|
|
จิตสำนึกของสังคมไทย/2
ในสังคมแต่ละสังคม ที่สร้างสรรค์ความสำเร็จขึ้นมาได้โดยมีการพัฒนาอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีจุดหมายอันสูงสุดอย่างหนึ่ง ที่ทุกคนมุ่งหมายใฝ่ปรารถนาและทำให้ทุกคนรวมใจเป็นอันเดียวกัน ซึ่งเมื่อยึดถือในสิ่งนี้แล้ว ตัวตนของแต่ละคนจะมีความสำคัญเป็นรอง เรียกได้ว่าเอาจุดหมายสูงสุดนี้มาสยบอัตตาของแต่ละคนได้
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงสิ่งนี้แล้วทุกคนจะยอม
ในบางประเทศ ก็อาจจะเอาลัทธิชาตินิยม คือเพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติของเรา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบกระทั่งตัวตนของแต่ละคน ทุกคนก็ยอมได้
ในบางประเทศ ก็อาจจะเอาพระผู้เป็นเจ้ามาสยบอัตตาของแต่ละคนได้
ในพระพุทธศาสนาก็มีธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงาม เป็นจุดหมายสูงสุด
เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการสำคัญที่สอนว่า ให้เป็นธรรมาธิปไตย ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนต้องใฝ่ธรรม ต้องถือธรรมเป็นบรรทัดฐาน และเพียรพยายามมุ่งที่จะเข้าให้ถึงธรรม ถ้ายังไม่ถึงธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงามแล้ว ก็ไม่ยอมหยุด เพราะจุดหมายยังไม่บรรลุ ทุกคนจะยอมได้เพื่อเห็นแก่ธรรม
ถ้าทำได้อย่างนี้ สาระของระบบและรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมเป็นต้นก็จะมี แต่เวลานี้สังคมไทยเรามีไหม สิ่งที่เป็นจุดรวมใจอันนี้ ที่เป็นจุดหมายอันสูงสุดไม่มี เพราะฉะนั้น แต่ละคน พอเข้าที่ประชุมก็มุ่งไปที่ตัวเอง อัตตาของแต่ละคนก็ใหญ่ขึ้นมา แล้วก็ออกมากระทบกระทั่งกัน ในการประชุมจึงมีการถกเถียงที่ออกนอกลู่นอกทางไปเรื่อย และเกิดเรื่องส่วนตัวเป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ
เพราะฉะนั้น การที่เรารับเอารูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาโดยไม่มีเนื้อหาสาระนี้ จึงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่เราจะต้องพยายามคิดแก้ไขให้ได้ อย่างที่กล่าวแล้ว
ในที่นี้ขอเน้นเรื่องการไม่เข้าใจสังคมตะวันตกจริง มีความรู้ผิวเผิน มองแค่รูปแบบ เห็นแต่เปลือกภายนอก แล้วก็รับเข้ามา
ยกตัวอย่าง แม้แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมของตะวันตก เราก็มักจะมองไปว่า ตะวันตกได้พัฒนามาด้วยตัณหาและโลภะ
เราเข้าใจเขาผิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ฝรั่งเขาก็พูดอยู่ปาวๆ ตำรับก็ว่า ตำราก็มี ว่าฝรั่งที่พัฒนาอุตสาหกรรมเจริญมาได้นี้เพราะอะไร ก็เพราะ work ethic คือ จริยธรรมในการทำงาน
ใน work ethic นั้น มีความสันโดษเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ความสันโดษนี้เมื่อมาโยงเข้ากับความขยันหมั่นเพียร โดยเป็นตัวเอื้อแก่อุตสาหะ ก็กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ตะวันตกเจริญ
แต่มาบัดนี้ สังคมตะวันตก เช่น อย่างประเทศอเมริกานี้มีความพรั่งพร้อมฟุ่มเฟือยขึ้น ก็ได้เปลี่ยน (ตามที่เขาเองว่า) จากสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นสังคมขยันขันแข็ง กลายไปเป็นสังคมบริโภค
คำว่า industry แปลว่า "อุตสาหะ" คือความขยัน อดทน ก็ได้แก่ความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง
ที่ว่าเป็น industrial society ก็คือสังคมอุตสาหกรรม หรือสังคมแห่งความขยันหมั่นเพียร
ตะวันตกสร้างสังคมขึ้นมาได้ด้วย work ethic คือจริยธรรมในการทำงาน โดยมีความสันโดษเป็นฐานของอุตสาหะ หมายถึงการที่บรรพบุรุษของเขาไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอตนในเรื่องการเสพวัตถุเพื่อหาความสุข แต่ตั้งหน้าตั้งตาเพียรพยายามสร้างสรรค์ผลิตผลขึ้นมา ได้แล้วก็อดออม
เมื่อไม่เห็นแก่ความสุข ไม่บำเรอตนเอง ก็เอาผลผลิตนั้นไปทุ่มเป็นทุน คือเอาไปลงทุนทำงานต่อไป ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างความเจริญแบบอุตสาหกรรมขึ้นมาได้
มาถึงปัจจุบันนี้ สังคมตะวันตกพ้นจากภาวะเป็นสังคมอุตสาหกรรม กลายมาเป็น postindustrial society (ผ่านพ้นหรือหลังยุคอุตสาหกรรม) และเป็น consumer society คือเป็นสังคมบริโภค
พอเป็นสังคมบริโภค ก็เห็นแก่กิน เห็นแก่เสพ เห็นแก่บริโภค แล้วก็เริ่มเสื่อม เวลานี้ในสังคมอเมริกันมีการวิเคราะห์ มีการทำงานวิจัย ที่แสดงผลออกมาว่า คนอเมริกันรุ่นใหม่เสื่อมจาก work ethic คือเสื่อมจากจริยธรรมในการทำงาน ขาดสันโดษ เห็นแก่การบริโภค ทำให้ความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิตเสื่อมลง
คนไทยเรานึกว่าฝรั่งเจริญเพราะตัณหา แล้วไปปลุกเร้าให้คนมีความโลภ พร้อมกันนั้นก็มาติว่า พุทธศาสนาสอนให้มีความสันโดษ ทำให้คนไทยเราไม่สร้างสรรค์ความเจริญ
ที่จริงตัวเองจับจุดผิด ทำให้เราสร้างสรรค์ความเจริญไม่ถูกที่ พัฒนาไปแล้วเกิดปัญหามากมาย กลายเป็น ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
สันโดษนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่ออะไร
เราก็ไม่มีความชัดเจน
สันโดษ หมายถึงความพึงพอใจในวัตถุที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว ทำให้รู้จักอิ่มรู้จักพอต่อสิ่งเสพ จะได้ไม่ทุ่มเทแรงงานและความคิดไปในการแสวงหาวัตถุที่จะบำเรอตัวเองนั้น แล้วจะได้ออมเวลาแรงงานและความคิดไปใช้ในการทำหน้าที่ และในการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์
คนผู้ใดมีความสันโดษ คนผู้นั้นก็มีเวลามีแรงงานและมีความคิดเหลืออยู่ แล้วท่านก็ให้เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปใช้ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ทำความดีงามต่อไป
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอน ให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุข แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม
เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงความสุข เราก็สามารถที่จะไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เพราะเรามีเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะไปทุ่มให้แก่การที่จะสร้างสรรค์กุศลธรรม
ธรรมะเหล่านี้ เราไม่มีความชัดเจน พร้อมกันนั้น ในเวลาที่เราไปรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา แม้แต่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เราก็ไปรับเอาแต่รูปแบบ แล้วก็เข้าใจผิด นึกว่าถ้ายั่วยุปลุกเร้าตัณหาให้ประชาชนมีความโลภแล้วจะพัฒนาประเทศได้
เมื่อพัฒนาไปในแนวทางของตัณหาอย่างนี้ คนก็มีแต่ความอยากได้ แต่ไม่อยากทำ
มองหาสิ่งที่จะเสพบริโภค แต่ไม่คิดที่จะประดิษฐ์คิดค้นหรือพยายามผลิตขึ้นมา
ในระบบตัณหานั้น คนไม่อยากทำงาน แต่ที่ทำก็เพราะจำเป็น เนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องทำจึงจะได้ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็จำใจทำไป หรือไม่ก็ทุจริต หรือไม่ก็หาทางได้ผลประโยชน์ทางลัด ทำให้มีการกู้หนี้ยืมสิน หรือลักขโมยเอาเงินมาเพื่อจะหาวัตถุสิ่งเสพให้ได้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องทำงาน เมื่อเป็นอย่างนี้ ประเทศชาติจะเจริญได้อย่างไร
ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด
ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
อีกตัวอย่างหนึ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศาสนา พอเห็นประเทศอเมริกามีการแยกระหว่าง church and state เห็นเขามีคติ separation of church and state ทั้งที่ไม่รู้ว่าภูมิหลังของเขาเป็นอย่างไร ก็นึกเอาง่ายๆ ว่า ประเทศอเมริกาเป็นผู้นำในทางประชาธิปไตย ตามคติของเขาศาสนากับรัฐต้องแยกจากกัน ไทยเราจะต้องเอาบ้าง เลยได้มาแต่รูปแบบ
คนไทยไม่รู้เหตุผลที่เป็นมาว่า ทำไมประเทศอเมริกาจึงต้องแยก church and state ทำไมรัฐกับศาสนาต้องแยกจากกัน
ที่จริงนั้น อเมริกาเขาแยกรัฐกับศาสนา เพราะมีปัญหาเรื่องแยกนิกายในศาสนาเดียวกัน คำว่า แยกรัฐกับศาสนา ความหมายของเขามุ่งไปที่นิกายต่างๆ เพราะในอเมริกานั้น แม้จะมีศาสนาใหญ่ศาสนาเดียว แต่ก็แยกเป็นหลายนิกาย แต่ละนิกายก็แก่งแย่งและระแวงกัน
ตอนที่อเมริกาจะตั้งประเทศนั้น ไม่ใช่เขาไม่เอาศาสนา เขาคิดมากทีเดียว เขาอยากจะเอาศาสนาขึ้นเป็นใหญ่ เพื่อช่วยประเทศชาติ แต่จะเอานิกายนั้น นิกายโน้นก็ร้อง จะเอานิกายโน้น นิกายนั้นก็ร้อง ตกลงกันไม่ได้ ผลที่สุดจึงต้องแยก church and state
นี่แหละ เพราะมันมีภูมิหลังอย่างนี้ ไม่ใช่เขาจะไม่เอาศาสนามาช่วยประเทศชาติ เขาอยากจะเอา แต่เอาไม่ได้ ถ้าเอามาคนจะแตกสามัคคีกัน เขาก็เลยต้องแยก
ทีนี้ถ้าเราไปดูในแง่อื่นๆ ที่เขาปฏิบัติต่อศาสนาโดยไม่ได้ประกาศ ดูว่าที่ประเทศอเมริกานี้มีศาสนาประจำชาติหรือเปล่า ขอให้มองให้ดี เช่น ในคำปฏิญาณธงของอเมริกาที่เขาเรียกว่า Pledge of Allegiance
ในคำปฏิญาณธงนั้น ซึ่งทุกคนแม้แต่เด็กนักเรียนก็จะต้องกล่าว เขามีข้อความหนึ่ง คือคำว่า one nation under God อันแสดงถึงอุดมการณ์ของประเทศอเมริกา ที่รวมประเทศชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทุกคนต้องกล่าวว่า one nation under God แปลว่า "ประชาชาติหนึ่งเดียว ภายใต้องค์พระเป็นเจ้า" นี่หมายความว่าอย่างไร ทำไมเขากล่าวคำนี้ แล้วคนไทยชาวพุทธเข้าไป เขายกเว้นให้ไหม
ยิ่งกว่านั้น เมื่อปี ๒๔๙๙ รัฐสภาอเมริกัน คือคองเกรส ก็ได้ลงมติให้กำหนด national motto คือคำขวัญของชาติว่า "In God We Trust" แปลว่า พวกเราขอมอบชีวิตจิตใจไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า อย่างนี้เป็นต้น นี่คือประเทศอเมริกา
นี้คือเนื้อหาสาระที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเวลาไปดู ก็ไปดูแต่รูปแบบเอามา โดยไม่เข้าใจอะไรจริงจัง แล้วก็เกิดปัญหาที่ว่า เอามาใช้ในประเทศของตัวเองไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจสังคมตะวันตกให้ชัด แม้แต่จะตามเขาก็ขอให้ตามให้ได้จริงๆ เถิด ให้ได้เนื้อหาสาระมาด้วย อย่าเอาแต่เพียงรูปแบบเท่านั้นมา
แม้แต่เรื่องประชาธิปไตยก็เหมือนกัน เราก็มัวไปยุ่งไปวุ่นวายกันอยู่แต่เรื่องรูปแบบ จนกระทั่งเวลานี้ ประชาธิปไตยที่เรามีกันอยู่ ขอถามว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงไหม ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร จุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยที่แท้อยู่ที่ไหน มันเป็นประชาธิปไตยที่จะนำสังคมไปสู่อุดมธรรม ไปสู่ความดีงามและสันติสุขหรือเปล่า ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่ดีงาม มันจะนำเราไปถึงได้ไหม หรือว่ามันเป็นเพียงประชาธิปไตยที่รับใช้บริโภคนิยม
อันนี้ขอฝากไว้เป็นคำถาม เรามัวไปเถียงกันอยู่แต่เรื่องรูปแบบ ส่วนสาระสำคัญอะไรต่างๆ กลับไม่ค่อยพูดจาพิจารณากัน
เวลาไปเรียนวิชาการของตะวันตกก็เหมือนกัน การไปเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเราจะต้องรู้เท่าทันเขา แต่เราควรมีความมุ่งหมายว่า เราไปเรียนเอาวิชาการของตะวันตกมาเพื่ออะไร เพื่อมาสร้างสรรค์พัฒนาสังคมของตัวเอง และเพื่อช่วยแก้ปัญหาอารยธรรมของโลกด้วย แต่เราทำอย่างนี้ได้แค่ไหน
เวลาเราเรียนตามตะวันตก เราไปเอาวิชาการมา แต่เสร็จแล้ว สิ่งที่เราควรจะรู้อย่างแท้จริง เราก็ไม่รู้ ปรากฏว่าเราตามฝรั่งไปโดยไม่ถูกไม่ตรง และไม่ถึงตัวความรู้ที่แท้จริง
|
Update : 15/6/2554
|
|