หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-พุทธมณฑล (๒)
    พุทธมณฑล (๒)

                ผมขอเล่าเรื่องของพุทธมณฑลต่ออีกสักตอน ตอนที่แล้วได้เล่าให้ทราบ ประวัติความเป็นมาของพุทธมณฑลโดยสังเขป นั้นมีความเป็นมาอย่างไร วันนี้จะเล่าต่อว่าในอาณาเขต ๒,๕๐๐ ไร่ ของพุทธมณฑลมีอะไรบ้าง หากท่านไปโดยรถส่วนตัวหรือไปรถส่วนรวม ก็จะมีโอกาสได้ตระเวนชมได้จนทั่ว ขอรับรองว่าคุ้มค่าจริงๆ จะไปวันธรรมดาหรือวันหยุดก็ดีทั้งสิ้น จะได้รับความสงบ ร่มเย็น เห็นความร่มรื่นงดงามของสวนนานาพรรณ พื้นสนามที่เรียบเขียวชอุ่ม และดินแดนแห่งพุทธธรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์
                พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ " ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์  พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมายจึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วนคือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช  จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ และระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูป
                วิหารพุทธมณฑล ซึ่งหากมองจากถนนใหญ่จะเห็นชัดเจน แต่เมื่อมองจากองค์พระพุทธรูปประธาน มองตัดความงดงามของสวนไม้ดอกออกไปก็จะเห็นความงดงามอย่างยิ่ง เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๒๕ พุทธศตวรรษขนาด ๒,๕๐๐ มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๘
                ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ  ก่อสร้างเสร็จในปี ๒๖๒๔
                ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
                หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๙
                หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด ๑.๖๐ เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย  ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
                สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕
                การไปชมอาคารทุกหลังจะไปสะดวกมาก มีถนนที่ลัดเลาะไปสวนไม้ที่ร่มรื่น ริมสระน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม และมีป้ายบอกทิศทางไป อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่
                อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๕
                ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด ๒๐ หลัง ด้านข้างโปร่ง
                ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด ๘ หลัง
                พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ ๒ จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ ๓ ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ
                หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ
                มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๑ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่าหลวงพ่อฯ บริจาคผมเคยไปเห็นพระไตรปิฎกหินอ่อน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่า แต่ความงดงามของสถานที่นั้นจะเทียบกันไม่ได้เลย
                โรงอาหาร ก็เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล
                หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร
                ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล
                สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง
                ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน จำหน่ายวัตถุมงคล "พระ ๒๕ พุทธศตวรรษประทับยืนปางลีลา" ยังมีจำหน่ายองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อตอนเริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกนั้น ผมเคยเช่าจากปะรำพิธีในสนามหลวงองค์ละ ๑๐ บาท สิบบาทเมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว น่าจะสูงกว่า ๑๐๐ บาทในปัจจุบัน
                ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระเช่นกัน เสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้ามีถวายสังฆทาน อาทิตย์บ่ายมี พระธรรมเทศนา ไปติดกันเทศน์ทำบุญได้
                สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่
                ศาลาสรีรสราญ มีห้องสุขาไว้บริการประชาชน เห็นมีแห่งเดียวและได้แนะแล้วว่าควรเป็นห้องสุขาแบบผสม
                เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี ๘ หลัง
                พื้นน้ำของพุทธมณฑลนั้นงามยิ่ง น้ำเต็มเปี่ยม สนามขอบสระน้ำเรียบเขียวชอุ่ม โล่งเตียน เนื้อที่พื้นน้ำมีมากถึง ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนต้นไม้มี ๑,๕๖๒ ไร่ เป็นถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคาร และสิ่งก่อสร้างเพียง ๙๔ ไร่ จากจำนวนทั้งหมด ๒,๕๐๐ ไร่
                "สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล"  ซึ่งต้องตระเวนไปหาให้พบ หาไม่ยากเพราะมีป้ายนำคือ
                        "ตำบลประสูติ" ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่างๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล,มคธ-อังคะ,สักกะ วัชชี,มัลละ,วังสะ,กุรุ
                        "ตำบลตรัสรู้" ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง
                        "ตำบลปฐมเทศนา" ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
                        "ตำบลปรินิพพาน" ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม
                "สวน" ต้องขอยกย่องและเชิดชูความงดงามของสวนต่างๆ ในพุทธมณฑลแห่งนี้ได้แก่
                        "สวนเวฬุวัน" คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด
                        "สวนอัมพวัน" คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด
                        "สวนธรรม" คือสวนกระถินณรงค์
                        "สวนไทร" มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่นยิ่งนัก
                        สวนลัฏฐิวัน  คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน
                        สวนสมุนไพร  มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน
                กิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นในพุทธมณฑล กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันที่เป็นประเพณี มีกิจกรรเช่นวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง มีกิจกรรมเลี้ยงพระเพลถวายสังฆทาน และฟังเทศน์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประชุมสัมนาพระสังฆาธิการ กิจกรรมประทานพัดยศโดยสมเด็จพระสังฆราช จัดกิจกรรมนอกสถานศึกษาของวัดและโรงเรียน และที่ผมส่งเสริมอย่างยิ่ง อยากเห็นคนไปเที่ยว ไปชมไปนมัสการพระประธานพุทธมณฑล ไปเยี่ยมชมบริเวณทั่วพุทธมณฑล ไปกันให้มากกว่านี้เหมือนผมเชียร์ให้ไปเที่ยวสวนรถไฟ ที่อยู่ติดกับสวนจตุจักร และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประชาชนยังใช้พื้นที่ในพุทธมณฑลกัน้อยไป ยากที่จะหาสวนใดในโลกนี้ที่จะมีความสมบูรณ์เท่าสวนพุทธมณฑล "โดยเฉพาะสำหรับเราชาวพุทธ"
                ทีนี้ไปหาแหล่งกิน เที่ยวแล้วหิวไปกิน คราวก่อนผมพาไปชิมลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ คราวนี้พากลับมากินเป็ดย่างที่ใกล้ๆ บ้านผม แต่เกิดท่านเที่ยวชมในพุทธมณฑลแล้วหิวขึ้นมา นอกจากนายเงี๊ยบ ซึ่งอยู่ริมถนนพุทธมณฑลสาย ๔ เมื่อเลี้ยวเข้ามาจากถนนไปนครชัยศรี ร้านอยู่ซ้ายมือ ก็มีที่พุทธมณฑลสาย ๓ หากเลี้ยวเข้าสายนี้วิ่งผ่านสี่แยกไปจนพบสี่แยกที่บอกว่าเลี้ยวขวาจะไป "สนามหลวง ๒ " ให้เลยไปนิดหนึ่งแล้วกลับรถมาร้าน "เลือดหมูเจ็กจุ่น" อยู่ริมทางหน้าคฤหาสน์หลังใหญ่ (ที่ไม่ใช่ของเจ็กจุ่น) ใกล้สวนธรรมของหลวงตามหาบัว ของอร่อยคือ เลือดหมู ขาหมูพะโล้คากิ น้ำผลไม้ ผลไม้ดอง รวมทั้งไข่ตุ๋นด้วย อีกร้านหนึ่งไม่ได้ไปชิมหลายปีแล้ว แต่เห็นเขายังอยู่ดี เจริญขึ้นด้วยคือร้าน บ้านศรีสุวรรณ หากออกจากพุทธมณฑลเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานจะไปทางศาลายา พอลงสะพานกลับรถมาเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามประตูเข้า ม.มหิดล เข้าประตูหมู่บ้านไปตามป้ายร้านอยู่ทางซ้ายมือ บ้านศรีสุวรรณ หอยหลอดผัดฉ่า ฉ่าจริง ๆ
                ร้านตี๋โภชนา จะพาไปชิมเป็ดย่างของเขาอร่อยเหลือ เป็ดย่างหนังกรอบ ไปได้สองเส้นทาง ไปทางซอยบ้านผม  ที่ไม่ใช่ซอยแล้ว กลายเป็นถนนมีรถเมล์วิ่งไปแล้ว คือถนนลาดพร้าว ซอย ๗๑ เข้าลาดพร้าวแล้วซอยอยู่ทางซ้ายมือ วิ่งเข้าไปจนสุดซอยแล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๐๐ เมตร ให้เลี้ยวขวาวิ่งผ่านเขตลาดพร้าว ตรงเรื่อยไป จนพบสี่แยกมีไฟสัญญาณ ตรงต่อไปอีกสัก ๒๐๐ เมตร เลี้ยวขวา (ถนนจะหักข้อศอก) ไปอีกสัก ๑๐๐ เมตร ร้านตี๋โภชนา อยู่ทางขวามือ จอดรถสะดวก
                อีกเส้นทาง จากสี่แยกเกษตรบางเขน ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนตัดใหม่ที่จะไปได้ถึงถนนสุขาภิบาล วิ่งตรงเรื่อยไป นับสี่แยกไฟสัญญาณดังนี้ ผ่านสี่แยกมีไฟสัญญาณที่ ๑, ที่ ๒ พอถึงสี่แยกที่ ๓ ให้เลี้ยวขวา วิ่งตรงเรื่อยไป ผ่านทางแยกเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ตรงไปอีกสัก ๑๐๐ เมตร ร้านตี๋โภชนาอยู่ซ้ายมือ
                เป็ดย่างหนังกรอบ สีหนังสดน่ากินเหลือประมาณ ราดน้ำให้ชุ่ม จิ้มซีอิ้ว ตามด้วยพริกชี้ฟ้าสดแนมข้าวสวยร้อน ๆ หรือจะสั่ง เส้นบะหมี่หยกสีเขียวขจี มากินกับเป็ดย่างหนังกรอบ ก็จะอร่อยไปอีกแบบ
                เป็ดพะโล้ ของเขาก็มี รสดี นุ่มน่าเคี้ยว
                สตูว์หมู ราดข้าวร้อนๆ จะเหยาะด้วยน้ำปลาพริกสักนิด แนมด้วยพริกชี้ฟ้าสดก็จะเพิ่มรสให้อร่อยยิ่ง
                กระเพาะปลา อย่าโดดข้ามของเขาไป ใส่หม้อดินมาเสริฟร้อนฉ่า อย่าเผลอซดเร็วนัก หอม รสดี
                หมูแดง หมูกรอบ ก็อร่อยทั้งสองอย่าง กินกับข้าวร้อนๆ หรือเส้นบะหมี่หยกก็ดีทั้งนั้น
                ไม่สั่งมาหลายอย่างแบบนี้จะสั่งมาเป็นอาหารจานเดียวก็ไม่ผิดกติกา
                ปิดท้ายเสียด้วย ไอศกรีม ที่ทางร้านเขาบอกว่าเขาทำเอง ไอศกรีมกะทิสดรสหวานมัน ชื่นใจ

     

    ----------------------------------


    • Update : 24/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch