หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-วัดท่าสุทธาวาส ๑
    วัดท่าสุทธาวาส ๑

               วัดท่าสุทธาวาส  อยู่ในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีความเกี่ยวพันกับ "สมเด็จ"  ถึง ๓ พระองค์เป็นวัดที่มีความสำคัญ มีความงดงามมาก โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถที่แปลก และมีภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีแทรกอยู่ด้วย
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชประวัติของ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ไว้ว่า  ในการทำสงครามกับพม่าแต่ละครั้งนั้น  พระองค์ได้ทรงทำพิธีชิงชัยภูมิ ตัดไม้ข่มนาม แล้วไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ที่วัดป่าโมก ก่อนทุกครั้งจากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินยกกองทัพไปปราบปรามข้าศึกต่อไป  วัดท่าสุทธาวาส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก เขตตำบลบางเสด็จ เดิมชื่อบ้านวัดตาล หรือบ้างก็ว่าชื่อเดิมคือ วัดสุวรรณภูมิ  ชัยภูมิที่ตั้งวัดอยู่ตรงกันข้ามกับปากแม่น้ำน้อย ซึ่งจะไหลผ่านแขวงวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยไหลมาจากจังหวัดลพบุรี  จะมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ จึงทำให้ลำน้ำตรงหน้าวัดมีความตื้นเขินมาก กับทั้งมีหาดทรายยาวยื่นไปจรดฝั่งตรงข้าม  สามารถเดินข้ามได้โดยสะดวกแทบทุกฤดูกาล การทัพของสมเด็จพระนเรศวร ฯ เกือบทุกครั้งจึงจะรวมพล รวมกองทัพช้าง กองทัพม้า ไพร่พล แล้วเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ณ  บริเวณนี้ แล้วต่อจากนั้นก็จะเสด็จไปทำพิธีชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม แล้วนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ที่วัดป่าโมก ซึ่งที่ตั้งของวัดป่าโมกก็อยู่ตรงกันข้ามกับวัดท่าสุทธาวาส
                ในการพระราชสงครามครั้งสำคัญ ๆ ของสมเด็จพระนเรศวร ฯ เช่น คราวตามตีทัพพม่าที่ตั้งอยู่ ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ทรงนำปืนใหญ่ลงบรรทุกในเรือไป ระดมยิงค่ายของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ที่ตั้งค่ายอยู่ที่วัดป่าโมก  จนต้องถอยค่ายร่นหนีออกไป เพราะทนอำนาจการยิงของปืนใหญ่ไม่ไหว และการสงครามครั้งที่สำคัญที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ฯ คือ ครั้งสงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕  กับพระมหาอุปราชาแม่ทัพฝ่ายพม่า ก็ได้ทรงยกทัพมาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณวัดท่าสุทธาวาส จากนั้นแยกทัพไปทางลำแม่น้ำน้อย และเดินทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นทางที่สะดวกและใกล้
                สันนิษฐานจากบริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ จะเป็นที่ตั้งของกองทัพเพื่อเตรียมยกพลข้ามลำน้ำ ตำบลที่ตั้งของวัดจึงมีชื่อว่า บางเสด็จ (ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นอีก)  บริเวณหมู่บ้านเรียกว่า หมู่บ้านโรงช้าง  ซึ่งชาวบ้านดั้งเดิมบอกว่า เคยใช้เป็นที่เลี้ยงช้างมาก่อน
                ส่วนหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดนี้ ก็เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโรงม้า ซึ่งใช้เป็นที่เลี้ยงม้ามาก่อนเช่นกัน ทั้งนี้เพราะบริเวณแถบนี้เป็นที่ลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีอาหารที่จะหาเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้าได้โดยสะดวก รวมทั้งการนำช้าง นำม้าลงอาบน้ำที่หาดทรายชายน้ำก็เป็นไปได้ง่าย จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณวัดท่าสุทธาวาสนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทัพ
                วัดท่าสุทธาวาส ไม่มีประวัติการสร้าง มีแต่จากหลักฐานของกรมศาสนาว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ.๒๑๗๕  แสดงว่าในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ที่มาตังทัพเพื่อข้ามลำน้ำบริเวณวัดนี้นั้น ยังมิได้มีการสร้างวัดท่าสุทธาวาส
                ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ตำบลบ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก อยู่ติดกับศาลาการเปรียญของวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งประวัติตอนนี้บอกว่า เดิมชื่อบ้านวัดตาล ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘  จึงเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านบางเสด็จ  และในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง โครงการปั้นตุ๊กตาชาววังด้วยดินเหนียว เป็นประดิษฐกรรมดินเหนียว ที่ดังไปทั่วโลกเลยทีเดียว
                ดังนั้นหากไปวัดท่าสุทธาวาส เมื่อเลี้ยวเข้าไปในวัดแล้ว จะเอารถเข้าไปจอดได้ข้าง ๆ ศาลาการเปรียญ ทางด้านซ้ายของศาลาการเปรียญเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นที่จำหน่ายสินค้าของศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ  เรียกว่า ถ้าเราขึ้นไปชมประดิษฐกรรมที่ศูนย์แห่งนี้ ขอรับรองว่าให้ใจแข็งแค่ไหนก็อดซื้อไม่ได้ ยิ่งคุณผู้หญิงละก็จ่ายเงินแน่นอน เพราะประการแรกสวยงาม น่ารักไปทั้งนั้น ประการที่สองมีมากแบบ ทั้งแบบตัวน้อย ๆ แบบเป็นชุดไทยแบบเอาไปวางเป็นเครื่องประดับบ้าน อย่างอื่นที่ไม่ใช่ตุ๊กตาก็มีประการสำคัญคือ ราคาถูกมาก ตุ๊กตาที่ศูนย์แห่งนี้หากยกไปตั้งขายที่ท่าอากาศยาน จะแห่งไหนก็ตามแต่ราคาจะแพงกว่าที่นี่ไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เท่าตัว หรือแค่ไปซื้อตามศูนย์การค้า ก็จะแพงกว่าอย่างน้อยก็เท่าตัว
                จิตรกรรมฝาผนังตามวัดในจังหวัดอ่างทองนั้นมีหลายวัด  วันนี้จะขอเล่าเฉพาะวัดท่าสุทธาวาส วัดอื่นก็มี เช่น ที่วัดหลวงสุนทรราม มีภาพเขียนไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา

                จิตรกรรมฝาผนังวัดท่าสุทธาวาส  เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๖  เป็นภาพจิตรกรรมที่เกิดขึ้นหลังสุดของวัดในอ่างทอง เขียนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗  ก่อนจะทราบรายละเอียดของภาพจิตรกรรมฝาผนังของอุโบสถวัดท่าสุทธาวาส ต้องมาทราบความเป็นมาเสียก่อน

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงพระสุบินว่า สมเด็จพระนเรศวร ฯ ให้บูรณะอุโบสถแห่งนี้ เมื่อได้เสด็จมาที่วัดนี้ ตรงกับพระสุบิน จึงได้มาบูรณะอุโบสถ บูรณะวัด และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นในอุโบสถ ภาพจิตรกรรมเป็นฝีมือช่างจากกรมศิลปากร ช่างจากในวัง และมีพระประสงค์จะให้นักเรียน ได้ฝึกงานภาคสนาม จึงให้อาจารย์ และนักเรียนแผนกเขียนลายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ มาเขียนผนังเหนือประตูด้านหลังพระประธาน เขียนภาพไตรภูมิ ผนังด้านข้างซ้าย ขวา ของพระประธาน เหนือหน้าต่างเขียนภาพเรื่องมหาชนก ผนังระหว่างหน้าต่างซ้ายขวาของพระประธาน เขียนภาพลายรวงข้าวซึ่งคือ สัญลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง ผนังระหว่างประตูหน้าหลังพระประธาน เขียนเรื่องสงครามยุทธหัตถี เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕  และภาพเรื่องเมืองอ่างทอง ส่วนผนังระหว่างประตูด้านหน้าพระประธาน เขียนเรื่องของตำบลบางเสด็จ และภาพครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ใน พ.ศ.๒๕๑๖ - ๒๕๑๗  ส่วนบานหน้าต่าง และประตู เขียนภาพทวารบาล ตามคติของช่างไทยโบราณ
                เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จมาตรวจเยี่ยมการปฎิบัติงานเขียนภาพ ณ วัดท่าสุทธาวาส พระองค์ได้แสดงพระอัจฉริยภาพให้ปรากฎ โดยทรงวาดภาพ ผลมะม่วงลงบนฝาผนังอุโบสถ งานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนี้จึงนับว่าได้ยังประโยชน์ให้เกิดความรู้ และเป็นการสืบสานเพื่ออนุรักษ์จิตรกรรมไทย ให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป
                นอกจากภาพจิตรกรรมแล้ว ด้านนอกของบานหน้าต่างประตูของอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำ โดยหน้าต่างทั้ง ๑๐ ช่องเขียนเรื่อง ทศชาติ ส่วนบนบานประตูด้านหน้า และหลังเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  โดยส่วนบนเป็นภาพพระพุทธรูปปางนาคปรก  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันของคนเกิดวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันประสูติ  ตรงกลางเป็นพระนามาภิไภย ส.ธ.  อยู่ในวงกลมซึ่งเขียนเป็นลายจักรสานไม้ไผ่  ต่อลงมาเป็นรูปแพะ ๒ ตัว แต่มิได้เขียนให้หันหน้าเข้าหากัน ต่ำลงมาเป็นรูปนาค ๒ ตัว หันหน้าออกเปรียบเหมือนนาคกำลังให้น้ำ แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไปทั่ว ส่วนล่างของภาพเป็นเครื่องหมายของราชวงศ์จักรี ที่รองรับด้วยช้างเผือก ซึ่งถือเป็นสัตว์คู่บุญบารมีพระมหากษัตริย์  และเป็นสัตว์ที่สมเด็จพระเทพรัตนสุดา ฯ โปรดมาก ด้านล่างสุดเป็นภาพปริศนาธรรม เขียนรูปบัวสี่เหล่าตรงกลางเป็นรูปเกียรติมุข หมายถึง ผู้ที่คอยทำลายความไม่ดีทั้งหลาย และมุมล่างซ้าย ขวาเป็นรูปดวงดาว ซึ่งเป็นเครื่องหมายของราชบัลลังก์
               พระประธานในอุโบสถ  เป็นโบราณวัตถุ เป็นพระพุทธรูปหินทรายปั้นปูนปิด ทองทับ ในอุโบสถยังมีพระพุทธรูปหินทราย ๒๐ องค์ศิลปะอยุธยาตอนต้น ที่มีทั้งอิทธิพลของอยุธยา ลพบุรี และอู่ทอง  มีใบเสมาหินทรายแดง ๑๖ ใบ ลวดลายที่พระศอ และเอว ต่างกันไป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓  ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔  และยังมีพระบรมสารีริกธาตุพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมาก
                ยังมีอีก เครื่องลายคราม ชิ้นส่วนพระหินทราย ชิ้นส่วนลายปูนปั้น
                เจ้าอาวาสวัดท่าสุทธาวาส  มีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่คือ สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๔๘  พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนสุดา ฯ และได้ตั้งรูปจำลองของพระมหาธาตุเจดีย์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในอุโบสถ ทางด้านซ้ายติดกับผนังโบสถ์ และตั้งตู้รอรับการบริจาค สถานที่ก่อสร้างอยู่ทางด้านขวาของอุโบสถ
                ในการบูรณะวัดท่าสุทธาวาส ครั้งนี้นอกจากอุโบสถที่สร้างอย่างงดงามแล้ว ยังได้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ประดิษฐานไว้ ณ วัดท่าสุทธาวาสโดยสร้างไว้ทางด้านหลังขวาของอุโบสถ พระบรมรูปของทั้งสองพระองค์ประทับนั่งทรงเครื่องกษัตริย์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างของทั้งสองพระองค์ กำพระแสงดาบ ซึ่งวางพาดอยู่บนพระเพลา ด้านหลังขวาของอุโบสถเช่นเดียวกัน ได้สร้างพระตำหนักทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เอาไว้ด้วย ซึ่งจะได้เป็นที่ทรงงานเมื่อมาตรวจงานก่อสร้าง และเสด็จมาในภายหลัง ตำหนักนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชม

                เส้นทาง ที่จะเดินทางมายังวัดท่าสุทธาวาส ผมขอแนะนำเอาไว้ ๒ เส้นทาง
                เส้นทางแรก เส้นนี้ออกจะอ้อม แต่ได้แวะเที่ยวหลายแห่งคือจากกรุงเทพ ฯ ผ่านรังวสิต ตรงเรื่อยไปตามถนนพหลโยธินจนถึงประมาณ กม.๕๔ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเอเซีย พอถึงทางแยกซ้ายเข้าอยุธยา ก็เลี้ยวซ้าย ตรงเรื่อยไปจนข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวร ฯ พอลงสะพานก็เลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวซ้ายไปหัวรอ ถึงหัวรอเลี้ยวซ้าย (ตลาดหัวรอของกินแยะ แต่วันนี้จะพาไปตลาดวิเศษชัยชาญด้วย) ผ่านวัดสำคัญหลายวัด และผ่านพระราชวังโบราณ ไปจนถึงผ่านทางแยกเข้าวัดธรรมิกราช ก็จะมาถึงหัวแหลม ซึ่งจะมีทางแยกขวาเลี้ยวขวา เพื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่ถนนสาย ๓๐๙ ซึ่งเป็นถนนสายอยุธยา - อ่างทอง ไปตามถนนสายนี้ จะผ่านวัดสำคัญวัดหนึ่งคือ วัดภูเขาทอง แต่ความฝสำคัญที่น่าจะยิ่งกว่าคือ พระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร ฯ ซึ่งราชานุสาวรีย์แห่งนี้ผมว่าสร้างไม่เหมือนแห่งอื่น ๆ ซึ่งมักจะสร้างประทับช้างในการทำศึกยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา เช่น ที่ดอนเจดีย์เป็นส่วนใหญ่ หรือสร้างประทับนั่งบ้าง ประทับยืนบ้าง หรือสร้างประทับคู่กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นทั้งพระอนุชา และพระสหายศึกคู่พระทัย แต่ที่หน้าวัดภูเขาทองแห่งนี้ จะสร้างประทับม้า ทรงม้าพระหัตถ์ ทรงทวนผม ถึงได้บอกว่าแปลกกว่าที่อื่น ๆ เมื่อไปตามถนนสาย ๓๐๙ ประมาณ ๕ กม.จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่งดงามสง่าอยู่ทางด้านซ้ายมือ ด้านหลังจึงจะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และวัดภูเขาทอง
                วัดภูเขาทอง  มีประวัติจากคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวไว้แต่เพียงว่า สมเด็จพระราเมศวร ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๐ มีประวัติอยู่เพียงแค่นี้ แต่ประวัติต่อมาที่บันทึกไว้คือ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีได้กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองจึงได้สร้างเจดีย์ทรงระฆังขึ้นบนฐานสูง อยู่กลางทุ่งภูเขาทอง (ตรงข้ามคือ ทุ่งลุมพลี) เสมือนเป็นการประกาศชัยชนะที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา เจดีย์จึงเป็นทรงมอญ องค์ระฆังจะผายใหญ่กว่าเจดีย์ไทย ต่อมาส่วนยอดเดิมได้หักพังลง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะขึ้นใหม่เป็นแบบไทย มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งแต่อยู่บนฐานแบบมอญ ในปัจจุบันได้บูรณะใหม่ทาสีขาวทั้งองค์
                การที่พระบรมราชานุสาวรีย์ แห่งนี้สร้างให้สมเด็จพระนเรศวร ฯ ประทับม้า ทรงทวน น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญในการรบครั้งสำคัญที่เรียกว่าเป็นศึกกษัตริย์ คือเมื่อ พ.ศ.๒๑๒๙ พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรง เป็นจอมทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยาด้วยพระองค์เอง จึงเรียกว่าเป็นทัพกษัตริย์ รวมพลได้ ๒๕๐,๐๐๐ กองทัพของพม่า ยกเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สามารถตีหักเข้ามาได้และฝ่ายไทยรู้ตัวว่าพม่าจะยกมาตีแน่จึงมีการเตรียมการล่วงหน้า เช่น การเกณฑ์คนออกทำนา ทั่วทุกทำเลนา ในจังหวัดกรุง ฯ ระดมคนทั้งในกรุง ฯ และหัวเมืองชั้นในเข้ามาประจำรักษาพระนครเช่นทุกคราว แต่คราวนี้ไม่ยอมให้ผู้คนหนีไปหลบซ่อนตามป่า ตามดง ให้ทหารที่ชำนาญศึก ชำนาญการรบในป่าตั้งเป็นนายกองอาสา ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนที่หลบหนีตั้งเป็นกองโจร เป็นกำเนิดของสงครามกองโจร ให้หัวหน้ากองโจรนี้คอยตีตัดเสบียงอาหารของทหารพม่าที่ลำเลียงลงมา ทำให้กองทัพข้าศึกขาดแคลน อดอยาก และเนื่องด้วยกำลังพลของกองทัพไทย รวบรวมพลได้เพียง ๘๐,๐๐๐ คน จึงใช้วิธีรบที่เคลื่อนที่ทัพอย่างรวดเร็วเข้าตีแห่งหนึ่งแล้วเคลือนทัพไปตีอีกแห่งหนึ่งเรียกว่าเป็นการ "เดินทัพเส้นใน" เป็นการปฏิบัติเป็นครั้งแรก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกรบเองหลายคราวเช่น
                เสด็จออกปล้นค่ายพระยานคร ที่ปากน้ำพุทธเลา ข้าศึกแตกหนีตีได้แล้วเผาค่ายข้าศึกเสีย
                เสด็จออกปล้นค่ายทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายจึงไล่ฟันแทงข้าศึกไปจนถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงจากหลังม้า ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารขึ้นปีนเพนียด จะเข้าค่ายพระเจ้าหงสาวดีแต่ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ พระแสงดาบที่ทรงในวันนั้นคือ พระแสงดาบคาบค่าย มาตราบเท่าทุกวันนี้

                การที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ไปปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีครั้งนี้ ทรงกระทำอย่างห้าววหาญอย่างทหารคนหนึ่ง พระเจ้าหงสาวดีถึงกับตรัสว่า พระนเรศวรนี้ทำศึกห้าวหาญนัก ถ้าออกมาอีกจะเสียทหารสักเท่าใดก็ยอม จะแลกเอาตัวพระนเรศวรให้จงได้ จึงให้ยอดฝีมือทวนของพม่าชื่อ "ลักไวทำมู" ทหารเอกเลือกทหารที่มีฝีมือ ๑๐,๐๐๐ ไปรักษาค่ายกองหน้า รับสั่งกำชับไปว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกให้คิดอ่านจับเป็นให้จงได้
                ครั้นถึงเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ออกไปตั้งทัพซุ่มอยู่ที่ทุ่งลุมพลี หมายจะเข้าปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดี ลักไวทำมู คอยสอดแนมอยู่จึงให้ "ทหารทศ" ยอดนักดาบคุมพลออกมารบล่อ หนีไปทางที่ลักไวทำมูซวุ่มทัพอยู่ ก็กรูกันออกมาห้อมล้อมสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกไวทำมูตาย ทหารทศเข้าแก้ทรงฟันด้วยพระแสงดาบตายอีก ๑ คน
                น่าจะด้วยเหตุผลนี้พระราชานุสาวรีย์แห่งนี้จึงสร้างประทับม้าทรงพระแสงทวน
                เลยไปจากทางแยกเข้าราชานุสาวรีย์ ก็จะไปถึงทางแยกไปตัวอำเภอป่าโมก เลยไปอีกหน่อยคือ ทางแยกซ้ายเข้าวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งติดอยู่กับวัดสระแก้ว ที่เลี้ยงเด็กกำพร้า
                เส้นทางที่ ๒ ไปเช่นเดียวกับเส้นทางแรก จนเลยอยุธยาหจะมีทางแยกซ้ายไป อ.ป่าโมก เลี้ยวซ้ายไปจนบรรจบกับถนนสาย ๓๐๙ ก็เลี้ยวขวาไปวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งห่างจากตัวจังหวัด ๑๗ กม.
                ไปกินผัดเผ็ดปลาดุก ที่วิเศษชัยชาญ ไปหาขนมอร่อย ๆ กิน จากวัดท่าสุทธาวาส เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ๓๐๙ ไปทางอ่างทองจะผ่านวัดสระแก้วที่อยู่ติดกัน วัดสระแก้วเลี้ยงเด็กกำพร้าจำนวนมาก หากมีจิตศรัทธาจะบริจาคปัจจัย ข้าวสาร อาหารแห้ง อะไรก็ได้ทั้งนั้น เด็กกำพร้ามีหลายร้อยคน
                เมื่อถึงตัวเมืองอ่างทองแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอโพธิ์ทองประมาณ ๓ กม.จะมีสามแยก หากตรงไปจะไปยังวัดพระนอนขุนอินทประมูล มีเวลาน่าจะไปใกล้นิดเดียว หากไม่ตรงไปโพธิ์ทอง ให้เลี้ยวซ้ายไป ๙ กม.จนข้ามสะพาน แล้วก็จะถึงทางเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดโรงทอง ยังไม่เข้าตลาดไปกินข้าวก่อน ตรงต่อไปผ่านวัดเลยวัดทางฝั่งขวาคือธนาคารกรุงไทย ให้เลี้ยวซ้ายแต่ห้ามรถเข้า หากรถเข้าไปเลี้ยวซ้ายตรงข้ามธนาคารไปสัก ๒๐ เมตร ก็เลี้ยวซ้ายจอดหน้าร้านอาหารที่จะไปชิม เมื่อรถเข้าไม่ได้ต้องวิ่งเลยไปหน่อยหนึ่งแล้วค่อยเลี้ยวซ้ายจะเข้ามาได้
                ต้องสั่งมาชิมคือกุ้งทอดเกลือแต่เป็นกุ้งเลี้ยง เป็นอีกร้านหนึ่งที่ทอดเก่ง ราคาย่อมเยา
                สลักหมู/เนื้อสัน ตามแบบอ่างทอง สิงห์บุรี ชอบใจซื้อน้ำสลัดกลับมาได้
                ผัดตับ อาหารจานเด็ดอีกจานหนึ่งประจำร้านกุ่ย ไม่ควรพลาด
                บ่ะเต็ง หากินยากนักในกรุงเทพ ฯ อาจจะพอมีตามร้านข้ามต้มเครื่องบางแห่งเช่น แถวปากทางเข้าหมู่บ้านเสรี แต่ที่ร้านจะใส่จานยกมาเลย ติดใจ ซื้อแบบกระป๋องกลับไปได้ แกงป่าปลาน้ำเงิน รสเข้มข้น จะซดตอนยกมาร้อน ๆ หรือราดข้าวตามด้วยบ่ะเต็งก็เด็ด
                ปลาดุกผัดเผ็ด อีกจานที่ข้ามไปไม่ได้ เอาก้างติดเนื้อปลาทอดจนกรอบแล้วจึงเอามาผัดกับเครื่องแกง จานนี้เมื่ออิ่มแล้วจะไม่มีอะไรเหลือ หมดเลี้ยงเอาข้าวคลุกก้นจานยังได้
                ของอร่อยยังมีอีกแยะเช่นเป็ดพะโล้ ทอดมันชิ้นโตเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ
                ได้ใบรับรองคลีน ฟู๊ด กู๊ด เทสท์ ผมชิมร้านนี้มาครบ ๓๑ ปี พอดี ตั้งแต่ร้านยังอยู่ที่ท่าน้ำท้ายตลาด ก่อนกลับซื้อชามะขาม น้ำสลัด ซ๊อสเหล้าแดง บะเต็งกระป๋อง ขนมเกลียวกลับมา
                อิ่มแล้วเอารถกลับไปจอดในวัด เดินออกจากวัดข้ามถนนเข้าซอยตลาด ปากซอยมีร้านขายหนังสือพิมพ์ ถึงตัวตลาดสด สารพัดของกินและอาหารเช่นปลาแห้ง ปลาแดดเดียว พอถึงตลาดหากเลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมมีแผงขายขนมกง เจ้านี้ขนมโบราณแท้ ฝั่งตรงข้ามก็เป็นร้านขายขนมมีขนมชั้นเหนียวหนึบ ข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ เลยไปอีกนิด ร้านนี้เชลล์ชวนชิมมาหลายสิบปีแล้ว จนมาเปิดร้านในกรุงเทพ ฯ ใหญ่กว่าร้านที่วิเศษชัยชาญหลายเท่า ขายขนมอร่อย ๆ ทั้งนั้นเช่น ขนมชั้น ข้ามต้มผัด สารพัดขนม ร้านอยู่ที่ปากซอยทางเข้าตลาดอีกซอยหนึ่งก็มี
                และเลยทางเข้าตลาดสดไป หากเป็นยามเช้าจะติดตลาดนัด อาหารยามเช้าอร่อย ๆ ทั้งนั้น จะขายกันริมถนนเต็มไปหมดนั่งซด ยืนซดได้เช่น โจ๊ก เลือดหมูร้อน ๆ ปลาท่องโก๋ ข้าวต้ม ขนมครก ฯ
                ปิดท้ายด้วยยาอายุวัฒนะที่ผมกินยานี้มากว่า ๑๐ ปี และมารดาของผมกินจนอายุได้ ๙๓ ปี จึงเสียชีวิต ซึ่งอายุวัฒนะเดี๋ยวนี้ เขาย้ายร้านใหม่ไปเปิดฝั่งตรงข้ามกับร้านเดิม เส้นทางคือ เดินผ่านหน้าร้านขนมไปแล้วเลี้ยวขวา เดินไปทางท่าน้ำร้านจะอยู่ทางขวามือ เดิมเป็นร้านถ่ายรูป ตอนนี้เลิกถ่ายไปนานแล้ว ขายยารวยกว่า วิเศษชัยชาญเมืองเก่าแก่สถานที่ท่องเที่ยวก็มี ร้ายขายวัตถุโบราณก็มีหลายร้าน

    ................................................................



    • Update : 17/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch