หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /5
    เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม

    ถาม :

    กลับมาปัญหาที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ของภิกษุณีด้านเถรวาทนี้มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดัน ให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้ายังอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ทำไมทางมหาเถรสมาคมของประเทศไทยจึงไม่อนุญาต ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช ซึ่งน่าจะอนุญาตได้” นี่ข้อหนึ่ง

    และเขามองในแง่สังคมวิทยาว่า เพราะสถาบันศาสนาเปิดโอกาสให้กับผู้ชาย ฉะนั้นเด็กผู้ชายตามจังหวัดที่ยากจน ด้อยโอกาส มีโอกาสเข้ามาพึ่งพิงศาสนา ได้เรียนหนังสือ ได้เติบโตในสังคมต่อไปได้ด้วยดี ในขณะที่ไม่มีสถาบันภิกษุณี ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสในเรื่องของการศึกษา เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนภิกษุสงฆ์สองแสน เทียบแล้วก็เท่ากันกับเด็กผู้หญิงที่จะต้องไปทำอาชีพโสเภณี ถ้ามีสถาบันภิกษุณีในสังคม จะได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากขึ้นด้วย

    ตอบ :

    อันนี้เกิดจากการจับเรื่องโน้นมาชนเรื่องนี้ จับจุดของเรื่องไม่ถูก การอนุญาตให้บวชภิกษุณี เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า คือต้องเป็นไปตามพุทธบัญญัติ มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย มหาเถรสมาคมเป็นเรื่องบัญญัติใหม่ตามกฎหมายของบ้านเมือง

    แม้แต่สงฆ์ที่เป็นการปกครองแบบพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ภิกษุณีบวช และการที่บอกว่าเป็นเรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่ถูก คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์ เช่นเดียวกับภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียวเป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้

    เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด ลังกาก็ต้องส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชให้แก่คนลังกา ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ไม่มี แล้วเราจะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่นี่ เหมือนอย่างเมื่อ พระเจ้าอโศก ส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนาในลังกา พระมหินท์ ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้ และตอนนั้นฝ่ายภิกษุณีก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือ พระนางสังฆมิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงบวชภิกษุณีได้ หมายความว่าจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์จึงจะบวชภิกษุณีได้ ต้องมีภิกษุสงฆ์จึงจะบวชภิกษุได้ ถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ แล้วใครจะไปบวชภิกษุได้ ก็เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องอุปัชฌาย์และมหาเถรสมาคมอะไรเลย



    ถาม :

    แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน ที่บวชมาแล้ว ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ และค่อนข้างจะมองกันในแง่เรื่องของการเมืองด้วย

    ตอบ :

    ถ้าไปบวชแบบมหายาน ก็แน่นอนละ เรื่องการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวหรอก ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ ภิกษุเถรวาทก็ไม่รับเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่ต้องไปถึงไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาทจะไปนับท่านเป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา


    ถาม :

    ทางนครปฐมที่มีเรื่อง ท่านสังฆณีวรมัย เท่าที่จำได้ ท่านเองก็อ้างว่าท่านบวชในสายเถรวาทมาจากไต้หวัน

    ตอบ :

    ก็นั่นสิ ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมาตามธรรมดา อยู่ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉยๆ จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวันเป็นสายเถรวาท อย่างน้อยท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวันมีแต่พุทธศาสนามหายาน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันทีได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก ภิกษุก็ไม่รับ ก็ได้แต่รับในแง่ที่รู้ว่านี่เป็นภิกษุมหายาน เมื่อเป็นภิกษุณีท่านก็ยอมรับในแง่ว่านี่เป็นภิกษุณีมหายาน ก็ว่ากันไปตามเรื่องตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

    เมื่อมาจากแดนมหายาน ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้องยอมรับทันที ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องที่เป็นมาให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา

    ในกรณีที่ว่าถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง แต่ภิกษุสงฆ์ในไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่าย ก็กลายเป็นบวชกับภิกษุสงฆ์มหายาน ความเป็นเถรวาทก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ครึ่ง มหายานครึ่งหรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่านที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย

    ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริงก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่าเป็นภิกษุณีมหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย



    ถาม :

    ในประเด็นนี้ ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ คือยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้

    ตอบ :

    ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร


    ถาม :

    ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับ ว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี

    ตอบ :

    อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือชาวพุทธที่จะต้องสืบสวนทางประวัติศาสตร์ว่า ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นสืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด ทางนี้ยอมรับได้ ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้องพิจารณาในแง่ว่าไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาทในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์สองฝ่าย แล้วจะยุติอย่างไร ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยกอันโน้นมาปนอันนี้ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุสายเถรวาท และภิกษุมหายาน


    ถาม :

    แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียกว่า ปวัตตินี ที่ว่าสามารถบวชได้แค่ปีละองค์ แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่งถึงจะบวชได้ใหม่อีกองค์หนึ่ง อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ที่จะคุมกำเนิดนะครับ

    ตอบ :

    ก็อาจจะอย่างนั้น คือไม่ต้องการให้มีมาก คล้ายว่าทำให้การบวชภิกษุณีนั้นเป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่ของสังคม คือเป็นปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางสังคม


    ถาม :

    คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า

    ตอบ :

    อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก อาตมาคงตัดสินไม่ได้ แต่พูดได้ว่าเป็นข้อที่ควรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง

    ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน

    ถาม :

    ในประเด็นที่เขาอ้างจำนวนผู้ชายที่มาบวชในพระศาสนา พอๆ กับจำนวนผู้หญิงที่ต้องไปตกต่ำ เพราะสถาบันศาสนาไม่เปิดโอกาสให้ ในสถานะของการเป็นแม่ก็ไม่เทียบเท่ากับการเป็นนักบวช ได้รับสภาพที่ต่ำกว่า คือแม้กระทั่งรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะให้เป็นอะไรกันแน่

    ตอบ :

    อันนี้เอามาปนกันหลายเรื่องเกินไป เรื่องของสังคมไทย เรื่องของศาสนา เรื่องของคณะสงฆ์ เราต้องแยกแยะก่อน คณะสงฆ์หรือพระมีหน้าที่อะไร การที่จะให้การศึกษาช่วยเหลือคนยากไร้ไม่ให้ตกต่ำ ด้วยการมาเป็นพระภิกษุนั้น เป็นบทบาทพลอยได้ขึ้นมา โดยที่มันเป็นความบกพร่องของสังคมไทยเอง

    มันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องมาช่วยให้การศึกษาแก่คนยากไร้ แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่รัฐบาลเองบกพร่อง โดยขาดความสามารถก็ตาม โดยความไม่รู้ก็ตาม ทำให้ชาวชนบทที่ยากไร้ไม่เข้าถึงการศึกษาของรัฐ แต่เพราะวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของการศึกษาอยู่แล้ว ก็เลยทำให้คนชนบทได้พลอยมีโอกาสศึกษาต่อมา เป็นช่องที่พอกล้อมแกล้มไป ไม่ใช่หมายความว่าได้ผลเต็มที่ เพราะว่ารัฐก็ไม่ยอมรับรองผลการศึกษาของคณะสงฆ์ที่คนยากไร้ได้อาศัย รัฐไม่ได้สนับสนุน เพียงแต่หาทางรอดมาพอเป็นไปได้เท่านั้นเอง แต่ก็ช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาไปได้เยอะพอสมควร

    ทีนี้เรื่องที่ว่าผู้หญิงมาเป็นโสเภณีนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่ผู้ชายมาบวช การที่ผู้ชายบวชได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะต้องไปเป็นโสเภณี สมัยก่อนผู้ชายก็บวชมานานแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหานี้ แต่มันเป็นปัญหาของสังคมไทยเอง อย่างที่พูดแล้วว่าบทบาทพลอยได้อย่างหนึ่งคือ คณะสงฆ์เหมือนกับว่าช่วยเด็กผู้ชายยากไร้จากชนบทไว้ได้จำนวนหนึ่งให้ได้มีโอกาสทางด้านการศึกษา แต่เพราะว่าไม่มีภิกษุณีก็เลยไม่ได้ช่วยในฝ่ายหญิง แต่ไม่ได้หมายความว่าบทบาทนี้เป็นหน้าที่ของพระ และถ้าจะเอาประโยชน์ในแง่นี้ ถึงจะไม่มีภิกษุณี ผู้หญิงไปบวชเป็นแม่ชี ถ้าจัดการให้ดีก็คงมีผลเท่ากัน

    เดิมนั้นเมื่อผู้ชายจำนวนเท่านี้มาบวช ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจำนวนเท่านั้นจะต้องกลายเป็นคนเสียหาย สังคมที่ดีก็ต้องมีระบบการจัดการของตัวเอง สมัยนั้นเมื่อผู้ชายไปบวช กุลสตรีก็อยู่กันตามประเพณีวัฒนธรรมของเรา อันนี้ก็อย่างที่ว่าข้อสำคัญมันเกิดจากการที่สังคมของเราบกพร่องเอง ถ้าสังคมของเราดี ก็ไม่ปล่อยให้ผู้หญิงเหล่านี้มาเป็นโสเภณีหรอก แล้วที่จริงมันก็ไม่จำเป็นอะไรที่ผู้ชายมาบวชแล้วผู้หญิงจะต้องไปเป็นโสเภณี แล้วก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสในการศึกษา หรือได้รับการศึกษากระท่อนกระท่อน

    เด็กจากชนบทที่คณะสงฆ์ช่วยไว้ ก็ใช่ว่าจะได้รับการศึกษาดี ก็กระท่อนกระท่อนกันไป เพราะทางฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ยอมรับ เป็นแต่เพียงว่ามันเกิดเป็นผลพลอยได้จากเรื่องเก่า อาศัยบทบาทเก่าเท่านั้น ส่วนการที่จะดูแลผู้หญิงชาวชนบทนั้น เป็นหน้าที่ของสังคมที่ดีต้องวางระบบขึ้นเอง มันไม่ใช่หน้าที่ของพระ

    เราอาจจะพูดได้ว่าในโอกาสที่สังคมบกพร่อง สถาบันสงฆ์ได้ทำงานที่เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่ง คือช่วยเด็กผู้ชายจำนวนหนึ่งไว้ แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของพระที่จะมาทำงานนี้ เดี๋ยวจะจับบทบาทของพระผิดไป ตอนนี้บทบาทนี้ก็แทบจะช่วยไม่ได้แล้ว ถ้าเราจะมาเอาที่จุดนี้ ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะว่ามันเป็นเพียงการช่วยไว้ตามสภาพสังคมในยุคนั้น พอผ่านมาแล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้

    ยกตัวอย่างง่ายๆ พอรัฐขยายการศึกษาขึ้นไปประถม ๖-ประถม ๗ ก็เกิดปัญหาแล้ว แม้แต่เด็กผู้ชายก็ไม่เข้ามาบวชแล้ว แล้วคณะสงฆ์จะไปช่วยอะไรได้ มันกลายไปขึ้นต่อเงื่อนไขของฝ่ายรัฐต่างหาก พอรัฐทำอย่างนี้ ขยายการศึกษาขึ้นไป ทีนี้ไม่มีเณรมาบวชแล้ว อย่าว่าแต่เรื่องผู้หญิงเลย เด็กผู้ชายก็เหมือนกัน พอจบประถมแล้ว แทนที่จะมาบวช กลับไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรม นี่กลายเป็นปัญหาสังคมอีกใช่ไหม คือเรื่องแรงงานเด็กน่ะ ในยุคที่แล้วเกิดปัญหาแรงงานเด็กเยอะแยะไป ผู้ชายนี่ละก็เป็นปัญหาของสังคมไทยขึ้นมาอีก เราจะต้องพิจารณาจับหลักให้ถูก อะไรมันควรจะเป็นบทบาทของใคร จะพูดแง่เดียว จุดเดียวไม่ได้

    ส่วนความเป็นแม่นั้น เป็นสถานะโดยธรรมชาติ มีความสูงเลิศอยู่ในตัว ไม่เป็นเรื่องที่จะเอาไปเทียบกับอะไร



    แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม

    ถาม :

    ในเรื่องของสถานภาพแม่ชีล่ะคะ

    ตอบ :

    อันนี้อาตมาเห็นด้วยว่าควรจะเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง ในสังคมไทยที่เป็นมา เมื่อภิกษุณีสงฆ์ไม่มี ในเมื่อเรายังมีปัญหากันอยู่ว่า เราจะมีภิกษุณีสงฆ์มาบวชได้อย่างไร เพราะวินัยมีข้อกำหนดอยู่ว่าภิกษุบวชก็ยังต้องมีภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีถึงแม้จะต้องให้ภิกษุสงฆ์ยอมรับด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทีนี้ในเมื่อเรายังหาภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้ ในสังคมไทยก็จึงยังไม่มีภิกษุณี

    ทีนี้จะทำอย่างไรที่จะให้โอกาสแก่สตรี โบราณก็หาทางออกโดยเป็น อนาคาริก เป็นอุบาสิกานุ่งห่มขาวรักษาศีล ที่เรียกเป็นแม่ชี แต่ในสังคมโบราณ สังคมเป็นไปอย่างหลวมๆ เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ จบในตัว ก็ไม่ค่อยมีปัญหา

    แต่ทีนี้พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันขึ้นมา ก็มีกฎกติกาสังคม มีกฎหมายอะไรต่างๆ สถาบันสังคมมีความซับซ้อน อาตมาว่าต้องมาตกลงกันจัดวางให้เหมาะกับยุคนี้ คือต้องตรงไปตรงมา ถ้าจะบวชภิกษุณีก็ต้องให้มีภิกษุณีสงฆ์ ก็จบเท่านั้น ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์เราบวชภิกษุณีไม่ได้ แต่เราอยากให้ผู้หญิงมีโอกาสได้ประโยชน์จากพระศาสนา ในภาวะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว และภาระกังวลทางด้านชีวิตภายนอกของคฤหัสถ์ เป็นผู้ไม่ครองเรือน เราจะวางหลักเกณฑ์อย่างไร เราก็มาตกลงกัน

    อันนี้คิดว่าตรงไปตรงมาดีที่สุด หมายความว่าตอนนี้เรายังหาภิกษุณีสงฆ์มาบวชภิกษุณีไม่ได้ เรามาตกลงกันดีกว่าว่าสังคมของเราอยากให้โอกาสแก่ผู้หญิง เราจะทำอย่างไร แล้วเราก็จัดให้เหมาะ ให้ได้ประโยชน์แก่ผู้หญิงตามวัตถุประสงค์ด้วย และไม่ผิดพุทธบัญญัติด้วย นี่เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ไม่ต้องมัวมาเถียงกันอยู่



    ถาม :

    แล้วระหว่าง ๒ ทางออก คือ การให้มีแม่ชีในเถรวาท กับการที่จะเปิดให้มีภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายาน อันไหนจะมีข้อดีข้อเสียมากกว่ากัน

    ตอบ :

    ไม่ใช่เป็นทางออก ๒ อย่างที่จะต้องเลือก และไม่เกี่ยวกับการเอามาเปรียบเทียบกันเลย แม่ชีเป็นเรื่องที่เรามีอยู่แล้ว และดีอยู่แล้ว แต่เราค่อนข้างปล่อยปละละเลยไปเสีย ก็มาตั้งใจส่งเสริมจัดให้ดีไปเลย ส่วนเรื่องภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายมหายานที่ยังไม่มี ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณาเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากกัน ถ้าพูดว่าอย่างไหนจะดี ก็ไม่ตรงประเด็น และจะเป็นปัญหาขัดแย้งนอกเรื่อง

    เมื่อนำภิกษุณีฝ่ายมหายานเข้ามา ก็ต้องเอาหลักคำสอน ข้อยึดถือของฝ่ายมหายานมา แต่ถ้าเราตั้งเป็นระบบของเราขึ้นมา ก็เป็นนักบวชที่เรายอมรับว่าไม่ใช่อันที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เท่าที่ช่องทางของธรรมวินัยมีอยู่ แล้วเราก็วางแนวปฏิบัติอะไรต่ออะไรให้เหมาะสม



    ถาม :

    แม่ชีเกิดในสังคมไทยนานเท่าไร

    ตอบ :

    คงเกิดนานมากแล้ว มีเรื่องเล่ามาตลอด ซึ่งแสดงว่าสังคมไทยเดิมก็มีวิธีการหาทางออกให้ผู้หญิง


    ถาม :

    แม่ชีมาอยู่ตามวัดจะถูกมองว่าเป็นเหมือนคนรับใช้ และไม่สามารถจะรับบิณฑบาตได้ ไม่สามารถจะทำพิธีสังฆทานได้

    ตอบ :

    แม่ชีนี่เรียกว่าอุบาสิกา แต่ก่อนผู้ชายก็มี เขาเรียกผ้าขาว ก็เหมือนกัน ไม่มีสิทธิ์อะไรพิเศษ หมายความว่าชีก็สืบมาจากโบราณ อย่างที่ฝ่ายชายก็มีชีปะขาวหรืออะไรทำนองนั้น ในแบบเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็อยู่วัด เป็นอนาคาริก เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา มีฐานะแบบเดียวกัน แต่ต้องการมี ชีวิตแยกจากความเป็นคฤหัสถ์ เพื่อจะได้มีความหลีกเร้น ปลีกตัวสงบมากขึ้น ก็มุ่งผลเพียงเท่านั้น ทีนี้สังคมมันเปลี่ยนไป เราจึงต้องบอกว่าควรจะจัดอย่าง ไรให้เหมาะสม


    ถาม :

    โอกาสที่จะเป็นภิกษุณีอย่างเถรวาทนี่ ตามวินัยเป็นไม่ได้ใช่ไหมคะ

    ตอบ :

    ตามวินัย ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ก็บวชภิกษุณีไม่ได้


    ถาม :

    แต่ถ้าจัดขึ้นมาเองล่ะคะ

    ตอบ :

    ก็เป็นของเทียม ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นเราก็บวชพระภิกษุกันเองได้ ไม่ต้องบวชตามวินัยของพระพุทธเจ้า จะเอาอย่างนั้นหรือ

    ที่จริง ถ้าเราจัดขึ้นมาเองเราก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปปลอมของท่าน อย่าไปทับพุทธบัญญัติ มันไม่ดี ไม่ถูก ก็เหมือน ลังกา เมื่อพระภิกษุหมดไปเขาก็ยอมรับว่าภิกษุสงฆ์ของเขาหมด เขาก็ต้องส่งทูตมาขอจากไทยไป ก็ไปมีสยามวงศ์ขึ้นมา แล้วก็ขอจากพม่า มีนิกายมรัมมะและอมรปุระขึ้นมา เขาเคารพพุทธบัญญัติ ก็ไม่จัดภิกษุสงฆ์ขึ้นมาเอง



    ท่านสุรเดช :

    ที่จริงปัญหาเรื่องแม่ชีไม่ได้รับการยอมรับทางสถานะ ถ้าลองเปรียบเทียบกับภิกษุณีในสมัยพุทธกาล ก็น่าจะเอาความรู้สึกมาเปรียบเทียบกันได้ แม้กระทั่งภิกษุณีเอง เมื่อจะบวชพระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ เพื่อให้ตระหนักแบบท่านอาจารย์ว่า แม้กระทั่งแม่ชีเอง ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นแบบ ก็ต้องยอมรับได้ว่าฐานะจริงๆ ในเรื่องการปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความถึงเรื่องปลีกย่อย อย่างเรื่องบิณฑบาต การขึ้นรถ ค่าโดยสาร แต่ในเรื่องความรู้สึกของฐานะทางฝ่ายผู้หญิงน่าจะพิจารณา


    • Update : 10/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch