หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /6
    ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม

    คุณเอ๋ :

    แต่เมื่อก่อนนั้น สถาบันภิกษุณีเป็นคณะที่แยกออกมา ถึงแม้จะอยู่ในอารามบริเวณเดียวกัน แต่ท่านจะปกครองจัดการอะไรเอง แต่ระบบแม่ชีนี้อิงอยู่กับวัด แล้วเหมือนกับว่าการปฏิบัติธรรมมีน้อย ไม่ค่อยมีโอกาส เท่าที่ดูก็จะไปยุ่งกับงานอื่นๆ มากกว่า

    ตอบ :

    อาจจะเป็นการค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามสภาพสังคม คล้ายว่ายุคหนึ่งคนมองแม่ชีเป็นขอทาน อย่างนี้เป็นต้น สมัยหนึ่งเราไปตามถนนในกรุงเทพ แม่ชีนั่งอยู่ข้างถนนวางกระป๋องรับสตางค์ ก็เป็นอย่างนี้ คือสายตาหรือภาพที่คนมองแม่ชีนี่ไม่ดีเลย อีกยุคหนึ่งก็มองว่า แม่ชีคือคนที่อกหัก ถ้าไม่อกหักก็ไม่มาบวช ก็มองไม่ดีทั้งนั้น

    ทีนี้เราก็ไม่รู้ชัดว่ายุคสมัยโบราณเป็นอย่างไร และขออภัยเถอะ ยุคหนึ่งก็มีแต่นิทานเรื่องตาเถรยายชีเยอะไปหมด มันเป็นความเป็นไปของสังคมที่ว่าเรานี่รู้ไม่ตลอด ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แล้วสังคมโบราณเคยคิดอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร แม้แต่จะจัดการอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับการให้โอกาสผู้หญิง เราก็รู้กันไม่ชัดเจนพอ จึงบอกว่าเมื่อถึงยุคของเรานี้ ก็จัดวางเสียให้ดีไปเลย

    อย่างกรณีที่มีผู้พูดว่า ครุธรรม ๘ ประการอาจจะบัญญัติในลังกา ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะนำมาอ้างว่า ด้วยเหตุผลอย่างนี้นะ หรือเท่าที่เห็นหลักฐานว่าอย่างนั้นๆ นะ จึงสรุปว่าบัญญัติในลังกา แต่พูดเพียงคล้ายๆ ว่าอาจจะคิดอยากให้เป็นไปอย่างที่ต้องการสันนิษฐาน

    ขอยกตัวอย่าง Mrs. Rhys Davids ก็เป็นคนหนึ่งที่มองเรื่องนี้ว่า พุทธศาสนายุคหลังนี้อยู่ในกำมือภิกษุ ก็เลยเอนเอียง แล้วก็มีลักษณะ

    ๑. เป็น monastic Buddhism เป็นพุทธศาสนาแบบวัดๆ
    ๒. เป็นของผู้ชาย


    ในแง่นี้อาจจะมีความเป็นไปได้บ้าง แต่เราก็ต้องระวัง ไม่มองแง่เดียว บางทีเราคิดไปๆ ก็มองเกินเลย จริงอยู่ เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี มีแต่ภิกษุสงฆ์ อะไรๆ ก็มองด้วยสายตาของภิกษุ ก็จึงมีทางหนักไปได้ข้างหนึ่ง แต่วินัยดั้งเดิมจะเป็นกรอบหนึ่งที่ช่วยกันไว้ ทำให้พระต้องสัมพันธ์กับชาวบ้าน จะเป็นอย่างฤาษีชีไพรไปไม่ได้

    แน่ละอิทธิพลย่อมมีได้ในแง่ว่า เมื่อภิกษุเป็นผู้ดูแลพุทธศาสนาต่อมา มันก็มีโอกาสเป็น monastic Buddhism ซึ่งมีส่วนที่เป็นจริงอยู่ จนกระทั่งทำให้คนมองว่าพุทธศาสนาเหมือนกับเป็นเรื่องของวัดไป จนกระทั่งรู้สึกว่าจะปฏิบัติธรรมก็ต้องมาบวชเป็นพระภิกษุ บางทีนึกเลยเถิดไปถึงขึ้นนั้น

    ทีนี้ถ้ามองหลักธรรมในพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่าหลักธรรมนั้นกว้างกว่าเรื่องของการปฏิบัติหรือชีวิตในวัด คือครอบคลุมชีวิตพุทธบริษัท ๔ มากกว่า แต่มาในยุคหลังที่ถือตามแนวทางแบบที่เน้นในอรรถกถา จะเห็นว่าแม้แต่การปฏิบัติในหลักการของพระพุทธศาสนาก็ไปเน้นในเรื่องชีวิตแบบภิกษุมาก ยกตัวอย่างว่า พระพุทธศาสนาสายเถรวาทยุคหลัง ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาก จนกระทั่งเรียกได้ว่าถือวิสุทธิมรรคเป็นแบบ บางทีกลายเป็นเรียนวิสุทธิมรรคมากกว่าเรียนพระไตรปิฎก

    ทีนี้วิสุทธิมรรคนั้น ในแง่ขอบเขตของการเขียน อาจจะเป็นด้วยท่านผู้เขียนเป็นพระภิกษุ ท่านก็มุ่งเขียนการปฏิบัติของพระภิกษุ และในคัมภีร์เองก็ชัดที่ท่านวางบทตั้งของคัมภีร์ไว้ว่า

    สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
    อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ


    นี่เป็นคาถาตั้ง หรือคาถากระทู้ของวิสุทธิมรรค เป็นคำแสดงหลักไตรสิกขา แต่ยกคาถานี้ขึ้นตั้ง คาถานี้เป็นคาถาที่ปรารภพระภิกษุ ฉะนั้นจะโดยคาถาตั้งที่ปรารภพระภิกษุ แล้วท่านจึงอธิบายตามแนวนี้ก็ตาม หรือว่าการมองของท่าน ที่ดูการปฏิบัติโดยเน้นอยู่ในขอบเขตของพระภิกษุก็ตาม ทำให้เป็นอย่างนั้น

    ย้ำอีกทีก็ได้ว่า เรายึดถือแนวคำสอนของวิสุทธิมรรค จนกระทั่งเราเพลินไปว่า นั่นเป็นกรอบของพระพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ไปมอง ที่พระไตรปิฎก บางทีก็ลืมๆ ไป เราจึงต้องตระหนักความจริงนี้ไว้ แล้วก็มองว่าพุทธศาสนานี่เป็นของพุทธบริษัท ๔ ทั้งหมด เพื่อจะได้มองบทบาทของท่านผู้เขียนตามความเป็นจริง และให้ความสำคัญกับวิสุทธิมรรคให้ตรงพอดีกับที่ท่านประสงค์จะทำ

    ความสำคัญของพระภิกษุก็แน่นอน เพราะท่านเป็นผู้อุทิศตัวให้แก่การปฏิบัติ ท่านมีเวลาและมีบทบาทในการสั่งสอนด้วย ทั้งเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอน ทั้งหมดนี้ท่านทำได้เต็มที่กว่า แต่เราก็ต้องมองให้กว้างให้ครอบคลุมพุทธบริษัท ๔ ไม่ใช่จำกัดอยู่ในแนวปฏิบัติที่เน้นพระภิกษุอย่างเดียว

    แต่ที่ว่าเป็นพุทธศาสนาแบบวัด หรือเป็นของพระผู้ชายคือพระภิกษุนี้ ก็เป็นเรื่องความโน้มเอียงหรือเน้นหนักไปข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่าท่านบัญญัติอะไรขึ้นใหม่แปลกออกไปจากของพระพุทธเจ้า



    อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร

    ถาม :

    มักจะพูดกันต่อๆ มาว่า เกิดมาเป็นผู้หญิงนี่เป็นผู้มีกรรม หรือมีกรรมมาก และทำอย่างไรจะได้เกิดเป็นผู้ชายคะ

    ตอบ :

    ทุกคนมีกรรมทั้งนั้น ไม่ว่าหญิงหรือชาย มันอยู่ที่ว่ากรรมดีหรือไม่ดี ถ้ามีกรรมมาก เป็นกรรมดี ก็ดีน่ะสิ โดยมากภาษาไทยจะมีปัญหาอยู่ในตัว คำว่ามีกรรมนี่กลายเป็นว่ากรรมที่ไม่ดีไป

    ในเรื่องนี้อรรถกถา ก็จะพูดถึงว่าทำไมไปเกิดเป็นหญิง แล้วก็ว่าเพราะทำกรรมไม่ดีอย่างนี้ๆ นี่เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ แต่ในพระไตรปิฎกไม่มี ในพระไตรปิฎกจะเน้นไปในแง่ของจิตที่ยึดถือผูกพันโน้มไป ก็หมายความว่า การตั้งจิตนี้ละเป็นสาระสำคัญ จิตที่โน้มเอียงยึดถือพอใจในภาวะเพศนี้แหละ ถ้าผู้หญิงพอใจโน้มใจผูกพันยึดถือในเพศที่เป็นหญิง ก็จะโน้มไปในการที่จะ เกิดเป็นหญิง แต่ถ้าไปพอใจในความเป็นชาย ก็มีความโน้มไปในการที่จะเกิด เป็นชายเช่นเดียวกัน อยู่ที่จิตผูกยึดโน้มพอใจ

    ทีนี้ถ้าเรามาโยงกับอรรถกถา ก็อาจจะมองได้ว่า อรรถกถาอธิบายในเชิงคล้ายๆ ว่า สมัยนั้นสังคมยึดถือผู้ชายเป็นหลัก เมื่อผู้ชายไปล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น จิตก็จะครุ่นคิดหมกมุ่นในเรื่องผู้หญิงมาก ก็จะไปเกิดเป็นหญิง แต่ผู้หญิงที่ภักดีต่อสามี เอาใจใส่ปฏิบัติสามี ปฏิบัติดีอะไรต่างๆ จิตก็ผูกอยู่กับผู้ชายมาก ก็โน้มไปในทางที่จะเกิดเป็นชาย ถ้าอธิบายอย่างนี้ก็พอจะเข้ากับหลักในพระไตรปิฎก ที่ว่าไว้เป็นกลางๆ คือหมายถึงสภาวะจิต หรือความโน้มเอียงของจิตเป็นสำคัญ



    ถาม :

    แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นหญิง เป็นชาย

    ตอบ :

    ไม่ใช่พูดแค่ตัวภาวะเพศเท่านั้นนะ แต่หมายถึงการพัฒนาคุณสมบัติ คือไม่ใช่พอใจในเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ แต่หมายถึงพอใจในคุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชาย เช่นคุณสมบัติในความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยวอะไรต่างๆ


    ถาม :

    ปัจจุบันนี้ ผู้ชายมีแนวโน้มเป็นผู้หญิงมาก มีอิตถีภาวะมาก มีเยอะเหลือเกิน

    ตอบ :

    นั่นสิแสดงว่าสังคมมันวิปริต แสดงว่าจิตใจของคนมีความโน้มเอียงเปลี่ยนไป ก็เห็นแล้วว่าแนวโน้มจะเป็นผู้หญิง

    เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่
    ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม


    ถาม :

    ในพระไตรปิฎก มีเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ ที่ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องเล่าหรือว่าอย่างไรคะ

    ตอบ :

    เรื่องมีในพระไตรปิฎก และก็มีคำอธิบายรุ่นหลังเสริมเข้าไปอีก เราก็ต้องไปแยกอีกทีว่า แค่ไหนในพระไตรปิฎก


    ถาม :

    แล้วเราจะยึดถือได้จริงขนาดไหนคะ

    ตอบ :

    จับเอาสาระว่า พุทธศาสนาถือหลักความหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวิวัฒนาการ ท่านไม่ใช้คำว่าพรหม แต่เวลาเล่าหรืออธิบายกันต่อมามีการพูดรวบรัดอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าพรหมลงมากินง้วนดิน ในบาลีใช้แค่อาภัสรา คือสัตว์ที่มีแสงสว่างในตัว เปล่งหรือแผ่ซ่านออกมา แต่พอมาแปลในพระ ไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทย ก็ใส่คำว่าพรหมลงไป นี่ละ

    ถ้าเราดูแค่เฉพาะพระไตรปิฎกไทยก็ยังเสี่ยง เพราะท่านแปลตามภูมิของท่าน ท่านเรียนมาอย่างไร ก็แปลอย่างนั้น คือ หนึ่ง ท่านแปลไปตามความรู้ของตัว สอง มิฉะนั้นก็เอาตามอรรถกถา แต่ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่าพรหม พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่าอาภัสรา อาภัสราแปลว่าผู้มีรังสีแผ่ซ่านออกไป



    ถาม :

    ที่ท่านบอกให้ถือสารัตถะคืออะไร

    ตอบ :

    สารัตถะก็คือความหมุนเวียนเปลี่ยนไปของสภาพที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ ถ้าพูดแบบเทียบเคียงก็คือพุทธศาสนาถือหลักวิวัฒนาการ แล้วสาระที่สำคัญอย่างยิ่งคือตรัสเรื่องนี้เพื่ออะไร จุดสำคัญของพระสูตรนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อแสดงความไม่ยอมรับแนวคิดของพราหมณ์ในเรื่องวรรณะ ๔ ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนด

    นี่คือสาระสำคัญของพระสูตรนี้ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส เป้าหมายก็คือการแสดงความไม่ยอมรับระบบวรรณะ และทรงแสดงแก่ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ซึ่งมาบวชเป็นเณร สองท่านนี่มาจากวรรณะพราหมณ์ พอมาบวชก็ยังแม่นในแนวคิดของพราหมณ์

    สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างหนึ่งก็คือ การแยกพุทธมติกับมติของพราหมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับเรื่องวรรณะ ที่ว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนดควบคุม สร้างโลก สร้างมนุษย์ โดยกำหนดมาเสร็จว่า ใครเป็นวรรณะไหน พราหมณ์ เขาถือว่าพราหมณ์นี่สูงสุด เป็นวรรณะที่เกิดจากพระ โอษฐ์ของพระพรหม กษัตริย์ เกิดจากพระพาหา คือเป็นนักรบ แพศย์ เกิดจากสะโพก เป็นพวกนักเดินทางค้าขาย ศูทร เกิดจากพระบาท เป็นที่รองรับ รับใช้ เกิดมาอย่างไรก็ต้องตายไปอย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

    พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับคำสอนของพราหมณ์ แต่ได้ตรัสเป็นเรื่องวิวัฒนาการของสังคมว่า มนุษย์เกิดมาอย่างนี้ ต่อมาการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เกิดมีสังคมขึ้น แล้วความจำเป็นทางสังคมทำให้เกิดมีการแบ่งงานอาชีพ ต่อมาเลยยึดถือเป็นวรรณะไป

    ถ้าเรามองคำสอนของพระพุทธเจ้าบนพื้นฐานสังคมในสมัยนั้น ก็เป็นการพลิกตรงข้ามเลย ถ้าจับจุดนี้ได้เราจะเข้าใจ ไม่ไปมัวติดยึดที่ตัวอักษร ตรงนี้แหละสาระสำคัญ คือการปฏิเสธเรื่องวรรณะ

    จุดหมายของพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับเป็นอันขาดในเรื่องวรรณะ ๔ พราหมณ์เขาถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสรุนแรงในเรื่องการไม่ยอมรับว่าพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด แล้วในพระสูตรนี้จะมีคำตรัสย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ธรรมสูงสุด ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน ไม่ใช่พระพรหม

    หลักที่ว่าธรรมเป็นสิ่งสูงสุดนี้ชาวพุทธไม่ค่อยจะยึดถือ ที่จริงเราต้องถือว่าธรรมเหนือเทพ พระพุทธศาสนาถืออย่างนั้น ไม่ใช่เทพสูงสุด เวลานี้ดีไม่ดีชาวพุทธเพลินไปถือเทพเป็นใหญ่ เอาละ ใครจะถือเทพเชื่อเทพก็ไม่ว่าหรอก แต่เมื่อเป็นชาวพุทธต้องถือธรรมสูงสุด ธรรมเป็นตัวตัดสินเทพ ด้วย เทพจะใหญ่ไปกว่าธรรมไม่ได้

    แล้วคาถาสุดท้ายว่าอย่างไร บอกว่าในหมู่ชนที่ยังถือโคตรกันอยู่ กษัตริย์สูงสุด แต่ในธรรมแท้ๆ นั้น ไม่ต้องไปคำนึงแล้วว่าจะเป็นวรรณะไหน แม้แต่เทพ ไม่เอาทั้งนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตัวเองแล้วสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะนี่แหละประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ นี่คือสาระสำคัญของอัคคัญญสูตร



    ถาม :

    เรื่องการสิ้นโลกมีปรากฏไหมคะ ที่ว่าน้ำจะท่วม

    ตอบ :

    ในอรรถกถาบอกว่า โลกจะสิ้นด้วยไฟ โลกจะสิ้นด้วยน้ำ โลกจะสิ้นด้วยลม รวมแล้ว ๓ แบบ เรื่องนี้มีมติพราหมณ์อยู่เดิม คือ พราหมณ์เขาถือว่าพระพรหมสร้างโลก แล้ววันคืนหนึ่งของพรหมเรียกว่ากัปหนึ่ง เมื่อครบกัปหนึ่งก็จะสิ้นโลกกันทีหนึ่ง โลกก็จะสลาย ทีนี้การที่โลกจะสลายนี้ สลายด้วยไฟก็มี ด้วยลมก็มี ด้วยน้ำก็มี เขาเรียกว่ากัปที่วินาศด้วยไฟ ด้วยลม ด้วยน้ำ นี่มติอรรถกถา ซึ่งไปโยงกับแนวคิดที่มีอิทธิพลของพราหมณ์อยู่

    ในพระไตรปิฎกบางแห่งอาจจะกล่าวถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วอรรถกถาก็อธิบายขยายความ ตัวอย่างที่ชัดก็คือ ในพุทธคุณ พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลก ในพระไตรปิฎกว่าไว้แค่นี้ ตรงอรรถกถาก็อธิบายเลยว่า โลกนี้เป็นอย่างไร แล้วก็เกิดขึ้น เจริญ เสื่อม วินาศ อย่างไร ก็ว่ากันยืดยาว


    • Update : 10/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch