|
|
วิธีจับพระสึก
วิธีจับพระสึก
คอลัมน์ ศาลาวัด
ได้อ่านบทความในหนังสือ "มุมมองใหม่ในกฎหมายอาญา" ของ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน
หัวข้อ "วิธีจับพระสึก" เห็นว่ามีความน่าสนใจในเชิงกฎหมาย จึงได้นำมาให้อ่านกัน มีเนื้อหาดังนี้ ...
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นพระภิกษุ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหามียาบ้าไว้ในครอบครอง
ซึ่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 29 กำหนดให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุที่ต้องข้อหาว่ากระทำความผิดอาญาสละสมณเพศ เมื่อไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว
พนักงานสอบสวนพาจำเลยไปวัดที่จำเลยสังกัด เพื่อให้จำเลยสึก แต่จำเลยไม่ยอมสึกและเจ้าอาวาสก็ไม่ยอมสึกให้ พนักงานสอบสวนจึงพาจำเลยกลับไปสถานีตำรวจ ให้พนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป จำเลยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอลาสึกก่อน"
พนักงานสอบสวนจึงได้ให้จำเลยถอดสบงและจีวรเอง แล้วนำเสื้อยืดคอกลมกางเกงขาสั้นมาให้จำเลยใส่
ต่อมา เมื่อจำเลยได้ประกันตัว ก็นำผ้าเหลืองมานุ่งห่มอีก จึงถูกดำเนินคดีฐานแต่งกายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุโดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเข้าใจว่าการกล่าวลาสิกขาต่อหน้าพระ พุทธรูป ไม่ทำให้ตนขาดจากความเป็นพระภิกษุ เพราะเป็นการกระทำโดยพลการของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 6782/2543 ฏส.12 น.96)
ประเด็นปัญหาตามข้อเท็จจริงของคำพิพากษาฎีกานี้ จึงอยู่ที่ว่า
1.การที่พนักงานสอบสวนให้จำเลยกล่าวลาสิกขาต่อหน้าพระ พุทธรูปที่อยู่บนสถานีตำรวจนั้นเป็นการจัดการให้จำเลยสละสมณเพศ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หรือไม่?
2.การกระทำของพนักงานสอบสวนตามประเด็นปัญหาข้อแรก เป็นการกระทำโดยพลการหรือไม่?
3.การสละสมณเพศของจำเลยสมบูรณ์หรือยัง?
4.จำเลยรู้หรือไม่ว่าตนได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว?
5.ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่?
การขาดจากความเป็นพระภิกษุ ตามพระธรรมวินัยนั้น ทางหนึ่ง ได้แก่ กรณีที่พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ไว้ 4 ประการ คือ (1) เสพเมถุน (2) เอาของที่เจ้าของไม่ให้ซึ่งพระ ราชาจะลงโทษถึงประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ (สมัยนั้นได้แก่การลักเอาของที่มีค่าตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป) (3) ฆ่ามนุษย์ และ (4) อวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน (วินัยปิฎก เล่มที่ชื่อมหาวิภังค์)
ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นอันขาดจากความเป็นภิกษุทันที โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองใดๆ และห้ามอุปสมบทอีก
ดังนี้ ภิกษุที่ประพฤติพรหมจรรย์อยู่จึงย่อมจะรู้อยู่แก่ใจดีว่า ตนได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ต้องอาบัติถึงปาราชิกหรือไม่ และตนได้พ้นจากความเป็นภิกษุหรือยัง?
|
Update : 18/6/2554
|
|