คำวัด - อนุโมทนา- อนุโมทนาบัตร
"สาธุ" มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ (หรือ สธฺ) ในความหมายว่า สำเร็จ และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธ + รู = สาธุ) หมายถึง ผู้ใดยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ย่อมให้สำเร็จ ดังนั้นผู้นั้นชื่อว่า สาธุ (ยังประโยชน์ของตนและชองผู้อื่นให้สำเร็จ) ดังเช่น ทายกที่ไปทำบุญมา เมื่อเจอญาติมิตรเพื่อนฝูง หลังจากเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วมักจะตามด้วยการให้ส่วนบุญว่า รับส่วนบุญด้วยนะ และโดยมากมักจะรับกันว่า สาธุ นั่นคือ การอนุโมทนา
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า อนุโมทนา (อะ-นุ-โม-ทะ-นา) แปลว่า ความยินดีตาม ความพลอยยินดี หมายถึง การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญ หรือความดีของผู้อื่นทำ
อนุโมทนา อาจทำได้ด้วยคำพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เช่น ได้ยินเสียงย้ำฆ้องกลองที่วัดในตอนเย็น แสดงว่าพระท่านทำวัตรเย็นจบ ก็ยกมือขึ้นประนมไหว้เปล่งวาจาว่า “สาธุ” เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วก็ยกมือสาธุ เป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย
เรียกการพูดแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่นว่า อนุโมทนากถา
เรียกบุญที่เกิดจากอนุโมทนาตามตัวอย่างข้าต้นว่า อนุโมทนามัยบุญ
ส่วนคำว่า “อนุโมทนาบัตร” (อะ-นุ-โม-ทะ-นา-บัด) เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า หนังสือรับรองการบริจาคที่วัดออกให้ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญ เรียกว่า “ใบอนุโมทนา” ก็มี
อนุโมทนาบัตร เป็นหลักฐานแสดงการบริจาคทรัพย์ให้แก่วัด เพื่อบำรุงศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุ ตั้งทุนบำรุงการศึกษา ถวายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร หรือ กิจกรรมอื่นใดในวัดนั้นๆ
นอกจากเป็นหลักฐานสำหรับวัดแล้ว ยังเป็นการบำรุงศรัทธาสร้างวามปลื้มปีติแก่ผู้บริจาคเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะแสดงถึงความบริสุทธิ์ในการรับ ขณะเดียวกันอนุโมทนาบัตรยังใช้เป็นหลักฐานการขอลดภาษี หรือขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ “สัมโมทนียกถา” (สัม-โม-ทะ-นี-ยะ-คา-ถา) แปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจ คำพูดที่ทำให้ประทับใจ เรียกว่า อนุโมทนากถา ก็ได้
สัมโมทนียกถา ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณ หรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดี หรือบุญกุศลที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆังไว้ในพุทธศาสนาว่า กล่าวสัมโมทนียกถา
"พระธรรมกิตติวงศ์"