ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
กล่าวถึงสุดสาครตามพระกนิษฐาเสาวคนธืมาถึงอ่าวสินธุ์ถิ่นนาคา เห็นเหล่านาคขึ้นไล่กินกุ้งปลา ก็รู้ว่าเป็นปล่องนาค จึงข้ามไปเสีย แลเห็นสำเภาที่เสาวคนธ์ทำด้วยมนต์ เพื่อให้หมายว่าเป็นลำที่นางทรงอยู่ จึงออกไล่ติดตามอยู่สามวัน เห็นสำเภาอยู่ข้างหน้า ข้างหลังบ้าง เห็นผิดที
จึงลงเลขเสกเป่าไม้เท้าทิพย์ |
ชื่อมนต์นิพพาวนาแก้อาถรรพ์ |
ชี้สำเภาเป่าไปเป็นไฟกัลป์ |
สำเภานั้นหายวับไปกับตา ฯ |
หลังจากนั้น ก็ไปพบเกาะยาวใหญ่ ขวางทางอยู่จึงขับม้าขึ้นไปบนเกาะนั้นมีชื่อว่า เกาะค้างคาว พบผู้เฒ่ามีผู้หญิงสาวอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ประมาณร้อยคนจึงเข้าไปถามความ ผู้เฒ่าเล่าว่าตนเป็นชาวเมืองสาวัตถี เมื่อหนุ่มไม่มีภรรยา เมื่อไปเกี้ยวผู้หญิงก็ถูกด่าทอ
จนขอสู่ผู้ใหญ่ยกให้พร้อม |
ยังไม่ยอมเป็นเมียต้องเสียหอ |
อายมนุษย์สุดกำลังไม่รั้งรอ |
จะผูกคอเสียให้ตายวายชีวา |
ต่อมาไปได้ลายแทงจึงทราบถึงเล่ห์เสน่หา จนมีผู้หญิงมามีจิตพิสมัยตนเป็นจำนวนมาก เมื่อรู้ถึงท้าวเจ้าเมืองก็คิดเคืองตน แกล้งหาว่าตนเป็นกาลี จึงเอาตนมาปล่อยอ่าวเมืองสาวัตถี สุดสาครได้ฟังก็ใคร่จะได้วิชาดังกล่าว จึงเล่าความตามเรื่องที่เคืองข้อง ผู้เฒ่าก็รับสอนให้ จากนั้นสุดสาครก็ถามว่า ได้เห็นเรือแล่นผ่านมาทางนี้หรือไม่ ผู้เฒ่าก็ตอบว่าเห็นเรือแล่นผ่านมา ตั้งแต่เดือนสี่ปีกลาย แล่นขึ้นไปทางเหนือ เป็นเรือใหญ่กว่าเรือสินค้าทั้งหลาย สังเกตดูตามแผนที่จะแล่นไปทางฝั่งเมืองวาหุโลม แล้วจับยามทำนายว่า ถ้าตามไปก็จะได้พบ
สุดสาครได้ฟังก็บอกลาผู้เฒ่า แล้วออกเดินทางไปข้างทิศอุดร เมื่อเดินทางไปได้สิบห้าวัน ก็แลเห็นด่านมีปราการคร่อมภูเขาอยู่ และสำเภาจอดอยู่ริมท่า ก็แน่ใจว่านางเสาวคนธ์มาเรือลำนี้
เมื่อแรกทำจำได้ทั้งใบเสา |
ผิดสำเภาชาวเมืองมีเครื่องสี |
ขับม้าทรงตรงมาในราตรี |
ก็ถึงที่ฝั่งทะเลขึ้นเภตรา |
ฯลฯ ได้พบคนรู้จักจึงซักถามได้ความตั้งแต่จากเมืองมา จนถึงชิงชัยได้เมืองวาหุโลม สุดสาครทราบเรื่องแล้วก็คิดจะลองวิชา ของครูเฒ่า
แม้นสมนึกสึกชีเหมือนอิเหนา |
ไม่ปลอบเปล่าเปลื้องที่อดสู |
จะบวชตามทรามวัยลอบไปดู |
มิให้ผู้อื่นแจ้งจะแพร่งพราย |
ฯลฯ จึงแปลงองค์ทรงนุ่งหนังเสือเหลือง พอรุ่งแจ้งจึงสั่งนายพวกที่เฝ้าสำเภาทรงให้จ้างชาวด่านบ้านปากน้ำ ได้คนนำทางแล้วขึ้นหลังม้านิลมังกร เดินทางเข้าแดนบ้านป่า
กล่าวถึงพระอัคคีไม่หายจากโรคที่เศกเศร้า ด้วยมีพระชันษาได้ยี่สิบห้าปี พี่เลี้ยงปรึกษากันเห็นว่า
เป็นคราวพระเคราะห์เพราะว่าพระราหู |
มาสมสู่สุริยาในราศี |
อังคารถึงซึ่งพฤหัสบดี |
ต้องตกที่ช้างฉันทันต์อันตราย |
จงสึกหาลาพรตให้ปลดเปลื้อง แล้วแต่งเครื่องพลีกรรมถวายเป็นการสะเดาะพระเคราะห์ร้าย นางเชื่อคำจึงอำลาพรตแล้ว ทรงเครื่องอย่างพราหมณ์จึงค่อยฟื้นองค์ พอตกกลางคืนได้ยามสามก็ทรงสุบิน
ว่าองค์พระอนันตนาคราช |
เผ่นผงาดมาทางลำแม่น้ำสินธุ์ |
เข้ารัดนางกลางคืนจะกลืนกิน |
ร้องจนสิ้นเสียงสะดุ้งพอรุ่งราง |
จึงตรัสเรียกสี่พี่เลี้ยงมาเล่าความฝันให้ฟัง พี่เลี้ยงทำนายฝันพระพี่สุดสาครผูกใจอยู่กับตัวนาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของศึกเสือเหนือใต้ แต่อย่างใด นางได้ฟังก็ให้ขวยเขินรัญจวนปั่นป่วนใจ
กล่าวถึงสุดสาครเดินทางได้ยี่สิบวัน ก็ถึงกรุงวาหุโลม แล้วก็ตรงไปหน้าวัง หยุดนั่งอยู่หน้าศาลาลัย พอพวกขอเฝ้าของนางมาพบสุดสาคร ก็ไต่ถามถึงนางเขาก็ทูลตอบให้ทราบทุกประการ
อันฤาษีที่เป็นหมอพวกขอเฝ้า |
เคยเดินเข้าออกได้ดังใจหวัง |
เชิญพระองค์ตรงไปเข้าในวัง |
อย่าให้ทั้งปวงแจ้งจะแพร่งพราย ฯ |
เมื่อฤาษีสุดสาครมาพบเสาวคนธ์ก็เข้านั่งประคอง แล้วลองตำราจากครูเฒ่า นางแกล้งผลักใสแล้วว่า เป็นฤาษีไม่กลัวบาปหรือ สุดสาครจึงปลดเปลื้องเครื่องครองออก แล้วเข้ารับขวัญเสาวคนธ์
อันตัวพี่นี้เหมือนแมงภู่ผึ้ง |
มาพบซึ่งเสาวรสอันสดใส |
สุดจะห้ามความรักหักฤทัย |
พลางรูปไล้โลมน้องประคองเชย |
ฯลฯ
พอสมเชิงเริงรื่นชูชื่นแช่ม |
ต่างยิ้มแย้มหย่อนตามไม่ห้ามหวง |
มณฑาทิพย์กลิ่นหุ้มเป็นพุ่มพวง |
ขยายดวงเด่นกระจ่างเมื่อกลางวัน |
ฯลฯ
พระคลึงเคล้าเย้ายวนให้ป่วนปลื้ม |
นางกลับลืมหลงเล่ห์เสน่หา |
พระเอนแอบแนบชิดวนิดา |
อุ่นอุราพลอยหลับระงับไป ฯ |
ทั้งสององค์อยู่ร่วมรักกันจนลืมทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเวลาหลายเดือน อยู่มาวันหนึ่งองค์เสาวคนธ์คิดอายพวกทมิฬ ถ้ามีผู้รู้ความแพร่งพรายออกไป ทั้งคิดถึงเรื่องที่จะทรงครรภ์ จึงแจ้งเหตุให้เชษฐาว่า ตัวนางต้องเป็นมุนีออกนั่งที่แท่นสุวรรณ เสร็จธุระแล้วจะได้ไปเสียให้ลับ
ครั้นรุ่งขึ้นองค์เสาวคนธ์ก็ทรงพรตเป็นฤาษี ออกนั่งที่แท่นรัตน์ชัชวาล พร้อมเสนาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์แล้ว พระอัคคีก็ดำรัสตามโบราณ มอบสมบัติให้โอรสองค์วาโหมครองเมืองวาหุโลม นางธิดาอายุสิบห้าปี ให้เป็นที่อัคเรศเกศกำนัล นายด่านชานชลาเป็นอุปราช ราหูเป็นเจ้าเมืองตะวีน ตรีเมฆเป็นมหาเสนาบดี พระกาลด่านให้เป็นผู้รั้งด่านชานกรุง นอกนั้นบรรดาที่ช่วยรบให้แทนที่ตรีเมฆ ราหู เป็นผู้รั้ง บุตรชายนายด่านอายุได้สิบปี เป็นผู้รั้งเมืองด่านชานชลา แล้วพระอัคคีก็สั่งวาโหม ให้อุปถัมภ์บำรุงชาวกรุง ให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม
ปรึกษาความตามบทในกฎหมาย |
อย่ากลับกลายว่ากล่าวให้ก้าวเฉียง |
ผู้ใดดีมีวิชาเอามาเลี้ยง |
จึงต้องเยี่ยงอย่างกษัตริย์ขัตติยา |
คิดกำจัดศัตรูโจรผู้ร้าย |
ให้หญิงชายชื่นจิตทุกทิศา |
มีโทษกรณ์ผ่อนผันกรุณา |
ให้เย็นใจไพร่ฟ้าประชาชน |
หนึ่งม้ารถคชสารทหารรบ |
ให้รู้จบเจนศึกเฝ้าฝึกฝน |
แม้มีผู้ยุยงอย่างหลงกล |
อย่าคบคนสอพลอทรลักษณ์ |
ใครข้องขัดทัดทานอย่าหาญฮึก |
ค่อยตรองตรึกชอบผิดคิดหน่วงหนัก |
แม้มีผู้รู้มาสาพิภักดิ์ |
ให้ยศศักดิ์สมควรอย่าชวนชัง |
แล้วบอกลาวาโหมกลับไปลงเรือเดินทางต่อไปในทะเล เพื่อโปรดสัตว์ต่อไป วาโหมได้ฟังก็อาลัยในพระอัคคี จึงทูลตนคิดว่าพระอัคคีเป็นเหมือนพระบิดา เมื่อเดินทางไปเป็นที่สบายสิ้นกังวลแล้ว ก็ขอนิมนต์กลับมายังธานี พระอัคคีรับคำแล้ว พอเวลาโพล้เพล้ก็ออกเดินทาง
พระอัคคีมิได้ลาสิกขาบท ส่วนพวกขอเฝ้าพากันสึก สุดสาครก็อดใจรออยู่จนสามเดือน ในที่สุดก็เข้าไปไต่ถามองค์เสาวคนธ์
จะบวชไปให้เป็นขรัวใช่ตัวเปล่า |
เป็นเมียเขาเจ้าของยังครองหวง |
เหมือนเป็นหนี้มิใช่น้อยเขาคอยทวง |
จะลุล่วงไปได้หรือเขาดื้อดึง |
ฯลฯ สุดสาครเข้าเล้าโลมจนองค์เสาวคนธ์ต้องลาพรต สุดสาครถามนางว่า ที่หนีมานั้นหมายจะไม่กลับเมือง สิ้นอาลัยในชนกชนนีแล้วหรือ ตนจะได้ลานางไป นางก็ตอบว่าเป็นเพราะเคราะห์กรรมที่ทำไว้ จะกลับไปเฝ้าก็แสนอาย อยู่ไปก็แสนอายจึงขอลาก้มหน้าตาย สุดสาครก็ปลอบประโลมนางบอกว่า ตนแกล้งว่าเล่นเพื่อหยอกนาง แล้วบอกว่าเดิมทีมิได้ตรึก ให้ลึกซึ้งจะกลับไปพระบิดาพระมารดา คงยังขัดเคืองอยู่
ถ้าหากว่าฝ่าละอองสองกษัตริย์ |
เกิดวิบัติแปรปรวนประชวรไข้ |
หรือธานีมีศึกนึกจะไป |
ทำชอบให้หายผิดที่ติดพัน ฯ |
สุดสาครจึงให้แต่งเรือน้อยคอยเหตุไปคอยเฝ้าคอยเหตุ ถ้ามีอันตรายมาถึงเมืองก็จะไปช่วย เพื่อทดแทนความผิดที่คิดหนีมา
ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
กล่าวถึงเรื่องเมืองลังกา ตั้งแต่ผัวกลับกองทัพไปต่างครองครรภ์รัดทนสลดจิต จนครรภ์ได้สิบเดือน องค์ละเวงวัณฬาคลอดหน่อนาถเป็นชายเหมือนพระบิดา พระมารดาให้ชื่อว่า พระมังคลา นางรำภาสะหรี่มีโอรส เหมือนพระศรีสุวรรณชื่อ วลายุดา นางยุพามีบุตรเหมือนสินสมุทชื่อ วายุพัฒน์ นางสุลาลีมีบุตรเหมือนสุดสาครชื่อ หัสกัน
พระมังคลากับวลายุดา อยู่กับบาทหลวง วายุพัฒน์กับหัสกันอยู่กับพระปีโป
ตั้งพากเพียรเรียนหนังสือถือฝรั่ง |
อาจารย์สั่งสอนสิกขาเยวาโห |
ดูตำราฟ้าดินค่อยภิญโญ |
ไม่มีโรคาพานสำราญใจ ฯ |
กล่าวถึงเจ้าเมืองการะเวก ครั้นผู้เกี่ยวดองยกทัพกลับไปแล้ว พระหัสไชยก็สร้อยเศร้าเปล่าใจ คิดคะนึงถึงลูกสาวเจ้าเมืองผลึก สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา
แต่ดิ้นโดยโหยหวนคร่ำครวญคิด |
มิรู้ลืมปลื้มจิตกนิษฐา |
จำจะคิดบิดผันจำนรรจา |
ลาบิดาชนนีตามพี่นาง |
ฯลฯ แล้วจะได้ไปเมืองผลึกได้พบกับสองน้องนาง พอรุ่งสว่างโสรจสรงทรงเครื่องแล้ว ก็ไปเฝ้าพระชนนี กรุงกษัตริย์ตรัสถามพระโอรสว่า มีทุกข์ร้อนเรื่องใด พระโอรสทูลว่า พระพี่นางออกเดินทางไปโดยไม่ทราบเหตุ พระเชษฐาตามไปก็หายสูญไปด้วย จึงขอทูลลาเที่ยวตามหาทั้งสององค์
พระฟังคำห้ามบุตรสุดสวาท |
เขาตัดขาดเชื้อสายจึงหน่ายหนี |
อย่าตามไปให้ลำบากยากโยธี |
อยู่บุรีเช้าค่ำให้สำราญ ฯ |
พระหัสไชยได้ฟังก็ทูลตอบว่า ตนมีความอาลัยพระพี่นางยิ่งนัก ด้วยเห็นพบเห็นพระพักตร์กันสองพี่น้อง ทั้งพระพี่นางก็เป็นหญิง ไม่รู้ว่าจะผินหน้าไปหาใคร พระปิตุรงค์ได้ฟังก็สงสาร รำคาญใจจึงตรัสว่า
จึงว่าพ่อไม่ห้ามตามแต่จิต |
เมื่อขืนคิดรักใคร่ก็ไปหา |
ตามลำพังพี่น้องกันสองรา |
แต่อย่าว่าข้าใช้ให้ไปตาม ฯ |
พระหัสไชยได้ฟังก็ทูลลาพระบิดามาเตรียมตัวออกเดินทาง โดยทางเรือใช้เรือกำปั่นมีคนประจำหนึ่งพันคน พอรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางตั้งเข็มจะไปเข้าอ่าวเมืองผลึก ระหว่างทางได้ชมฝูงปลา และบรรดาสัตว์น้ำต่าง ๆ ในทะเลไปตามลำดับ และรำพึงถึงพระพี่นางกับลูกสาวเจ้าเมืองผลึก
ทั้งกุ้งกั้งมังกรสลอนสล้าง |
บ้างดำบ้างผุดฟูเป็นคู่สอง |
พวกเหราม้าน้ำคล่ำคะนอง |
บ้างพ่นฟองฟุ้งฟ้าฝูงปลาวาฬ |
ฯลฯ
เงือกมนุษย์ผุดกลุ้มทั้งหนุ่มสาว |
ล้วนผมยาวประบ่ามีตาหู |
บ้างเหมือนแพะแกะกายกลายเป็นงู |
ขึ้นฟ่องฟูคลื่นเสียงครื้นเครง |
ฯลฯ
คิดคะนึงถึงพี่เป็นที่รัก |
เคยพร้อมพักตร์ปรีดิ์เปรมเกษมสรวล |
เคยคิดบอกดอกสร้อยน้องคอยทวน |
เคยชี้ชวนชมฟ้าดาราราย |
ฯลฯ
แล้วรำพึงถูกลูกสาวเจ้าผลึก |
จะรำลึกถึงพี่มั่งหรือทั้งสอง |
ฝาแฝดคู่ดูดีทั้งพี่น้อง |
ประไพพริ้มยิ้มย่องละอองนวล |
ฯลฯ
ดูเรือช้ากว่าทุกครั้งสั่งคนใช้ |
ให้แทรกใบซ้ายขวาผูกผ้าขึง |
ทุกคืนค่ำร่ำใช้ใบตะบึง |
จนเข้าถึงอ่าวผลึกดึกสองยาม |
ให้เรือจอดทอดสมออยู่หน้าด่าน ทหารเห็นรู้จักด้วยมีความเกี่ยวดองของทั้งสองเมือง จึงปล่อยให้เข้าไปวัง
กำปั่นจอดทอดท่าหน้าฉนวน |
ขุนนางชวนกันมารับคอยคับคั่ง |
พระทรงอาสน์ราชสุวรรณบัลลังก์ |
เข้าในวังคอยเฝ้าเจ้านคร ฯ |
พระอภัยเรียกหัสไชยเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสถามถึงสองกษัตริย์และข่าวคราวของพระพี่นาง หัสไชยทูลว่า สองกษัตริย์พร้อมทั้งเสนาใน และไพร่พลอยู่พร้อมดีบริบูรณ์ แต่พระพี่นางกับพระเชษฐาหายสูญไป ไม่ทราบว่าดีร้ายประการใด พระอภัยได้ฟังจึงตรัสว่า พระองค์ก็ไม่ได้นอนใจ ให้เวียนไปสืบเรื่องยังทุกเมือง
แต่เรือใช้ใหญ่น้อยสักร้อยเศษ |
คอยฟังเหตุเช้าเย็นก็เห็นหาย |
หมอดูดีที่ไหนก็ให้ทาย |
ว่าไม่ตายแต่จะมายังช้านาน |
แล้วตรัสชวนให้พระหัสไชยคอยฟังข่าวอยู่ที่เมืองผลึก เมื่อใครไปพบก็จะพากันไปตามพระพี่นาง ฝ่ายพระมเหสีได้พบพระหัสไชยก็ดีพระทัย ตรัสว่ารำลึกถึงอยู่เสมอ เพราะเคยเพื่อนชีวิตที่สนิทสนม พระหัสไชยทูลตอบว่า น้ำใจของตนนั้นมีความผูกพันกับพระมเหสี เหมือนเป็นพระชนนีผู้ให้กำเนิด ตนออกตามพระพี่นางมิได้แจ้งกิจจา จึงแวะมาอภิวาทบาทบงส์ พระมเหสีจึงเรียกพระบุตรีพี่น้องทั้งสององค์ ให้มาอัญชลีพระพี่ยาหัสไชย แล้วจัดให้หัสไชยพักอยู่ปราสาทเดียวกัน
พระหัสไชยสองพระบุตรีร่วมเสวย แต่ทั้งสองนางแกล้งหนีออกนอกฉากไปจากห้อง พระหัสไชยตรัสร้องเรียกก็ไม่กลับไปหา พระหัสไชยไม่ยอมเสวยเลยหลับไป พระมเหสีเห็นเครื่องอานพานตั้งอยู่ค้างอยู่ จึงถามนางกำนัลในได้ความแล้ว จึงไปว่ากล่าวสองพระธิดา ทั้งสองนางไม่อาจขัดจึงหักความอาย แล้วไปปลุกหัสไชยให้มาเสวยด้วยกัน พระหัสไชยต่อว่าสองนางที่ไม่ทำตัวเหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่ลังกา สองนางก็กล่าวแก้ตัวด้วยประการต่าง ๆ ในที่สุดก็ทูลว่า
น้องก็รู้ในจิตว่าสิทธิ์ขาด |
เป็นข้าบาทบทเรศพระเชษฐา |
ฆ่าก็ตายขายก็ขาดตามอาชญา |
จงเมตตาอย่างให้น้องนี้ต้องตี ฯ |
พระหัสไชยให้สองนางร่วมเสวยด้วย และไต่ถามนามกับข้าว สองนางก็ทูลชี้ถวายต่างต่างกัน
ไก่พะแนงแกงเผ็ดกับเป็ดหั่น |
ห่อหมกมันจันลอนสุกรหัน |
ทั้งแกงส้มต้มขิงทุกสิ่งอัน |
กุ้งทอดมันม้าอ้วนแกงบวนเนื้อ |
ฯลฯ พระหัสไชยคิดรำพึงถึงสองพระธิดาตั้งแต่ครั้งเมื่อยังเยาว์ มาจนถึงปัจจุบัน
ดูทำนองสององค์พระนงนุช |
ยังซื่อสุจริตรักเราหนักหนา |
แต่คราวเคราะห์เพราะมาพ้องกันสองรา |
ต้องเกี้ยวฝาแฝดคู่อยู่จริงจริง |
ฯลฯ ฝ่ายพระสินสมุทเป็นอุปราชเมืองผลึก ทราบว่าหัสไชยมาถึงเมืองก็ชวนอรุณรัศมีไปถามข่าวเสาวคนธ์ จึงพากันไปเฝ้าพระชนนี ได้พบสองพระธิดากับหัสไชย จึงตรัสถามหัสไชยถึงองค์เสาวคนธ์ พระหัสไชยก็ทูลความให้ทราบว่า
เที่ยวสืบถามตามรอบทุกขอบเขต |
ทั่วประเทศใหญ่น้อยร้อยภาษา |
ไม่ได้ข่าวหราวที่พระพี่ยา |
ทั้งเชษฐาสูญความไปตามกัน ฯ |
พระสินสมุทได้ฟังจึงตรัสว่า ที่เป็นดังนั้นเพราะเทวีเสาวคนธ์มีเวทมนต์ขยัน คนอื่นจึงตามไปไม่ทัน แต่สุดสาครตามไปคงจะพบ อีกไม่นานก็คงได้กลับคืนมา จึงขอให้หัสไชยอยู่ชมบ้านเมืองของตน ให้ปรีดาก่อนแม้ว่าประสงค์จำนงใด ก็จะหามาให้สมมาดปรารถนา ฝ่ายอรุณรัศมีบอกว่า ถ้ารู้ว่าองค์เสาวคนธ์คิดหนีตนจะขอไปด้วย เพื่อสร้างพรตบวชเรียนสวดมนต์ สินสมุทได้ฟังจึงว่า
สินสมุทว่านี่แน่แม่อรุณ |
อยากได้บุญง่ายดอกจะบอกให้ |
ถือศีลห้าอย่าหึงโกรธขึ้งใคร |
ก็จะได้โสดาไม่ช้าที |
ฯลฯ กลับกล่าวถึงท้าวสุทัศน์เจ้าเมืองรัตนา พระชนม์ได้ร้อยยี่สิบปี มีพระอาการลืมหลง เป็นลมปะทะพระหทัยแล้ว สวรรคตเมื่อเวลาไก่ขัน พระมเหสีเห็นพระสามีสวรรคตก็โศกกำสรดสิ้นกำลัง ประกอบกับทรงชราภาพจึงสวรรคตไปอีกองค์ ฝ่ายเสนาบดีจึงแต่งสารทูลเรื่องราวไปยังพระโอรส
อำมาตย์ผู้ถือสารเดินทางโดยเรือสำเภาใช้เวลาสามเดือนครึ้งถึงเมืองรมจักร แล้วถวายใบบอกกษัตริย์ศรีสุวรรณ ได้ทรงทราบแล้วก็พระทัยวับ เศร้าโศกยิ่งนักจึงซักถามว่า
อ้ายพวกแพทย์พิทยาโหราศาสตร์ |
มันไม่คาดชันษาอยู่หาไหน |
หนึ่งแสนสาวท้าวนางพวกข้างใน |
ทำไมไม่รู้ที่จะนิพพาน ฯ |
ฝ่ายอำมาตย์ก็ทูลตอบให้ชอบใจด้วยประการต่าง ๆ
เมื่อวันพระจะนิพพานสำราญรื่น |
จนเที่ยงคืนฟังศัพท์เหมือนหลับไหล |
เงียบสงัดตัดบ่วงไม่ห่วงใย |
ทั้งเวียงชัยชมบุญมุลิกา ฯ |
พระศรีสุวรรณจึงสั่งให้อำมาตย์ผู้ถือสารไปทูลมูลเหตุ เชิญพระเชษฐารีบเดินทางแล้วให้ทูลว่า พระองค์พร้อมเหล่าพหลพลนิกาย จะถวายบังคมลาล่วงหน้าไปก่อน
ครั้นถึงเวลาเช้าพระศรีสุวรรณกับพระมเหสีเกษรา พร้อมเสนีสนมกรมในลงกำปั่นออกเดินทาง เป็นเวลาสามเดือนก็ถึงเมืองรัตนา เข้าไปอภิวาทพระศพครวญคร่ำรำพันถึงพระชนกชนนี ด้วยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก เมื่อบรรเทาโศกแล้ว จึงตรัสสั่งเสนาในให้ทำพระเมรุ และเตรียมการต่าง ๆ ไว้คอยท่าพระเชษฐา
ฝ่ายทูตถือหนังสือถึงเมืองผลึก พวกเสนาพาเข้าเฝ้าพระอภัยแล้ว ให้อ่านสารมีความว่า พระชนกชนนีนั้นเมื่อ
เดือนแปดปีวอกตะวันสายัณห์ค่ำ |
สิบเอ็ดค่ำพุธวันขึ้นบรรจถรณ์ |
ฤกษ์อรุณทูลกระหม่อมจอมนิกร |
สองภูธรท้าวสวรรค์ครรไล |
จึงจัดแจงแต่งพระศพครบเยี่ยงอย่าง |
ไว้บนปรางค์ปราสาททองอันผ่องใส |
ต้องขึ้นป้อมล้อมวงระวังภัย |
จงทราบใต้บาทบงส์พระทรงยศ ฯ |
พระอภัยได้ฟังสารแล้ว ดังหนึ่งใจจะขาดมีความโศกกำสรดยิ่งนัก แล้วตรัสสั่งสินสมุทให้เตรียมพหลพลขันธ์ออกเดินทาง ในเช้าวันรุ่งขึ้น เกณฑ์กำปั่นไปยี่สิบลำ จากนั้นจึงเสด็จไปบอกพระมเหสีบอกให้อยู่ดูแลเมืองแทนพระองค์ พระมเหสีได้ฟังก็สังเวช และขอติดตามไปด้วยจะได้ช่วยการ
แม้ให้อยู่ดูเหมือนเฉยแกล้งเลยละ |
ข้างฝ่ายพระอนุชาจะว่าขาน |
ขอให้ได้ประณตบทมาลย์ |
ส่งสักการภูวเรศเหมือนเกศรา ฯ |
ค พระโลมเล้าโฉมเฉลาว่าเจ้าพี่ |
พระชนนีชรานักอยู่รักษา |
ทั้งลูกน้อยสร้อยสุวรรณ จันทรสุดา |
เหมือนมณฑามาลีซึ่งมีรส |
ภูมรินปิ่นเคล้าแม่เจ้าของ |
ไม่ปกป้องดอกดวงจะล่วงหมด |
อันน้ำตาลหวานวางไว้ข้างมด |
มดจะอดได้หรือน้องตรึกตรองดู |
แต่เท้ามีสี่เท้ายังก้าวพลาด |
จะเสียชาติเสียยศได้อดสู |
คำโบราณท่านว่าไว้เป็นครู |
เจ้าจงอยู่สอนสั่งระวังระไว |
พระมเหสีทูลว่า หน่อกษัตริย์หัสไชยนั้นเมื่อครั้งรบลังกา มีความจงรักภักดีเป็นที่สุด เหมือนเป็นบุตรสุดสวาท หาไม่แล้วสองธิดาคงจะไม่รอดกลับมา อนึ่งเจ้าเมืองการะเวกก็หวังอภิเษกหน่อไทสุดสาครเป็นเขย จึงไม่ได้ห้ามให้เป็นไปตามบุญ ด้วยคุ้นเคยกัน และเห็นว่าสองลูกน้อยสร้อยสุวรรณ จันทรสุดานั้นไม่ผ่าเหล่า และว่า
จะดูวัวชั่วดีก็ที่หาง |
จะดูนางดูแม่เหมือนแลเห็น |
แม้ลูกยางห่างต้นหล่นกระเด็น |
ก็จะเป็นตามเหล่าตามเผ่าพันธุ์ ฯ |
พระอภัยได้ฟังจึงตรัสว่า พระองค์ก็รักหัสไชยมากจะหวงลูกไว้ทำไม แต่จะใคร่ให้งามตามกษัตริย์มอบสมบัติ และจัดการอภิเษกให้ ขณะนี้หัสไชยก็ได้มาอยู่ในเมืองผลึกด้วย แล้วถ้าพาพระธิดาไปก็จะเหมือนว่า แกล้งพรากจากกันก็จะเกิด ความรัดทดเศร้าหมอง จะให้ลูกอยู่ก็เหมือนเป็นใจ จะแกล้งให้ลูกยาเป็นราคี แล้วสรุปว่า
เจ้าอยู่ด้วยช่วยบำรุงกรุงผลึก |
ทั้งข้าศึกเกรงสง่ามารศรี |
จัดแต่เหล่าสาวสรรค์พวกขันที |
ไปกับพี่แต่พอให้ช่วงใช้การ ฯ |
ฝ่ายสินสมุทจัดแต่งกำปั่นยี่สิบลำ ปืนประจำลำละร้อยกระบอก เมื่อทั้งหมดพร้อมแล้ว พอลมส่งก็ออกทะเลลึก ตั้งเข็มข้างทิศเหนือ ใช้เวลาเจ็ดเดือนก็ถึงเมืองรัตนา แล้วเข้าไปอัญชลีพระศพพระชนกชนนี
ค หน่อนรินทรสินสมุททั้งนุชน้อง |
ก้มกราบสองพระศพซบเกศา |
ทั้งสี่องค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา |
ชลนานองตกซกกระเซ็น ฯ |