|
|
บารมี ยิ่งยวด หรือ ยิ่งใหญ่ /2
บารมีทำได้หลายอย่าง และมีหลายขั้น
ธรรมะต่างๆ ที่สามารถจะบำเพ็ญให้เป็นบารมีได้ก็มีมาก อย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ ต้องบำเพ็ญคุณธรรมสำคัญที่เป็นหลักถึง 10 ประการ ขอยกเอาแต่ชื่อธรรมนั้นๆ พอให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าของเราบำเพ็ญบารมีอะไรบ้าง ดังนี้
ทาน การให้ ในที่นี้เน้นการให้ด้วยน้ำใจเสียสละอย่างยิ่ง
ศีล การรักษากายวาจาให้อยู่ในวินัยและวัตรปฏิบัติที่สูงขึ้นไป
เนกขัมมะ การสลัดความสุขส่วนตัว การเสียสละเรื่องทางโลกทั่วไป เช่นที่ปรากฏเป็นการออกบวช
ปัญญา ความรู้เข้าใจสังขาร หยั่งเห็นสัจธรรม
วิริยะ ความเพียร
ขันติ ความอดทน
สัจจะ ความจริง จริงใจ จริงวาจา จริงกาย (ทำจริง)
อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว
เมตตา ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางได้ ความดำรงอยู่ในธรรมไม่หวั่นไหวเอนเอียง
นี่คือคุณธรรมต่างๆ ที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด
แม้บารมีนี้เอง ก็ยังแบ่งเป็นขั้นๆ ที่จริงเป็นบารมีก็ยิ่งยวดอยู่แล้ว แต่ยิ่งยวดก็ยังแบ่งเป็นยิ่งยวดขั้นธรรมดา ยิ่งยวดขั้นสูงขึ้นไป และยิ่งยวดขั้นสูงสุด
ยิ่งยวดขั้นธรรมดา เรียกว่าบารมีเฉยๆ ถ้ายิ่งยวดสูงขึ้นไปอีก ขั้นจวนสูงสุด เรียกว่าอุปบารมี และบำเพ็ญยิ่งยวดขั้นสูงสุดทีเดียว เรียกว่าปรมัตถบารมี
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นจะบำเพ็ญทาน พระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญเอาจริงเอาจังมาก ทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำในขั้นต้น เป็นบารมีธรรมดา ก็คือสละทรัพย์สินสิ่งของมากมายช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลาย เห็นคนยากจน คนตกยากลำบากมีความทุกข์อะไรต่างๆ ก็พยายามช่วยเหลือ ขั้นนี้เรียกว่าทานบารมี
ถ้าเสียสละขั้นสูงขึ้นไป บางคราวมีเหตุจำเป็นต้องถึงกับเสียสละอวัยวะของตน ก็สละให้ได้ การเสียสละขั้นนี้ เรียกว่าอุปบารมี
ในบางครั้ง เช่นว่าจะรักษาธรรมะ รักษาความถูกต้องดีงาม รักษาสัจธรรมไว้ ต้องเสียสละอย่างสูงสุด ถึงกับเสียสละชีวิตก็ต้องทำ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเคยเสียสละชีวิต ในตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ ทานที่บำเพ็ญถึงขั้นนี้ เรียกว่าปรมัตถบารมี เป็นบารมีขั้นสูงสุดในด้านทาน
คุณธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน ก็แบ่งเช่นนี้ คือ ชั้นยิ่งยวดธรรมดาเป็นบารมี ขั้นสูงเป็นอุปบารมี และขั้นสูงสุด เป็น ปรมัตถบารมี
ทำความดีขนาดไหน จึงจะได้เป็นบารมี
เราชาวพุทธหรือผู้ศึกษาธรรมทั้งหลายนี้ ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้เป็นบารมี ก็ต้องตั้งใจจริงจัง โดยมีจุดหมายสูงสุด
มีจุดหมายสูงสุดคืออะไร ก็เช่นตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพระมหาสาวก จะบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส คือมีเป้าหมาย ไม่ใช่บำเพ็ญอย่างเลื่อนลอย นี่เป็นประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของบารมี คือมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่ทำอย่างเลื่อนลอย
ประการที่ 2 ทำอย่างจริงจังสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ ต้องเอาจริงเอาจัง อย่างพระพุทธโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งๆ ก็จะมีบารมีที่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งว่าจะบำเพ็ญคุณความดีข้อนี้ แล้วก็ทำอย่างจริงจัง เช่น ในพระชาติใดถือสัจจะคือความจริง ก็ตั้งมั่นอยู่ในความจริงมั่นคง ซื่อสัตย์สม่ำเสมอตลอดไปไม่ยอมทำให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็อยู่ในระดับบารมี
ประการต่อไป ลักษณะของบารมี คือมีการสะสม เพิ่มพูนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งมีลักษณะหนึ่งคือ เกิดความเคยชิน คนที่บำเพ็ญคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำสม่ำเสมอและสั่งสมมามาก จะมีความเคยชินในการประพฤติปฏิบัติสิ่งนั้น จนกระทั่งกลายเป็นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติเป็นไปเอง
เหมือนคนที่บำเพ็ญเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนทั้งหลาย ก็จะมีอาการแสดงออกเป็นความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลพร้อมที่จะช่วยเหลือด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อทำเป็นประจำสม่ำเสมอเอาจริงเอาจัง ต่อมาก็จะเป็นนิสัยประจำตัว มีการแสดงออกเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องตั้งใจ
คนอ่อนแอ ไปไม่ถึงบารมี
แม้แต่คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติกันโดยทั่วไปนี้ ก็ต้องระลึกไว้ว่า ไม่ใช่ทำนิดๆ หน่อยๆ ก็จะเห็นผล บางคนพอปฏิบัติธรรมสักอย่างไปนิดหน่อย ก็นึกแต่จะเอาผล ชอบเรียกร้องว่าทำไมจึงยังไม่ให้ผล บางทีก็เกิดความท้อใจ แต่ที่แท้ตัวเองมิได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง
ยกตัวอย่างเช่นคนบางคน ตั้งร้านค้าขึ้นมาร้านหนึ่ง ทำการค้าขายโดยสุจริต แต่ไม่ค่อยได้กำไร เกิดความรู้สึกว่าเมื่อค้าขายตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้ผล ก็ชักจะท้อใจ
แต่ถ้าเขามีความมั่นคงในงานซื่อสัตย์สุจริตนั้น ทำไปทำมาจนกระทั่งในที่สุดคนรู้แพร่หลายกระจายกว้างขวางถึงระดับหนึ่ง คนทั่วไปก็เกิดมีความเชื่อถือ พอนึกถึงหรือพูดถึงคนนี้หรือร้านนี้แล้ว เขาก็รู้กันทั่วไปเข้าใจทันทีว่า เจ้านี้ละตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งว่าถ้าเข้าร้านนี้แล้วไม่ต้องต่อราคาเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าพอจะอยู่ในระดับเป็นบารมีได้ คือทำอย่างจริงจังและเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความคงเส้นคงวา จนทำให้เกิดความเชื่อถือ
พูดง่ายๆ ว่า บุคคลบางคนบำเพ็ญคุณธรรมบางอย่างเป็นประจำ จนกระทั่งคุณธรรมนั้นปรากฏออกมาในกิริยาอาการลักษณะทั่วไป คนไหนเห็นแล้วก็รู้จักคนนั้นในลักษณะของคุณธรรมข้อนั้นไปเลย นี่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญในระดับที่เรียกว่าเป็นบารมี
นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง จะได้ไม่ท้อใจ
ฉะนั้น ขอให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้ไม่ท้อใจ เพราะถ้าเราไม่มีตัวอย่าง เราก็จะท้อใจว่า ได้บำเพ็ญธรรมะข้อนี้ไปแล้วก็ยังไม่เห็นผลอะไร เลยท้อใจคิดว่าจะเลิก อย่าทำดีกว่า คนอื่นเขาไม่เห็นต้องลำบากอย่างนี้ บางคนทำไม่ดีกลับได้ผล ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติก้าวหน้าไปได้
แต่ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าและมองไปตามพระประวัติของพระองค์ ได้คิดว่าบางครั้งพระองค์ทำความดีแล้วต้องประสบความทุกข์ ถูกคนอื่นข่มเหงรังแกเดือดร้อนมากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยยอมท้อถอยเลย ประวัติของพระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นแบบนี้มาก แต่พระองค์ก็ยืนหยัดในความดีนั้น จนประสบความสำเร็จจากการทำความดีของตนเอง แต่ต้องอาศัยกาลเวลายาวนาน และมีความมั่นคง มีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น คุณธรรมที่บำเพ็ญในระดับบารมีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
การที่เรายึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นที่ระลึก ก็เพราะจะได้เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจของตนเองด้วย
อย่างเรามีพระพุทธรูปไว้นี้ นอกจากระลึกถึงพระพุทธคุณที่สวดกันว่า
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ
หรือ สวดบทยาวเป็นพุทธคุณ ๙ ประการว่า
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯเปฯ แล้ว
ซึ่งเรามักระลึกถึงพระคุณทั่วๆ ไป แบบนึกกว้างๆ ลางๆ แต่บางทีเราก็ไม่ได้แยกแยะให้ลึกซึ้งในแต่ละด้าน ความจริงนั้นถ้าเราแยกออกไปให้ละเอียด เราจะเห็นพระคุณแต่ละข้อๆ ว่าพระองค์ได้ฝึกพระองค์มาอย่างไร พัฒนาตนเองมาอย่างไร ได้บำเพ็ญคุณธรรมมาลำบากลำบนเสียสละแค่ไหน ประสบความยากลำบากแค่ไหน ถ้าเราได้เห็นปฏิปทาของพระองค์อย่างนั้นแล้ว จะได้มาเป็นเครื่องเตือนใจให้เรามีความเข้มแข็งอดทนในความดี
แม้แต่ในชาติปัจจุบันเราก็ยังเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงมีความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง การที่จะได้ตรัสรู้นี้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเสียสละชีวิตที่มีความสุขสำราญในรั้วในวัง สละทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างออกไปอยู่ป่า และตอนที่ไปอยู่ในป่าพระองค์ต้องลำบากทุกข์ยากขนาดไหน อดๆ อยากๆ ถูกคนที่เขามาล้อมาเลียน มาทำอะไรต่างๆ โดยที่ว่าพระองค์ไม่ถือสา ต้องผจญกับความหวาดกลัวต่างๆ แล้วก็จาริกไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่างๆ ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ จนในที่สุดประสบความสำเร็จด้วยความเพียรของพระองค์ อย่างพุทธภาษิตที่ว่า
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
หมายความว่า จะประสบความสำเร็จพ้นจากความทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร อันนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า
ถ้าเราได้ศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าในแง่ด้านต่างๆ ได้เห็นตัวอย่างการทำความดีของพระองค์แล้ว ก็จะมาเป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นแบบอย่างแก่เราทั้งหลาย ทำให้เรามีความเข้มแข็งอดทน มีกำลังใจในการที่จะทำความดี ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นระย่อต่ออุปสรรคและความทุกข์ยากต่างๆ
|
Update : 22/6/2554
|
|