หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-วัดในเกาะเกร็ด

    วัดในเกาะเกร็ด


                พระกับชาวบ้าน ในเกาะเกร็ด นับว่าเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์ต่อกันสูงมาก เกี่ยวข้องกันตั้งแต่เกิด โต เล่าเรียน ประกอบอาชีพการงาน มีครอบครัวไปจนถึงวาระสุดท้ายคือ "ตาย"
                เกาะเกร็ด เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่เรามีความรู้สึกเหมือนว่าเกาะเกร็ดเป็นอำเภอ ๆ หนึ่ง ที่มีแต่ชาวมอญอยู่อาศัย แต่ความจริงแล้วเกาะเกร็ดมีทั้งชาวไทยเชื้อสายรามัญ ชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลาม รวมกันอยู่ แต่อยู่ด้วยกันอย่างเป็นปกติสุข
                ชาวรามัญในเกาะเกร็ดนั้นมีบรรพบุรุษมาจากชาวรามัญที่อพยพเข้ามาในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยสาเหตุดังนี้
               พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าที่เคยให้แม่ทัพยกทัพโจรมาปล้นเอากรุงศรีอยุธยาจนแตกสลาย เมื่อ พ.ศ. 2310 เห็นพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช กอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนมาได้ ก็กลัว "ไทย" จะฟื้นกลับเป็นใหญ่ขึ้นมาอีก จึงต้องคิดหาทางปราบเสียแต่เนิ่นๆ จึงตั้งให้ปะกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เป็นแม่ทัพนำพม่า 500 คน และเกณฑ์พลชาวรามัญจาก 32 หัวเมืองได้อีก 3,000 คน ให้พล 3,500 คนนี้เข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เพื่อทำทางเตรียมรับทัพใหญ่และเพื่อสะสมเสบียงอาหาร โดยจะสะสมเอาไว้ที่สามเสน พล 3,500 คน ทั้งพม่าและมอญนี้ปะกันหวุ่นแต่งตั้งให้แพกิจจาเป็นนายทัพคุมมา
                ตัวแม่ทัพปะกันหวุ่น อยู่ทางเมาะตะมะก็เร่งเกณฑ์พลรบจากชาวมอญเพื่อเข้าทัพใหญ่ แต่ชาวมอญไม่พอใจที่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานหาเสบียงอยู่แล้ว จึงหลบหนีการเกณฑ์ เป็นผลให้ไม่ได้กำลังพลตามต้องการ ทำให้ปะกันหวุ่นไม่พอใจจึงจับลูกเมียของชาวมอญบ้าง จับแล้วริบทรัพย์บ้าง ทำให้ชาวมอญเดือดร้อนไปทั่ว ปะกันหวุ่นไปพลาดที่ไม่ได้จับแต่ชาวมอญทั่วไป ผ่าไปจับเอาครอบครัวชาวมอญที่ผู้ชายในครอบครัวถูกเกณฑ์ไปทำทาง ไปหาเสบียง กับทัพของแพกิจจา ซึ่งในทัพ 3,500 คน ของแพกิจจานั้นนำโดย " พระยาเจ่ง " และพระยาสำคัญอีก 3 คน ไม่พอใจจึงคิดกบฏต่อทหารพม่า 500 คนที่คุมอยู่ จับพม่าฆ่าเสียจนหมด แล้วยกพล 3,000 คน กลับเข้าเมืองเมาะตะมะ เมื่อจะเข้าตีเมืองเมาะตะมะนั้นได้ให้ไพร่พลโห่เป็นเสียงทหารไทย ทำให้พม่าที่กลัวฝีมือพระยาตากสินอยู่แล้วนึกว่าทัพไทยบุกเข้ามาแล้วจึงแตกหนีไป ทัพมอญจึงรวมตัวกันกับชาวมอญหัวเมืองอื่นๆ ยกไปตีเมือง จิตดอ เมืองหงษาวดี ได้แล้วก็ยกต่อไปตีเมืองย่างกุ้ง ตีได้ครึ่งเมือง ทัพพม่าจากเมืองหลวงคือเมืองอังวะ ก็ยกมาช่วยนำทัพโดย อะแซหวุ่นกี้ ทัพพม่ายกมาทัพมอญจึงแตกหนี มอญจึงรวบรวมผู้คนและครอบครัว หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจากพระมหากษัตริย์ไทย พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปต้อนรับ แล้วให้มอญเหล่านี้อยู่อาศัยในแถวนนทบุรี และเมืองสามโคก มอญกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด
                เกาะเกร็ด เดิมทีไม่ได้เป็นเกาะ เป็นแผ่นดินที่ยื่นออกไปเหมือนแหลมจากพื้นแผ่นดินของอำเภอปากเกร็ด ที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมผ่านไปชื่อเดิมคือ บ้านแหลม ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าหากขุดคลองลัดตรงบ้านแหลมแล้ว ระยะทางจะสั้น เรือจะสัญจรไปมาได้สะดวก จึงโปรดให้ขุดคลองลัดเรียกว่า คลองเกร็ดน้อย ลำคลองกว้างเพียง 6 วา เริ่มจากตำบล ปากอ่าว จนไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งเลาะแผ่นดินมา และที่พื้นที่ตรงนี้มีวัดชื่อ วัดศาลากุน เลยเรียกชื่อแผ่นดินที่ถูกคลองขุดตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่นี้ว่า เกาะศาลากุน ตราบจนกระทั่งจัดตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเรียกชื่อว่า " เกาะเกร็ด " และเกาะเกร็ดก็กลายเป็นตำบล เกาะเกร็ดแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน โดยแบ่งตามลักษณะของเชื้อชาติซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น หมู่บ้าน 2,3,4 และ 5 คนไทยเชื้อชาติไทยมีประชากร 50 % ของชาวเกาะ หมู่บ้านที่ 1,6,7 และบางส่วนของหมู่ 5 เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ สัดส่วนร้อยละ 42 ซึ่งยังคงไว้ด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของรามัญ เว้นภาษาพูดที่ส่วนใหญ่จะพูดรามัญกันไม่ได้แล้ว ส่วนบ้านเรือนริมแม่น้ำในหมู่ 2,3 เป็นชาวไทยอิสลาม สัดส่วนร้อยละ 8
                ประชากรบนเกาะเกร็ดที่น่าศึกษา คือคนไทยเชื้อสายมอญ เพราะมอญเป็นชาติเก่าแก่มีความเจริญรุ่งเรืองสูงมาแต่โบราณกาล มีอาณาจักรของตนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีในบริเวณประเทศพม่าตอนล่าง เมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญ เช่น หงษาวดี สะเทิน ทะละ เป็นต้น ชาติมอญนั้นอยู่อย่างสงบ ใฝ่สันติ ผิดกับชาติพม่าที่ตั้งตัวเป็นปึกแผ่นที่พุกาม เมื่อเข้มแข็งจึงยกมารุกรานมอญ จนมอญต้องร่นถอยจนแทบจะสิ้นชาติกลายเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในพม่าในปัจจุบัน
    วัดในเกาะเกร็ด มีวัดที่สำคัญหลายวัดบางวัดก็ร้างไปแล้ว รวมแล้วมีอยู่ 6 วัด
               วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดนี้มีอายุกว่า 200 ปี เป็นวัดรามัญมาแต่โบราณ เรียกตามภาษารามัญว่า เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง แปลว่าวัดหัวแหลม ไทยเรียกวัดปากอ่าว
                เมื่อปี พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดปากอ่าว เมื่อพระราชทานกฐินแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินรอบพระอารามทรงเห็นว่าอยู่ในทำเลที่ดีแต่ทรุดโทรม จึงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาให้ดีขึ้นเพื่อสนองพระเดชพระคุณของ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งอภิบาาลเลี้ยงดูพระราชมารดาและพระองค์มา จึงโปรดให้สร้างกุฏสงฆ์เสนาสนะทั้งปวงทางทิศเหนือ สร้างหอกลาง ชั้นล่างเป็นหอฉัน ชั้นบนเป็นหอไตร เป็นการปฏิสังขรณ์ในขั้นต่อมา ต่อมาโปรดให้รื้ออุโบสถออกไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ วิหารพระพุทธไสยาสน์ก็โปรดให้มีการปฏิสังขรณ์เสียใหม่ พระบุษบกโปรดให้ซ่อมของเดิมให้งดงามขึ้น เป็นศิลปะรามัญ มีช่างได้นำเอาศิลปะไทยไปเจือปนทำให้แปลกตา บุษบกนี้จึงเป็นโบราณวัตถุที่มีความงดงามอย่างยิ่ง โปรดสังเกตที่หน้าบันของพระอุโบสถหลังปฏิสังขรณ์ มีตรา " พระเกี้ยว "
                พระไตรปิฎก ทรงมีพระราชดำริรวบรวมพระไตรปิฎกรามัญให้สมบูรณ์ พระไตรปิฎกของวัดปรมัยยิกาวาสจึงเป็นพระปิฎกฉบับเดียวที่เป็น อักษรรามัญ ฉบับเดียวในประเทศไทย
               พระเจดีย ด้านหลังพระอุโบสถเป็นลานกว้าง จึงโปรดให้สร้างเจดีย์รามัญ พระราชทานนามว่า พระมหารามัญเจดีย์ "
                พระราชทานนามวัด เมื่อปฏิสังขรณ์แล้ว จึงทรงโปรดเกล้า ให้เปลี่ยนนามพระอารามนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ ฯ ว่า " วัดปรมัยยิกาวาศ " (บรม+อัยยิกา+อาวาศ) แปลว่าวัดของยาย ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดปรมัยยิกาวาส
               พิพิธภัณฑ์ เปิดให้ชมทุกวัน ไม่เสียเงิน มีศิลปะวัตถุที่เก่าแก่งดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ และประวัติศาสตร์
                วัดนี้ยังเป็นแหล่งศิลปกรรมทางศาสนา เช่นการทำปราสาทสำหรับงานศพพระเถระ ซึ่งผมได้มีโอกาสเห็นเมื่อสองปีที่แล้ว ในงานศพของท่านเจ้าอาวาสองค์เดิม
                นอกจากนี้ยังมีโรงทำ " ลูกหนู " มีการสวดภาษามอญ ซึ่งยังเหลือวัดอีกเพียงไม่กี่วัดที่สวดเป็นภาษามอญใต้ และยังเป็นสำนักเรียนบาลีรามัญ ประการสุดท้ายคือ เป็นศูนย์รวมของพระสงฆ์ และชาวบ้าน เช่นในเทศกาลออกพรรษา พระสงฆ์และชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ จะมาร่วมพิธีปวารณาออกพรรษา ที่วัดปรมัย ฯ ทุกปี
                ที่ตั้งของวัดปรมัยบนเกาะเกร็ด เหมือนกับเป็นจุดศุนย์กลาง เพราะพอขึ้นจากท่าเรือก็จะถึงวัดทันที และจะถือจุดนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่จะเที่ยวรอบเกาะเกร็ด โดยในวันนี้จะเริ่มด้วยการเวียนไปทางซ้ายของเกาะก่อน ไปตามถนนคอนกรีต ที่กว้างสัก 2 เมตร ไม่มีรถยนต์วิ่ง ไม่มีเสียงรถเครื่องยนต์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จักรยานก็จะวิ่งกันอย่างสุภาพ หากเขาขี่มาพบคนเดินจะขอทาง จะไม่วิ่งพรวดออกไปจะใช้ปากขอทางด้วยการทำเสียง กริ๊ง ก๊อง บ้าง ปี๊น ปี๊น บ้าง ขำดีว่างั้นเถอะ แถมยังมีพวกฝรั่งที่ดูจะรู้จักเกาะนี้มาก่อนนักท่องเที่ยวไทย แบกจักรยานลงเรือมาขี่จักรยานเที่ยวเกาะกัน แต่ผมไปครั้งหลังนี้คนไทยมากขึ้นแยะหลายเท่าตัวก่อนที่ผมจะเขียนถึง แต่ฝรั่งหายไป สงสัยไปหาแหล่งอื่นที่สงบกว่านี้เพื่อขี่จักรยานเที่ยวเล่น
               วัดฉิมพลี เป็นวัดที่สอง ที่จะไปชมจากท่าเรือหรือหน้าวัด ปรมัยยิกาวาส เดินไปตามถนนทางซ้ายมือ ซึ่งจะผ่านร้านขายเครื่องดื่ม ขายหน่อกะลาทอดมัน ขายเครื่องปั้นดินเผา ขายอาหารเช่นร้านครัวชาวเกาะ ร้านบ้านขนมจีน เรื่อยไปจนสุดทางที่วัดฉิมพลี แต่ทางเดินยังมีต่อไปอีก แต่ผมไม่ได้เดินต่อไปจบแค่นี้ เพราะผมจะเก็บแรงเอาไว้เดินย้อนกลับมาวัดปรมัยยิกาวาส แล้ววนขวาไปจนถึงวัดเสาธงทอง
                วัดฉิมพลี เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนกลาง มีอุโบสถ แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก คืออุโบสถขนาด 3 หน้าต่าง ( แต่ละด้าน ) แต่ก็เป็นอุโบสถสมัยอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว ฐานโบสถ์อ่อนช้อยเป็นแบบเรือสำเภา " ลายหน้าบัน " จำหลักไม้เป็นรูปพระจันทร์ทรงราชรถ มีลายไม้ดอกล้อมรอบ คันทวย และรวงผึ้งสาหร่ายแกะสลักไว้อย่างงดงาม ลายหน้าบันโบสถ์วัดนี้เหมือนกับลายหน้าบันของวัดสุทัศน์ แต่มีขนาดเล็กกว่า
                ซุ้มประตู ปูนปั้นเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ละเอียด อ่อนช้อย
                พระเจดีย์ พื้นที่เหนือโบสถ์มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นเจดีย์มุมสิบสอง และมีเจดีย์องค์เล็ก 4 องค์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม องค์ระฆังพระเจดีย์ประดับด้วยกระจกสี เดิมชื่อว่า " วัดป่าฝ้าย "
                นอกจากนี้ยังมี ศาลาทาน้ำ ที่มีเรือข้ามฟากอีกจุดหนึ่ง มีกลุ่มกุฏไม้ที่เก่าแก่ซึ่งเป็นฝีมือช่างโบราณเลยทีเดียว เสียดายอยู่นิดหนึ่ง อบต.ตำบลเกาะเกร็ดน่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้มาสู่ชาวเกาะเกร็ดด้วยการช่วยนักท่องเที่ยวเวลาที่เกิดทุกข์ ให้มีพื้นที่ปลดทุกข์ คือสร้างสุขา แล้วเก็บสตางค์ก็ได้ หรือตั้งตู้ให้หยอดเหรียญ เพราะเป็นการทรมานมากในการเดินเที่ยวบนเกาะเกร็ดนี้ มีสุขาที่บริการฟรีและสะอาดอยู่เพียงแห่งเดียว คือที่วัดปรมัยยิกาวาส วัดฉิมพลี ก็หาไม่เจอ วัดเสาธงทองที่อยู่อีกปีกของเกาะไม่เห็นมี ที่มีก็๋ใส่กุญแจพึงพาไม่ได้ คนหนุ่มสาวนั้นอาจจะทนได้ ( เว้นคนท้องเสีย ) แต่คนสูงอายุนั้นจะลำบากมาก ไม่ลองพิจารณาจัดสร้างดูบ้างหรือ
               วัดป่าเลไลยก์ เป็นวัดร้างไปแล้ว และไปรวมกับฉิมพลี คงเหลือให้เห็นเพียงโบสถ์และเจดีย์หน้าโบสถ์ ภายในโบสถ์ยังพอมีสภาพที่ดีเหลืออยู่ แต่หลังคาชำรุดมาก เพดานโบสถ์เขียนลายทองงดงามบานประตูเขียนลายทองรดน้ำ ส่วนพระประธานหน้าตักกว้าง 3 ศอกนั้น คนร้ายได้ตัดแขน แล้วแบกหายไปทั้งองค์แล้ว
                วัดศาลากุน ก่อนจะถึงวัดฉิมพลี มีทางแยกขวา ต้องถามชาวบ้านดูแหละดี ง่ายดีเดินไปอีกหน่อยจะถึง
                วัดศาลากุน ซึ่งเดิมทีเดียววัดนี้อยู่ริมแม่น้ำ แต่ตลิ่งตรงนี้งอกออกไปวัดจึงอยู่ห่างจากแม่น้ำ เหลือแต่ท่าน้ำของวัดทิ้งไว้ สิ่งก่อสร้างภายในวัดใหม่ทั้งหมด ของเก่าไม่เหลือให้ชม นอกจากเครื่องมุกและเครื่องแก้วที่พระอาจารย์ สุ่น เจ้าอาวาสวัดศาลากุน สมัยรัชกาลที 5 ท่านสะสมเอาไว้ ทั้งโต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเครื่องแก้วเจียรไน และยังมีหีบศพที่ฝังมุกที่งดงามอีกด้วย วัดศาลากุนจึงเป็นวัดสุดท้ายในปีกซ้ายของเกาะ
                วัดไผ่ล้อม ทีนี้ย้อนกลับมาทางวัดปรมัยยิกาวาสใหม่ ก็จะผ่านมาตามเดิม แต่ทางซ้ายมือเมื่อผ่านร้านคุณเรไร ขนมหันตรา แม่พยอมขนมหวาน ลีโอกาแฟสด ซื้อใส่โอ่งดินเผาถือเดินไป กินไปก็ได้มาร้าน " บ้านขนมจีน " หากเลยต่อไปก็มีครัวชาวเกาะ บ้านขนมตาล ร้านแถวนี้เป็นบ้านจริงๆ เปิดหน้าบ้านมาขายของกัน และโดยมากจะขายเฉพาะในวันหยุดเท่านั้น วันธรรมดาก็มีอาชีพประจำกันทั้งสิ้น
                " บ้านขนมจีน " เจ้าของเป็นทหารเสนารักษ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด หารายได้เสริมด้วยการทำขนมจีนต่างๆ ขาย ทำกับภรรยา บอกว่าเมื่อก่อนแม่ก็เคยขายอยู่ฝั่งปากเกร็๋ด อาหารรสมอญแท้จะออกหวานเล็กน้อย ใครชอบอาหารหวานจะชอบมาก มีขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีนแกงไก่ ขนมจีนซาวน้ำ อร่อยทุกอย่าง จานละ 15 บาทเท่านั้นเอง ที่น่ารักคือจานใสผักวางไว้บนโต๊ะ จัดผักวางยังกับผักเหนาะของอาหารปักษ์ใต้ สะอาด สดน่ากินจริงๆ น้ำปลาพริกมีให้พร้อมไม่ต้องร้องขอ ผมได้ชิมแค่ 3 อย่าง ขาดซาวน้ำไม่ได้ชิม แต่เชื่อว่าอร่อย แกงเขียวหวานยิ่งอร่อยมาก เพราะน้ำแกงข้น รสหวานด้วยกะทิ ปิดท้ายด้วยลอดช่องน้ำกะทิถ้วยละ 7 บาท
                อิ่มแล้วออกเดินต่อ ผ่านบ้านขนมตาล มีทั้งขนมตาลและขนมกล้วย ผ่านร้านอาหารไทยมีขาหมูฮ่องเต้ อิ่มแล้วเลยไม่ได้ชิม กลับมายังหน้าวัดปรมัยยิกาวาสใหม่ กลุ่มรถเข็นขายอาหารก็มีกลุ่มโต ผ่านวัดปรมัยยิกาวาสไปทางขวาบ้าง ข้ามสะพานน้อยๆ ทางขวามีอาหารรสมอญอีก ซื้อขนมปังหน้าหมูติดมือไป เดินไปหน่อยเจอศาลากาแฟสด จะซื้อใส่โอ่งดินเผา ( ซื้อแล้วเขายกให้เลย ) หรือนั่งชิมผมเลือกเอานั่งลงชิมกาแฟ รสหวานมัน กินกับขนมปังหน้าหมู เรียกว่ารายการวันนี้เดินไป ชิมไปตลอดทาง ถึงบอกว่าสุขาจำเป็นต้องมีบริการ ทางด้านขวานี้ร้านขายของจะมากกว่าทางซ้าย รวมทั้งร้านอาหารด้วย จะพบทอดมันหน่อกะลา ที่มีตรา ที.วี.ช่องต่างๆ ติดเต็มแถมบอกว่าใครมาแล้วไม่ได้ชิมทอดมันของเขาเหมือนมาไม่ถึงเกาะเกร็ด เจ้าทอดมันหน่อกะลาแท้ๆ ดั้งเดิม คือเจ้ารถเข็นที่อยู่หน้าวัดไผ่ล้อม ทางขวามือติดกับร้านน้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน เจ้านั้นจะอร่อยจริงๆ เรียกว่าถึงหน้าวัดไผ่ล้อมหากท้องพร่องก็นั่งที่เฉลียงริมแม่น้ำ ซื้อทอดมันหน่อกะลามา ไปสั่งเอาลูกชิตใสน้ำแข็งไสราดน้ำหวาน มานั่งกินหรือไม่งั้นก็ไปวัดเสาธงทองเสียก่อนแล้ววกกลับมานั่งพัก ก่อนที่จะเดินเหมือนคลานกลับไปลงเรือที่วัดปรมัยยิกาวาสเพื่อกลับบ้าน
               วัดไผ่ล้อม เป็นวัดที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โบสถ์งดงามด้วยลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสา มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ที่หน้าโบสถ์ รูปทรงแปลก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง แต่องค์ระฆังทำเป็นรูปบาตรคว่ำ ส่วนหลังโบสถ์มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่งดงามมากเช่นกัน มอญเรียกวัดนี้ว่า เพี๊ยะโต้
               วัดเสาธงทอง จากวัดไผ่ล้อมเดินต่อไปอีกประมาณ 15 เมตร จะถึงวัดเสาธงทอง ซึ่งสถานที่ตั้งของวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่มีวิวงดงามมาก เดิมชื่อวัดสวนหมาก สร้างโดยชาวรามัญในสมัยกรุงธนบุรี แต่มาในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาอำภา ในรัชกาลที่ 2 ได้มาปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า วัดเสาธงทอง
                ภายในวัดมีเจดีย์สมัยอยุธยาขนาดใหญ่อายุกว่าสองร้อยปี เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมและมีเจดีย์บริวารอีก 12 องค์ เรียกว่า " พระธุดังคเจดีย์" ด้านข้างอุโบสถมีอีกสององค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม อีกองค์รูปร่างแปลก องค์ระฆังทำเป็นพู บางทีชาวบ้านเรียกว่าทรงมะเฟือง
                หอสวดมนต์ และหมู่กุฏิโดยรอบลักษณะลวดลายไม้ฉลุ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่งดงาม
                วิหาร ประตู ลงรักปิดทอง
                ตึกขุนเทพภักดี เป็นอาคารเรียน ท่านขุนเทพภักดี คหบดีชาวมอญเป็นผู้สร้าง
                ศาลาเจ้าจอมมรกต เป็นศาลาท่าน้ำวัด เจ้าจอมมรกตสร้างถวาย
                ต้นยางใหญ่ อายุสองร้อยปี ต้นแม่นั้นอยู่ใกล้ๆ เมรุ ต้นลูกอายุกว่าร้อยปี อยู่ใกล้ๆ โบสถ์
                พระธุดังคเจดีย์ นั้นเริ่มชำรุดทรุดโทรมลงไปแล้ว และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ใครหรือวัดจะซ่อมแซมเองไม่ได้ ต้องให้กรมศิลปากรอนุญาตเสียก่อน ทางวัดเคยขอขึ้นไปก็หายเงียบ หากรอกรมศิลปากรมาซ่อมสร้างให้อาจจะพังลงมาก่อนก็ได้
                ผมเดินเที่ยววัดในเกาะเกร็ด เดินด้วยความอดทนอย่างสูงเพราะเป็นคนมีอายุใกล้ร้อยเข้าไปทุกที ไปคราวนี้แล้วคงไม่ไปเดินสำรวจวัดอีกแล้ว แต่จะไปอีกไปกินขนมจีน ไปกินทอดมันหน่อกะลา และไปลงเรือพายให้เขาพาลัดเลาะไปตามละคลองเล็กๆ ภายในตัวเกาะเกร็ด จะได้เข้าถึงใจกลางเกาะที่แท้จริง

    • Update : 16/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch