|
|
2466 อุปสมบท
2466 อุปสมบท
วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์เทสท์ เกสรังสี
เสถียร จันทิมาธร
จากปี พ.ศ.2459 ในที่สุด สามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง ก็ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2466 ณ วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
นานเป็นเวลา 6 ปี
โดยมี พระมหารัตน์ รัฏฐปาโล เปรียญธรรม 4 ประโยค เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมี พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ที่ต้องสนใจอย่างเป็นพิเศษ คือ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล
ที่ต้องสนใจเพราะว่า พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นน้องชายของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
ก่อนหน้านี้ พระปิ่น ปัญญาพโล เคยปฏิญาณกับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า
"ผมไปเรียนหนังสือเสียก่อนแล้วจะออกไปปฏิบัติตามหลัง"
ปรากฏว่า พระปิ่น ปัญญาพโล ไปเรียนหนังสือในมหานครกรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค จึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดสุทัศนาราม
และได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในการอุปสมบทของ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี พอดี
เป็นความเมตตาของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ขณะเดียวกัน ก็เป็นความกรุณาของ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล
ที่ไม่ควรมองข้ามก็คืออุปสมบทแล้วก็เดินรุกขมูลโดยพลัน
เวลา 6 ปีจาก สามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง พัฒนาการขึ้นเป็น พระเทสก์ เทสรังสี เป็นเวลา 6 ปีที่มิได้ไร้รากฐาน
เป็นรากฐานอันสะท้อนความผูกพัน ร้อยรัด
"เราได้ไปอยู่วัดสุทัศน์เป็นเวลา 6 ปีเต็มโดยที่ปราศจากญาติมิตรและคนสนิทมาก่อน เมื่ออยู่ต่อมาได้มีคนเอาลูกหลานมาฝากให้เป็นศิษย์อยู่ด้วยรวมเป็น 4 คนด้วยกัน คือเป็นสามเณร 2 เป็นเด็ก 2"
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เล่า
"เขาเหล่านั้นได้อยู่ด้วยเรามาแต่เมื่อครั้งเรายังเป็นเณรอยู่จนกระทั่งเราได้อุปสมบทเป็นพระ ทั้งเราและเขาถือกันอย่างพ่อกับลูก พอตอนเราจะจากเขา ไปเขาพากันร้องไห้อาลัยเรา เราก็แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่เหมือนกัน"
นี่ย่อมเป็นสถานการณ์เหมือนเมื่อตอน เทสก์ เรี่ยวแรง จะอำลาจากบ้านนาสีดา
"แต่เราเป็นอาจารย์เราจะร้องไห้ก็ละอายเขา จึงกัด ฟันอดกลั้นไม่แสดงความอาลัยออกมาแต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้เสียงเครือไปเหมือนกัน"
เป็นเสียงเครือเพราะความผูกพัน เป็นเสียงเครือเพราะความอาลัย
อย่าไปโทษ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เลย นี่ย่อมเป็นธรรมดาอย่างยิ่ง ธรรมดาของการจากพรากย่อมมากด้วยความอาลัย อาวรณ์ ถวิลหา
โดยเฉพาะในวัยอันเพียงเพิ่งเข้ามาอยู่ใน "ผ้าเหลือง"
"พอออกเดินทางไปแล้วนั่นซี" พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ฟื้นความหลัง
"มันทำให้เราซึมเซ่อไปเป็นเวลานานทีเดียว จะเดิน ยืน นั่ง นอน แม้แต่พูด และฉันอยู่ก็ตามใจมันให้ละห้อยอาลัย คิดถึงเขาว่าเขาจะอยู่อย่างไร กินอะไร อดอิ่มอย่างไร แล้วใครจะมาสั่งสอนเขา หรือจะมีใครมากดขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขาอย่างไร"
ถึงกับยอมรับออกมา "ความกลุ้มใจอย่างนี้ยังไม่เคยมีมาเลย ในชีวิตของเรา ครั้งนี้เป็นครั้งแรก"
นับเป็นรสชาติแห่งชีวิต
"เราจึงได้ทบทวนคิดค้นไปมาว่า เขาเหล่านั้นก็มิใช่ลูกหลานว่านเครือของเรา เป็นแต่เขามาอยู่อาศัยเราเท่านั้น อนึ่ง เราก็ได้อบรมเขาและคุ้มครองเขาเป็นอย่างดีที่สุดแล้วเท่าที่เราสามารถจะทำได้ ทำไมถึงอาลัยอาวรณ์ถึงเขาหนักหนา"
"มาตอนนี้มันให้ระลึกถึงผู้มีบุตรมีภรรยาว่า โอ้โฮ หากเป็นบุตรที่เกิดโดยสายเลือดของเราแล้วความอาลัยมันจะหนักหนาขนาดไหน เราเห็นโทษในความอาลัยในครั้งนั้น มันซาบซึ้งเข้าไปตรึงหัวใจของเราไม่มีวันหายเลย"
เป็นความอาลัยอันทำให้ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ตั้งคำถามกับตนว่า ทำอย่างไรคนเราจึงจะทำให้เป็นอิสระในตัวของตนเองได้เล่า
นั่นเป็นเพียงบาทก้าวแรกของ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ในการจากพรากบุคคลที่ตนรัก ห่วงอาลัย
เป็นเช่นเดียวกับที่ได้ร่ำไห้เมื่อจากบิดา มารดา ญาติพี่น้องแห่งบ้านนาสีดา เพียงแต่ครานั้น เป็นการจากบิดา มารดา เป็นการจากญาติพี่น้อง
แต่สถานการณ์เมื่อปี 2466 เป็นการจากศิษย์อันเคยอุปถัมภ์ด้วยความรัก อบอุ่นเท่านั้น
|
Update : 28/6/2554
|
|