|
|
พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา /3
รักษาพระไตรปิฎกคือรักษาไตรสิกขา
ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในชีวิตของชาวพุทธ
อีกแง่หนึ่ง เราอาจมองลึกลงไปถึงขั้นที่เอาพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของแต่ละคน พระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นแก่นสารแท้ๆ ก็คือผลที่เกิดขึ้นเป็นความดีความงาม เป็นความเจริญก้าวหน้างอกงามขึ้น หรือเป็นการพัฒนาขึ้นของไตรสิกขาในชีวิตของเรานี้เอง
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของเราที่ซึมซาบเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในเนื้อในตัว พระพุทธศาสนาชนิดที่เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นชีวิตของเรานี้ ก็ต้องอาศัยพระไตรปิฎกอีกเช่นกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาในความหมายนี้ หมายถึง การที่สามารถละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ การที่จะละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญา
ถามว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เรารู้ได้จากไหน
ตอบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องมีปริยัติเป็นแหล่งชี้บอก และแหล่งปริยัติที่ชี้บอกนั้นก็คือพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกที่แสดงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้นั้น ประกอบด้วย
๑. พระวินัยปิฎก เป็นแหล่งที่รวมศีลของพระสงฆ์ เพราะศีลของพระภิกษุที่เรียกกันว่าศีล ๒๒๗ อยู่ในพระวินัยปิฎก แต่ที่จริงไม่เฉพาะ ๒๒๗ ที่เป็นศีลในปาติโมกข์เท่านั้น แม้ศีลนอกปาติโมกข์ก็ยังมีในพระวินัยปิฎกนั้นอีกมาก และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของวินัยหรือเรื่องศีล คือการฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกในความสัมพันธ์ทางกาย และวาจา
๒. พระสุตตันตปิฎก ความจริงพระสูตรมีครบหมด มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา แต่เวลาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ ท่านชี้ให้เห็นจุดเด่นของพระไตรปิฎกแต่ละปิฎก ท่านกล่าวว่า พระสุตตันตปิฎกนี้เน้นหนักในสมาธิ คือ การพัฒนาด้านจิตใจ
๓. พระอภิธรรมปิฎก เน้นหนักด้านปัญญา พูดอย่างปัจจุบันว่าเป็นเนื้อหาทางวิชาการล้วนๆ ยกเอาสภาวธรรมที่ละเอียดประณีตลึกซึ้งขึ้นมาวิเคราะห์วิจัย จึงเป็นเรื่องของปัญญา ต้องใช้ปรีชาญาณอันลึกซึ้ง
เป็นอันว่า พระไตรปิฎกนั้นท่านเอามาโยงกับข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่เกิดผลเป็นจริงในชีวิตจิตใจของคน อันจะทำให้พระพุทธศาสนาถูกย่อยเข้าไปเป็นชีวิตจิตใจของเรา ถ้าใครปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก ชีวิตของผู้นั้นจะกลายเป็นเหมือนตัวพระพุทธศาสนาเอง
เหมือนดังว่าเรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิตของเรา เพราะพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นมาเป็นเนื้อตัวเป็นชีวิตของเราแล้ว ตราบใดชีวิตเรายังอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ เราอยู่ไหน เราเดินไปไหน พระพุทธศาสนาก็อยู่ที่นั่น และก้าวไปถึงนั่น ข้อนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก คือ ชาวพุทธจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ดีที่สุด ด้วยชีวิตของแต่ละคน
เมื่อแต่ละคนนั้นมีทั้งความรู้ มีทั้งการปฏิบัติ และได้ประจักษ์แจ้งผลของพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธศาสนาก็เป็นเนื้อเป็นตัวของเขา เป็นชีวิตของเขา ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ เพราะอยู่ในตัวของแต่ละคน แล้วคนอื่นลูกหลานก็มาสืบต่อกันไป อย่างนี้เรียกว่าพระพุทธศาสนาอยู่ด้วยวิธีการรักษาอย่างสูงสุด พูดได้ว่า พระไตรปิฎกเข้ามาอยู่ในเนื้อตัวของคนแล้ว ไม่ใช่อยู่แค่เป็นตัวหนังสือ
แต่ก่อนจะมาอยู่ในตัวคนได้ ก็ต้องมีคัมภีร์พระไตรปิฎกนี้แหละเป็นแหล่งบรรจุรักษาไว้ แม้แต่เราจะปฏิบัติให้สูงขึ้นไปเราก็ต้องไปปรึกษาพระอาจารย์ที่เรียนมาจากพระไตรปิฎกหรือจากอาจารย์ที่เรียนต่อมาจากอาจารย์รุ่นก่อนที่เรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะถ่ายต่อกันมาหลายสิบทอด ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกเองไม่ได้ ก็ไปถามพระอาจารย์ให้ท่านช่วยค้นให้ ถ้าเราค้นเองเป็น เราก็ไปค้นเอง เมื่อค้นได้ความรู้ในหลักคำสอนมาแล้ว เราก็สามารถปฏิบัติให้เจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งขึ้นไป
สรุปว่า ชีวิตของเราชาวพุทธอิงอาศัยพระไตรปิฎกโดยตรง ด้วยการนำหลักคำสอนมาปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิตจริง นี้เป็นความหมายแง่ต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของพระไตรปิฎก ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา เมื่อพระไตรปิฎกดำรงพระพุทธศาสนา เราจะรักษาพระพุทธศาสนา เราก็มาดำรงรักษาพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นการดำรงรักษาพระไตรปิฎกก็เท่ากับดำรงพระพุทธศาสนาไว้ด้วย
ธำรงพระพุทธศาสนาได้เมื่อพระไตรปิฎกอยู่คู่พุทธบริษัท ๔
องค์ประกอบใหญ่ๆ ในการรักษาพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง คือ
๑. ผู้ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือ พุทธบริษัท ๔ การที่จะรักษาก็ต้องมีคนที่จะรักษา ไม่อย่างนั้นจะไปรักษาได้อย่างไร คนที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ได้แก่ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็ไม่เป็นไร พุทธบริษัทที่อยู่นี่เราก็ถือว่าเหมือนกับบริษัท ๔ ยังทำหน้าที่กันอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบรรพชิต กับคฤหัสถ์ หรือชาววัด กับชาวบ้าน หรือพระสงฆ์ กับญาติโยม พุทธบริษัท ๔ เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนา
๒. เนื้อตัวของพระพุทธศาสนาที่เราจะรักษานั้น ก็อยู่ที่พระไตรปิฎก เนื้อตัวของพระไตรปิฎก หรือตัวพระพุทธศาสนาแท้ๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น เราเรียกว่าพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยเป็นตัวหลักการ
เป็นอันว่ามี ๒ ฝ่าย คือ
๑. ตัวคนที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธบริษัท ๔
๒. ตัวพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการที่เราจะต้องรักษา ได้แก่ พระธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎก
สองอย่างนี้อาศัยซึ่งกันและกัน พระธรรมวินัยที่เป็นหลักของพระศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะดำรงอยู่ และจะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต้องมาปรากฎที่ตัวพุทธบริษัท ๔ ต้องอาศัยพุทธบริษัท ๔ เป็นทั้งที่รักษาไว้ และเป็นที่ปรากฏผล หรือเป็นที่จะนำไปใช้ประโยชน์ พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกัน พุทธบริษัท ๔ จะมีความหมายเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้ และจะได้ประโยชน์เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ก็เพราะมีธรรมวินัยที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่
ฉะนั้น สองอย่างนี้จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เท่ากับเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้ง ๔ นี่แหละ คือผู้มีหน้าที่ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา และการรักษาพระพุทธศาสนานั้นก็ทำได้ด้วยการรักษาพระธรรมวินัย และจะรักษาพระธรรมวินัยได้ก็ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ให้พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเกิดประโยชน์เป็นจริงขึ้นแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมทั้งหมด เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็ต้องให้พระไตรปิฎกยังคงอยู่คู่กับพุทธบริษัททั้ง ๔
ที่พูดมานี้มีความหมายว่า พุทธบริษัทจะต้องรำลึกตระหนักถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย และพุทธบริษัทนั้นจะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการ เล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน และนำไปขยายผลให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมและแก่ชาวโลกทั้งหมด
ทั้งนี้ ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจริยะ คือพระพุทธศาสนา ควรจะอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ก็คือแก่มวลชน ตลอดจนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหมด ตามคติที่ว่า โลกานุกัมปายะ นั่นคือหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัท ๔ กับพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี
บัดนี้ พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันแล้ว เรากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธ คือการรักษาพระพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นด้วยการเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก วันนี้เราจึงพร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก แสดงว่าอย่างน้อยเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกแล้ว แต่อย่าเอาแค่เห็นความสำคัญ
การเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกนั้น แน่นอนว่าสำคัญอย่างยิ่ง เวลานี้เรารู้จักพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อยเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย ต่อไปนี้จะต้องรู้จักพระไตรปิฎกกันให้มาก และเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันให้มาก
เมื่อเห็นความสำคัญแล้วก็ชวนกันรักษา ชวนกันรักษาอย่างไร ก็มาเล่าเรียน มาชวนกันอ่าน มาชวนกันเรียน มาเล่าให้กันฟัง มาอธิบายให้กันฟัง ครั้นเล่าเรียนแล้วก็เอาไปใช้ปฏิบัติ โดยนำเอาความรู้เข้าใจที่ได้ศึกษามาแล้วนั้นไปพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดเกลาพฤติกรรม กาย วาจา ของตน พัฒนาจิตใจของตน พัฒนาปัญญาของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นใน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้รับประโยชน์เสวยผลที่พึงเกิดมีจากพระพุทธศาสนา
ที่กล่าวมานี้คิดว่าเป็นคุณค่าซึ่งจะเกิดขึ้นจากการฉลองหรือสมโภชพระไตรปิฎกครั้งนี้ด้วย หมายความว่า การสมโภชฉลองพระไตรปิฎกจะเกิดผลแท้จริง ก็ต่อเมื่อไปออกผลแก่ชีวิตและสังคมของชาวพุทธ ตลอดจนคนทั้งโลก เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งปวง
ขอให้การสมโภชเฉลิมฉลองพระไตรปิฎกของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยครั้งนี้ จงเกิดผลอำนวยประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่ชีวิตของชาวพุทธทุกคน และแก่ชาวโลกทั้งมวล ให้อยู่ในความดีงามและร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อ
* ปาฐกถาธรรมของพระธรรมปิฎก โดยวีดิทัศน์ (ถ่ายที่วัดญาณเวศกวัน เนื่องจากพระธรรมปิฎกอาพาธ) ฉายในวันสมโภชพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
|
Update : 16/6/2554
|
|