หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    อะไรคือหัวใจพุทธศาสนา

    อะไรคือหัวใจพุทธศาสนา

    ปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้รับเชิญไปแสดง พูดธรรม-ฮัมเพลง (๒) (ผู้พูดเป็นฆราวาสจึงใช้คำว่า พูดธรรม แล้วสลับกับเล่นเพลงธรรมะจึงใช้คำว่า ฮัมเพลง) ที่จามจุรีสแควร์ โดยธรรมะภาคีระหว่างศูนย์หนังสือจุฬากับสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ในหัวข้อ ๑๐๕ ปี พุทธทาสชาตกาล ผู้เขียนและคณะ ประกอบไปด้วย สุภาพบุรุษ ๒ คนที่มาพร้อมกับเครื่องดนตรีโฟล์กแบบวงเล็กๆ อันประกอบไปด้วย กีตาร์, ขลุ่ยไทย, ฮาโมนิกา (เม้าท์ออร์แกน) พวกเราเริ่มต้นด้วยการแสดงทัศนะเกี่ยวกับคำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากไว้ว่า ....

      พุทธทาส จักอยู่ไปไม่มีตายฯ
     คำว่า “พุทธทาส” จริงๆ น่ะ ท่านอาจารย์หมายถึงใคร?
    หากมองกันอย่างผิวเผิน บางคนอาจคิดว่าเป็นปาฏิหาริย์ของท่านอาจารย์ หมายถึงท่านพุทธทาสที่ดับขันธ์ไปแล้ว เกือบ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ตาย แต่หากพิจารณาใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน ผมว่าท่านน่าจะฝากนัยเป็นปริศนาธรรมบางอย่างไว้ให้พวกเราทุกคนนั่นแหละ เพราะ แท้ที่จริง ท่านฝากให้เราทุกคน (ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสกและอุบาสิกา) ต่างหาก ที่ต้องทำหน้าที่เป็น “พุทธทาส” หรือ ทาสพระพุทธ “พุทธทาส” จึงจะไม่ตาย
    เพราะฉะนั้น เราจะทำหน้าที่ “พุทธทาส” ให้ได้ดีนั้น สำคัญต้องเข้าถึงหัวใจ หรือแก่นของศาสนาของตัวเองก่อน ดังปณิธานข้อแรก ที่ท่านอาจารย์ฝากไว้

     อะไรคือหัวใจของพุทธศาสนา?
     ก่อนจะตอบเรื่องนี้ ผมได้ค้นคว้างานอมตะชิ้นหนึ่งของท่านพุทธทาส ซึ่งผู้เขียนอ่านซ้ำเป็นสิบรอบ ก็ยังไม่เบื่อ... หนังสือ “คู่มือมนุษย์” ซึ่งท่านเขียนไว้อย่างใจกว้าง และไม่ยัดเยียดคำตอบให้ชาวพุทธ ผู้มีปัญญา ในทันทีทันใด ท่านเริ่มเรื่องด้วยกัน ชวนให้ฉุกคิดกันเชิงกว้างก่อนว่า ...

     ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน?
     อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ พุทธบริษัทของเรา มักเข้าใจ หรือชอบใจ พุทธศาสนากันไปในมิติที่แตกต่างกัน หนำซ้ำ ยังไม่ชัดเจนในเป้าหมายสูงสุดของศาสนา เหมือนกับประดาศาสนิกชนอื่น ซึ่งหากลองไปถามเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาเหล่านั้นดู ก็จะได้คำตอบที่ค่อนข้างจะชัดเจน และไม่แตกต่างกันไปมากนัก ส่วนพวกเราชาวพุทธ บางทีลองถาม ๑๐ คน อาจจะได้คำตอบถึง ๕ แบบด้วยกัน ... ในหนังสือ “คู่มือมนุษย์” จึงเปิดประเด็นไว้ในหลายๆ มิติ เช่น บางคนชอบพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญาบ้าง, ในฐานะที่เป็นจิตวิทยาชั้นสูงบ้าง, ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์บ้าง, ในฐานะที่เป็นหลักวัฒนธรรม หรือ ศิลปะบ้าง, ในฐานะที่เป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้งเร้นลับบ้าง, หรือในฐานะที่เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นบ้าง เป็นต้น
    เมื่อผู้ที่ชอบในมิติ ที่ต่างกันไป ก็เลยไปถึงการเข้าถึงหัวใจศาสนาที่แตกต่างกันไป เช่นกัน จึงมีคำตอบที่หลากหลายสำหรับ “หัวใจพุทธศาสนา” มีตั้งแต่ ทางสายกลาง, อริยสัจ ๔, อิทัปปัจยตา, โอวาทปาฏิโมกข์, ไตรสิกขา (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) หรือแม้กระทั่ง... นิพพาน เป็นต้น ผู้เขียนนึกสนุก ลองเช็คดูในเน็ต โดยเข้าไปคีย์คำว่า “หัวใจพุทธศาสนา” ที่ Google ก็พบว่า คำตอบยอดนิยมที่สุด คือ โอวาทปาฏิโมกข์ อันหลักๆ ได้กล่าวถึงหัวใจการปฏิบัติ ๓ ข้อ หมายถึง ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตเกลี้ยง วิมุตติ ผ่องใส

     อย่างไรก็ดี ท่านอาจารย์พุทธทาส ฝากสรุปหัวใจธรรม ๓ ข้อแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ลงเป็นประโยคเดียว อันเป็นพุทธพจน์ที่สำคัญมากๆ และปราชญ์หลายท่านในแผ่นดินสยาม ถือเป็นคติดำเนินชีวิตเลยทีเดียว ดังเช่น อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และผมนับเป็นคาถาที่ต้องท่องประจำทุกวันเลย คาถานั้นคือ ...

     สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย
     (อ่านว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ)
     สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
     ผมว่า พระคาถาที่รวบยอดอย่างนี้แหละ ทำให้เราไม่เผลอไปหลงงมงายอะไรลงไปมากมาย ตราบเท่าที่สิ่งๆ นั้น ยังเป็น “ของคู่” อยู่ คือ มีขั้วตรงข้าม เช่น ชั่ว-ดี, บุญ-บาป, กุศล-อกุศล, รวย-จน, สุข-ทุกข์ ฯลฯ เมื่อไม่หลงไปยึดมั่นอะไรมากมายแล้ว จิตจะปล่อยวาง ว่างเบา โดยธรรมชาติของมันเอง นอกจากการปฏิบัติอานาปานสติแล้ว การโยนิโสมนสิการสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติ มองเห็นทุกสรรพสิ่งอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) ท่านพุทธทาสก็ยกให้เป็นวิปัสสนาลัดสั้น ประการหนึ่งเลยทีเดียว อย่างนี้กระมัง พวกเราทุกคน ทุกท่าน จึงสามารถทำนิพพานชิมลอง ได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้

     ณ ขณะที่เราไม่แบกอดีต ไม่แบกอนาคต อยู่กับปัจจุบันได้อย่างปล่อยวางในการยึดมั่นในความคิดปรุงแต่งเดิมๆ นี่เอง ที่บันดาลให้เข้าสู่หัวใจแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริง นั่นคือสันติภาพที่ทุกคนสามารถทำให้เกิดมีได้ 
     นิพพาน เป็นของแปลก
     ยิ่งอยากได้ ยิ่งห่างไกล
     หยุดอยากเมื่อไหร่
     ถึงได้โดยไร้เจตนา

    "พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา"


    • Update : 25/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch