|
|
ธรรมะวันหยุด-ปรองดอง
ปรองดอง
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร [email protected] 0-2281-2430
สังคมไทยของเราในปัจจุบันนี้ กำลังประสบปัญหานานาประการ ปัญหาเดิมๆ ก็ยังแก้ไม่หาย ปัญหาใหม่มากมายก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อย และความรุ่มร้อนของผู้คนในสังคม
สาเหตุสำคัญก็คือความขัดแย้งภายในใจ หรือความไม่พอใจในแนวคิด และวิถีปฏิบัติที่เป็นอยู่ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า ไม่สมานฉันท์ หรือไม่ปรองดอง เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของสังคมไทย
ในทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์มี 6 ประการ คือ
ประการที่ 1 เมตตากายกรรม หมายถึง การแสดงออกต่อกันทางกายด้วยเมตตา หรือ การกระทำที่เป็นไปด้วยความหวังดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนชีวิต ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ และไม่ประพฤติผิดในคู่ครองของผู้อื่น ในทางตรงกันข้าม ก็พยายามแสดงออกในทางที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามวิกฤต และนับถือให้เกียรติต่อกันและกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ประการที่ 2 เมตตาวจีกรรม หมายถึง การแสดงออกต่อกันทางวาจาด้วยความเมตตาหรือมีวาจาที่ประกอบไปด้วยความหวังดี ไม่พูดโกหกหลอกลวง ไม่พูดคำส่อเสียดเหยียดหยาม ไม่พูดคำหยาบและไม่พูดวาจาไร้สาระ พูดแต่ความจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี และคำที่มีสารประโยชน์
ประการที่ 3 เมตตามโนกรรม หมายถึง การมีความรู้สึกนึกคิดที่ประกอบด้วย ความเมตตา หรือมีใจประกอบด้วยความเมตตานั่นเอง ใจที่ประกอบด้วยความเมตตาก็คือ ใจที่ไม่คิดอิจฉาริษยา ปรารถนาอยากได้ของเขา ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา และไม่หลงผิด เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว
ประการที่ 4 สาธารณโภคี หมายถึง การแบ่งบันกันบริโภคอุปโภคปัจจัยใช้สอยต่างๆ อย่างทั่วถึง กล่าวคือ เมื่อได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาโดยชอบธรรม ก็ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักจ่ายแจกแบ่งปันแก่กันและกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันและกัน ตระหนักอยู่เสมอๆ ว่า "น้ำบ่อน้ำคลองยังไม่เป็นรองน้ำใจ กระจกเงาที่ว่าใส ยังเป็นรองน้ำใจ ที่ว่างาม"
ประการที่ 5 สีลสามัญญตา หมายถึง ความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล หรือ กฎกติกา กฎหมายที่ดีงามในหมู่คณะ กล่าวคือ สมาชิกในสังคมต้องตั้งมั่นอยู่ในกฏกฏิกาที่ดีงาม ทั้งในทางศาสนาคือศีล และทางสังคมคือกฎหมาย มีความเท่าเทียมกันในการแสดง ออกในทางที่สร้างสรรค์ตามกรอบตามกติกาของสังคม รวมไปถึงการสร้างกฎกติกาที่เท่าเทียมกันให้เกิดมีและปฏิบัติตามอย่างจริงจัง
ประการที่ 6 ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง ความเป็นผู้เสมอกันด้วยความคิดเห็น มีความเห็นที่ดีงามเสมอกัน ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของหลักความสมานฉันท์ เพราะหากมีความเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันทางความคิดเห็นไม่ยอมลงรอยกันเสียที ก็ยากที่จะมีพฤติกรรมที่เป็นไปเพื่อความสมานฉันท์ได้ ปรับความเห็นให้สอดคล้องกันในทางที่ดี เรียกว่า สมานจุดร่วมสงวนจุดต่าง ร่วมแนวทางที่สร้างสรรค์
เพราะฉะนั้น บ้านเมืองของเราที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน แต่หากไม่ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม คือ ขาดการแสดงออกที่ดีด้วยทางกาย ทางวาจา ทางใจ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสมอกันด้วยกฎกติกา และมีความเห็นที่เสมอกัน เป็นไปในทางเดียวกันแล้ว ก็ย่อมยากที่จะสร้างความสมานฉันท์หรือนำมาซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะได้ ทุกฝ่ายควรมาคิดกันว่า เราจะสร้างจิตสำนึกแห่งหลักธรรมนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร หากสามารถช่วยกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าสังคมแห่งความสมานฉันท์ปรอง ดองย่อมมีขึ้นและมั่นคงยั่งยืนอย่างแน่นอน
|
Update : 25/6/2554
|
|