|
|
ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /7
ไม่รู้จักพระไตรปิฎก - อรรถกถา
จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
ถาม :
อรรถกถานี่มาถึงยุคสมัยที่เชียงใหม่ด้วยไหมค่ะ
ตอบ :
ไม่ๆ อรรถกถาแค่ พ.ศ.๙๐๐ เศษ คัมภีร์ยุคหลังอย่างที่เชียงใหม่นี้แยกตอนไปเลย คัมภีร์ยุคหลังนี่เป็นคัมภีร์เบ็ดเตล็ด
ถาม :
วันก่อนอ่านธรรมสังคณี (หมายถึง อัฏฐสาลินี ที่เป็นอรรถกถาของธรรมสังคณี) ยังกล่าวถึงวิสุทธิมรรค แสดงว่าอรรถกถานี่ก็ต้องหลังวิสุทธิมรรคแล้ว
ตอบ :
อย่าไปพูดอย่างนั้นเด็ดขาด เป็นการอ้างอิงกันไปมา ที่จริงนั้นอรรถกถาเป็นของสืบเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่พุทธกาล อย่าไปจำกัดว่าแต่งเมื่อนั้นตายตัว ก็มีการพูดแบบว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้เหมือนกัน ซึ่งหมายถึงตอนที่ปิดรายการ คือ พ.ศ.๙๐๐ เศษ อย่างที่ว่าแล้ว
อรรถกถานั้นเริ่มกำเนิดแล้วสืบต่อมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาแล้วพระเถระผู้ใหญ่ก็นำมาสอนลูกศิษย์ เมื่อสอนลูกศิษย์ก็ต้องอธิบาย ลูกศิษย์ก็มีความรู้มากบ้าง ไม่มากบ้าง พระอาจารย์ก็อธิบายว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนี้ คำนั้นมีความ หมายว่าอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ ท่านก็อาจจะเล่าเรื่องประกอบของท่านเองด้วย แต่คำอธิบายของท่านไม่สามารถจะเข้าไปอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี่ท่านกวดขันระมัดระวังมากให้รักษาไว้ตามเดิม
เมื่อท่านอธิบายไป ลูกศิษย์ก็นำสืบต่อกันมา และถือเป็นสำคัญ คือเรื่องของการที่ต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ มีความหมายอย่างไร นี่เป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพระภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้นท่านจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ท่านจึงกำหนดจดจำไว้ พออาจารย์ใหญ่สิ้นไป ลูกศิษย์ที่มีความรู้เป็นพหูสูตก็ขึ้นมาแทน แล้วก็สืบทอดคำอธิบายต่อกันมา กลายเป็นประมวลที่สืบกันมาโดยปากเปล่า แต่อาจจะมีเรื่องเล่าเสริมของอาจารย์รุ่นนั้นๆ อีก จนกระทั่งมาถึงลังกาก็มีการบันทึกไว้เป็นภาษาสิงหล เพราะพระลังกาเป็นคณะสงฆ์ใหญ่ที่มีการศึกษา เล่าเรียนพุทธศาสนากันมาก แล้วก็เป็นศูนย์กลางใหญ่ด้วย
สำหรับพระไตรปิฎกนั้นท่านถือว่าสำคัญสูงสุด ท่านก็ต้องรักษาไว้เป็นภาษาเดิม แต่ยิ่งเป็นภาษาเดิม การที่จะต้องอธิบายก็ยิ่งมีความจำเป็น และเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะพระที่มาเรียนก็ต้องเรียนภาษาบาลีด้วย อีกทั้งบาลีพุทธพจน์ก็เป็นของนานแล้ว ตัวเองก็ไม่รู้ความหมายว่าอย่างไร จึงต้องอาศัยการอธิบายต่อกันมา เพราะฉะนั้นอรรถกถาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
แต่อรรถกถาเป็นคัมภีร์สื่อที่จะให้เข้าถึงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นก็นำสืบกันมาเป็นภาษาสิงหล เพราะจะต้องเป็นคำอธิบายที่ผู้เรียนจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นอรรถกถาในลังกาก็เป็นภาษาสิงหล ส่วนพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ก็เป็นมาอย่างนี้
จนกระทั่งมาถึงยุคหนึ่ง ประมาณ พ.ศ.๙๐๐ เศษ พระพุทธศาสนาเถรวาทในอินเดียเสื่อมไปแล้ว พระพุทธโฆสาจารย์ที่อยู่ในอินเดียอยากจะได้หลักพระพุทธศาสนาที่แม่นยำจากศูนย์กลางใหญ่ๆ ก็รู้ว่าลังกานี่เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทั้งคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถามีอยู่ที่นั่น ส่วนในอินเดียกระจัดกระจายกระท่อนกระแท่นแล้ว ท่านก็เลยคิดว่าต้องไปลังกา แล้วก็ไปแปลอรรถกถาภาษาสิงหลมาเป็นภาษามคธ หรือเป็นภาษาบาลี เพราะว่าคนอินเดียไม่รู้ภาษาสิงหล
พระพุทธโฆสาจารย์ เดินทางไปอินเดีย เพื่อไปแปลอรรถกถานั้น พอไปถึงลังกา พระผู้ใหญ่ในลังกาก็ว่ามาอย่างไร พระผู้นี้จะมีภูมิรู้พอหรือเปล่า แปลแล้วจะทำให้เสียหายหรือเปล่า ก็เลยมีการทดสอบความรู้กันก่อนว่ามีภูมิพอไหมที่จะแปลอรรถกถาเป็นภาษามคธ ท่านก็ทดสอบภูมิโดยให้แต่งหนังสืออธิบายธรรมะขึ้น พระพุทธโฆสาจารย์ก็เลยแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคขึ้นมาแสดงภูมิ พระเถระลังกาก็จึงยอมรับ และอนุญาตให้แปล
พระพุทธโฆสาจารย์ก็แปลอรรถกถาภาษาสิงหลซึ่งเป็นของที่มีสะสมสืบๆ กันมาเป็นภาษามคธ หน้าที่สำคัญของพระพุทธโฆสาจารย์นี่ก็คือแปลอรรถกถา ทีนี้บางทีเรามาพูดรวบรัดว่าพระพุทธโฆสาจารย์แต่งอรรถกถาเหล่านี้ไป
อรรถกถาเหล่านี้ จะเห็นว่าบางทีมีการอ้างอิงซึ่งกันและกัน อ้างไขว้กันไปมา แล้วก็มีการแย้งกัน เช่นอรรถกถาพระสูตรแย้งอรรถกถาวินัยบ้าง อรรถกถาพระสูตรแห่งนี้ ก็อาจไปยกมติของอีกแห่งหนึ่งมาแล้วก็แย้งว่าไม่ใช่ อะไรอย่างนี้
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช อรรถกถาอปทาน (คือวิสุทธชนวิลาสินี) บอกว่า ตามอรรถกถาชาดก เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชเมื่อพระราหุลประสูติแล้วได้ ๗ วัน แต่ข้อความของอรรถกถาชาดกนั้นไม่ถูกต้อง ท่านว่าตามอรรถกถาอื่นๆ เจ้าชายราหุลประสูติ วันนั้น เจ้าชายสิทธัตถะก็บวชวันนั้น นี่เป็นตัวอย่าง แสดงว่าอรรถกถาเองก็มีการขัดแย้งกัน ถ้าเป็นพระพุทธโฆสาจารย์แต่งขึ้นมา จะไปแย้งกันทำไม เราจึงต้องมองให้กว้างว่าอรรถกถานี่สะสมมานาน สืบมาแต่โบราณ
ถือกันว่า คัมภีร์นิทเทสที่อยู่ในพระไตรปิฎกเอง ที่พระสารีบุตรเป็นผู้แสดงไว้ เป็นต้นแบบของอรรถกถา เพราะว่าคัมภีร์นิทเทสนั้นเป็นคัมภีร์อธิบายพุทธพจน์ในสุตตนิบาต ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเป็นคาถาแสดงหลักธรรมไว้ พระสารีบุตรก็ยกมาบรรยายทีละคาถา ตั้งคาถานี้ขึ้นแล้วก็อธิบายไป จบแล้วก็อธิบายอีกคาถาหนึ่ง เสร็จแล้วก็อธิบายคาถาต่อๆ ไป กลายเป็นคัมภีร์นิทเทส ซึ่งเป็นแนวให้กับอรรถกถาในการอธิบายพระไตรปิฎก
พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม
ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
ถาม :
ในพระวินัยจะระบุว่า ไม่ให้ผู้ที่พิการบวชเป็นพระภิกษุ แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีผู้พิการได้บวชเป็นพระภิกษุ เหมือนเป็นการกีดกันคนพิการ และเป็นไปได้ไหมถ้าคนพิการนั้นมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนวินัยจะสามารถบวชได้ไหม
ตอบ :
อันนี้เราต้องคำนึงถึงการตั้งคณะสงฆ์ว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร หนึ่ง เพื่อให้คนมีโอกาสพัฒนาตัวเองในไตรสิกขาได้เต็มที่ แต่สอง เราจะเห็นบทบาทอีกอย่างหนึ่งคือ บทบาทของพระสงฆ์ในการที่จะให้ธรรมะแพร่ขยายไปเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
บทบาทเผยแผ่ธรรมนี้สำคัญมาก พระภิกษุที่จะเข้ามาเป็นผู้จะไปทำบทบาทนี้ เมื่อมีภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่พระพุทธเจ้ารับเข้ามาบวช ๖๐ รูปแล้ว ก็ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาทันที ให้ไปทางละองค์เดียว ตรัสว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ..... ต่อจากชุดแรก ๖๐ รูป ชุดต่อมาขนาดยังไม่เป็นอรหันต์หมด ก็ออกไปประกาศพระศาสนา
นอกจากชีวิตที่บุกเดี่ยวอยู่ลำพังในป่าเขาถ้ำโคนไม้ได้ทุกแห่งทุกที่แล้ว งานของภิกษุที่สำคัญ คือการที่จะต้องสัมพันธ์กับสังคมของประชาชน โดยออกไปให้ธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไป ต้องไม่มีภาระกังวล แม้แต่ทรัพย์สมบัติที่จะห่วงใย และต้องให้พระภิกษุที่ทำงานนั้นคล่องตัว ไม่เป็นภาระแก่กันเอง และให้ทุกรูปเป็นผู้พร้อมที่จะไปทำบทบาทนี้ คือทั้งมีสภาพชีวิตของบรรพชิตและเป็นนักรบแห่งกองทัพธรรม ในการทำหน้าที่และประโยชน์แก่สังคม เมื่อสถาบันสงฆ์เป็นแหล่งที่คนจะนับถือก็ให้มีลักษณะที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงคำนึงถึงองคสมบัติและบุคลิก ผู้ใดจะช่วยตัวเองไม่ได้ หรือมีลักษณะที่เป็นบุรุษโทษ ก็ไม่ให้บวช
เราไม่มองว่าสถาบันสงฆ์เป็นแหล่งสำหรับสงเคราะห์คนหรือรับคน เข้ามาสงเคราะห์ แต่เป็นแหล่งของคนผู้มีหน้าที่ไปสงเคราะห์คนอื่น ด้วยการทำงานด้านสติปัญญาในการให้การศึกษา เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคม
เรื่องนี้ถ้ามองไม่ถูกก็จะกลายไปเลย อย่างที่เคยมีบางท่านให้ทรรศนะว่าคนเป็นโรคเอดส์น่าจะให้มาบวชเป็นพระ มาตายในผ้าเหลือง นี่กลายเป็นว่าเอาสถาบันสงฆ์เป็นที่พักพิง เป็นที่สงเคราะห์คนไป เป็นแหล่งรับการสงเคราะห์ก็ตายน่ะสิ แทนที่พระจะเป็นฝ่ายให้การสงเคราะห์ ไปให้สติปัญญาแก่ประชาชน ก็กลับกันเลย
พุทธบริษัท ๔ มีอยู่แล้ว ไม่ได้ตัดโอกาส ทุกคนไม่ว่าอยู่ในพุทธบริษัทไหนก็บรรลุธรรมได้ การจัดที่สงเคราะห์นั้น สังคมจะต้องจัดขึ้นมาในรูปแบบต่างหาก เพื่อจะให้การสงเคราะห์แก่คนเหล่านี้ แต่ต้องสงวนวัตถุประสงค์เดิมของสงฆ์ไว้
แม้แต่พระสงฆ์เองนานๆ ไปบางทีก็ลืมงานของตัวเองว่าจะต้องออกไปเป็นผู้ทำหรือให้แก่สังคม บางทีเรามองพระเป็นปฏิคาหก คือผู้รับ แล้วก็มองแต่ในแง่รับ แล้วก็เพี้ยนไปเลยว่า พระนี่เป็นผู้คอยแต่รับทาน รับบริจาค ที่แท้นั้น พระเป็นผู้ทำหน้าที่ต่อสังคม โดยให้ปัญญา ให้ธรรมะ เรียกว่าธรรมทาน แต่เพื่อไม่ให้มีความกังวลด้านวัตถุ และตัวเองก็มีความต้องการทางด้านวัตถุน้อยเพียงเพื่อพออยู่ได้ คฤหัสถ์ก็เลยมาช่วยอุดหนุนทางด้านปัจจัย ๔ เพื่อว่าพระจะได้อุทิศตัวให้กับงานโดยไม่ต้องมีความกังวลด้านวัตถุ สาระสำคัญมันอยู่ที่นี่ แต่ถ้าเพลินๆ ไป เอาพระมาเป็นผู้รับสงเคราะห์ ก็จบกัน
................... เอวัง ...................
|
Update : 10/6/2554
|
|