หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-โลหะปราสาท
    โลหะปราสาท

                 เท่าที่ทราบโลหะปราสาทมีในโลกนี้เพียง ๓ หลัง คือในอินเดีย ๒ หลัง (ไม่ทราบรายลละเอียดว่าอยู่ที่เมืองใด) และในไทยอีก ๑ หลัง โลหะปราสาทที่อยู่ในเมืองไทยนั้น อยู่ในกรุงเทพ ฯ ภายในวัดราชนนัดดา ซึ่งโลหะปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรเให้สร้างขึ้นแทนการสร้างพระเจดีย์เป็นโลหะปราสาทสามชั้น มียอดทั้งหมด ๓๗ ยอด ซึ่งหมายถึงโพธิปักขียธรรม ๓๗ ประการ ผมเองก็ผ่านไปผ่านมา รวมทั้งไปยืนชมอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ขึ้นไปสักทีและก็ไม่ทราบว่าจะอนุญาตให้ขึ้นไปได้หรือไม่ การก่อสร้างโลหะปราสาทของรัชกาลที่ ๓ นั้น สร้างได้เพียงพอเป็นรูปเป็นร่างก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พอรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทำบ้างหยุดบ้าง มาสำเร็จเร็จเรียบร้อยงดงามอย่างที่เห็นอยู่นี้ในรัชกาลที่ ๙ นี้เอง
               การเดินทางไปชมโลหะปราสาท ถ้าคนอยู่ในกรุง ฯ ก็หาไม่ยาก แค่บอกว่าอยู่ทางซ้ายของสะพายผ่านฟ้าลีลาศก็ไปกันถูกแล้ว แต่หากมาจากต่างจังหวัดคงต้องบอกว่า หากมาจากพระบรมรูปทรงม้า มุ่งหน้ามาตามถนนราชดำเนินนอก (ถนนนี้ยาวจากสะพานผ่านฟ้าไปจนถึงพระราชวังดุสิต ๑,๔๗๕ เมตร) พอลงสะพานผ่านฟ้าหากเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังสามยอด หากเลี้ยวขวาก็มาบางลำภู แต่หากตรงมาคือถนนราชดำเนินกลาง ลงสะานทางซ้ายมือคือ พระบรมรูปของรัชกาลที่ ๓ และหลังพระราชานุสาวรีย์คือวัดราชนัดดา มองเห็นโลหะปราสาทตระหง่านอยู่ติดกับพระอุโบสถงดงามยิ่งนัก

               วัดราชนัดดานั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เสนาบดีกรมพระนครบาล สร้างพระอารามเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ในรัชกาลที่ ๔) เจ้าพระยายมราชเลือกได้ที่สวนผลไม้ริมกำแพงพระนครด้านตะวันออก และใกล้คลองรอบกรุง การจะไปจะมาก็สะดวกจึงเลือกพื้นที่นี้
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ไปในพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโลสถ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์หญิง ฯ วางอิฐก่อศิลาฤกษ์ เมื่อ ๑๗ สิงหาคม ๒๓๘๙ และต่อมาอีก ๓ เดือน ก็ให้พระองค์หญิงไปประกอบพิธียกช่อพระอุโบสถ เมื่อเจ้าพระยายมราช ทำพื้นพระอุโบสถและก่ออิฐฐานชุกชีเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ชักลากพระพุทธรูปจากพระมหาราชวังไปประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๓๘๙
                พระพุทธรูปองค์นี้มีพระนามว่า "พระเสฎฐตตมุนี" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงจากตำบลจันทึก จังหวัดนครราชสีมา (จังหวัดนี้พบแร่ทองแดงมาก) มีหน้าตักกว้าง ๗ ศอก ดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก จึงต้องอัญเชิญขึ้นบน "ตะเฆ่" (เป็นเครื่องลากเข็นของหนัก ๆ เป็นรถเตี้ย ๆ มีล้อ ๔ล้อ) เมื่อประดิษฐานบนตะเฆ่แล้ว ผูกเชือกสำหรับชักลากสี่เส้น แล้วประกาศป่าวร้องให้ราษฎรมาช่วยกันชักลากจะได้รับบุญกุศล ราษฎรจึงแห่กันมาช่วยชักลากเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยายมราชท่านขึ้นไปบัญชาการการชักลากอยู่บนตะเฆ่ที่องค์พระกับพนักงานตำรวจและทนายด้วยสองคน ชักพระจากพระบรมมหาราชวังไปทางเสาชิงช้า (ถนนบำรุงเมือง) พอจะเลี้ยวออกถนนใหญ่เพื่อไปยังวัดราชนัดดา ต้องหยุดเพื่อคัดตะเฆ่ให้เลี้ยวออกให้พ้นคูน้ำ เจ้าพระยายมราชจึงลงมาจากตะเฆ่ เพื่อบัญชาการ พอรถตะเฆ่ออกมาถึงถนนใหญ่ได้แล้ว แต่เจ้าพระยายมราชยังยืนดูผูกเชือกอยู่ พวกราษฎรที่มาช่วยกันชักลากเห็นรถพระยายมราชออกถนนได้แล้วและได้ยินเสียงประโคมม้าล่อ ก็สำคัญว่าให้ลากจึงลากขึ้นพร้อมกัน ตะเฆ่ก็วิ่งไปโดยเร็ว เจ้าพระยายมราชขณะนั้นท่านมีอายุ ๗๐ เศษ ไม่มีความว่องไวกระโดดกลับขึ้นตะเฆ่ก็ไม่มัน พอได้ยินเสียงราษฎรโห่ร้องก็จะโดดหลบออกข้างถนน แต่สะดุดล้มลงพอดีตะเฆ่มาถึงตัว ตะเฆ่ทับขาขาดข้างหนึ่งเสียชีวิตในที่นั้น จึงเรียกกันต่อมาว่า " บุนนาคตะเฆ่ทับ"
               สะพานผ่านฟ้าลีลาศ  เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงซึ่งแต่เดิมที่ตรงนี้เป็นสะพานไม้ "ตามาญโญ" (TAMAGNO) นายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนได้บันทึกถึงสะพานนี้ไว้ว่า "สะพานเก่าพังหมดแล้ว ต้องเร่งซ่อมให้ทันรับเสด็จกลับจากยุโรป" การเสด็จกลับจากยุโรปหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับจากยุโรป ซึ่งเสด็จประพาสยุโรปและเสด็จกลับมาถึงท่าราชวรดิษฐเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ ของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๐ รายละเอียดต้องหาอ่านจากจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้านซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เมื่อรถพระที่นั่ง ถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หยุดประทับรถพระที่นั่งบนสะพาน มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้า ฯ สั่งให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการเปิดสะพานนั้น (น่าจะมีการเตรียมการมาก่อนแล้ว)
                สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทอดข้ามคลองที่ชื่อที่ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง" คลองนี้เป็นคลองคูเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยาวประมาณ ๘๕ เส้น ๑๓ วา ปากคลองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านเหนือที่บริเวณวัดสังเวชดิศติยาราม ด้านใต้บริเวณวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรด ฯ ให้ขุดคลองนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อครั้งสถาปนากรุงเทพ ฯ เป็นราชพานี ทั้งนี้มีพระประสงค์ทีจะขยายเขตเมืองให้กว้างขวาง โดยให้แนวคลองที่ขุดใหม่นี้ขนานกับแนวคลองคูเมืองเดิมที่ขุดไว้ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งตามแนวคูเมืองใหม่นี้โปรดให้สร้างกำแพงเมืองห่างจากตลิ่งประมาณ ๑ เส้น (๔๐ เมตร) มีป้อมปืนตลอดแนวกำแพงเมืองทั้งด้านคลองคูเมืองและด้านแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน ๑๔ ป้อม โปรดพระราชทานนามป้อมเพื่อความเป็นสิริมงคลและน่าเกรงขามคือ ป้อมพระสุเมรุ ป้อมยุคนธร ป้อมหาปราบ ป้อมมหากาฬ ป้อมหมูทลวง ป้อมมหาฤกษ์ ป้อมมหายักษ์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินทร แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๒ ป้อมคือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ ไม่ทราบผู้บริหารจอมโง่เง่าคนใดที่สั่งให้รื้อโบราณสถานเหล่านี้เสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่งไว้ว่า " แม้แต่อิฐแผ่นเดียว ยังมีค่า..." แต่นี่ป้อมตั้ง ๑๒ ป้อม รื้อทิ้งหมด อายุของผมก็ใกล้ร้อยเข้าไปแล้วดูเหมือนจะทันเห็น ๒ ป้อมเท่านั้นคือ ป้อมพระสุเมรุ ที่ถนนพระอาทิตย์บางลำภู กับป้อมมหากาฬที่ตรงผ่านฟ้านี่แหละ
                คลองคูเมืองนี้เมื่อขุดแล้วทำให้เกิดเป็นทางน้ำรอบกรุง จึงเรียกชื่อคลองตามลักษณะดังกล่าวว่า "คลองรอบกรุง" แต่ประชาชนเลือกเรียกชื่อคลองหรือตั้งชื่อคลองให้เป็นตอน ๆ เช่น ตอนต้นคลองใกล้วัดสังเวช เรียกว่า คลองบางลำภู ตำบลบางลำภู (ใกล้ตำบลที่ผมเกิดคือตำบลบางขุนพรหม) เมื่อผ่านสะพานหัน เรียกว่า คลองสะพานหัน พอไปผ่านวัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุขวรวิหาร) เรียกว่า คลองวัดเชิงเลน และช่วงสุดท้ายเรียกว่า คลองโอ่งอ่าง เพราะเคยเป็นแหล่งขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา ปั้นด้วยฝีมือชาวมอญ และชาวจีน พึ่งมาเปลี่ยนชื่อกันเป็นทางการในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ สองร้อยปี เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ นี้เอง
                เมื่อกล่าวถึงคลองสะพานหันก็เลยขอเล่าถึงสะพานหันเอาไว้ด้วย เพราะเสียดายจริง ๆ ที่สะพานหัน ในปัจจุบันมีอยุ่ในย่านพาหุรัดหรือเป็นปากทางเข้าสู่สำเพ็งนั้นไม่มีร่องรอยเหลือของเดิมให้เห็นอีกแล้ว ผมค้นหาภาพเก่า ๆ ก็หาไม่ได้ มีแต่ภาพตามหนังสือหลายเล่ม สะพานหันเป็นสะพานที่มีหลังคาคลุมและข้ามคลองสะพานหันหรือคลองรอบกรุง มีหลังคาและกั้นให้ขายของได้ ทราบว่าตอนสร้างนั้นรัชกาลที่ ๕ ทรงจำแบบมาจากสะพานริยาลโต (RIALTO) หรือริอัลโต ของเมืองเวนิส สะพานริยาลโตนั้นเรารู้จักชื่อกันจากบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เรื่องเวนิสวานิส ซึ่งอ่านแล้วทำให้เกลียดยิวที่ชื่อ ไชล๊อค จนใครเค็มกระดูกขัดมันเราเลยเรียกอ้ายนี่ "ยิว" ซึ่งมีความเป็นมาจากอิทธิพลของหนังสือบทละครเวนิสวานิส ไม่ทราบว่าเด็กสมัยนี้ยังเรียนอยู่หรือเปล่า สมัยผมเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๖ หรือ ม.๔ ในสมัยนี้ หนังสือเล่มนี้ทำให้คนไทยรู้จักคำว่า ยิว ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเมืองเวนิส เพราะเช็คเปียร์นำเมืองเวนิสมาเป็นฉากในละครเรื่องนี้ เมืองเวนิสนั้นเป็นเมืองบนเกาะ ไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่งประกอบไปด้วยเกาะถึง ๑๑๘ เกาะ มีคลอง ๑๖๐ คลอง และมีสะพานข้ามคลองมากถึง ๔๐๐ สะพาน กรุงเทพ ฯ นั้นได้ชื่อว่าเคยเป็นเมืองเวนิสตะวันออกในอดีตแต่มีทั้งเรือ และรถสัญจรในกรุง แต่ปัจจุบันถมคลองกลายเป็นถนนไปเกือบทั้งเมืองแล้ว และมีถนนให้รถวิ่งแต่เวนิสนั้นไม่มี ผมเคยขับรถจากกรุงโรมเมืองหลวงของอิตาลี ไปจนถึงเวนิส แล้วเอารถฝากเขาไว้ ลงเรือไปเวนิสสนุกอย่าบอกใคร ได้ผจญหภัยตื่นเต้นเซ่อซ่าไปตลอดทาง และไปกันแค่ ๒ คนเท่านั้น เดินข้ามคลองกันสนุกและได้ไปเดินซื้อของ ดูสินค้าบนตลาดที่อยู่บนสะพานริยาลโต สะพานนี้ในปัจจุบันยังดีอยู่ แต่สะพานหันของไทยหายไปแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพ ฯ ท่านใหม่ใครไม่ทราบ ไม่ลองคิดหาทางสร้างสะพานหันแบบเดิมเอาไว้ให้ลูกหลานดูบ้างหรือ ไปเวนิสสมัยนั้นไปนั่งที่ลานกว้างริมคลอง ยามเย็นสั่งเครื่องดื่มมาดื่มแถมยังมีหนุ่มมาสีไวโอลินให้ฟังตามโต๊ะเสียอีก จะไปไหนก็ลงเรือไปและจะให้เก๋ก็ต้องได้ลงสักครั้งคือ ลงเรือคอนโดลา ให้พ่อหนุ่มแจวเรือแถมร้องเพลงพาเที่ยวไปตามลำคลอง

                หากยืนหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓ ซึ่งด้านหลังคือ โลหะปราสาท หากมองไปทางซ้ายจะมองเห็นป้อมมหากาฬ ถ้ามองข้ามป้อมมหากาฬไปอีกฝั่งคลอง ก็จะเห็นภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดนี้เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
                การสร้างภูเขาทองนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองสร้าง และพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า "พระเจดีย์ภูเขาทอง" แต่การก่อสร้างยังทำไม่สำเร็จเพราะฐานไม่แน่นพอ พื้นที่ที่สร้างนั้นอยู่ใกล้ชายคลองเป็นที่ลุ่ม เมื่อฐานไม่แน่นพอจึงทรุดลงมาเรื่อย ๆ ผลที่สุดทำได้แค่ก่อฐานอิฐ ครั้นนานเข้าเลยกลายเป็นภูเขาหญ้าเพราะขึ้นเต็มจนมองดูแล้วเหมือนภูเขาหญ้ามากกว่าเป็นพระเจดีย์ แต่ชาวบ้านในยุคนั้นก็เรียกว่า ภูเขาทอง
                พอถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งเคยเป็นแม่กองสร้างมาแล้วเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่กองสร้างภูเขาทองขึ้นใหม่ โดยมีพระยาราชสงครามเป็นนายช่าง
                การก่อสร้างครั้งนี้ได้แปลงเจดีย์องค์เดิมให้เป็นภูเขา ครั้นถึงเดือน ๖ ปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๗ รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์ให้เปลี่ยนชื่อภูเขาทองเป็น "บรมบรรพต" ตามชื่อพระเมรุบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง การก่อสร้างได้ทำมาตลอดรัชสมัยของรัชาลที่ ๔
                ภูเขาทองที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีฐานโดยรอบ ๘ เส้น ๒๐ วา สูง ๑ เส้น ๑๘ วา ๒ ศอก มีพระเจดีย์อยู่บนยอดเขา มีบีนไดเวียนขึ้นลงรองภูเขา ๒ ทาง บันไดขึ้นทางทิศใต้มี ๓๗๕ ขั้น บันไดลงทางทิศเหนือมี ๓๐๔ ขั้น และยังมีบันไดตรงทางด้านใต้ของภูเขาอีกด้านหนึ่ง
                การก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ พอสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการก่อสร้างภูเขาทองที่ยังค้างอยู่จนสำเร็จ แล้วโปรดเกล้าอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระบรมมหาราชวัง แห่มาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง และได้เสด็จไปบรรจุด้วยพระองค์เอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐
                เมื่อ พ.ศ.๒๒๔๒ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจดีย์ภูเขาทองอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ ๒ พระบรมสารีริกธาตุที่นำไปบรรจุในครั้งนี้ขุดพบที่เมืองกบิลพัศดุ์ ประเทศอินเดีย ที่ผอบที่บรรจุนั้นมีอักษรโบราณจารึกไว้ว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ผู้ชำนาญทางโบราณคดีทั้งหลายไม่ว่าแขกหรือฝรั่งลงความเห็นว่าแท้แน่นอน รัฐบาลอินเดียก็ดีใจหายที่พิจารณาว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และมีพระมหากษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนา และ "เป็นประเทศเอกราช" รัฐบาลอินเดียจึงได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบในครั้งนี้ มาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑
                ส่วนพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่ประดิษฐานอยู่นั้น รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้ถวายเอาไว้เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา ในคราวมีงานกลางเดือน ๑๒ ซึ่งกลายเป็นประเพณีที่จะมีงานภูเขาทองสืบมาจนทุกวันนี้ หากย้อนไปในสมัยผมเด็ก ๆ นั้น งานภูเขาทองเป็นงานยิ่งใหญ่พอรู้ว่าจะได้ไปเที่ยวเป็นตื่นเต้นกันยกใหญ่ พอ ๆ กับงานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานฤดูหนาว ไปเล่าให้เด็กสมัยนี้ฟังหัวร่อกันตัวงอ สงสัยว่าเอาเรื่องอะไรมาเล่าไปเที่ยวงานต้องใส่เสื้อหนาว บริเวณงานอยู่แถว ๆ ลานพระบรมรูปหรือที่จัดงานกาชาดในวันนี้
                ภูเขาทองนั้นมีการซ่อมแซมอีกหลายครั้ง และต้องมีการฉาบปูนจนไม่เป็นภูเขาต้นไม้ เพราะไม่เช่นนั้นจะพังลงมา
                เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ได้ซ่อมแซมแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘
                ครั้งสุดท้ายได้ซ่อมแซม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ คราวนี้ได้บุพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองด้วยกระเบื้องโมเสสสีทองเหลืองอร่าม บัดนี้จึงมีพระเจดีย์เอง สมนามว่า ภูเขาทอง และจะยืนมองเห็นความงามสง่าได้จากลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓
                ร้านนี้ที่ผมกำลังจะพาไปชิม จะอยู่ที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
                ควรสั่งอาหารกุ้ง
                กระทงทอง กินเล่นสั่งมาเคี้ยวเสียก่อน ไส้เป็นไก่สับผัดกับมันฝรั่ง รสเข้มอร่อยทีเดียว
                กุ้งนางสามรส จานนี้อย่าโดดข้ามไป เอากุ้งมาทอด สีแดงสดสวย ราดด้วยน้ำซ๊อส ๓ รส สีแดงเข้ม มีฟักทองสลักเป็นดอกไม้วางประดับกับกล่ำปลีหั่นฝอย และแตงกวา ๓ รสเข้ม เด็ดจริงๆ
                ปลากระพงนึ่งซีอิ้ว ปลาตัวโต ใส่มาในกะทะร้อน มีน้ำซุปมาไว้ให้เติม ซดก็ได้ กลิ่นหอมกรุ่น ควันโขมง โต๊ะที่มาทีหลังนั่งข้าง ๆ ขออนุญาตสั่งอย่างโต๊ะนี้ ๑ จาน
                ห่อหมกเนื้อปู ใส่เนื้อปู จานนี้อร่อยเกินบรรยาย
                กุ้งนางยำตะไคร้ กุ้งนางทอด น้ำยำราด ตะไตร้ซอย หัวหอม กุ้งแห้งทอดโรยมาเคี้ยวสนุก
                เป็ดอบทรงเครื่อง เป็ดอบสับมาเป็นชิ้น หน้าแฮม มีข้าวโพดอ่อน ไข่นกกะทา เห็ดหอม
                กุ้งอีกที กุ้งชุบแป้งทอด หลานอยากกิน จิ้มน้ำบ็วย ปิดท้ายด้วยข้าวผัดปู
                ของหวาน โอนีแป๊ก๊วย ข้าวเหนียวนึ่งเหนียวหนึบกับเผือก ใส่แป๊ะก็วย

    .................................................................



    • Update : 13/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch