว่าเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จึงไม่มีชนิดกำหนดไว้ ส่วนในต่างจังหวัดพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชบววรมหาวิหาร คงมีเพียง ๒ วัดคือ วัดพระพุทธบาท สระบุรี และ วัดประปฐมเจดีย์ นครปฐม
               พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งออกเป็น ๔ ระดับ คือ ชนิดราชวรมหาวิหาร ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรมหาวิหาร  และชนิดวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหารคือ วัดชนะสงครามและ วัดสระเกศ
               พระอารามหลวงชั้นตรี แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรวิหาร และชนิดสามัญ ที่ไม่มีสร้อยต่อท้ายชื่อวัด เช่น วัดสามพระยา เป็นต้น
               พระอรามหลวงสำรวจขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ ทั่วราชอาณาจักรจะมีอยู่ ๒๕๑ วัด และพระอารามหลวงนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ และแต่ละวัดหากจะขอยกฐานะจะต้องเป็นวัดที่สร้างมาแล้ว และตั้งเป็นวัดแล้วไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี
               เส้นทางล่องเรือ โดยเริ่มต้นจากท่าน้ำ ในวันนี้จะผ่านพระอารามหลวง ๔ วัด
               เมื่อเรือออกจากท่า เรือแล่นไปทางปากคลองคือแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางทิศตะวันออก ส่วนในเรือก็ยกกะทงทอง กรอบยนอก ไส้นุ่มรสเข้มมาเสริฟ พร้อมกับทอดมันกุ้งเหนียวหนึบทีเดียว มองภาพชีวิตสองฝั่งคลอง ยังได้เห็นภาพชีวิตเก่า ๆ ในยามเย็น ได้เห็นบ้านเก่าที่เป็นเรือนไม้ และอยู่ริมน้ำ ชนิดน่ากลัวจะตกน้ำแต่เรือนของเขาก็ตั้งอยู่ได้ เวลานี้น้ำขึ้นน้ำแทบจะท่วมหรือท่วมพื้นล่างของบ้าน มีทางเดินออกหลังบ้าน ออกซอยไปสู่ถนนใหญ่ได้ ฝั่งหนึ่งทางซ้ายคือออกถนนสิรินธร ส่วนฝั่งขวาออกถนนบางขุนนนท์ ภาพชีวิตเก่าที่ได้เห็นอีกภาพคือยังมีทั้งสาว ทั้งที่มีลูกมาเล่นน้ำ "โดยนุ่งผ้ากระโจมอก" เปลือยไหล่ หาชมยากนักในสมัยนี้ เพราะเป็นการอาบน้ำในคลอง แถมบางบ้านเอาลูกเล็กมาเล่นน้ำด้วยน่าดูจริง ๆ อย่าไปคิดในแง่อคติ ภาพเหล่านี้เมื่อก่อนก็คงกว่า ๕๐ ปี มาแล้ว มีให้ชมถมไป เป็นภาพชีวิตธรรมดาของคนบ้านริมน้ำและไม่มีห้องอาบน้ำ มีแต่ห้องสุขาอยู่ในบ้าน ผมยังเคยอยู่ริมคลองหน้าวัดสามพระยา อยู่ในบ้านที่มีพี่น้องหลายคนแต่ห้องน้ำห้องเดียว พวกผู้ชายอาบน้ำเร็วที่สุดคือคว้ากระป๋องไปตักเอาน้ำในคลองมาอาบกันที่ท่าน้ำ หรือลงไปอาบว่ายกันในคลองเลย แต่ต้องช่วยกันตักน้ำใส่โอ่งไว้ด้วยเพราะเวลาน้ำลงน้ำจะแห้งคลองเลยทีเดียว คลองแห่งความหลังที่ผมเคยอาบ เคยว่ายออกไปงมกุ้งที่อู่เรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสามารถว่ายแข่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าโรงสุราบางยี่ขันได้ด้วยนั้น บัดนี้คลองหน้าวัดสามพระยาไม่มีแล้ว กลายเป็นถนนไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่ความทรงจำ เรือล่องคลองบางกอกน้อย วิ่งผ่านไปดังนี้.-
               เริ่มจากเห็นเรือนไม้เก่า ๆ และชีวิตริมน้ำที่ยากจะได้เห็น
               วัดสุวรรณคีรี  เรือวิ่งมาสัก ๑๐ นาที จะผ่านวัดนี้ เดิมชื่อ วัดขี้เหล็ก วัดนี้รักษาป้ายเก่าแก่เป็นป้ายประวัติศาสตร์เอาไว้ คือป้ายที่เขียนไว้ว่า "วัดสุวรรณคีรี อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี" ต้องเก่าเกินกว่า ๕๐ ปี ผ่านวัดสุวรรณคีรี ไปแล้วก็ไปผ่านคลองที่แผกไปยัง ตลาดน้ำตลิ่งชัน อยู่ทางขวามือ
               ผ่าน วัดนายโรง ทางซ้ายมือ
               เรือวิ่งมา ๒๕ นาที จะมาถึง วัดศรีสุดาราม อยู่ทางขวามือ วัดศรีสุดารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร อยู่ริมคลองบางกอกน้อย และเข้ามาทางรถยนต์ได้จากบางขุนนนท์
               วัดศรีสุดาราม เดิมชื่อว่า วัดชีปะขาว หรือ ชีผ้าขาว สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา ต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินรัชาลที่ ๑ น้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยามุขมนตรี เป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยสร้างให้เลื่อนขึ้นจากเดิมเพื่อหนีน้ำ โปรดให้สร้างเขื่อนหน้าวัดเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดศรีสุดาราม" เชื่อกันว่าวัดนี้คือ วัดที่สุนทรภู่ กวีเอกของโลก ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดนี้ ส่วนที่วัดสุนทรภู่บวชแล้วจำพรรษาอยู่นั้นคือ วัดเทพธิดา หากอ่านจาก นิราศสุพรรณ ที่สุนทรภู่แต่งไว้ในบทที่ ๒๐ เขียนไว้ว่า
               วัดปะขาวคราวรุ่นรู้        เรียนเขียน
               ทำสูตรสอนเสมียน        สมุดน้อย
               เดิมระวางระวังเรียน      หว่างวัดปะขาวเอย
               เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย     สวาทห้องกลางสวน

               ในวัดมองไปจากฝั่งคลองจะเห็น หลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี องค์ใหญ่มาก รูปปั้นหันหลังให้ริมคลอง จะใหญ่กว่านี้ก็คงจะเป็นหลวงพ่อโต ของคุณสรพงษ์ ที่โคราชนั่นแหละ มี อนุสาวรีย์สุนทรภู่ มี ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลพระสังกัจจายน์ และเจ้าแม่กวนอิมประทับยืนอยู่ริมคลองมุมวัด และเด็ก ๆ ชอบกันนักคือซื้อขนมปังในเรือมีขายโยนให้ปลาที่ท่าน้ำวัด ซึ่งเป็นวังมัจฉา มีปลาสวายตัวโตมารอรับอาหารปลามากมาย
               เลยต่อไปลอดใต้สะพานแล้ว ทางขวามือคือ วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อ วัดทอง ไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์จากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือ รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้สถาปนาใหม่หมดทั้งพระอาราม ทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว พร้อมเสนาสนะขึ้นมาใหม่ ครั้นสถาปนาเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม พระอุโบสถฐานโค้ง และจิตรกรรมฝาผนังงามนัก
               หากจะไปวัดทางรถยนต์ พอข้ามสะพานก่อนจะไปเลี้ยวขวาเข้าถนนบางขุนนนท์ให้แยกเข้าทางซ้ายมือ และริมน้ำเลยสะพานก่อนถึงตัววัดมีร้านอาหารริมคลอง ไม่ทราบชื่อ วันหลังจะลองไปชิม
               เลยต่อไปยังปากคลองบางกอกน้อยก็จะผ่าน ตำบลหรือแขวงบ้านบุ เขตบางกอกน้อย อยู่ข้างวัดสุวรรณาราม หลังที่ว่าการเขตบางกอกน้อย เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวที่ทำ " ขันลงหิน" จนเรียกว่า ขันลงหินบ้านบุ ซึ่งเหลือยอดฝีมือในทางนี้เพียงแห่งเดียว ดั้งเดิมครอบครัวทำขันลงหินเหล่านี้อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วอพยพลงมาเป็นหมู่มาอยู่ที่บางลำภู ต่อมาจึงอพยพมาอยู่ที่บ้านบุ
               พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี  อยู่ทางฝั่งซ้ายก่อนออกแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดให้ชมได้เดิมเรียก อู่เรือพระราชพิธี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อใช้เก็บเรือพระที่นั่งและเรือรบ แต่ในปัจจุบันใช้เก็บเรือในพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เดิมอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมกับยกฐานะขึ้นเป็น "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี" นับสตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นต้นมา จัดแสดงเรือพระราชพิธีศิลปะโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ประกอบในพระราชพิธีชลมารค เปิดบริการให้เข้าชมได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ชื่นชมในความงดงาม และศึกษาเรื่องราวของเรือพระราชพิธีได้  ชมเรือพระราชพิธีแล้วก็ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ชมสะพานพระราม ๘ และไปชม วัดอรุณราชวราราม วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งหากได้ชมด้วยการนั่งเรือในเวลากลางคืนจะงดงามยิ่งนัก ต่อมาก็ผ่าน วัดระฆังโฆสิาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

               จากนั้นเรือก็กลับเข้าคลองบางกอกน้อย และเข้าเทียบท่า ท่านที่กลัวน้ำไม่ต้องกลัว เพราะเรือที่บริการล่องตามลำคลองนี้เป็นเรือข้าวขนาดใหญ่ มาดัดแปลงให้สวยงามสมกับเป็นเรือท่องเที่ยวหรือเป็นเรือที่อาจะเช่าเหมาลำ จัดเลี้ยงกันในลำเรือยามค่ำก็ได้ เพราะเขาพาทัวร์แค่ชั่วโมงเศษ ๆ จึงรับจัดอาหารเลี้ยงกันในเรือด้วย สัก ๕๐ คน เรือก็คงรับได้อย่างสบาย ๆ
               สั่งอาหารมาชิมที่ระเบียงริมน้ำ ดูรถไฟ ดูเรือ ดูรถยนต์วิ่งประกอบไปด้วย เป็นอาหารเสริม
               แกงเลียงกุ้งสด เมนูอาหารสุขภาพเสิรฟมาในหม้อน้อย ร้อนโฉ่ ซดชื่นใจ รสเข้ม น้ำข้น
               หอยหลอดผัดฉ่า เสียงฉ่ามาแต่ไกล ใส่สมุนไพรหอมฟุ้ง
               "จานเด็ด" มาทั้งทีอย่าขี้เหนียวเลย แพงอยู่จานเดียว แพงเพราะเป็นกุ้งแม่น้ำตัวโตมากคือ "กุ้งแม่น้ำอบเกลือ" โต๊ะผมสั่งมี ๔ ตัว โตมาก ๆ ราคากิโลกรัมละประมาณ ๕๐๐ บาทเศษ จานนี้ถามราคาเขาได้เลย เพราะจะต้องเกินห้าร้อยบาทแน่นอน นอกจากจะเอากุ้งตัวเดียวเขาคงไม่ทำให้ กุ้งเสริฟมาทั้งเปลือกแต่ผ่ากลางไว้ให้ น้ำขลุกขลิก น้ำอบเกลือนี้น้ำขลุกขลิก รสเค็มนิด ๆ แต่เค็มอร่อย เนื้อกุ้งเหนียวแน่น มันกุ้งเยิ้มสีเหลืองนวล เอามาคลุกข้าว เติมด้วยน้ำอบกุ้ง อร่อยอย่าบอกใครแล้วซดแกงเลียงตาม
               แกงส้มชะอมไข่ทอด สาว ๆ ชอบแกงส้ม แต่ผมชอบแกงเลียงมากกว่า
               ปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว ใส่มาในจานปลาร้อนอีกเช่นกัน รสเข้ม ปลาตัวโต เนื้อขาวนุ่มน่าชิม
               ห่อหมกขนมครก จะคลุกข้าวกินหรือจะกินเป็นแกล้มดีทั้งนั้น เสริฟมาในเตาขนมครก
               ปลาแรดทอด กรอบนอก นุ่มใน มีรสในเนื้อปลา หรือจะจิ้มเต้าเจี้ยวก็ได้
               ปิดท้ายด้วยขนมหวานไทย - จีน ไปหลายคนสั่งสนุกคือ บัวลอยเผือก ถั่วดำสาคูเปียก ไอศกรีม เต้าถึงร้อน " โอนีน แป๊ะก๊วย" และบัวลอยน้ำขิง ลูกโตยังกับไข่ไก่

    .......................................................................


    • Update : 29/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch