|
|
ที่มาตาลปัตร
ที่มาตาลปัตร
คอลัมน์ ศาลาวัด
เมื่อเราไปทำบุญที่วัดหรือนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน เรามักจะเห็นตาลปัตร อยู่คู่กับการสวดของพระอยู่เสมอ
แต่คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่า เหตุใดพระสงฆ์จึงต้องใช้ตาลปัตร ปิดหน้าเวลาสวด
สาเหตุที่พระสงฆ์นำตาลปัตรมาใช้นั้น ได้มีผู้ให้ความเห็นต่างๆ กันไป บางท่านก็ว่า การใช้ตาลปัตรครั้งแรกดั่งเดิมนั้น ใช้เพื่อกันกลิ่นเหม็นของศพที่เน่าเปื่อย
เนื่องจากพระสงฆ์ในสมัยโบราณจะต้องบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร ดังนั้น ท่านจึงต้องใช้ใบตาลขนาดเล็กมาบังจมูกกันกลิ่น
จากนั้นต่อมาก็เลยกลายเป็นประเพณีของสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปทำพิธี โดยเฉพาะในพิธีปลงศพ
บางท่านก็ว่าการที่พระถือตาลปัตรในระหว่างการแสดงธรรมเทศนาหรือสวดพระปริตร ด้วยพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรเมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระสงฆ์จึงได้ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ ยังมีผู้สันนิษฐานว่า เกิดจากสภาพจิตใจของผู้ฟังธรรมมีหลายระดับ จึงต้องมีการป้องกันไว้ก่อน ดังเรื่องเล่าที่ว่า พระสังกัจจายน์ พระสาวกที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านมีรูปงามมาก ขณะที่แสดงธรรมโปรดอุบาสก-อุบาสิกาอยู่นั้น ทำให้สตรีบางคนหลงรักท่านอย่างมาก และด้วยภาวะจิตที่ไม่บริสุทธิ์ของสตรีเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดบาปขึ้น เมื่อท่านรู้ด้วยญาณ จึงได้อธิษฐานจิตให้ตัวท่านมีรูปร่างอ้วนใหญ่พุงพลุ้ยกลายเป็นไม่งามอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และเป็นเหตุให้พระสงฆ์ต้องหาเครื่องกำบังหน้าเวลาเทศน์ หรือประกอบพิธี ด้วยต้องการให้ผู้ฟัง ได้ฟังแต่ธรรมจากท่านเท่านั้น มิใช่มัวแต่มองหน้าหลงรูป
อย่างไรก็ดี แม้ต้นกำเนิดของการที่พระสงฆ์ต้องถือตาลปัตร จะยังไม่แน่ชัดว่าแท้จริงเป็นมาอย่างไร แต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นไว้ว่า ความคิดที่ให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา เพราะมีพุทธประวัติปรากฏในปฐมสมโพธิ
ครั้นเมื่อลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่หลายและเป็นที่เลื่อมใสกันในยุคนั้น ทั้งในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และไทย จนเป็นที่เชื่อกันว่าพระสงฆ์ที่ได้บวชเรียนในลัทธิลังกาวงศ์จะต้องมีความรู้ทางพระศาสนาลึกซึ้ง
ดังนั้น พุทธศาสนิกชนในไทยที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์ก็ย่อมรับเอาพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังฆพิธี มาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือตาลปัตรหรือการตั้งสมณศักดิ์
จากความศรัทธาที่ฆราวาสถือว่า ตาลปัตร เป็นของใช้อย่างหนึ่งของพระสงฆ์ จึงได้เกิดความคิดนำไปถวายพระ
กาลเวลาผ่านมา ทำให้ตาลปัตรมีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนา การเช่นเดียวกับศิลปกรรมประเภทอื่นๆ
|
Update : 12/6/2554
|
|