หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-พระธาตุแช่แห้ง

    พระธาตุแช่แห้ง

                พระธาตุแช่แห้ง เดิมอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ต่อมาเมื่อได้แยกพื้นที่จากอำเภอเมืองน่านมา ๖ ตำบล ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ภูเพียง เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ โดยมีสำนักงานชั่วคราวของกิ่งอำเภอ อยู่ที่บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง
                ก่อนที่จะไปทราบประวัติความเป็นมาและขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุแช่แห้ง อยากให้ทราบตำนานหรือประวัติเมืองน่านเสียก่อน เมืองน่านนั้นเป็นจังหวัดชายแดนของไทยที่ติดต่อกับลาวทางพื้นดิน ซึ่งที่ดินที่ติดต่อกันนี้เดิมเป็นของไทยแต่ฝรั่งเศสมาเอาไปไว้กับลาว ทำให้แผ่นดินน่านไม่ติดกับแม่น้ำโขง กลายเป็นแผ่นดินลาวที่มาติดกับแผ่นดินไทยที่น่าน และเชื่อมต่อไปจนจรดแม่น้ำโขง หากข้ามแม่น้ำโขงไป ก็จะตรงกับเมืองหลวงพระบาง
                คำขวัญของน่าน คือ แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แผ่นดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง
                ประวัติเมืองน่านนั้นสืบต่อกันมายาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่น่าเสียดายที่ประวัติเมืองไปมีเรื่องที่กลายเป็นตำนานเข้ามาสอดแทรกอยู่ด้วย
                พญาภูคา พ่อเมืองชาวไทยกวาว ปกครองเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งคือ "เมืองย่าง" ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ภายใต้วงล้อมด้วยป่า และเทือกเขาสูง คือเทือกเขาที่ในปัจจุบันเรียกว่า ดอยภูคา ซึ่งยอดดอยสูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร และดอยภูคานี้เป็นถิ่นกำเนิดของดอกไม้ที่หายากมาก (ถ้าจำไม่ผิดออกดอกเดือนกุมภาพันธ์) ได้รับการขนานนามว่าชื่อ "ดอกชมภูภูคา"
                พญาภูคา มีโอรส ๒ องค์ องค์พี่นามว่า "ขุน นุ่น" องค์น้องนามว่า "ขุนฟอง" ความจริงขึ้นต้นไว้ดีแต่เกิดไปมีตำนานเข้ามาแทรกถึงประวัติของ ๒ โอรส กล่าวว่า พรานป่าออกไปล่าสัตว์ในป่า เดินตามรอยเนื้อหลงขึ้นไปถึงยอดดอย เข้าไปหยุดพักใต้ต้นไม้พบไข่ ๒ ฟอง โตเท่าลูกมะพร้าว นายพรานจึงนำไปถวายพญาภูคา ต่อมาไข่ทั้ง ๒ ฟองนั้นแตกออกมาเป็นเด็กชาย พญาภูคาจึงเลี้ยงไว้เป็นโอรส และตั้งชื่อองค์พี่ว่า ขุนนุ่น และองค์น้องว่า ขุนฟอง " เสียตรงตำนานนี่เอง " ถ้าบอกแต่ว่าพญาภูคามีลูก ๒ คน ก็จะไปด้วยดี
                เมื่อโอรสทั้งสองโตขึ้นพญาภูคาจึงมอบเมืองย่างให้ขุนนุ่นปกครองต่อไป ส่วนองค์น้องนั้นไปสร้างเมืองให้ใหม่ชื่อว่า "วรนคร" แล้วให้ขุนฟองขึ้นปกครองเมืองวรนคร เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๕
                เมืองวรนคร คือต้นกำเนิดของ เมืองน่าน
                ต่อจากเจ้าเมืององค์แรกคือ ขุนฟอง ก็สืบเชื้อสายกันต่อมาอีก ๔ ชั่วคน มาถึงเจ้าผู้ครองวรนครองค์ที่ ๕ ชื่อว่า "พญาการเมือง" พญาการเมืององค์นี้แหละที่สร้างพระบรมธาตุแช่แห้งขึ้นที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง เมืองสร้างเสร็จแล้วจึงย้ายเมืองวรนครจากท้องที่ อำเภอปัว ซึ่งเป็นที่ตั้งครั้งแรกมาสร้างเมืองใหม่ขึ้น ที่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ขนานนามเมืองตามชื่อดอยว่า "เมืองภูเพียงแช่แห้ง"
                พญาการเมืองปกครองเมืองใหม่ได้เพียง ๕ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย โอรสคือพญาผากอง ได้ขึ้นครองเมืองสืบต่อมาอีก ๖ ปี พิจารณาเห็นว่าเมืองภูเพียงแช่แห้งนี้กันดารน้ำในฤดูแล้ง ชัยภูมิริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามคือบริเวณ ห้วยใต้ ห่างจากที่เดิมไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๖๐ เส้น เป็นที่เหมาะสมสำหรับสร้างเมืองใหม่
                เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๑ พญาผากอง ก็อพยพไพร่พลข้ามลำน้ำน่าน มาสร้างเมืองใหม่ เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นนี้คือ ที่ตั้งตัวเมืองน่านหรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน
                สิ้นบุญพญาผากองแล้ว โอรสคือ เจ้าศรีจันต๊ะ ก็ขึ้นครองเมือง แต่ไม่ช้าก็เสียเมืองแก่พญาอุ่นเมือง เจ้าครองนครเมืองแพร่ยกทัพมาตีได้เมืองน่าน
                ทีนี้ประวัติเมืองน่านเริ่มสับสนเพราะ พ.ศ. ต่าง ๆ สลับไปสลับมา สรุปได้ว่า น่านเคยตกอยู่ใต้การปกครองของสุโขทัย ของเชียงใหม่ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช และเมื่อพม่ามาปกครองเชียงใหม่ น่านก็พลอยขึ้นกับพม่าไปด้วย จึงพอลำดับได้ว่าผู้ปกครองนครน่านนั้นเริ่มจากสมัยเมืองปัว มาเมืองวรนคร มาถึงยุคเมืองภูเพียงแช่แห้ง เมืองน่าน เชียงใหม่เข้ามาครองเมื่อ  พ.ศ. ๑๙๙๑ มาถึง พ.ศ. ๒๑๐๑ พม่าตีเชียงใหม่ได้ จึงได้ครองเมืองน่านด้วยและตั้งเจ้าเมืองเสียเอง เริ่มตั้งแต่พระยาหน่อลำ พระยาเสถียรชัยสงคราม พระยาซ้าย มาถึง พ.ศ. ๒๒๕๑ พม่าจึงส่งขุนนางมาครองเมืองน่านมี ๓ คน และต่อจากนั้นน่านถูกทิ้งเป็นเมืองร้างไป ๒๓ ปี จึงกลับมาขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาอีก ๙ องค์ องค์ที่สำคัญที่สุดคือ องค์ที่ ๘ "เจ้าสุริยพงษ์" เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นในความจงรักภักดีของพระยาน่าน จึงโปรดสถาปนาให้เป็นกษัตริย์พระนามว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชกุลเชษฐมหันตไชย นันทบุรี มหาวงศาธิบดี"
                องค์สุดท้ายคือ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ราชบุตร ได้ขึ้นครองเมืองน่านต่อในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ และถึงแก่พิราลัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และนับจากนั้นมา ประเทศไทยก็ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครทุกเมือง คงให้ทุกจังหวัดขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เป็นราชอาณาจักรอันเดียวกัน มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว
                ถ้าอ่านดูจากคำขวัญเมืองน่านจะเห็นว่ามีความเป็นมาคือ.-
                แข่งเรือลือเลื่อง การแข่งเรือในลำน้ำน่านเป็นประเพณีสืบทอดกันมา เรียกว่า งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำ เดิมจะจัดในงานทอดกฐินสามัคคี ซึ่งจะมีในราวต้นเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน มีเอกลักษณ์สำคัญคือ เรือทุกลำที่จะเข้าแข่งขันจะต้องมีหัวเรือเป็นรูปพญานาค และต่อมาทางจังหวัดน่านได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำ คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดน่านเข้าไปพร้อมกับงานแข่งเรือนี้ด้วย
                "เมืองงาช้างดำ"   ต้องไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเมืองน่าน จึงจะได้เห็นงาช้างดำ ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเรื่องของเมืองน่าน ตั้งแต่สมัยโบราณจะมีมารวมกันอยู่ที่นี่ น่านมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ ๒,๗๐๐ - ๒,๙๐๐ ปีมาแล้ว โดยได้พบเครื่องมือหินกะเทาะ ที่ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย และอีกหลาย ๆ แห่ง พิพิธภัณฑ์นี้เดิม "หอคำ" ซึ่งพระเจ้าน่านได้สร้างขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นทั้งที่ประทับและที่ว่าราชการเมือง มาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น มีห้องจัดแสดงชั้นบน และชั้นล่าง
                ห้องจัดแสดงชั้นบน แบ่งเป็น ๒ ส่วน ห้องโถงกลางแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณสถานสำคัญ อีกส่วนมี ๕ ห้องศิลปะและวรรณคดี
                ชั้นล่าง แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน มี ๖ ห้อง
                ส่วนแรก แสดงเรื่องราวชาติพันธุ์วิทยา เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวไทยภาคเหนือ
                ส่วนหลัง แสดงความเป็นอยู่ และเครื่องใช้ของคนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน ได้แก่ เผ่าไทยลื้อ แม้วหรือม้ง, เย้า, ถิ่น, ผีตองเหลือง ที่สำคัญที่สุด คู่บ้านคู่เมืองน่านคือ "งาช้างดำ" ความจริงแล้วสีไม่ได้ดำสนิท เป็นสีน้ำตาลเข้ม ได้มาจากเชียงตุง ยาว ๙๗ เซนติเมตร วัดโดยรอบ ๔๗ เซนติเมตร หนัก ๑๘ กิโลกรัม มีงาช้างดำอีกแห่งที่สีดำสนิท แต่จะจริงแท้หรือไม่ผมพิสูจน์ไม่ได้ คือที่วัดอนาลโย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
                จิตรกรรม วัดภูมินทร์ อยู่ในคำขวัญเมืองน่านเช่นกัน ดังนั้นมาเมืองน่านหรือตัวจังหวัดน่านต้องไปวัดนี้ให้ได้ ผมถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้มาด้วยเป็นภาพโป๊นิด ๆ แต่ "หมื่น" หน่อย ๆ ลองพิจารณาภาพหนุ่มสาวดูเอง ให้ดูมือซ้ายของเจ้าหนุ่ม กุมอะไรของแม่สาวทางข้างขวา
               วัดภูมินทร์  อยู่ใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน มีลักษณะแปลกคือโบสถ์และวิหาร สร้างเป็อาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักด้วยฝีมือช่างล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวล้านนาในสมัยก่อน
                นอกจากนี้ในตัวเมืองน่านยังมีวัดสำคัญๆ อีกหลายวัด เช่น วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพญา วัดซึ่งมีเจดีย์จามเทวี หรือพระธาตุพญาวัด ซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะล้านนาล้านช้าง และศิลปะน่าน มีพระพุทธรูปพระเจ้าสายฝน วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย มีพระพุทธรูปทองคำปางลีลาชื่อ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี และวัดสวนตาล มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์
                ส่วนสถานที่ท่องในอำเภออื่น ๆ ที่น่าเที่ยวก็ได้แก่
                อำเภอนาน้อย มีเสาดิน หรือฮ่อมจ๊อม ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพะเมืองผีของแพร่ หรือโป่งยุบของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
                อำเภอท่าวังผา มีจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว วัดนี้อยู่ในหมู่บ้านหนองบัว เป็นวัดที่สร้างด้วยฝีมือชาวลื้อ หรือชาวเมืองน่าน มีแบบอย่างศิลปะใกล้เคียงกับที่วัดภูมินทร์ วัดชนะไพรีพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย
               เทศกาลส้มสีทอง จากคำขวัญประจำเมือง "แผ่นดินส้มสีทอง" น่านเป็นจังหวัดแรกที่ปลูกส้มพันธุ์นี้ จนปัจจุบันแพร่ขยายปลูกกันทั่วไปในภาคเหนือ ส้มจะบรรจุถุงไว้ถุงละ ๕ กิโลกรัม มาขายตามแผงริมถนนในราคากิโลกรัมละ ๑๕ - ๒๐ บาท หวานฉ่ำชื่นใจ
                "พระธาตุแช่แห้ง" เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ พญาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่าน (วรนคร) ได้รับเชิญจากพระยาโสปัตตกันทิ (พระเจ้าไสลือไท) กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ให้ไปร่วมพระราชกุศลสร้างพระอารามหลวงในกรุงสุโขทัย เมื่อทรงสร้างพระอารามหลวงเสร็จแล้ว พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมากในการที่มาร่วมงานของเจ้าผู้ครองนครน่าน จึงโปรดพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุให้ ๗ องค์ รูปพรรณสัณฐานเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีวรรณะต่างกัน พระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงินอีก ๒๐ องค์ ให้แก่พญาการเมือง พญาการเมืองจึงได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุกลับมายังเมืองน่าน (วรนคร) แล้วได้ปรึกษากับพระมหาเถรธรรมบาล พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ว่าสมควรจะอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุนี้ไปบรรจุไว้ ณ ที่ใดจึงจะสมควร
                พระมหาเถระธรรมบาล ได้พิจารณาแล้วจึงให้คำแนะนำว่า ที่ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นที่ชัยภูมิดี สมควรอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ ไปบรรจุไว้ ณ ที่นั้น  พญาการเมืองเห็นชอบด้วย จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทองคำ และพระพิมพ์เงิน ไปยังดอยภูเพียงแช่แห้ง บรรจุลงในเต้าปูนทองสำริด แล้วพอกด้วยสะตาย (ปูนขาวผสมยางไม้) กลมเหมือนก้อนศิลา แล้วขุดหลุมลึก ๑ วา อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในหลุมนั้น ก่อเจดีย์สูง ๑ วา ทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาพญาการเมืองย้ายเมืองมาสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยแห่งนี้
                องค์พระธาตุแช่แห้งได้มีการบูรณะหลายครั้ง และมีการต่อเติมอีกหลายครั้งจนสูงขึ้นทุกที ได้ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ แต่ก็ถูกขโมยลอกเอาไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนมาบูรณะกันใหม่อีกปิดทองจนงดงามเหลืออร่ามไปทั้งองค์อีกครั้ง แต่ไม่มีหนังสือเล่มใดบอกไว้ละเอียดว่าความกว้างยาวสูงเท่าใด ได้ทราบแต่เพียงว่าบูรณะจนสูงถึง ๒ เส้นเศษ
                โบสถ์ของวัดนี้เป็นศิลปะล้านนา พระประธานหันไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนับว่าแปลก
                ปัจจุบันที่พักในตัวเมืองน่านมีหลายแห่ง แต่ที่เก่าแก่แต่ปรับปรุงใหม่ก็ยังมีอยู่ เช่น โรงแรมเทวราช โรงแรมน่านฟ้า เป็นต้น แต่ผมไปน่านระยะหลังๆ นี้ผมไปพักที่ "น่านวัดเลย์ รีสอร์ท" อยู่เลยอำเภอเมืองน่านออกไปตามถนนที่จะไปยังอำเภอเชียงกลาง ระยะทาง ๑๕.๕ กิโลเมตร แต่สำคัญป้ายบอกชื่อทางไปออกจะอัตคัต ไปตามถนนสาย ๑๐๘๐ ที่พักดีมากบริเวณตกแต่งสวยด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ และทะเลสาปน้อย ๆ โดยเฉพาะฤดูหนาวจะเยี่ยมมาก เพราะอากาศจะหนาวเย็นแต่สบาย ส่วนอาหารนั้นไม่ต้องไปชิมที่ไหน เพราะห้องอาหารของที่นี่มีทุกมื้อ ผมชิมมาหลายครั้งแล้ว เช่น
                อาหารจากปลาจะสดมาก เพราะเขาจะนำปลาจากแม่น้ำน่านมาทำอาหาร และยังมีปลาจากเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งน่านมี "บ้านปากนาย" ห่างจากตัวจังหวัดน่าน ๙๖ กิโลเมตร ไปทางเวียงสา - นาน้อย แล้วแยกไปนาหมื่น ๒๐ กิโลเมตร ไปตามไหล่เขาอีก ๒๒ กิโลเมตร จะถึงบ้านปากนาย เป็นหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลสาปเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งที่บ้านปากนายนี้มีเรือนแพเปิดเป็นร้านอาหาร เป็นที่พัก เป็นท่าเรือที่จะลงเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ ซึ่งจะผ่านทิวทัศน์ที่งดงาม เกาะแก่ง เรือนแพ และอุดมไปด้วยปลาน้ำจืด ปลาเหล่านี้จะถูกส่งมาเป็นอาหารของชาวเมืองน่าน และห้องอาหารของรีสอร์ทแห่งนี้ก็ได้ปลาสดๆ จากอ่างมาทำอาหาร
                ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียมพริกไทย หั่นเป็นชิ้นโต แล้วนำมาทอดกรอบ หอมกลิ่นกระเทียม
                ปลานิลทอด อาหารปลาผมชอบและยิ่งได้มากินปลาสด ๆ ยิ่งทวีความอร่อย ปลานิลตัวโตเต็มจาน
                ปลาคังลวก เคยกินแต่ที่ริมเขื่อนทองผาภูมิ วันนี้มาเจอที่เขื่อนนี้ ลวกเนื้อขาว จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ
                เห่าดงหมู ใครกลัวเผ็ดอย่าสั่ง ชื่อก็บอกยี่ห้ออยู่แล้ว คือหมูยำพริกป่น
                ออเดริฟเมือง คือ อาหารจานแรก น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู หมูหมักเค็ม และสารพัดผัก
                และน่านนั้นอยู่ไกลจากทะเลคงจะเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร แต่ร้านนี้ผัดข้าวผัดปูอร่อยนัก สั่งมาพร้อมต้มยำปลาอีกหม้อหนึ่ง ทีนี้กินข้าผัดแนมต้นหอม แตงกวา เหยาะน้ำปลาพริก ซดต้มยำกันดังสนั่นหวั่นไหวไปเลย

    .........................



    • Update : 13/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch