|
|
ฝันเป็นจริง
ฝันเป็นจริง (1)
วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์เทสก์ เกสรังสี
พุทธศักราช 2459 ทรงความหมายต่อ ด.ช.เทสก์ เรี่ยวแรง แห่งบ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นอย่างสูง
เพราะเป็นปีที่ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เดินรุกขมูลมาถึง
รุกขมูล อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งธุดงค์ ซึ่ง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ให้ความหมายเอาไว้อย่างรวบรัด
ธุดงค์ เท่ากับ องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส
ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลสส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ
องค์คุณนี้มีทั้งสิ้น 13 ข้อ
และข้อ 1 ใน 13 ข้อได้แก่ รุกขมูล องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตถุ ไม่อยู่ในที่มุมบัง
ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ แทนที่ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม จะเลือกพำนักอยู่ที่วัดบ้านนาสีดา ท่านกลับเลือกบ้านโยมบิดาของ ด.ช.เทสก์ เรี่ยวแรง
นี่ย่อมตรงกับ "ศุภนิมิต" อันเคยมีในวัยเยาว์
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เล่าไว้ใน "อัตโนประวัติ" ว่า
วันหนึ่งเรานอนหลับกลางคืนได้บังเกิดสุบินนิมิตว่า เรากับเพื่อนหลายคนด้วยกันออกจากบ้านไปเที่ยวตามท้องทุ่งตามประสาของเด็กสมัยนั้น
ขณะนั้นได้มีพระกัมมัฏฐาน 2 รูปสะพายบาตรแบกกลดเดินมาเห็นเราเข้า
แล้ว 1 ใน 2 นั้นก็วิ่งปรี่เข้ามาหาเลย เรากลัว วิ่งหนีไม่คิดชีวิตชีวาเอาทีเดียว เพื่อนๆ เขาก็เฉยๆ ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเลยอย่างนั้นแหละ
เมื่อเป็นเช่นนั้น โน่นแน่ะ ที่พึ่งขั้นสุดท้ายของเราก็คือบ้านแลพ่อแม่
แต่ที่ไหนได้ เมื่อวิ่งขึ้นไปบนบ้านเรียกร้องขอให้พ่อแม่ท่านช่วยบ้าง ท่านกลับเฉย ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเหมือนกัน
ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นท่านก็วิ่งติดตามมามิได้หยุดจนกระชั้นชิด เราวิ่งเข้าในห้องมุดเข้ามุ้งเลย ท่านก็บุกเข้าไปจนได้เลิกมุ้งขึ้นแล้วใช้แส้หวดเราลงไปอย่างเต็มแรง
เราตกใจสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นมา ได้สติ ตัวสั่น เหงื่อเปียกโชกไปหมดทั้งตัว หัวใจยังสั่นริกๆ อยู่เลยที่ถูกแส้ท่านฟาดก็ดูยังปรากฏแสบๆ อยู่ เราเข้าใจว่าเป็นความจริงเอามือลูบๆ ดูก็ยังเข้าใจว่าเป็นจริงอย่างนั้นอีกด้วย
เมื่อเราตั้งสติกำหนดทวนเหตุ การณ์ไปมาโดยรอบคอบจนกระทั่งจิตสงบหายกลัวแล้ว เรื่องทั้งหลาย แหล่จึงค่อยสงบลง
เป็นสุบินนิมิตของ ด.ช.เทสก์ เรี่ยว แรง
"เรื่องนี้เราได้ลืมไปแล้วเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเราได้ออกเดินรุกขมูลกัมมัฏฐานกับท่านอาจารย์ของเรา เราจึงได้ระลึกถึงนิมิตความฝันของเราแต่เมื่อครั้งกระโน้น เหตุการณ์ชี้อนาคตในชีวิตของเราถูกต้องสมเป็นจริงทุกประการ"
นั่นก็คือการมาของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ยังบ้านนาสีดาเมื่อ พ.ศ.2459 มิได้เป็นการธุดงค์เดี่ยวอย่างเอกา
หากมาพร้อมกับ พระอาจารย์คำ และมาพักอยู่เป็นเวลา 2 เดือนเศษ
เวลา 2 เดือนเศษนี้ทรงความหมายเป็นอย่างสูงต่อ ด.ช.เทสก์ เรี่ยวแรง แม้ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มิได้กวดไล่ตามไปบนบ้าน
เปิดมุ้งแล้วใช้แส้หวดอย่างเต็มแรง
ตรงกันข้าม "เมื่อท่านทั้งสองไปถึง เรากับบิดาของเราก็ได้ปฏิบัติท่านด้วยความเคารพและเลื่อมใสเป็นอย่างดียิ่ง เพราะเป็นปฏิปทาของท่านผิดแผกจากพระกัมมัฏฐานคณะอื่น โดยเฉพาะท่านสอนเราในข้อวัตรต่างๆ
"เช่น สอนให้รู้จักของที่ควรประเคนและไม่ควรประเคน
"ท่านสอนภาวนา บริกรรมพุทโธ เป็นอารมณ์ จิตของเรารวมได้เป็นสมาธิจนไม่อยากพูดกับคนเลย เราได้รับรสชาติแห่งความสงบในกัมมัฏฐานภาวนาเริ่มแรกจากโน่นมาไม่ลืมเลย"
จึงเป็น 2 เดือนเศษอันทรงความหมาย
เป็น 2 เดือนอันพลิกเปลี่ยน ด.ช.เทสก์ เรี่ยวแรง ให้เป็น สามเณร เทสก์ ในที่สุด
การศึกษาชีวิต พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี จึงต้องเริ่มต้นจากจุดเมื่อ พ.ศ.2459
เพราะจากจุดเมื่อ พ.ศ.2459 ที่ได้พบ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไม่เพียงแต่นำไปสู่การบรรพชาและอุปสมบทเป็น พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เมื่อพ.ศ.2466
หากใน พ.ศ.2466 นั้นเองก็ได้เข้ากราบนมัสการ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
|
Update : 13/6/2554
|
|