|
|
พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา /1
พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ขออนุโมทนาที่ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้จัดทำพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย สำเร็จเรียบร้อย นับว่าเป็นงานใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่การพระศาสนา คือ เป็นเครื่องรักษาพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ ถือว่าเป็นงานที่สมกับเกียรติฐานะของมหาวิทยาลัยสงฆ์
มหาจุฬาฯ ใช้เวลา ๕ ปี ในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับนี้ ให้สำเร็จเรียบร้อย นับว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะงานที่จัดทำนั้น นอกจากเป็นงานที่ใหญ่ในตัวแล้ว ก็ได้จัดทำให้สมกับเป็นงานวิชาการด้วย หมายความว่า นอกจากเป็นงานสำคัญทางพระศาสนาแล้ว ก็มีความเป็นวิชาการอยู่ในตัว เช่น การที่ได้ทำบทนำ สรุปเนื้อหาสาระ จุดเด่น ลักษณะพิเศษ ของพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ไว้ด้วย เป็นต้น
เมื่องานนี้สำเร็จลุล่วงไปจึงจัดงานฉลองขึ้น การสมโภชนั้นเท่ากับเป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันด้วย คือไม่ใช่ฉลองแสดงความยินดีเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับทราบกว้างขวางออกไป จะได้ช่วยกันใช้พระไตรปิฎกฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์ การใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือ การนำไปศึกษา เล่าเรียน ค้นคว้า เพื่อเป็นฐานของการปฏิบัติต่อไป
การที่ขอให้แสดงปาฐกถานี้ ก็ขอบคุณที่ให้โอกาสแต่ไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมงาน ยิ่งตอนนี้เกิดปัญหาซ้อนเข้ามาเฉพาะหน้า คือ เป็นไข้ และคออักเสบอีก คงจะพูดเท่าที่เป็นไปได้ในหัวข้อเรื่อง “พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา“
คำว่า “ธำรง” ในที่นี้ ถือว่ามีความหมายเหมือนกับคำว่า “รักษา” จะพูดรวมกันไปก็ได้ว่า “ธำรงรักษา” เรื่องพระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของพระไตรปิฎก กับการรักษาพระพุทธศาสนา
ธำรงพระพุทธศาสนาด้วยการรักษาพระไตรปิฎก
รักษาพระไตรปิฎกคือรักษาพระพุทธศาสนา
แม้แต่ในความหมายอย่างง่ายๆ ก็เห็นได้ทันทีว่า พระไตรปิฎกสัมพันธ์กับการธำรงพระพุทธศาสนาอย่างไร
พระพุทธศาสนาคืออะไร ตอบง่ายๆ โดยแปลตามตัวอักษรว่า พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกคืออะไร พระไตรปิฎก ก็คือ คัมภีร์ที่ประมวลเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ พระไตรปิฎกจึงเป็นที่รวบรวม บรรจุไว้ หรือจารึกไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนานั้นเอง
ในเมื่อพระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น การรักษาพระไตรปิฎกจึงเป็นการรักษาพระพุทธศาสนา
ถ้าตอบอย่างสั้นที่สุด ก็พูดได้ว่า พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน การธำรงพระไตรปิฎก ก็คือ การธำรงพระพุทธศาสนา นี้เป็นความหมายอย่างง่ายที่สุด
รักษาพระไตรปิฎกเท่ากับรักษาพระพุทธเจ้า
ถ้าพูดให้ลึกลงและให้กว้างออกไป พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาอีกหลายอย่าง นอกจากมองพระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นคำสั่งสอนแล้ว พระพุทธศาสนายังหมายถึง การเล่าเรียน การศึกษา การปฏิบัติ และการจัดการต่างๆ ให้มีการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัตินั้นทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทุกอย่างที่เราเรียกว่าเป็น "สถาบัน" และเป็นพระพุทธศาสนาที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจ ในความหมายนี้พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการธำรงพระพุทธศาสนา ดูง่ายๆ ดังต่อไปนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก่อนปรินิพพาน ซึ่งเราจำกันแม่นทีเดียวว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไป ไม่ได้ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ชาวพุทธได้รู้กันว่า พระธรรมวินัยนั้นแหละเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ชาวพุทธจำนวนมากถึงกับจำพุทธพจน์ภาษาบาลีได้ว่า
“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา”
แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงลับไป
นี้คือพุทธพจน์ที่ให้เห็นว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเอง พระธรรมวินัยจึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา
พระธรรมวินัยนี้ก็ประมวลอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัย เมื่อพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระบรมศาสดาของชาวพุทธ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกไว้ จึงเท่ากับดำรงรักษาพระพุทธเจ้าไว้ และรักษาพระพุทธศาสนาด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้น ในความหมายนี้ พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการรักษาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
รักษาพระไตรปิฎก
คือรักษาผลงานและจุดหมายของการสังคายนา
ในแง่ของการสังคายนา ชาวพุทธก็รู้กันอยู่แล้วว่าการ สังคายนาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประมวลหรือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า การสังคายนานั้น เริ่มมีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังที่พระองค์เคยปรารภกับพระจุนทะว่า ควรจะสังคายนาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนาดำรงอยู่ได้ยั่งยืน
พระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง คำเรียกอย่างหนึ่ง คือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พรหมจริยะ” หรือพรหมจรรย์ พรหมจรรย์หรือ ”พรหมจริยะ” นั้น คือพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พรหมจริยะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน
ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสารีบุตรได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ ดังปรากฏในสังคีติสูตร ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการใหญ่ของสงฆ์ส่วนรวมขึ้น หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เมื่อพระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๑
การสังคายนา ก็คือ การประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผน ให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา พระธรรมวินัยที่ได้สังคายนารวบรวมไว้นี้ ต่อมาก็เป็นพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นผลของการสังคายนา โดยเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยที่ได้สังคายนาไว้นั้น
ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนายั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก พระไตรปิฎกก็คือผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของการสังคายนานี้ เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญโดยเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวของมันเอง
|
Update : 16/6/2554
|
|