|
|
วิรัติในวันเข้าพรรษา
วิรัติในวันเข้าพรรษา
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
ด้วยเห็นว่าเหลือระยะอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็เข้าสู่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2554
ในวันเข้าพรรษาครอบครัวไทยนิยมส่งบุตรหลานที่อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุในช่วงตลอด 3 เดือน
สำหรับพุทธศาสนิกชนนิยมไปวัดเพื่อทำบุญและอธิษฐานใจว่าจะงดเว้นการทำบาปทั้งปวง การงดเว้นจากบาปเรียกว่า วิรัติ 3 และอบายมุข 6
วิรัติ หมายถึง การงดเว้นจากบาปและความชั่วต่างๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่งจำแนกออกเป็น 3 ประการ คือ
สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว เพราะมีหิริความหายชั่วและโอตตัปปะ ความกลัว บาป นั่นคือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นใจให้เราทำผิดหรือทุจริตคอร์รัปชั่น เราสามารถห้ามใจตัวเองได้เพราะรู้สึกอายตัวเอง หรือเพราะกลัวเสียหน้า กลัวเสียเกียรติ เป็นต้น
สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้ เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้น สมุจเฉกวิรัติอาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลทั่วไปนั่น คือ ผู้งดเว้นบาป ความชั่วละอบายมุขต่างๆ ในระหว่างพรรษากาลได้แล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็ไม่กลับไปกระทำหรือข้องแวะบาปเหล่านั้นอีก เช่น กรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษาแล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป
อบายมุข หมายถึง ช่องทางของความเสื่อม เหตุเครื่องฉิบหาย เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ ทางแห่งความพินาศ มี 6 ทาง ได้แก่ ติดสุราและของมึนเมา ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการงาน
ในห้วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ขอเชิญพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษานี้ ร่วมกันยึดถือวิรัติเพื่อสร้างสังคมไทยให้เกิดสันติสุข
ส่วนพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยมถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันสำรวจพฤติกรรมของตนเองที่ผ่านมาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ประเพณีแห่เทียนพรรษายังเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เพราะพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันหล่อเทียนพรรษาและแห่ไปถวายพระสงฆ์ที่วัดเป็นการรวมพลังสร้างความสามัคคีอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ในปัจจุบันบางส่วนได้นิยมถวายหลอดไฟแทนแล้วก็ตามแต่ประเพณีดั้งเดิมก็ยังอนุรักษ์ไว้
กล่าวคือ แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน ในวันเข้าพรรษา คือ การให้ทาน (บำเพ็ญสาธารณประโยชน์) รักษาศีล (กายและวาจา) และเจริญภาวนา (สวดมนต์ไหว้พระ)
|
Update : 26/6/2554
|
|