หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    จิตสำนึกของสังคมไทย/7
    อนึ่ง สิ่งที่เราจะเอามาเป็นอุดมธรรมนำจิตสำนึกของสังคม หรือเป็นอุดมการณ์ของชาตินี้ จะต้องมีลักษณะดีที่จำเป็นประกอบด้วย อย่างน้อยอุดมการณ์นั้นจะต้องมีลักษณะที่เอื้อเฟื้อ ไม่บีบคั้นกลุ่มชนอื่นผู้มีลัทธิศาสนาที่นับถือต่างออกไป สิ่งสำคัญที่พึงย้ำคือ นอกจากจะไม่เบียดเบียน ไม่บีบคั้นแล้ว ยังเกื้อกูลด้วย

    ลักษณะที่ไม่บีบคั้นไม่เบียดเบียนต่อลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้าขาดลักษณะนี้เสียแล้ว ประโยชน์ที่จะได้ก็จะกลายเป็นเสียไป หรือมิฉะนั้นก็จะไม่คุ้ม ผลเสียไม่ใช่แค่แตกแยก แต่จะเป็นการทำร้ายเบียดเบียนข่มเหงกันต่างหาก

    ถ้าลัทธิศาสนาที่มีลักษณะแบ่งแยก รังเกียจเดียดฉันท์ผู้อื่น และบังคับศรัทธา ได้รับการยกขึ้นเป็นอุดมการณ์ของชาติ สังคมก็จะสูญเสียเสรีภาพในการนับถือศาสนา และอาจจะถึงกับเกิดการรบราฆ่าฟันกันเพราะลัทธิศาสนาเป็นเหตุ

    พระพุทธศาสนามีลักษณะที่จำเป็นข้อนี้แน่นอน คือมีความใจกว้าง ไม่แบ่งแยก ไม่จำกัดตัว ไม่บังคับศรัทธา แต่สนับสนุนเสรีภาพทางศาสนา โดยเฉพาะถือหลักเสรีภาพในการใช้ปัญญา ถ้าแม้ได้รับการยกขึ้นเป็นอุดมการณ์ของชาติ ก็ไม่เป็นเหตุให้กลายเป็นการได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่เป็นโทษอีกด้านหนึ่ง คือมิใช่ว่ามาช่วยแก้ปัญหาความตกต่ำเสื่อมโทรมของสังคม แต่กลับทำให้กลุ่มคนในสังคมเบียดเบียนข่มเหงทำร้ายกัน

    ในทางตรงข้าม เมื่อพระพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ของชาติ กลับจะทำให้ลัทธิศาสนาต่างๆ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี ทั้งในแง่ของบรรยากาศที่มีเสรีภาพในการนับถือ และในแง่ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล แทนที่จะได้อย่างหนึ่งเสียอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นได้สองชั้น

    พุทธศาสนามีลักษณะที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นชัด ไม่ว่าจะโดยหลักการก็ตาม หรือโดยประวัติศาสตร์ก็ตาม ขอให้ใช้ปัญญาตรวจสอบและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ว่าเป็นความจริงตามที่ว่านี้หรือไม่

    จำเป็นที่สังคมทั้งหมดจะต้องมีอุดมธรรมหรืออุดมการณ์ร่วมสักอย่างหนึ่ง ถ้าเรามีความคิดชัดและมั่นใจในความจำเป็นและประโยชน์แล้ว ก็ไม่ควรจะมัวกลัวอยู่ สิ่งที่ควรกลัวไม่กลัว กลับไปกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่น กลัวว่าจะมีการแตกแยก กลัวอย่างนั้นอย่างนี้

    สิ่งที่ควรกลัวก็คือสังคมที่จะเสื่อมโทรม ที่จะไม่รู้จักพัฒนา ที่ย่ำแย่มีแต่ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นี้ ที่พ่อแม่ขายลูกไปเป็นโสเภณี ที่คนติดเอดส์กันมากมาย ที่สถาบันต่างๆ ในสังคมฟอนเฟะ

    ประชาชนหวังพึ่งไม่ได้ อย่างนี้ไม่กลัวหรือ

    สิ่งที่ควรกลัวไม่กลัว กลับไปกลัวต่อสิ่งที่จะเอามาใช้แก้ปัญหา แล้วไม่เอาสิ่งที่จะแก้ปัญหามาใช้ จะว่าสังคมไทยนี้มีมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น จะต้องคิดกันอย่างจริงจังในเรื่องของหลักหรือตัวของสิ่งที่จะใช้แก้ปัญหา จริงไหมที่ว่าจะต้องมีอะไรที่เป็นอุดมการณ์ของสังคม ที่ว่าจะต้องมีจุดหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม

    ถ้าจำเป็นแล้วก็ต้องคิดกันให้ชัด

    เมื่อคิดได้แล้ว ถ้าจะมีปัญหาที่เป็นห่วงกันอยู่บ้าง เช่น ความแตกแยกแบ่งพวก หรือการบีบคั้นกัน ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในกรณีของพระพุทธศาสนา

    เพราะฉะนั้น จึงขอให้คิดกันให้ชัดว่า ที่พูดมานี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ยอมแก้ปัญหาเพราะมัวกลัวสิ่งที่จะแก้ปัญหา ก็ต้องพูดว่ากลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว ส่วนสิ่งที่ควรกลัว คือปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคม กลับไม่กลัว นี่เราเป็นอะไรกัน

    ควรพูดย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า สำหรับพระพุทธศาสนานั้น การพิจารณาว่าควรบัญญัติให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยก หรือกลัวชาวพุทธจะไปบีบคั้นข่มเหงผู้อื่น เพราะในแง่นี้ผลจะกลับตรงข้าม

    กลายเป็นว่า ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะกลับเป็นการช่วยสร้างความอยู่รอดปลอดภัยให้แก่ลัทธิศาสนาอื่นด้วยซ้ำ ต้องย้ำว่า ความจริงในเรื่องนี้ ถ้าใครยังไม่ชัด ขอให้ไปศึกษาให้แจ่มแจ้ง ไม่ควรจมอยู่ในความไม่รู้หรือคาดคิดเอาเอง

    ถ้ายังจะยกเหตุผลเกี่ยวกับการกลัวความแตกแยกบีบคั้นทางศาสนามาเป็นข้อถกเถียงในกรณีนี้ จะกลายเป็นการแสดงถึงการขาดความรู้ในเรื่องศาสนา และความไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักการ และในด้านประวัติศาสตร์ ความกลัวแง่นี้ ควรตัดไปได้เลย ควรจะพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์


    สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป
    หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข


    อาตมาได้พูดแล้วว่า ไม่สนใจเรื่องการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ แต่สนใจว่าจะเอาพุทธศาสนามาใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยของเราได้อย่างไร

    แต่ปัญหามันโยงเข้ามาว่า ในการที่จะแก้ปัญหาของสังคมและสร้างสรรค์ประเทศชาตินั้น ถ้าจะทำให้สำเร็จจะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งที่จะยึดเป็นอุดมการณ์สูงสุด หรือจะต้องเอาหลักอะไรสักอย่างหนึ่งมาสร้างมานำสังคมนี้ให้มีจิตสำนึกต่อจุดหมายร่วมกัน ซึ่งขอเรียกว่าเป็น "อุดมธรรมนำจิตสำนึกของสังคม"

    เรื่องก็เลยมาพันกันตรงนี้

    ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อาตมาไม่สนใจเรื่องการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ จุดที่สนใจก็คือว่า จะเอาพุทธศาสนามาใช้แก้ปัญหาของสังคมและสร้างสรรค์ประเทศชาตินี้อย่างไร แต่แล้วปัญหานี้มันโยงไปสู่อีกปัญหาหนึ่งว่า ในการที่จะแก้ปัญหาสังคมและสร้างสรรค์ประเทศชาติได้อย่างนั้น มันกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ว่าเราจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งมาเป็นอุดมการณ์ที่รวมความคิดจิตใจของคนในชาติ และเป็นอุดมธรรมที่จะมานำจิตสำนึกของสังคมนี้ เราจึงจะสามารถแก้ปัญหาของสังคมและนำชาติให้ก้าวหน้างอกงามไปได้สำเร็จ

    ถ้าเราจะต้องบัญญัติเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็น่าจะทำด้วยเหตุผลนี้ เพราะมันเป็นความจำเป็น ไม่มีทางอื่น ถ้าขืนปล่อยอยู่อย่างนี้ สังคมไทยจะเสื่อมโทรมและต่ำทรามลงไปตามลำดับ แล้วมีทางอื่นไหมที่จะแก้ปัญหา

    ฉะนั้น ในตอนนี้ จะขอตั้งเป็นคำถาม ๒ ข้อ ให้ช่วยกันตอบ และขอให้ตอบโดยใช้ปัญญา ด้วยความคิดพิจารณา และด้วยความเป็นกลางที่มีใจไม่เอนเอียง

    ข้อที่ ๑ ถามว่า จำเป็นไหม และถึงเวลาหรือยัง ที่ชาติไทยสังคมไทยนี้จะต้องมีอุดมการณ์สูงสุดที่รวมความคิดจิตใจของคนในชาติ และจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอุดมธรรมนำจิตสำนึกของชีวิตและสังคม เราจะต้องมีสิ่งนี้หรือยัง หรือจะอยู่กันไปวันๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ ไปอย่างนี้ ปล่อยให้ปัญหาความเลวร้ายต่างๆ รุมล้อมรุกไล่สังคมต่อไป และปล่อยชีวิตปล่อยสังคมไปตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เราตามมาอย่างไม่รู้ไม่เข้าถึงไม่เท่าทันนั้น

    ข้อที่ ๒ ถามว่า ถ้าจำเป็นและถึงเวลาที่จะต้องมี อะไรเหมาะสมที่สุดที่จะมาเป็นอุดมการณ์สูงสุด และเป็นอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมนี้ ด้วยเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น

    อันนี้ขอตั้งเป็นคำถาม และขอให้ตอบด้วยใจบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยมีใจเป็นกลาง และโดยใช้ปัญญาจริงๆ

    ทีนี้ ขอถามคำถามย่อย ที่สืบเนื่องจากคำถามใหญ่นั้น ต่อไปอีกว่า

    ๑. อุดมการณ์อะไรที่คนไทยยึดถือแล้ว จะช่วยให้ประเทศไทยนี้มีอะไรที่จะให้แก่ชาวโลก ที่จะช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก และทำให้คนไทยนี้มีความเป็นผู้นำได้บ้าง คือมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น

    ไม่ใช่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว

    ๒. อุดมการณ์อะไรที่เรายึดถือแล้วจะได้ผลในทางสร้างสรรค์ พร้อมทั้งไม่กดขี่บีบคั้นใครอื่นด้วยอุดมการณ์หลายอย่าง ถ้ายึดถือขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดการบีบคั้นเบียดเบียนผู้อื่น

    แต่ในโลกนี้ ขอให้คิดกัน ถามทั้งโลกเลย ขอให้ตอบด้วยใจเป็นธรรม และด้วยปัญญาพิจารณาให้ชัดเจนว่า อุดมการณ์ที่ยึดถือแล้ว จะไม่เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนบีบคั้นชนกลุ่มอื่นเลย และมีทางที่จะเกื้อกูลด้วย อย่างน้อยเป็นอุดมการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้มีการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่น หรือยากเหลือเกินที่จะไปเบียดเบียนใครได้ เพราะไม่มีคำสอนหรือหลักการที่จะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างให้ทำอย่างนั้นได้

    อุดมการณ์อะไรที่ยึดถือแล้วจะเกิดผลอย่างนี้

    ขอถามไว้เท่านี้ รวมความว่าเป็นคำถามใหญ่ ๒ ข้อ และคำถามย่อย ๒ ข้อ

    อาตมภาพมาพูดวันนี้ ได้บอกแล้วว่าเป็นกลาง และไม่ได้สนใจในการรณรงค์ แต่สนใจในเรื่องที่ว่า

    ๑. ทำอย่างไรเราจึงจะเอาพระพุทธศาสนามาช่วยแก้ปัญหาของสังคมประเทศชาติตลอดจนของโลกทั้งหมดให้ได้ผล พร้อมกับที่มองว่า สังคมไทยของเรามีปัญหาอะไร และมีความเสื่อมโทรมอย่างไรบ้าง

    ๒. ได้คิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง และเมื่อถึงเวลาสำคัญอย่างนี้คนไทยเรากลับไม่มีความชัดเจน มีแต่ความพร่ามัวสับสน แล้วก็พูดอะไรกันไปต่างๆ ที่ไม่ทำให้มีอะไรชัดเจนขึ้นมาสักอย่าง มีแต่ทำให้พร่าสับสนยิ่งขึ้น แล้วก็กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้

    อะไรที่เป็นปัญหา อะไรที่ควรเอามาใช้แก้ปัญหา ซึ่งควรจะพูดกันให้ชัดเจนก็ไม่กล้าพูด กลัวทางโน้นกลัวทางนี้ ก็พูดกันมาให้มันชัดเจนสิ แล้วถ้ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น มันดีจริงๆ เราก็เอามาใช้มาปฏิบัติกัน มีปัญหาพ่วงมาเล็กๆ น้อยๆ มีทางออกได้ ไม่ตัน ก็เดินหน้าไป ไม่มัวหวั่นไหว ควรจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้สักที

    แม้แต่ที่ว่ารักชาติ ความคิดก็พร่ามัวตื้อตัน รักสำหรับไว้ทะเลาะกัน ไม่มีความหมาย

    ในเมื่อชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศชาติ ถ้าคนส่วนใหญ่พร่ามัวสับสน สังคมจะเดินหน้าไปดีได้อย่างไร


    • Update : 15/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch