|
|
เที่ยวทั่วไทย-ปราสาทเมืองสิงห์ (1)
ปราสาทเมืองสิงห์ (1)
------------------------
ในประเทศไทยของเรานั้นมีปราสาทศิลปะเขมรแทบจะทุกภาค รวมไปถึงภาคตะวันตกด้วยคือ ที่เมืองกาญจนบุรี ก็มีปราสาทที่ได้รับอิทธิพลจากขอมทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างไว้ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ คือ ๘๐๐ ปีผ่านมาแล้ว และบัดนี้ได้รับการยกขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์แล้ว ผมไปที่ปราสาทแห่งนี้ครั้งแรกคงจะประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นปีที่ผมดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่กองพลอาสาสมัคร และนำกำลังเข้ามารับการฝึกที่ค่ายทหารกาญจนบุรี เพื่อเตรียมลงเรือไปรบที่เวียดนาม ซึ่งแต่ละหน่วยจะต้องเดินทางไปปฏิบัติการในเวียดนามเป็นเวลา ๑ ปี และก่อนเดินทางไปจะต้องมารับการฝึกที่ค่ายทหารกาญจนบุรีเป็นเวลาถึง ๑๖ เดือน หน่วยของผมเป็นพวกรุ่นแรก ดังนั้นการเดินทางไปเวียดนามจึงต้องลงเรือไปพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนกองพันผลัดต่อ ๆ มานั้นไม่ต้องไปรับอาวุธมาอีก คงเดินทางขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับของใช้ประจำตัว ไปรับอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งสิ้นจากกองพันของผมในสนามรบที่เวียดนามกันเลยทีเดียว
การเที่ยวไป กินไปของผม แม้ทุกวันนี้จะเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ผมก็ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวอย่างเดียว เกือบทุกครั้งที่ไปจะแฝงเอางานประกอบการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ดังนั้นเมื่อไปฝึกที่กาญจนบุรีที่เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วยังไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวเป็นป่า เป็นเขาอย่างแท้จริง แต่ผมก็ใช้เวลาว่างบากบั่นไปได้จนถึงปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ทางรถยนต์ไม่ได้เป็นถนนราดยางอย่างทุกวันนี้ การไปทองผาภูมิหรือไปเหมืองปิล๊อค (บ้านอีต่อง) ในปัจจุบันจึงต้องไปรถ ไปเรือกันให้วุ่นไปหมด การไปชมน้ำตกไทรโยคยังไม่ได้ไปกันง่าย ๆ จึงฟังกันแต่เพลงเขมรไทรโยคไปพลาง ๆ ก่อน ปราสาทเมืองสิงห์เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว มีแต่กองอิฐ กองศิลาแลงวางไว้เกลื่อนกลาด เป็นรูปสัญฐานพอเดาได้ว่านี่คือปราสาทขอมเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเป็นอุทยานประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง กรมศิลปากรได้ตกแต่งปราสาทให้เป็นปราสาท มีพิพิธภัณฑ์ มีสวนต้นไม้ที่ร่มเย็นเป็นอุทยานหรือเรียกอุทยานได้เต็มปากเต็มคำเลยทีเดียว
ผมไปปราสาทเมืองสิงห์คราวนี้ ออกกันแต่เช้าตรู่เพราะผมชอบใจตลาดนัดที่นครปฐม และตั้งใจจะไปแวะนมัสการพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ที่พระปฐมเจดีย์ด้วย ตลาดนัดซอย ๒ ที่นครปฐมนั้นติดกันตั้งแต่ตี ๓ - ๔ เลยทีเดียวและไปเลิกเอาประมาณ ๑๐.๐๐ พอ ๑๑.๐๐ หากย้อนไปดูใหม่จะไม่เห็นความสกปรกเลอะเทอะทิ้งไว้ให้ดูเลย เหมือนกับว่าไม่เคยมีการติดตลาดนัดกันตรงนี้
หากมาจากองค์พระปฐมเจดีย์ หันหน้ามาทางกรุงเทพฯ ทางซ้ายมือจะเริ่มจากซอย ๑ มีหมายเลขกำกับเอาไว้ จากนั้นก็มาถึงซอย ๒ ซึ่งเป็นซอยติดตลาดนัด การจอดรถให้จอดที่ซอย ๑ ก็ได้ หรือจะเลยไปจอดตามซอย ๓ ซอย ๔ ก็ได้ เดินไม่ไกลเลย แต่ละซอยอยู่ใกล้ ๆ กัน ในตลาดนัดที่ยาวตลอดซอยจนไปทะลุถนนริมคลอง จะมีสินค้าขายเต็มไปหมด รวมทั้งเสื้อผ้าก็มีเสื้อเด็กตัวละ ๕ บาท ยังมีขายเลย รวมทั้งกางเกงประเภทวัยรุ่นหนุ่มสาวชอบ เช่นกางเกงยีนส์เป็นต้น ของดีราคาถูกว่างั้นเถอะ ส่วนของกินนั้นสารพัดประเภทนั่งกินกันที่นั่น หรือซื้ออาหารสดกลับมาประกอบเอง อาหารสดก็มีทั้งบก ทั้งทะเล ข้อสำคัญคือราคาถูกทั้งนั้น ผมไปทีไรก็พึ่งอาหารเช้าแถวริมคลอง ไม่ไปกินก๋วยเตี๋ยวเป็น หรือข้าวหมูแดงอะไรทั้งสิ้น ซึ่งความจริงร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นตุ๋นข้าวหมูแดงเจ้าเก่าแก่ เจ้าอร่อยก็อยู่ที่ปากทางเข้าตลาดนัด หากหันหน้าเข้าซอยก็อยู่ทางขวามือ แต่ร้านนี้คนรู้จักน้อย ร้านสาขาเปิดอยู่ทางใกล้องค์พระ คนรู้จักมากกว่า
ส่วนร้านริมคลองนั้น หากออกจากซอยตลาดนัดไปแล้วเลี้ยวขวาฝั่งตรงข้าม หรือริมคลองจะมีโจ๊กอร่อยมาก ปาท่องโก๋ตัวเล็ก ๆ หากินยาก ข้าวเหนียวปิ้ง ฯลฯ และขนมอิ้วก้วยทอดขายอยู่ริมคลอง ขนมนี้มี ๓ ไส้คือ ไส้เผือก ไส้หน่อไม้ผัด อีกไส้ชักลืมเสียแล้ว หากไม่กินเจ้านี้ต้องกลับมากินที่ปากซอยถนนมังกรฝั่งวัดเล่งเน่ยยี่จึงจะมีขาย ราคาที่ตลาดนี้อันละ ๕ บาท ต้องกินร้อน ๆ ซื้อไปจะไม่อร่อย กินกับกาแฟและโจ๊กวิเศษนัก และยังมีขนมของจีนอื่น ๆ ขายอีกแยะเดินดูเอาเถอะ
อิ่มแล้วก็ไปที่องค์พระปฐมเจดีย์ ไปกราบไหว้พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ เข้าห้องสุขาเสียด้วยจะได้เดินทางต่อ จากนครปฐมก็ไปยังบ้านโป่ง เลี้ยวเข้าถนนสายบ้านโป่ง - กาญจนบุรี เดี๋ยวนี้ถนนเป็น ๔ เลนหมดแล้วและเป็นถนนบายพาส ไม่ผ่านเข้าตัวอำเภอเลยนับตั้งแต่บ้านโป่งไปเลยทีเดียว ตรงอำเภอท่าเรือนั้นมีโรงงานสำคัญอยู่แห่งหนึ่งคือ โรงงานทำวุ้นเส้นซึ่งเป็นวุ้นเส้นชั้น ๑ ตอนนี้โรงงานไม่ใช่ทางผ่านของรถ เพราะถนนใหญ่ ๔ เลนออกมานอกอำเภอแล้ว โรงงานวุ้นเส้นเลยออกมาเปิดร้านสรรพาหาร หรือศูนย์อาหารขายอยู่ริมถนนใหญ่ ขึ้นป้ายไว้ใหญ่โตว่า "โรงงานวุ้นเส้นท่าเรือ" ศูนย์อาหารเป็นตึกชั้นเดียว กว้างขวางมากแบ่งเป็น ๒ ตอน คือทางขวาขายอาหารส่วนทางซ้ายนั้นขายของฝากรวมกัน ๔ ภาค เอากันทั้งประเทศไปเลย ซื้อได้ที่นี่ ประเภทโกหกเมียว่าไปใต้ แต่พาสาวมาเที่ยวเมืองกาญจนบุรี ขากลับแวะซื้อของฝากจากใต้ตรงนี้พอหาซื้อได้ แต่อย่าผ่าไปซื้อแหนมไปฝากเข้าก็แล้วกันเพราะเป็นอาหารเหนือ
เลยเล่าเรื่องกินเสียก่อน เพราะผ่านร้านตรงนี้พอดี เรื่องเที่ยวเอาไว้ไปเล่าทีหลัง เพราะอาหารที่ร้านโรงงานวุ้นเส้นนี้อร่อยมาก
เริ่มกันตั้งแต่ปากทางเข้า ทางซ้ายมือมีทองม้วนสดแป้งนุ่มหวานมัน ราคา ๒๐ บาท ขากลับแวะชิมร้านอื่น ๆ ดูแล้วสู้ทองม้วนสดเจ้านี้ไม่ได้ มีทั้งรสฟักทอง กล้วย และอีกหลายรส
ผ่านประตูเข้าไปเป็นแผงอาหารชนิดต้องซื้อคูปองเหลือคืนได้ ซุ้มแรก "ส่าหริ่ม" อร่อยมาก ๆ หวานหอมเย็นชื่นใจ และมีบะจ่างขายด้วย (ไม่ได้ชิมแต่คงดี)
ซุ้มที่ ๒ อาหารเช้าแบบอเมริกัน ราคาชุดละ ๔๕ บาท ถูกหากินที่ไหนได้ กินฝรั่ง ๔๕ บาท
ซุ้มที่ ๓ ก๋วยเตี๋ยวหมูตกน้ำ ไม่ใช่หมูน้ำตก รายการนี้ต้องโดดเข้าไปชิมไม่ผิดหวังเลยเป็นหมูตุ๋นอร่อยมากจริง ๆ น้ำซุปข้นสีใสสด สะอาด ร้านจุดนี้สำคัญต้องซดกันร้อน ๆ จึงจะชื่นใจ
ซุ้มที่ ๔ ลูกชิ้น มีเส้นหมี่ เส้นเล็ก มีถั่วงอกดิบอวบขาว ใส่กาละมังใบโตให้หยิบเอาตามใจชอบ น้ำซุปเป็นเลิศ และยังมีแปลกอีก ข้าวขาหมูน้ำมะพร้าว อร่อยอีกนั่นแหละเนื้อหมูมากแทบจะไม่มีมัน
พุงผมรับได้แค่นี้แต่ของเขายังมี ถามพรรคพวกที่ไปชิมแล้วได้ความว่าของอร่อยทั้งสิ้น คือ ขนมจีนน้ำยาปลาช่อน วุ้นเส้นผัดไทย ดูเหมือนจะมีรายการวุ้นเส้นตามชื่อร้านอยู่รายการเดียว กาแฟปิดท้ายแต่ผมปิดทั้งกาแฟ และสาหริ่ม ที่เขาชวนชิม ราคาไม่แพง สุขาสะอาดไม่สากลน่าเสียดายเพราะจุดนี้รถผ่านมาก นักท่องเที่ยวผ่านมากน่าจะแบ่งห้องสุขาซึ่งมีหลายห้องทำให้เป็นสากลบ้าง ไม่สงสารคนเฒ่า คนพิการ คนอ้วน ชาวต่างประเทศบ้างเลยหรือ
ตอนจะกลับทางขวามือของทางเข้า หรือตรงข้ามทองม้วนสด เจออีก น้ำพริกหนุ่มเมืองเหนือหมี่กรอบ และแคปหมูกำลังทอดกันร้อน ๆ เลยทีเดียว กินไม่ไหวด้วยความตะกละซื้อใส่กล่องเอาไปด้วย
จากร้านโรงงานวุ้นเส้น ผ่านท่าม่วงซึ่งเขื่อนวชิราลงกรณ์อยู่ที่นี่ เขื่อนนี้รับน้ำทั้งจากแควน้อยและแควใหญ่ แควน้อยเขื่อนเขาแหลม ที่ อ.ทองผาภูมิ ส่วนแควใหญ่คือเขื่อนศรีนครินทร์
จากกาญจนบุรี ก่อนจะถึง อำเภอไทรโยค จะมีทางแยกซ้ายเข้าปราสาทเมืองสิงห์ และก่อนนั้นอีกนิดจะมีทางแยกขวาไปยังเขื่อนศรีนครินทร์ ไปน้ำตกห้วยขมิ้นได้
จากจุดเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราดยาง ข้ามทางรถไฟมุ่งตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร เสียค่าผ่านประตูคนไทยดูเหมือนจะ ๑๐ บาท ค่ารถอีกต่างหากเอารถเข้าไปจอดที่ลานจอดรถได้ ซึ่งที่ลานจอดนี้มีสุขา (ไม่สากล) และของขายบ้าง
ปราสาทเมืองสิงห์ อยู่บนฝั่งแควน้อยฝั่งทางทิศเหนือในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร หมายถึงส่วนกว้างของเมือง ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร และกำแพงสูง ๗ เมตร มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ ๖ สระ
ปราสาทเมืองสิงห์ มีจุดมุ่งหมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน ไม่ใช่นิกายหินยานที่คนไทยเรานับถือ จากการขุดตกแต่งของกรมศิลปากรที่ค่อยทำค่อยไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ แต่มาเริ่มบุกเบิกกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงสวยงามดังที่เห็นอยู่ในวันนี้ ปราสาทเมืองสิงห์นี้กล่าวว่าสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๘๐) กษัตริย์ขอมซึ่งดูเหมือนกษัตริย์องค์นี้จะเป็นนักสร้างปราสาทที่ยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะสร้างทั่วไปหมด จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือพระพุทธรูปนาคปรก "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" และ "นางปรัชญาปารมิตา" หรือ นางปัญญาบารมี และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในปราสาทเปรียถกล ประเทศกัมพูชา
จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกถึงชื่อเมือง ๒๓ เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคือเมือง "ปราสาทเมืองสิงห์" นี่เอง และยังมีชื่อของเมืองละโวธยปุระ หรือละโว้ หรือลพบุรี ที่มีปรางค์สามยอด เป็นโบราณวัตถุร่วมสมัย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงยุบเมืองสิงห์เหลือแค่ตำบล ประวัติเมืองสิงห์หาได้แค่นี้ แต่ตำนานของชาวบ้านมีหากเล่าก็ยาวเลยทีเดียว
ในลัทธิมหายาน มีรูปเคารพสำคัญอยู่ ๓ องค์ คือ พระอมิตาพุทธเจ้า พระมหาสถานปราปต์โพธิสัตว์ และ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิม ส่วนปรัชญาปารมิตามีแต่เรื่องราวว่าเป็นชื่อของพระสูตรไม่มีตัวตน แต่ไหงมีรูปสลักก็ไม่ทราบ ขอข้ามไปยังค้นไม่เจอ
ปรางค์ประธาน อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโบราณสถานหมายเลข ๑
โบราณสถานหมายเลข ๒ พังลงมามาก บูรณะได้น้อย เป็นศิลปะเขมรแบบบายน ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตา
โบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลง
โบราณสถานหมายเลข ๔ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ขอให้ไปอย่างสบายใจ อย่ารีบร้อนแล้วค่อย ๆ พิเคราะห์ดูการแกะสลักต่าง ๆ จะเห็นว่าสวยอย่างน่าพิศวง
จบการไปเที่ยวด้วยการย้อนออกมาถนนใหญ่แต่เลี้ยวซ้ายไปทาง อำเภอไทรโยค เพื่อไปยังวัดสุนันทานาราม ประมาณ กิโลเมตร๑๐๖ เลี้ยวขวาเข้าไป ๒ กิโลเมตรจะถึงวัดเป็นวัดสาขาที่ ๑๑๗ ของวัด "หนองป่าพง" หลวงพ่อชา แต่ที่วัดนี้เจ้าอาวาสเป็นชาวญี่ปุ่น พูดเทศน์เป็นไทยแล้ว เพราะอยู่มา ๘ ปีแล้ว และอุปสมบทมา ๑๙ ปี ท่านสอนว่า "ทำอย่างไรจึงจะรักษาสุขภาพใจของตนเองได้" เช่นให้อ่านหนังสือธรรมะวันละ ๑๐ นาที จะได้คิด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้รู้ว่าจะคิดอย่างไรจึงจะได้ทางออกที่ถูกที่ควร
ข้อดีอีกข้อ ท่านมีหนังสือธรรมนะแจกฟรีด้วย โดยไม่คำนึงว่าจะทำบุญกับท่านหรือไม่
|
Update : 13/6/2554
|
|