หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-พระราชวังพญาไท/2

    พระราชวังพญาไท (๒)

                ย้อนเวลาไปประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๑ คือ เมื่อร้อยปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดซื้อที่สวนและที่นา ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ บริเวณริมคลองสามเสนติดกับทุ่งพญาไท เพื่อเป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบท และทดลองปลูกธัญพืชต่าง ๆ และโปรด ฯ ให้สร้าง " พระตำหนักขึ้นมาเป็นที่ประทับ" พระราชทานนามว่า "พระตำหนักพญาไท" ต่อมาเมื่อทรงโปรดที่จะเสด็จประพาสตำหนักแห่งนี้บ่อยครั้งขึ้น จึงได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วังพญาไท" ครั้งสุดท้ายได้เสด็จมาประทับเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๓ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง ๗ วัน
                สถานที่ตั้งของ วังพญาไท เมื่อเริ่มสร้างก็คือ ปลายถนนซางฮี้ หรือถนนราชวิถี ในปัจจุบัน ถนนราชวิถี เป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ  เริ่มต้นจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาสุดทางที่หลังพระราชวังสวนดุสิต เมื่อตัดถนนแล้ว พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า "ถนนซางฮี้ " (ปัจจุบันเรียกกันว่า ซังฮี้) เป็นคำมงคลจีน มีความหมายว่า "ยินดีอย่างยิ่ง"  ต่อมารัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานชื่อเสียใหม่ว่า "ถนนราชวิถี"  เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงเรือนหลังแรกขึ้นนั้น เป็นโรงนา จึงพระราชทานนามว่า "โรงนาหลวงคลองพญาไท" ต่อมาจึงสร้างตำหนักพญาไท ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงมีพระราชกุศลคฤหมงคล (ขึ้นบ้านใหม่) ในวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓ พร้อมกับโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบพระราชพิธีนี้ ที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) มาจัดที่ทุ่งพญาไท
                เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวร พระอนามัยทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคลทูลแนะนำ ให้แปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวัง มาประทับที่วังพญาไท เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ให้ทรงพระสำราญและยังเป็นการสะดวกสำหรับแพทย์ และพระประยูรญาติที่จะมาเฝ้าเยี่ยม และถวายการรักษาได้โดยง่าย สมเด็จ ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ที่พระตำหนักพญาไท พร้อมด้วยพระประยูรญาติที่ใกล้ชิด จนตลอดพระชนมายุเป็นเวลานานเกือบสิบปี พระตำหนักในเวลานั้นเรียกว่า อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้คนทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน กล่าวกันว่ามีไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน บรรดาผู้ที่สังกัดอยู่ใต้ร่มพระบารมี ของสมเด็จพระพันปีหลวง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ข้าหลวง โขลน จ่า ข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ทุกคนจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เงินเดือน เงินปี ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องนุ่งห่ม อย่างอุดมสมบูรณ์ ตามสมควรแก่ฐานะโดยทั่วถึงทุกคน
                สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดำริ ที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และเมื่อสร้างเสร็จแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ยกวังพญาไทขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี

                เมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ เป็นที่ประทับ จึงโปรดให้รื้อย้ายพระตำหนักที่ประทับเดิม ของสมเด็จพระพันปีหลวงไป ปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ปัจจุบัน คงเหลือเพียงท้องพระโรงหน้า ที่สร้างถวายสมเด็จพระราชชนนี เมื่อตอนต้นรัชกาลเพียงองค์เดียว และโปรดให้สร้างพระตำหนักอุดมวนาภรณ์ หรือต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่า "พระตำหนักเมขลารูจี เป็นองค์แรก เป็นพระตำหนักไม้ สร้างอยู่ริมน้ำ หลังสวนโรมัน เป็นที่ประทับระหว่างการก่อสร้างพระราชมณเฑียร เมื่อสร้างพระราชมณเฑียรแล้ว ก็ใช้เป็นที่ทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) พระตำหนักนี้ได้รับการบูรณะ จากกองทัพบกใหม่ สวยงามหลังเล็ก ๆ น่ารัก และยังเปิดให้เข้าชมได้
                    รวมทั้งยังได้โปรดให้ย้ายดุสิตธานี เมืองจำลองมาสร้างไว้ในพื้นที่ ๒ ไร่เศษ ซึ่งดุสิตธานีนั้น ทรงมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อฝึกหัด สั่งสอนวิธีการปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาล ตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย้ายจากพระราชวังดุสิต มายังพระราชวังพญาไทเป็นการถาวร

                    พระราชวังพญาไท  เป็นสถาปัตยกรรมยุโรป เป็นรูปแบบที่พัฒนาจากตะวันตก ยุคฟื้นฟู เน้นความเรียบง่ายแต่สง่างาม และมีการดัดแปลงให้เหมาะสม กับภูมิอากาศเมืองไทย เห็นได้จากพระที่นั่งไวกูณฐเทพสถาน และพระที่นั่งพิมานจักรี มีหน้าต่างเปิดกว้างไว้รับลมทุกด้าน ลักษณะที่เด่นของพระราชวังแห่งนี้คือ หอคอยสูง หลังคายอดแหลมตรงมุม และจะชักธงมหาราช ที่พระที่นั่งองค์ประธานคือ พิมานจักรี จะชักธงที่ยอดโดมเมื่อองค์พระประมุขประทับในพระราชฐาน ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งจำนวน ๕ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ และยังมี พระตำหนักเมขลารูจี มีอาคารเทียบรถพระที่นั่ง และสวนโรมัน
                    ณ พระราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนิพนธ์วรรณกรรมชิ้นเอกหลายเรื่อง เช่น มัทนะพาธา
                    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไท เกือบจะเป็นการถาวร ตลอดระยะเวลา ๖ ปี นับตั้งแต่สร้างเสร็จสมบูรณ์ จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ได้เสด็จแปรพระราชฐานเป็นการชั่วคราวไปประทับใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีจองเปรียง สะเดาะห์พระเคราะห์ ตามพิธีพราหมณ์ ประจวบกับใกล้วันพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ใกล้จะถึงวันมีประสูติกาล จึงเสด็จเข้าประทับในพระบรมมหาราชวังที่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระมหามณเฑียรองค์สำคัญ เพื่อความเป็นศิริมงคล แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกิดพระอาการประชวรขึ้นอย่างรุนแรง และรวดเร็ว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เมื่อเวลา ๐๑.๔๕
                    การเข้าชมพระราชวังพญาไท ซึ่งปัจจุบันต้องเรียกว่า ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎ ซึ่งในบริเวณมีทั้งวิทยาลัยแพทย์ทหาร วิทยาลัยพยาบาล และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่บริการทั้งทหารและประชาชนทั่วไป และบางโรคจะเปิดบริการในวันเสาร์ด้วย เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น เรียกว่า คลินิคนอกเวลา
                    โครงการบูรณะพระราชวังพญาไท และชมรมคนรักวังในพระอุปถัมภ์ ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี มีโครงการที่จะหารายได้มาสนับสนุนการบูรณะ พระราชวังแห่งนี้ ได้จัดกิจกรรมหลายประการเช่น การจัดแสดงคอนเสริท์ในปี ๒๕๕๐ คงจะจัดไปแล้ว เปิดให้เข้าชมภายในพระที่นั่งต่าง ๆ ได้ ชมรมคนรักวังเคยมีหนังสือมาถึงผมตอนที่ผมยังเป็นประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม (นายจิ๋ว เป็นรัฐมนตรี) ขอบนคุณที่ผมเขียนเชียร์การมาชมพระราชวัง และตอบว่าจะยังเปิดให้เข้าชมได้วันเดียวคือวันเสาร์ ผมไปครั้งสุดท้ายเมื่อ ๒ - ๓ เดือนมานี้ก็ไปวันเสาร์ วันอาทิตย์ไม่ทราบว่าเปิดแล้ววหรือยัง จะให้ดีก่อนจะไปเข้าชมโทรไปถาม (ควรโทรวันราชการ)  ที่สำนักงานชมรมคนรักวัง ฯ พระที่นั่งพิมานจักรี ชั้น ๒ ของพระราชวังพญาไท โทร ๐๒ ๒๔๕ ๙๗๗๐ และ ๐๒ ๒๔๖ ๑๖๗๑ - ๙ ต่อ ๙๓๖๙๔ ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม มีแต่ตู้รับบริจาคตามศรัทธาเพื่อนำเงินไปสมทบโครงการบูรณพระราชวังพญาไท ซึ่ง"เป็นที่รักของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖"
                    การไปชมพระราชวัง  เข้าทางประตูที่จะผ่านเข้าไปยังอาคารหลังใหม่คือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา (อาคารตรวจโรคหลังเดิมรื้อแล้ว)  ซึ่งอาคารใหม่นี้สูงถึง ๒๑ ชั้น (รวมชั้น G ด้วย) เมื่อผ่านประตูเข้าไปแล้ว เลี้ยวซ้ายทันทีผ่านตึกอุบัติเหตุ ไปลงที่ลานจอดรถ (ซึ่งไม่ค่อยจะว่าง) หรือเลยไปหาที่จอดข้างใน แล้วเริ่มชมตั้งแต่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ต่อไปพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ สร้างไว้หน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ที่อยู่หน้าทางเข้าพระที่นั่งพิมานจักนี การเข้าชมภายในพระที่นั่ง เข้าทางประตูพระที่นั่ง ด้านหลังอาคารเทียบรถพระที่นั่ง (หลังพระบรมราชานุสาวรีย์)  ซึ่งเป็นที่พักของผู้คอยเฝ้าด้วย
                    ความงดงามภายในนั้น ผมไม่ขอบรรยายเพราะงดงาม สมบูรณ์เหมือนสมัยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ยังประทับอยู่ ต้องยกความดีในการบูรณะและดูแลให้แก่ "ชมรมคนรักวัง"  เมื่อชมภายในพระที่นั่งแล้ว ก็เดินออกไปทางด้านหลัง ชมพระตำหนักเมขลารูจี ตรงกันข้ามหรือหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ก็คือ สวนโรมัน ผมเคยเป็นผู้แทนของ ผบ.ทบ. ไปเลี้ยงทหารป่วย เพราะรับการบาดเจ็บมาจากการสู้รบ ทหารพวกนี้ป่วยมาราธอนคือ อยู่กันมาคนละหลายปี ทุกเดือนกองทัพก็จะจัดการแสดงต่าง ๆ มาให้ชม และเลี้ยงอาหารมื้อเย็นด้วย จัดส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาดูแล จากหน้าสวนโรมันมีบันไดทอดลงในแนวเดียวกับ สระน้ำรูปยาว กลางสระมีรูปหล่อทองแดงของพระวรุณ เทพแห่งฝน และสัตว์น้ำ ฐานสูงที่รองรับมีรูปปูนปั้นพญานาคด้านละตัว

                    หากหันหน้าเข้าหาศาลาสวนโรมัน ทางขวาห่างออกไปสัก ๑๕๐ เมตร คือ ศาลท้าวหิรัญพนาสูร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอสูรผู้มีสัมมาทิฐิ และสัมมาปฎิบัติ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง ให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างหล่อไว้ ด้วยสัมฤทธิ์เป็นศาลเทพารักษ์
                    ในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะให้เปลี่ยนแปลงพระราชวังพญาไทบางส่วน เป็นโรงแรม เพื่อพระราชทานความสะดวกให้แก่ชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย แต่ไม่ทันดำเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (กรมรถไฟหลวง)  ปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อ โรงแรม PHYA THai Palace Hotel  ได้เสด็จมาเปิดโฮเต็ลพญาไท เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นโรงแรมที่หรูหรา ยกย่องกันว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล มีวงดนตรีสากลชนิดออเครสตร้า ใช้นักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารบก ร่วม ๒๐ คน มาบรรเลงให้เต้นรำในวันสุดสัปดาห์ พระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ นั้น หวังว่าจะได้รับรายได้มาช่วยบำรุงรักษาพระราชวัง แต่ปรากฎว่าเมื่อทำเป็นโรงแรมแล้ว สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขาดทุน (หากเป็นสมัย พ.ศ.๒๕๕๐ คงรวยอื้อ)  จึงต้องเลิกกิจการเมื่อ ๒๔๗๕
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท มีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฐ ฯ ในบริเวณโฮเต็ลพญาไท โดยอัญเชิญพระกระแสพระราชดำรัสตอบ เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถ่ายทอดมาจากท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มาตามสายเข้าเครื่องส่งกระจายเสียง สู่พสกนิกรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓ เมื่อกิจการโรงแรมเลิกไป จึงย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ไปตั้งรวมกับสถานีที่ศาลาแดง
                    สู่ยุคโรงหมอ กองเสนารักษ์ จังหวัดทหารบกกรุงเทพ ฯ ย้ายเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไท เมื่อตุลาคม ๒๔๗๕ และพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทหารบก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ โดยใช้เขตภายในพระราชฐานทั้งหมด
                    กองทัพบก ขอพระราชทานนามโรงพยาบาลทหารบกเป็น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประกอบพิธีเมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๕
                    กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒
                    ไปชิมอาหาร ร้านเปิดใหม่แต่ฝีมือเก่ามาจากชลบุรี (ยังเปิดอยู่) แต่เปิดเฉพาะมื้อเย็น หากเป็นมื้อกลางวัน ขายแต่ก๋วยเตี๋ยว
                    เส้นทาง  เริ่มต้นจากสี่แยกเกษตรศาสตร์ เลี้ยวขวาเข้าถนนเกษตร - นวมินทร์ ถนนสาย ถนนสายนี้หากจะมาสี่แยกเกษตรศาสตร์ เดี๋ยวนี้มีอุโมงค์ ลอดใต้สี่แยกมาโผล่ข้างทางเข้า ม.เกษตรศาสตร์ และเป็นถนนที่ตั้ง "ตอม่อ" โด่เด่เอาไว้มากมายหลายร้อยต้น ไม่ทราบว่าจะสร้างอะไร เลี้ยวมาแล้ววิ่งตรงมาผ่านสี่แยก (เลี้ยวขวาไปสี่แยกวังหิน) ตรงมาเพื่อกลับรถที่สี่แยกที่ ๒ ร้านอยู่ขวามือ ติดกับปั๊ม ปตท. ตรงตอม่อหมายเลข ๘๙ แต่เลี้ยวตรงนี้ไม่ได้ต้องไปกลับรถที่สี่แยกต่อไป (เลี้ยวขวาไปเสนานิเวศน์)  ผ่านปั๊ม ปตท. เลี้ยวซ้ายเข้าร้าน
                    เป็นเรือนไทยแบบโบราณ ปลูกใหม่สองชั้น สวย ดัดแปลงชั้นล่างเป็นห้องอาหาร มีห้องแอร์ เพื่อจัดเลี้ยงเป็นกลุ่มหลายห้อง มีห้องแอร์ โถงใหญ่มีห้องสุขาชั้นเยี่ยม ตั้งโต๊ะในสวนรอบบ้านบรรยากาศแจ่มแจ๋ว (จะไม่แจ่มตอนฝนตก ไล่ม๊อบตกลงมา ฝนพรำไม่เป็นไร พออาศัยร่มได้)  อาหารอร่อยมาก
                    เครื่องดื่ม น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้ปั่นมีส้ม แตงโม แคนตาลูป มะนาว และกาแฟ
                    สั่งอาหาร อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาดคือ ปูแสมหลน เสริฟมาในจานเชิง วางตรงกลางจานใหญ่ ล้อมด้วยผัก แตงกว่า มะเขือเปราะ ถั่วพู ขมิ้นขาว ถั่วฝักยาว มะเขือขาว และใบมะกอก (จิ้มปูหลนเด็ดนัก)  รสออกหวานแบบอาหารไทยโบราณ
                    หมี่กรอบ เสริฟมาในกระทงเผือก อร่อยทั้งหมี่และกระทงหมี่ ครบ ๓ รส
                    ยำคุกแตก ผมตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ยำพุงแตก เคี้ยวมันดีพิลึก ไม่รู้จักอิ่มคือ ยำหัวปลี
                    ห่อหมกปลาอินทรี เสริฟมาในกระทงใบน้อย รองด้วยผักกาดขาว รสจัด
                    นอกจากนี้ ที่ได้ชิมคือ น้ำพริกไข่ปู แกงไตปลา กินไปร้องไห้ไปด้วยความเผ็ด และแกงส้มไข่ปลาเรียวเชียว แก้เผ็ดเสียด้วย ทับทิมกรอบใส่มะพร้าวกะทิ

    .............................................................


    • Update : 12/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch