หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-วัดศาลเจ้า

    วัดศาลเจ้า

                วัดศาลเจ้า ถือว่าเป็นวัดโบราณได้วัดหนึ่งเพราะมีอายุนับถึงวันที่ผมเขียนปี ๒๕๔๕ ก็มีอายุนานถึง ๒๒๕ ปีแล้ว ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยทีเดียว แต่พอมาอ่านอีกตำนานหนึ่งชักจะไม่ตรงกัน แต่ยังคงความโบราณไว้ คือบอกว่าวัดศาลเจ้ามีอายุนานร่วมสามร้อยปี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี จึงต้องเล่าเพื่อประกอบการสันนิษฐานไว้ทั้ง ๒ ตำนาน
                ตำนานแรกเล่าว่า เพราะวัดตั้งอยู่ที่ปากคลองศาลเจ้า จึงได้นามวัดว่า วัดศาลเจ้า ตำนานนี้บอกด้วยว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐ และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๓ ภายในวัดมีอุโบสถ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ลักษณะทรงไทย มีหอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง วิหารพระนอน เจดีย์มอญ
                ส่วนอีกตำนานหนึ่งที่เล่าต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน กล่าวไว้ว่า วัดศาลเจ้าสร้างเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในยุคนั้นมี "เจ้าน้อยมหาพรหม" เป็นบุตรเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์มาก เป็นต้นว่าสามารถเรียกจรเข้ให้ขึ้นจากน้ำได้ ถากหน้าแข้งทำเป็นฟืนหุงข้าวได้
                ครั้งหนึ่งเจ้าน้อยมหาพรหม ได้ต่อแพแล้วล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา แต่จะไปสิ้นสุดที่แห่งหนตำบลใดไม่มีใครทราบ ทราบว่าในการล่องแพลงมาครั้งนี้ เจ้าน้อยมหาพรหมได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากการล่องแพครั้งนี้ได้พบวัดใด พบพระภิกษุองค์ใดที่มีวิชาไสยศาสตร์เหนือกว่าเจ้าน้อยแล้ว เจ้าน้อยจะรื้อแพที่ล่องมานี้ แล้วถวายสร้างวัด สร้างศาลา
                เมื่อล่องแพลงมาจนถึงแม่น้ำอ้อม ได้พักอยู่ที่ปากแม่น้ำอ้อม (เชียงราก) ตรงบริเวณนั้นมีวัดอยู่วัดหนึ่งคือ วัดมะขามใน หรือวัดมะขามน้อย และตรงใกล้ ๆ กับวัดมะขามมีเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง ชื่อ "พระอาจารย์รุ" เป็นเชื้อสายรามัญ มีกุฏิอยู่เป็นเอกเทศไปปะปนกับหมู่สงฆ์ในวัด
                พระอาจารย์รุ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาไสยศาสตร์มาก มีผู้คนนับถือแยะ สามารถเสกใบมะขามเป็นตัวต่อได้ เสกกิ่งไม้สด ๆ ให้ติดไฟได้ และยังสามารถสะกดจิตบุคคลให้ทำตามคำสั่งได้อีก
                เมื่อเจ้าน้อยมหาพรหม ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระอาจารย์รุ จึงไปทดสอบวิชา เรียกว่าไปขอลองวิชานั่นแหละ เป็นการขอลองวิชากับอาจารย์รุผู้เกรียงไกรว่างั้นเถอะ ครั้งแรกได้ลองวิชาด้วยการถากหน้าแข้งของพระองค์เพื่อทำเชื้อฟืนหุงข้าว แต่พอได้ฟืนมาแล้วกลายเป็นเจ้าน้อย ทำให้เห็นว่าที่มีอาคมทำเหมือนถากหน้าแข้งให้เป็นฟืนได้นั้น ความจริงก็ถากไม้จริง ๆ ไม่ใช่หน้าแข้ง แต่เจ้าน้อยเวลาทำก็คงจะบังตาคนอื่นเช่นกันจึงเห็นกันเป็นเช่นนั้น พระอาจารย์รุจึงย้อนรอยของเจ้าน้อยกำบังตาเจ้าน้อยเสียเอง ให้เห็นว่าท่านกำลังถากอยู่นั้น คือการถากหน้าแข้งจริงไปถากเอาเสากุฏิของพระอาจารย์รุ ท่านอาจารย์รุจึงลองวิชาให้ดูบ้าง เอาแค่ง่าย ๆ คือเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อ ไล่ต่อยพวกบ่าวไพร่ของเจ้าน้อยมหาพรหม หน้าตาปูดไปตาม ๆ กัน เรื่องเสกใบมะขามเป็นตัวต่อนี้ ผมเคยได้ยินมานานแล้วว่าหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่จังหวัดชัยนาท (กรมหลวงชุมพร ฯ นับถือเป็นอาจารย์) ท่านสามารถเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อได้
                เจ้าน้อยมหาพรหมพบเช่นนี้ก็หมดทิฐิ จึงเกิดความเคารพนับถือเลื่อมใสในตัวพระอาจารย์รุเป็นอย่างยิ่ง เห็นว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่มีความรู้ จึงเสด็จขึ้นจากแพ เพื่อขึ้นไปนมัสการพระอาจารย์รุ
                ในขณะที่เจ้าน้อยมหาพรหมก้าวเท้าข้ามธรณีประตูเข้าไปในกุฏิพระอาจารย์รุนั้น ก็เกิดเหตุแสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของพระอาจารย์รุ คือเจ้าน้อยไม่สามารถก้าวข้ามธรณีประตูกุฏิ ไม่สามารถเดินหน้าถอยหลังได้อีกเหมือนถูกสะกดนิ่งอยู่ตรงนั้น ทำให้ต้องยืนนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาพอสมควร เจ้าน้อยก็รู้ว่าอาจารย์รุลองวิชาเข้าให้แล้ว ก็ได้แต่ยืนนิ่งอยู่ ตราบจนกระทั่งพระอาจารย์รุเรียกให้เข้าพบได้ คือเป็นการอนุญาตให้เข้าพบ เจ้าน้อยมหาพรหมจึงสามารถก้าวข้ามธรณีประตูและเดินเข้ากุฏิ ไปนมัสการพระอาจารย์รุได้
                เจ้าน้อยมหาพรหมได้กราบนมัสการพระอาจารย์รุ  และบอกจุดประสงค์ว่าจะทำการสร้างวัดและศาล ขอมอบแพที่โดยสารมาสร้างกุฏิให้ใหม่ พร้อมกันนี้ก็จะสร้างศาลาการเปรียญให้อีก ๑ หลังด้วย
                ต่อมาการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวก็เสร็จเรียบร้อย จึงตั้งชื่อวัดว่า "วัดศาลเจ้า" ซึ่งคำว่า "ศาล" นี้คงหมายถึงศาลที่เจ้าน้อยได้สร้าง ส่วนคำว่าเจ้า น่าจะมาจากคำนำหน้าของผู้สร้างคือ "เจ้าน้อย" รวมเรียกว่า วัดศาลเจ้า (วัดที่เจ้าสร้าง)
                ด้วยความเลื่อมใส หลังจากนั้นเจ้าน้อยมหาพรหมก็จะเสด็จมายังวัดศาลเจ้าเสมอ และได้สร้างอุโบสถให้ ๑ หลัง สร้างพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๑ วา ถวายไว้อีก ๑ องค์ ได้ทำการประดิษฐานไว้ที่หน้าอุโบสถ ต่อมาได้มีการย้ายพระพุทธรูปไปไว้ที่ศาลาการเปรียญ
                ภายในวัดศาลเจ้ามีปูชนียสถานที่สำคัญคือ.-
                อุโบสถซึ่งเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ ได้ทำการบูรณะใหม่ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นอุโบสถที่สวยงามมาก
                เจดีย์แบบรามัญ ซึ่งงดงามตามแบบเจดีย์รามัญ และหาชมได้ยาก
                พระพุทธรูปที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างไว้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ
                น้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดศาลเจ้า  สาเหตุที่เชื่อกันมาว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรงหน้าวัดศาลเจ้านั้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันความเชื่อนี้ไปเชื่อว่า เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้า ที่มีเจ้าพ่อนักรบถือทวนประดิษฐานอยู่ เพราะคนทั่วไปไม่มีใครทราบประวัติมาก่อนว่า ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเพราะ เมื่อก่อนนี้หน้าวัดศาลเจ้าในลำน้ำเจ้าพระยานี่แหละจรเข้ชุกชุมมาก และทำร้ายผู้คนที่ผ่านไปมาเป็นประจำ เมื่อเจ้าน้อยซึ่งเป็นผู้มีวิชาในการปราบจรเข้ได้มาพบ เจ้าน้อยจึงใช้สมาธิร่ายเวทย์มนต์จนจรเข้เชื่อง และสถานที่ลองวิชาระหว่างเจ้าน้อยกับพระอาจารย์รุ ก็ทดลองกันตรงหน้าวัดนี่แหละ จึงถือว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ เรือแพผู้คนผ่านหน้าวัดจะวักน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ลูบหัวเรือ ลูบหน้ารดหัวของตัวเอง เพราะถือว่าเปรียบประดุจน้ำมนต์
                ได้มีการตักน้ำหน้าวัดศาลเจ้าไปใช้ในพิธีสัจจปานกาล หรือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เช่น ในสมัยของพระอารักษ์ประชาราฎร์ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ พระยาพิทักษ์ทวยหาญ เป็นเจ้าเมืองปทุมธานี ได้นำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดนี้ ไปประกอบพิธีในอุโบสถวัดบางหลวง โดยเอาน้ำใส่ขันทองเหลืองขนาดใหญ่ ต่อจากนั้นเจ้าเมืองก็จะโอมอ่านโองการแช่งน้ำ เสร็จแล้วคณะกรรมการเมืองและข้าราชการ ก็จะกล่าวพิธี คำสัตย์ปฏิญาณ จบแล้วดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาโดยทั่วกัน
                ดังนั้นเมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา และในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ วันมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ทางจังหวัดปทุมธานีและคณะสงฆ์ ได้ทำพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดศาลเจ้า เพื่อนำเข้าพิธีกรรมร่วมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ แล้วนำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสรงในวันมหามงคลที่ผ่านมาทั้งสองวาระนั้น
                ลายแทงเพื่อเดินทางไปยังวัดศาลเจ้าไปดังนี้.-
                เส้นทางแรก ไปตามถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อข้ามสะพานรังสิตไปแล้วพอถึงทางแยกก็เลี้ยวซ้ายตรงไปยังสามแยกบางพูล เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้าย (ตอนนี้กำลังสร้างสะพานข้ามสามแยกนี้) เลี้ยวซ้ายวิ่งเรื่อยไปเพื่อจะกลับรถ จนพบทางแยกกลับรถก็กลับรถกลับมาผ่านวัด พอจวนจะถึงสะพานข้ามสามแยกจะเห็นประตูวัด ชื่อ วัดมะขาม ให้เลี้ยวซ้ายเข้าประตูวัดมะขาม วิ่งตรงเรื่อยไปสัก ๑ กิโลเมตร ผ่านอนามัย ผ่านแล้วให้เลี้ยวซ้าย (ทางขวาคือวัดมะขาม) เลี้ยวผ่านเมรุ ผ่านอุโบสถ ไปจอดที่ลานหลังอุโบสถ ติดกับศาลาการเปรียญ แล้วค่อยเดินเที่ยวภายในวัดและจบด้วยการไปกินก๋วยเตี๋ยวร้าน "เรือนไม้" ที่อยู่ริมแม่น้ำอร่อยนัก
                เส้นทางที่สอง น่าจะไปง่ายกว่า บอกไว้ทั้งสองเส้นทางเพื่อใกล้ทางไหนไปทางนั้น เส้นทางที่สอง มาตามถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปสู่ห้าแยกปากเกร็ด พอถึงห้าแยกปากเกร็ดให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๓๐๖ วิ่งไป ๑๔ กิโลเมตร จะถึงประตูวัดมะขาม ต่อจากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางแรกเส้นแรก
                ร้านเรือนไม้ อยู่ริมแม่น้ำติดกับศาลาการเปรียญ แต่ที่ติดจริง ๆ คือแผงขายกุ่ยฉ่ายของเจ๊มล เขาแขวนผ้าบอกยี่ห้อของเขาไว้เช่นนั้น ให้แวะซื่อขากลับอย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด เพราะกุ่ยฉ่ายเจ้านี้อร่อยมาก มีทั้งไส้หน่อไม้ มันแกว และไส้เผือก (อร่อยสุด ๆ ) ซื่อใส่กล่องกลับมากินเป็นอาหารเย็น เดินผ่านหน้าแผงกุ่ยฉ่ายของเจ๊มลไปสัก ๑๐ เมตร ร้านเรือนไม้ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศแจ่มแจ๋วยิ่งนัก เป็นเรือนไม้สักโบราณมีชานรอบบ้าน ตรงชานหรือระเบียงบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยานี่แหละเป็นที่ตั้งของโต๊ะอาหาร แต่ให้ระวังเข้าผิดร้านเพราะย่านนี้แถววัดศาลเจ้านี่มีร้านก๋วยเตี๋ยวแยะเหลือเกิน ป้ายนำทางเข้าร้านก๋วยเตี๋ยวยกป้ายกันหลายร้าน ร้านเรือนไม้ให้ดูป้ายของเขา เมื่อตามป้ายมาถูกทางจะเห็นศาลาการเปรียญ เห็นร้านกุ่ยฉ่ายเจ๊มล อยู่ข้างศาลาเดินเลยร้านกุ่ยฉ่ายไปก็จะเข้าร้าน "เรือนไม้"
                นั่งกินก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ไม่ต้องใช้พัดลม ไม่ต้องมีห้องแอร์เพราะลมแม่น้ำตีหน้าเย็นชื่นใจ ซดก๋วยเตี๋ยวไป ดูเรือวิ่งในแม่น้ำสนุกและเพลินดี
                อาหารมีหลายอย่าง ไม่ได้มีแต่ก๋วยเตี๋ยว
                ข้าวมันไก่ของเขาก็มี
                ขนมจีน แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ลูกชิ้นเหนียวหนับ เคี้ยวหนุบ
                ขนมจีน น้ำยา น้ำพริก  ของเขาก็มี
                ต้องสั่งเป็นคำแรกคือ "คอหมูย่าง" เขาบอกว่าเป็นสูตรกาญจนบุรี หมักหมูเข้าเนื้อก่อนย่าง หมูจะติดมันนิด ๆ จึงอร่อยนัก จิ้มน้ำแจ่ว หากคำแรกไม่สั่งคอหมูย่าง ให้สั่งพวกน้ำของเขาก่อน เขามีทั้งโอเลี้ยง เก็กฮวย น้ำมะพร้าว น้ำอ้อย ผมเชียร์ ไม่สนับสนุนน้ำอัดลม
                ปลากระพงลวก จิ้มน้ำเต้าเจี้ยว รายการนี้เห็นเนื้อปลาขาวจั๊วน่ากินนัก
                ทีนี้ต้องชิมก๋วยเตี๋ยว จุดเด่นสุด ๆ ต้องอยู่ที่ก๋วยเตี๋ยว ร้านนี้ได้จุมโพ่ มือเก่าแก่ คือขายก๋วยเตี๋ยวเรืออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวนี้แหละมานานหลายสิบปีแล้ว ต่อมาอยากขึ้นบกก็เลยมาเป็นเดี่ยวมือหนึ่งของร้านเรือนไม้ ทางร้านยังมีเดี่ยวมือสองอีก เคยขายก๋วยเตี๋ยวเรืออยู่ในน่านน้ำเจ้าพระยานี้เช่นกัน ขึ้นบกมาเป็นเดี่ยวมือสองให้ร้านเรือนไม้ วันที่ผมไปชิมนั้นตรงกับเทศกาลตรุษจีน เดี่ยวมือหนึ่งลาพักเขาเลยบอกว่าเดี่ยวมือสองทำ ขนาดมือสองทำยังอร่อยขนาดนี้ จึงลงมติว่าร้านเรือนไม้ ก๋วยเตี๋ยวได้มาตรฐานความอร่อยแน่นอน
                ผมสั่งก๋วยเตี๋ยวน้ำไก่ รสของเขาจะกลาง ๆ ให้เติมนิดเติมหน่อยได้ตามใจชอบ จงชิมก่อนปรุง เนื้อไก่เหนียวแน่น เคี้ยวสนุก น้ำซุปเยี่ยม ซดชื่นใจ และตามด้วยแคบหมูไร้ไขมัน ราคาถูกชามละ ๑๒ บาท
                แห้งหมู ใช้ได้ทั้งแห้งหมู และน้ำไก่ พุงของผมรับได้เท่าที่เล่ามาให้ฟังนี้ ของกินเขาแยะมากไปหลายคนคงจะช่วยกันสั่งได้สนุก
                ปิดท้ายด้วยขนมถ้วย ถ้วยละบาทเดียว ขนมหวานของเขามีแยะ ลอดช่อง แตงไทยน้ำกะทิ ลูกชิด ผมปิดท้ายอีกทีด้วย ปังแดง  ตั้งชื่อให้เอง คือ ขนมปังหั่นเหลี่ยมใส่ถ้วยใส่น้ำแข็งไส ราดด้วยน้ำหวานสีแดง และราดด้วยนมสด เลยเรียกว่าปังแดง หวานเย็นชื่นใจดีนัก
                ปิดท้ายอีกทีด้วยการพาไปกินอาหารบุปเฟ่ต์แบบจีน เพราะหากเราอยากกินหมูหัน กินกัน ๒ คน หมูหัน ๑ ตัว คงจะต้องไปที่ร้านน้องปู แก่งซอง จังหวัดมุกดาหาร จะได้พบดงหมูหันริมแม่น้ำโขง หมูหันตัวไม่โตนัก กินจุ ๆ ๒ คนพอไหว หมูหัน ๑ ตัว แต่จบแล้วก็กลายเป็นพุงหมู เพราะหมูกันเข้าไปอยู่ หรือเป็ดปักกิ่งก็เช่นกัน ๒ คน ๑ ตัวสู้ไม่ไหว อาหารพวกนี้กินมากจะเลี่ยนไม่อร่อย พอรู้ว่าเขามีบุปเฟต์ที่มีหมูหัน และเป็ดปักกิ่งด้วยจึงไปชิมดู ไปแล้วก็ติดใจไปหลายครั้งแล้ว คือร้าน "เจ้าสัว" ร้านนี้อยู่ที่เวิรด์เทรด เซ็นเตอร์ หากมาตามถนนสุขุมวิท พอผ่านศาลเอราวัณก็เลี้ยวขวา เลี้ยวแล้วชิดซ้าย เลี้ยวเข้าที่จอดรถทันทีแล้วหาที่จอดที่ใกล้จุดเลี้ยวให้มากที่สุด เพื่อขึ้นไปแล้วจะไม่หลง เข้าตึกช่องกลางขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้นที่ ๖ ภัตตาคารเจ้าสัวอยู่ที่ชั้นนี้ ราคาหัวละ ๓๕๐ บาทอาหารของเขามากหลายอย่าง แต่ที่ผมชอบมากคือ
                หูฉลาม เยื่อไม้ตุ๋น เห็ดหอม ซดชื่นใจนัก ถัดมามีพวกติ๋มซำ เว้นประเภทเผือกทอดไม่มีวางไว้จะกินต้องสั่งพิเศษ เสียเงินต่างหาก แต่ที่วางไว้ร้อน ๆ ก็มากมาย เช่น ซาละเปาชาเขียว ขนมจีบ ฮะเก๋า ซาละเปาก้ามปู ต่อมาก็มีหมูหัน หม่านโถว ใส่จานน้อย ๆ ไว้ให้ หยิบได้ไม่อั้น เป็ดปักกิ่ง โต๊ะกลางก็มีที่ผมชอบเช่น หอยนางรมสด กินกี่ตัวไม่มีใครว่า ตัวโต ๆ ทั้งนั้น กินแล้วเพิ่มพลัง เป็ดแดดเดียวก็อร่อย ข้าวผัดก็มี ปลาดิบ มีอีกแยะ ฯลฯ ของหวานมีทั้งขนมไทย และขนมน้ำแบบจีน.


    • Update : 16/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch