หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา /7
    ควรเห็นคุณค่าของอรรถกถา
    ที่ค้ำชูอยู่เคียงข้างพระไตรปิฎก เมื่อถือพระไตรปิฎก


    เมื่อถือพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานชั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้นก็จะมีการปิดรายการว่า เอาละ พระไตรปิฎกมีแค่นี้ ต่อจากนี้พระเถระ พระอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่เป็นนักปราชญ์ ก็ทำหน้าที่ช่วยกันรักษาพระไตรปิฎกนี้ไว้

    นอกจากรักษา ท่านก็มีหน้าที่อธิบายด้วย เพราะต้องสั่งสอนลูกศิษย์จำนวนมากมาย ซึ่งเมื่อศึกษาพระไตรปิฎกนั้น ก็อาจไปติดขัด ไม่เข้าใจบางส่วนบางตอนที่ยาก พระอาจารย์ผู้ใหญ่เหล่านี้ท่านสืบต่อคำสอนกันมา และถ่ายทอดคำอธิบายกันมาเรื่อย ตั้งแต่สมัยพุทธกาลไม่ขาดสาย

    พระเถระจนถึงพระมหาเถระผู้เป็นครูอาจารย์เหล่านี้ ก็อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน หรือผู้ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วคำอธิบายเหล่านี้ก็มารวบรวมกันเป็นคัมภีร์ระดับรองจากพระไตรปิฎก เรียกชื่อว่า อรรถกถา คือไม่จัดรวมเข้าในพระไตรปิฎก

    ตอนนี้เท่ากับมีคัมภีร์ ๒ ระดับ

    ระดับที่ ๑ คัมภีร์ที่จารึกพุทธพจน์ พร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวข้องที่เป็นหลักฐานดั้งเดิม เป็นมาตรฐานใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎก และ

    ระดับที่ ๒ คัมภีร์เคียงข้างพระไตรปิฎก ซึ่งมีมาแต่เดิมเหมือนกัน โดยถ่ายทอดกันมา เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา

    น่าสังเกตว่า การรักษาพระไตรปิฎก กับการรักษาอรรถกถานี้ต่างกัน คือ พระไตรปิฎกนั้นจะต้องรักษาไว้อย่างเดิม ตัวภาษาก็ต้องของเดิมคือภาษาบาลี แต่อรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นอย่างในลังกาสมัยก่อน เดิมนั้นก็รักษากันมาด้วยภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาของชาวลังกา หมายความว่า ผู้ศึกษาเรียนพระไตรปิฎกโดยอาศัยคำอธิบายของอรรถกถา จึงเรียนพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี ด้วยอรรถกาคือคำอธิบายที่เป็นภาษาสิงหลของชาวลังกาเอง

    เป็นเช่นนี้จนกระทั่งต่อมา พ.ศ. ๙๐๐ เศษ พระพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งอยู่ในอินเดีย จึงได้เดินทางมายังลังกา และแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี ตอนนั้นในอินเดีย พระพุทธศาสนาเสื่อมมากแล้วกลายเป็นว่าศูนย์กลางพระพุทธศานาเถรวาทได้มาอยู่ในลังกา

    พระพุทธโฆสาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย ต้องการจะให้คนอินเดียได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากหน่อย จึงต้องการอรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกที่อยู่ในลังกา ท่านจึงเดินทางจากอินเดียมาลังกา แล้วมาขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี เพื่อนำไปศึกษาในอินเดีย ตอนนี้เราจึงได้อรรถกถาที่เป็นภาษาบาลีอีก ก็เลยมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เป็นภาษาบาลี


    คัมภีร์พุทธศาสนามีหลายชั้น
    ทรงความสำคัญลดหลั่นลงมา


    ต่อจากนั้นก็ยังมีคัมภีร์รุ่นสืบมาหลังจากอรรถกถา กล่าวคือ เนื้อหาในพระไตรปิฎก ส่วนใดที่อรรถกถาอธิบายไว้ อาจารย์ใหญ่รุ่นต่อมาเห็นว่าอธิบายยังไม่พอ ควรจะให้ชัดกว่านั้น คือพุทธพจน์บางแห่งในพระไตรปิฎก พระอรรถกถาจารย์เห็นว่าง่าย รู้กันดีอยู่แล้ว เพราะรุ่นของท่านยังใกล้พุทธกาล ท่านก็ไม่อธิบาย พระอาจารย์รุ่นต่อมาเห็นว่าคนรุ่นหลังนี้ไม่เข้าใจ ก็อธิบาย หรือแม้แต่คำของพระอรรถกถาอาจารย์นั้นเอง คนรุ่นหลังก็อาจเข้าใจไม่ชัด ก็มีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญมาอธิบายขยายความไปอีก

    คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถานี้เรียกว่า ฎีกา ต่อจากฎีกาก็มี อนุฎีกา ลดหลั่นกันลงมา คัมภีร์เหล่านี้ใช้เป็นหลักที่จะตัดสินวินิจฉัยคำสอนในพระพุทธศาสนาลดหลั่นกันลงมา โดยถือว่าพระไตรปิฎกเป็นอันดับหนึ่ง เป็นมาตรฐานกลางซึ่งตัดสินเด็ดขาดว่าเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ต่อจากนั้นก็มีอรรถกถามาช่วยเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อ คือถ้าในพระไตรปิฎกนั้นเรามีข้อสงสัยอะไร ก็มาดูคำวินิจฉัยในอรรถกถา

    ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าอรรถกถามาตัดสินพระไตรปิฎก แต่หมายความว่า เราคนรุ่นหลังอ่านพระไตรปิฎกกันอาจจะเข้าใจไม่ชัดเจน พระอรรถกถาจารย์ก็มาอธิบายไว้ให้ชัด เราจึงใช้อรรถกถาเป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยในส่วนที่เรายังไม่ชัดเจน ต่อจากนั้นก็มีฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับต่อกันไป

    คัมภีร์เหล่านี้ท่านถือเป็นสำคัญสืบกันมา เพราะผู้ที่จะเรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาได้ ก็ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นครูอาจารย์เป็นผู้ที่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เชี่ยวชาญจัดเจนตลอดพระไตรปิฎก และช่ำชองทั่วตลอดในคัมภีร์ทั้งหลายในชั้นที่เหนือตนขึ้นไป และเมื่อนิพนธ์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเป็นที่ยอมรับของปราชญ์ด้วยกันในยุคนั้นแล้วจึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักของพระศาสนา

    ถ้าอยากดูว่าพรเถระปางก่อนท่านเชี่ยวชาญจัดเจนขนาดไหน ไม่ต้องไปถึงยุคอรรถกถาหรอก ขอให้ดูคัมภีร์ มังคลัตถทีปนี ที่พระสิริมังคลาจารย์นิพนธ์ไว้ที่เชียงใหม่เมืองไทยเรานี้เอง เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๐ เศษนิดหน่อย เป็นตัวอย่างก็จะเห็นชัดว่าพระเถระผู้ทรงพระศาสนา ท่านซื่อตรงเจนจบและมีระบบการแสดงหลักฐานอ้างอิงแม่นยำสมบูรณ์เพียงใด

    พระอาจารย์รุ่นหลังต่อจากยุคอรรถกถา ฎีกา ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในยุคนั้นๆ ที่มาแสดงคำสอนหรือคำอธิบายต่างๆ เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ หมด ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม แต่ละองค์ๆ ก็เรียก อัตตโนมติ คือ มติของบุคคล หรือเป็นมติส่วนตัวของท่านผู้นั้นๆ ซึ่งถือเป็นสำคัญน้อยลงมา

    เป็นอันว่า ถือพระไตรปิฎกเป็นหนึ่ง อรรถกถาเป็นสองรองลงมา แล้วก็เป็นฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น จนมาถึงคำอธิบายของอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้ก่อนนั้น ที่แต่งตำรับตำราไว้หลังจากรุ่นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา จัดเป็นอัตตโนมติทั้งหมด

    ถ้านับถือพระบรมศาสดา ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎก

    ที่กล่าวมานี้ ก็ด้วยมุ่งจะให้รู้จักว่า พระไตรปิฎกคืออะไรมีความสำคัญอย่างไร การสังคายนาคืออะไร และการรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกทำกันมาอย่างไร เวลานี้น่าเสียดายว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นแก่น และเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักรักษาพระไตรปิฎกหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสหรือเป็นช่องทางให้เกิดความสับสน ตลอดจนความเสื่อมโทรมและความคลาดเคลื่อนต่างๆ พร้อมทั้งคำสอนที่ผิดเพี้ยนแปลกปลอมจะแทรกซ้อนหรือแอบแฝงเข้ามา

    เรื่องนี้ต่างจากชาวพุทธในสมัยโบราณมาก แม้เขาจะไม่มีการศึกษารู้อะไรมากมายในความหมายของคนปัจจุบัน แต่เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยรู้จักว่าพระไตรปิฎกคืออะไร เป็นหลักของพระศาสนาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรต่อความเป็นความตายของพระพุทธศาสนา เพราะว่า ถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ก็คือพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อนหรือกำลังเลือนลางไป ถ้าพระไตรปิฎกหายไป หมดไปก็คือพระพุทธศาสนาสูญสิ้น เพราะจะไม่มีแหล่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลืออยู่

    อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรเราจะไปรู้เอาเองได้อย่างไร ก็ต้องไปฟังจากพระพุทธเจ้าเมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ ก็ต้องไปดูคำสอนที่จารึกไว้ ซึ่งก็ได้จารึกไว้และรักษากันมาในพระไตรปิฎกนี้

    ถ้าหมดพระไตรปิฎก ก็คือหมดพระพุทธศาสนา หมดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หมดพระธรรมวินัย หมดพระศาสดาของชาวพุทธ จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ ด้วยการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แล้วก็รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้อยู่มั่นคงด้วยดี ดังที่ชาวพุทธโบราณทุกประเทศได้พยายามรักษากันมาเป็นงานสำคัญของชาติ

    ถ้าเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก ก็คือเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเรานับถือคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าเรารักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่อย่างดีที่สุด แล้วก็จะมีหลักที่เป็นแกนกลาง ที่เรานับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธทั้งปวงในประเทศเถรวาททุกประเทศ ก็จะมีเอกภาพดังที่เคยมีเอกภาพกันแล้วตลอดมา

    อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกของประเทศไทย พม่า ลังกา หรือในประเทศไหนๆ แม้แต่ที่เอาไปในยุโรป เช่นที่อังกฤษ ก็เป็นเนื้อหาอันเดียวกันหมด เป็นคำสอนเดียวกัน เช่น ทาน ศีล ภาวนา อันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเดียวกัน ไม่ว่าพระสูตรใดๆ ไปดูเนื้อหาก็เหมือนกันหมด ไปที่ไหนก็ใช้กันได้เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าพระไตรปิฎกที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนายังคงอยู่ ชาวพุทธก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเราเสียหลักเรื่องนี้เมื่อไร ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มมีปัญหา ชาวพุทธเองก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน นั่นก็คือความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา และความเสื่อมโทรมแห่งประโยชน์สุขของประชาชน ที่จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงและไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น จะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และชวนกันรักษาด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจัง


    เสรีภาพแห่งความคิดเห็นของบุคคล
    ต้องไม่สับสนกับความซื่อตรงต่อพระศาสดา


    อนึ่ง ขอให้แง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่ความหมายว่าเราติดตำรา หรือติดพระไตรปิฎก อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่เรารู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินหรือเป็นมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และสอนว่างอย่างไร ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้แต่ว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ต้องแยกให้ถูก

    เวลานี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความสับสนของคนในยุคที่เรียกกันว่ามีการศึกษา แต่การศึกษานี้กำลังพร่ามัวลงไปมาก จนแยกไม่ถูก แม้แต่ระหว่างตัวหลักการกับความคิดเห็นส่วนบุคคล เพียงแค่นี้ก็แยกไม่ถูก จึงแน่นอนว่าความสับสนจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย

    ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราจะดูที่ไหน เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎกเพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราจะว่าเอาเองหรือไปตอบแทนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ว่าพระองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้

    ต่อจากนั้น เมื่อรู้ว่า หรือได้หลักฐานเท่าที่มีว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรแล้ว เราจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่ หรือเรามีความเห็นต่อคำสอนนั้นว่าอย่างไร อันนั้นก็เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องขอบบุคคลนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องหลักการแต่เป็นเรื่องของความคิดเห็น

    ฉะนั้นจะต้องแยกส่วนนี้ให้ได้ เวลาจะพูดกันก็ต้องแยกให้ถูกว่า เรากำลังพูดกันเรื่องว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ว่าอย่างไร หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องว่า เรามีทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนั้นว่าอย่างไรต้องแยกให้ถูก แล้วก็พูดให้เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ ก็จะไม่เป็นปัญหา เวลานี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดปัญหาทั่วไปหมด

    * ตั้งแต่ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักความสำคัญของพระไตรปิฎก ไม่รู้ว่าการรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกเป็นมาอย่างไร

    * แล้วก็มีความสับสนระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์สอนอย่างไร กับความคิดเห็นของบุคคลหรือเราแต่ละคนต่อคำสอนนั้นว่าเราคิดอย่างไร

    ทั้งหมดนี้ มองกันไม่ชัดเจน คลุมเครือ และว่ากันเลอะเทอะสับสนไปหมด เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหา ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรเลย เพียงแต่แยกให้ถูก

    * ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะว่าเอาเองก็ไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตาม ที่พระพุทธเจ้าสอน คือไปเอาหลักฐานมาแสดงให้ดู

    * แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้วหรือธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนี้ คุณจะว่าอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องของเราจะว่าเอา เราคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา เป็นเสรีภาพของเราที่จะพูดว่าธรรมะข้อนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้น แล้วเราจะว่าอย่างไร เราก็ว่าตามความเข้าใจของเราได้

    แต่ที่จริงก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านให้ชัดแจ้งก่อนแล้วจึงมาสรุปเอา ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนสรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็แยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรก็ว่าไปตามที่พระองค์ทรงสอน แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่เราเห็น เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด

    เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่รู้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นโอกาสที่จะต้องมาซักซ้อมในหมู่ชาวพุทธ เพื่อจะสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และปฏิบัติกันให้ถูกต้อง ถ้าชาวพุทธจับหลักในเรื่องได้ มีความเข้าใจถูกต้องและมีความตรงไปตรงมา ปฏิบัติด้วยความซื่อตรง พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่เป็นหลัก เป็นศูนย์รวมชาวพุทธ และมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งหลายสืบต่อไป


    • Update : 16/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch