บารมี ยิ่งยวด หรือ ยิ่งใหญ่
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ให้ธรรม-ให้ทุน
ขอเจริญพร วันนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ คือคณะคุณโยมมิสโจ พร้อมด้วยญาติมิตรลูกศิษย์ท่านที่เคารพนับถือ ได้ทำบุญถวายภัตตาหาร สำหรับวันนี้เป็นรายการประจำเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
นอกจากเลี้ยงภัตตาหารแล้ว คราวนี้ คุณโยมยังได้ทำทานพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือได้ชักชวนญาติมิตรร่วมกันสร้างหนังสือ “พุทธธรรม” สำหรับถวายแก่วัดต่างๆ แก่พระสงฆ์ และญาติโยม สาธุชนที่สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย ซึ่งเมื่อกี้นี้อาตมาก็ได้อนุโมทนาไปครั้งหนึ่งแล้ว ในตอนที่คุณศุภนิจ คุณศุภวรรณ และคุณสุจินต์ ได้มาถวายหนังสือนี้ไว้ก่อน นอกจากได้สร้าง คือทำให้มีขึ้นมาแล้ว ก็ได้นำมาถวายอาตมาสำหรับไปแจกต่ออีกด้วย
โดยสรุปก็คือ การบริจาคทรัพย์สร้างหนังสือ “พุทธธรรม” นี้ เป็นการทำบุญ 2 ชั้น ทั้งเผยแพร่ธรรม และถวายทุนการศึกษาแก่พระเณร คือว่า หนังสือนี้โยมได้สร้าง โดยไปจัดหามาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้พิมพ์หนังสือนี้ขึ้น เพื่อจะหาทุนมาให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ เรียกกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระเณรเรียนอยู่ประมาณ 1,500 องค์ นับว่าเป็นจำนวนมาก พระเณรเหล่านี้พักอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ไปถึงเมืองนนท์ เมืองปทุมธานี พระเณรเหล่านี้ไม่ใช่เป็นพระที่อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่เป็นพระเณรที่มาจากทั่วประเทศ คือมาจากทุกภาคเกือบจะทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งมาเล่าเรียนศึกษา เรียนนักธรรม เรียนบาลี เช่นได้เปรียญต่างๆ แล้ว ก็มาเรียนเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยสงฆ์อีก
ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ ก็จะต้องหาทุนมาจัดการศึกษา แต่ไม่ค่อยจะมีทุนรอน จึงต้องหาวิธีที่จะได้รับความอุปถัมภ์มาจากด้านต่างๆ ก็เลยพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเป็นสื่อในการที่จะหาทุน และนอกจากหาทุนแล้ว ก็จะได้เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปด้วยพร้อมกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อญาติโยมไปจัดหาซื้อหนังสือนี้มา ในขั้นที่หนึ่ง ก็ได้ช่วยให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นการบริจาคทานที่มอบแก่ส่วนรวม จึงเรียกว่าเป็นสังฆทาน เมื่อเป็นสังฆทาน ก็เป็นทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ว่ามีผลยิ่งใหญ่ อันนี้ก็เป็นทานขั้นที่หนึ่ง พอเริ่มซื้อก็ได้ทำบุญไปแล้ว
ขั้นที่สอง เมื่อนำหนังสือนี้มาแจกแก่ญาติโยม รวมทั้งนำมาถวายอาตมาให้ไปแจกต่อด้วย ก็เรียกว่าเป็นธรรมทาน ที่เป็นยอดของทาน เมื่อกี้เป็นสังฆทานก็เป็นทานยิ่งใหญ่แล้ว พอมาเป็นธรรมทานก็เป็นทานชั้นเลิศอีก ดังที่โยมก็คงเคยได้ยินพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
แปลว่า การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง
ให้ธรรม คือยอดทาน
ธรรมทานนี้ชนะทานทุกอย่าง เพราะเป็นการให้แสงสว่างแก่ชีวิต คนที่ได้ธรรมะไปแล้วก็รู้จักที่จะดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง โดยมีจิตใจที่มีความสุข และประพฤติตัวดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยให้สังคมมีความสุข มีความเจริญ และก้าวหน้าในธรรม การที่จะปฏิบัติธรรมถูกต้อง ไม่ว่าจะเจริญศีล สมาธิ หรือปัญญาอย่างไรก็ตาม ก็จะต้องรู้จักธรรมะ เพราะฉะนั้นการให้ธรรมะก็คือให้ทางปฏิบัติและทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
แม้แต่จะไปทำทานอื่น หรือการที่คนจะไปช่วยเหลือกัน จะทำความดีอะไรๆ ก็เพราะเข้าใจธรรมะ หรือเคยได้ยินได้ฟังคำสอนที่ถูกต้อง ถ้าได้รู้จักคำสอนที่ถูกต้อง คือธรรมะนี้แล้ว ก็จะสามารถทำความดีได้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่รู้จักธรรมะ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรจึงจะถูกต้อง ก็อาจจะประพฤติผิดพลาดได้มากมาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“การให้ธรรมเป็นการให้ที่เลิศประเสริฐสุด”
เมื่อโยมและญาติมิตรมาแจกหนังสืออย่างนี้ คือ สร้างหนังสือนี้มอบให้แก่ที่อื่นหรือแก่บุคคลอื่น ก็เท่ากับว่าแจกจ่ายธรรมะ เป็นการให้ทานที่ประเสริฐที่สุด และเป็นการทำบุญที่สำคัญ
ทำไมโบราณว่า จารึกธรรมหนึ่งอักษร
เท่ากับสร้างพระพุทธปฏิมาหนึ่งองค์
มีคติแต่โบราณบอกว่า การสร้างพระธรรม แม้แต่หนึ่งตัวอักษร ถือว่ามีคุณค่าเท่ากับได้สร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ โบราณถือกันมาอย่างนี้ เพราะถ้าได้ทำบุญสร้างอักษรจารึกพระธรรมไปแล้ว ก็จะทำให้คนได้รู้เข้าใจว่า จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง
แม้แต่เราจะรู้จักปฏิบัติต่อพระพุทธรูปถูกต้อง เราก็ต้องรู้จักพระธรรมด้วย เพราะพระพุทธรูปนั้น เป็นแต่เพียงวัตถุที่สร้างเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักคำสอน เราก็ไม่รู้ว่าจะมีพระพุทธรูปไปทำไม แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อพระพุทธรูปนี้
การที่เราได้นึกถึงพระพุทธรูป และไปหาพระพุทธรูปมา หรือไปไหว้พระพุทธรูป ก็เพราะว่า เราได้รู้จักพระธรรม ได้รู้จักคำสอนว่า อ๋อ พระพุทธรูปนี้ เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีพระคุณอย่างนั้นๆ เราจึงได้แสดงความเคารพนับถือพระองค์ อย่างนี้เรียกว่ารู้จักพระพุทธคุณด้วยอาศัยธรรมะ เพราะฉะนั้น การให้ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
นอกจากนั้น เวลาเราไหว้พระพุทธรูป เราจะทำใจอย่างไรถูกต้อง ก็ต้องอาศัยพระธรรมมาสอนอีกเหมือนกัน ว่าเวลาไหว้พระนะ จะต้องทำจิตใจให้สงบ ให้ผ่องใสเบิกบานอย่างนั้นๆ ระลึกพระคุณอย่างนั้นๆ การที่เราปฏิบัติถูกต้อง ก็เพราะอาศัยพระธรรม
พระธรรมมีความสำคัญอย่างที่กล่าวมา ท่านจึงถือว่าการสร้างพระธรรม แม้แต่เพียงตัวอักษรหนึ่ง มีค่ามากเท่ากับสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ แล้วถ้าสร้างหลายตัวอักษร ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น คำสอนธรรมะนี้จารึกข้อธรรมที่สำคัญทุกอย่างไว้ เป็นเครื่องสืบต่อพระศาสนา
อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญที่แสดงถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการสร้างหนังสือธรรมะ หรือคัมภีร์ขึ้นมาเผยแพร่
ทำบุญให้ดี ทำทีเดียวได้ครบทั้งทาน-ศีล-ภาวนา
การที่โยมมาทำบุญวันนี้ อย่างที่ทำกันมาทุกๆ เดือน ถวายทานแล้วมาสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตร แล้วก็มาบำเพ็ญธรรมทานอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นก็เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยา คือการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเราได้ทำกันในด้านต่างๆ ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เห็นชัดๆ ก็คือทาน
ตอนแรกก็ถวายทาน ถวายภัตตาหาร แล้วก็รักษาศีล ดังที่ได้สมาทานศีลกันเมื่อกี้นี้ แล้วก็ได้ภาวนา คือทำจิตใจและสติปัญญาให้เจริญงอกงามขึ้น ทำจิตให้เจริญด้วยการทำใจให้สงบ ให้เบิกบานผ่องใส แล้วก็เจริญปัญญาด้วยการฟังธรรม เมื่อฟังธรรมะไปแล้ว ใจคอสบาย เกิดความสว่าง เข้าใจธรรมะ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนมากขึ้น ก็เจริญปัญญา แม้จะยังไม่ได้บำเพ็ญสมาธิอะไรก็เรียกว่าเป็นภาวนา
รวมแล้วก็คือปฏิบัติตามหลัก 3 ประการที่เรียกว่าเป็นบุญกิริยา คือ ทาน ศีล และภาวนา ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง มาทำบุญกันในวันนี้ ก็ได้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้ทั้งทาน ทั้งศีล และภาวนา
ทำบุญสูงขึ้นไป กลายเป็นบารมี
ว่าถึงการทำบุญนี้ แยกได้เป็นหลายระดับ คือในขั้นต้นๆ นี้เราอาจจะทำพอเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป เช่นว่า ในการบำเพ็ญทานเราก็อาจจะแบ่งปันบริจาคบำรุงต่างๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับความมั่นคงงอกงามของการรักษาศีลและสำหรับการบำเพ็ญภาวนา หรือในการรักษาศีล ก็รักษาพอเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีงาม สูงขึ้นไปก็เป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญสมาธิอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลทำความดีในขั้นพื้นฐาน สำหรับการก้าวไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้นไป
อีกระดับหนึ่ง บางทีเราอาจจะอยากปฏิบัติให้ยิ่งกว่านั้น จึงมีการทำดี ในขั้นเป็น “บารมี” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจขั้นหนึ่ง คือบางท่านไม่ได้คิดแต่เพียงว่า ทำบุญ หรือทำความดีเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น แต่อยากจะทำให้เป็นบารมี ซึ่งเป็นคำสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ใดต้องการจะทำความดีให้ยวดยิ่งให้เป็นพิเศษ ก็ทำให้ถึงขั้นเป็นบารมี
ในขั้นบารมี ถามว่าบารมีเป็นอย่างไร คำว่า “บารมี” นั้นก็คล้ายๆ กับคำที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เราเคยได้ยินคำที่พูดว่า บรม หรือปรม คำว่าบรมหรือปรมนี้เป็นคำชุดเดียวกับบารมี และคำว่าบารมีนั้น ก็มาจากคำว่าบรมหรือปรมนั่นเอง
บรมหรือปรมแปลว่าอย่างยิ่ง เช่นบรมสุข ก็แปลว่าความสุขอย่างยิ่ง หรือเราเรียกบุคคลที่สูงสุด อย่างที่นำมาใช้กับสมเด็จพระราชินี ก็เรียกพระบรมราชินี ใช้กับบุคคลก็ตาม ใช้กับอะไรก็ตาม ก็ใช้ในระดับสูงอย่างยิ่ง หรือสูงสุด
คำว่าบรม ก็มาเป็นบารมี “บารมี ก็คือธรรมะ หรือ คุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อจะบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง”
จะเห็นว่าเป็นเรื่องสูงทั้งนั้น การปฏิบัติและคุณธรรมที่ปฏิบัตินั้น ก็บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด และบำเพ็ญไปก็มีจุดหมายที่จะบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุด เช่นเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า
ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้ แต่ก่อนก็เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญธรรมะต่างๆ ธรรมะที่พระองค์บำเพ็ญนั้น มีจุดหมายสูงยิ่งว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เลยบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เหนือกว่าที่คนธรรมดาจะทำได้ จึงเรียกว่าเป็น “บารมี”