หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /4
    ทำไมในวินัยจึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม

    ถาม :

    ในครุธรรม ๘ มีอยู่ ๒ ข้อที่คนไม่อยากเชื่อ คือภิกษุณีที่บวชมานานกว่าภิกษุ มีอาวุโสกว่า แต่ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงวันเดียว และภิกษุณีแม้จะอาวุโสอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ตักเตือนภิกษุ แม้จะทำผิด

    ตอบ :

    ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า เวลาพิจารณาเรื่องจะต้องนึกถึง
    ๑. เรื่องการบรรลุธรรม ที่เป็นเรื่องสภาวะ
    ๒. เรื่องทางสังคม ซึ่งเป็นสมมติ แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของคณะสงฆ์ และต่อการบำเพ็ญศาสนกิจของพระพุทธเจ้าด้วย

    เราต้องมองว่าสังคมยุคนั้นเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญศาสนกิจเพื่องานพระศาสนา นี่ก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว ทรงพยายามให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี อะไรที่ไม่จำเป็น จะมาขัดขวางงาน ก็ต้องพยายามยั้งไว้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับทำงานแข่งกับพวกเดียรถีย์ หรือพวกศาสดาทั้ง ๖ ทีนี้ค่านิยม ความรู้สึก ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยนั้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าสตรีในศาสนาทั่วไปมีฐานะทางสังคมเรียกว่าด้อยมาก

    ดังนั้นเมื่อผู้หญิงจะมาบวช ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเป็นปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจ เราก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาใหญ่ๆ ๒ ด้าน คือ

    ๑. แง่สังคม สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่องนักบวช สมัยนั้นเป็นอย่างไร
    ๒. แง่การบรรลุธรรม

    ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชนั้นชัด คือมีลำดับเรื่อง ๒ ขั้นตอนที่ว่า ตอนแรก ไม่อนุญาต และตอนหลังจึงทรงอนุญาต ถ้าเราอ่านโดยพิจารณาจะรู้เลยว่า การที่ให้บวชก็ด้วยเหตุผลในแง่บรรลุธรรมได้ แต่ถ้าว่าโดยเหตุผลทางสังคม จะไม่ยอมให้บวช เพราะว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมสมัยนั้นไม่อำนวยเลย สมัยนั้น นักบวชสตรียังไม่เป็นที่ยอมรับ และในทางสังคมสตรีก็มีฐานะด้อยอยู่

    ทีนี้ในภาวการณ์ระหว่างศาสนา เมื่อค่านิยมในสังคมเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้หญิงเข้ามาบวชก็เริ่มเป็นจุดอ่อนให้แก่ศาสนาอื่นทันที เขาก็ยกขึ้นเป็นข้อโจมตีและกดว่าศาสนานี้ผู้หญิงก็บวชได้ ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าผู้หญิงมาดึงคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี้ลงไป ในขณะที่ยังต้องบุกฝ่าเดินหน้าอยู่ และถ้ายอมให้พระภิกษุไหว้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้เขาเอาไปพูดกดพระพุทธศาสนาได้เต็มที่

    เรื่องมีในพระไตรปิฎกด้วย ครั้งหนึ่ง พระมหาปชาบดี ทูลขอว่าให้พระภิกษุกับภิกษุณีเคารพกันตามพรรษา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต และตรัสว่า แม้แต่อัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ไม่ยอม นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องอัญเดียรถีย์ เพราะถ้าไปทำเข้า ก็เหมือนกับยอมให้พุทธศาสนาถูกเขาดึงลงไปกดไว้

    ในพระวินัย จะเห็นว่าพวกเดียรถีย์คอยหาแง่ที่จะกดจะข่ม จะว่าร้ายพระพุทธศาสนาอยู่ แม้แต่ถ้าพระภิกษุให้ของขบฉันด้วยมือแก่นักบวชอเจลก (พวกชีเปลือย) เป็นต้น ก็จะถูกเขาหาแง่มุมว่าในทางไม่ดี จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุให้ของขบฉันแก่นักบวชพวกนั้นด้วยมือตนเอง

    เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ชัดก่อนว่า ถ้าจะบวชก็อย่าไปคำนึงถึงเรื่องด้านสังคมเลย เราจัดให้เหมาะตามสภาพสังคมก็แล้วกัน ให้ผู้หญิงที่จะบวชนึกมุ่งไปที่การบรรลุธรรมเป็นสำคัญ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตอนแรก ก็เหมือนกับว่าจะให้พิจารณาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าถ้ามองในแง่สังคม ถึงขออนุญาตอย่างไรก็ไม่ให้ แต่เมื่อมองในแง่การบรรลุธรรมจึงทรงอนุญาต

    หนึ่ง เป็นการเตือนสตรีทั้งหลาย ให้รู้ว่าสภาพสังคมมันเป็นอย่างนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ และ สอง คำนึงถึงคุณค่าของการบวชที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ว่ามุ่งที่การบรรลุธรรม แล้วก็อย่าไปคิดมากในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแง่ของการปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพสังคมอย่างนั้น แล้วก็ทรงมอบครุธรรมมาเพื่อปฏิบัติให้เหมาะกับสังคมยุคนั้น ให้เป็นอันรู้กันว่านี่เป็นการยอมรับไปตามสภาพสังคม แต่เรามุ่งที่การบรรลุธรรม จึงไม่มาติดใจกันในเรื่องนี้

    เป็นอันว่า ตอนแรกที่พระมหาปชาบดีขออนุญาต พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาในแง่ของสังคม แต่เมื่อยกเหตุผลในแง่การบรรลุธรรม อันนี้ก็ทรงอนุญาตให้บวช ภิกษุณีก็ต้องตระหนักไว้ว่า การอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นนี้เพื่อเหตุผลในการบรรลุธรรม แล้วก็ให้มุ่งที่ นี่ อย่าไปคำนึงถึงในแง่ของสังคม ซึ่งจะต้องทำให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในแง่นี้เท่ากับขอให้เห็นแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม เพื่อให้งานพระศาสนาส่วนรวมดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

    เมื่อยอมรับเงื่อนไขทางสังคม พอให้ส่วนรวมดำรงอยู่ในภาวะปกติเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ผู้บวชเป็นภิกษุณีเข้ามา ก็มุ่งไปที่การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นต่อการยึดถือของสังคม

    ตามเรื่องที่เป็นมาปรากฏว่า ภิกษุณีสงฆ์เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากเป็นที่ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ก็ได้ขยายตัวเป็นศูนย์กลางการศึกษามวลชนสำหรับสตรี เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือกระบวนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาคนนั่นเอง และวัดกับทั้งสำนักภิกษุณี ก็เป็นศูนย์กลางที่ชุมนุม พบปะทำกิจกรรมร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง ๔ ดังนั้น การเกิดขึ้นทั้งของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ จึงเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการขยายโอกาสทางการศึกษาในสังคมชมพูทวีป



    ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย

    ถาม :

    มีผู้บอกว่า การบัญญัตินี้เป็นการบัญญัติในชั้นหลัง โดยผ่านผู้ชายหรือภิกษุเองในสมัยลังกา ท่านเจ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร

    ตอบ :

    ก็คงจะหาทางพูดเอานั่นละ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไร ตามประวัติเท่าที่มีหลักฐาน ตอนแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่เมื่อขอในแง่ของการบรรลุธรรมก็อนุญาต ถึงอย่างนั้นก็ทรงแสดงข้อเป็นห่วงพระศาสนาไว้ เมื่อสตรีบวช พระองค์ทรงเปรียบไว้หลายข้อ เช่นว่า

    เหมือนกับบ้านเรือนที่มีบุรุษน้อย มีสตรีมาก จะถูกภัยภายนอกเข้ามาได้ง่าย คล้ายว่าสงฆ์ส่วนรวมก็จะอ่อนกำลังลง และพระภิกษุที่มุ่งทำงานอยู่ก็จะต้องแบ่งกำลังมาคุ้มครองภิกษุณีสงฆ์ด้วย เพราะสตรีนอกจากมีปัญหาเชิงสังคม เรื่องที่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นไม่ยกย่องสตรีในระดับเดียวกับบุรุษแล้ว โดยภาวะของสตรี ก็มีความไม่ปลอดภัยต่างๆ มากด้วย

    ตอนหนึ่งภิกษุณีอยู่ป่า ก็ถูกคนร้ายมาข่มเหง พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุณีอยู่ป่า คือชีวิตที่จะบำเพ็ญสมณธรรมแบบผู้ชายนี้ทำได้ยาก ภิกษุจะบุกเดี่ยวบุกป่าฝ่าดงถึงไหนถึงกัน แต่ภิกษุณีไปไม่ได้

    แม้แต่เพียงภิกษุณีอยู่ลำพังรูปเดียวก็ไม่ได้ เกิดปัญหาอีกแล้ว จึงต้องมีบัญญัติเช่นว่า ภิกษุณีจะประพฤติมานัต ตามปกติการประพฤติมานัตอยู่กรรมก็ต้องอยู่รูปเดียว แต่สำหรับภิกษุณีต้องมีเพื่อนอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุณีสงฆ์ตั้งภิกษุณีรูปอื่นมาเป็นเพื่อนให้อยู่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

    ในแง่ชีวิตพรหมจรรย์ที่ว่าต้องพร้อมที่จะอยู่ป่าอยู่เขาคนเดียว และจาริกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ในแง่นี้ภาวะเพศหญิงก็ไม่เหมาะเท่าเพศชาย และกลายเป็นปัญหาหนัก ทำให้ฝ่ายพระภิกษุต้องเป็นกังวล พลอยห่วงด้วย

    ตามปกติภิกษุกับภิกษุณีเดินทางไกลไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าไปด้วยกันชาวบ้านก็เพ่งมอง เพราะมีพระผู้หญิงพระผู้ชาย ชาวบ้านเขาก็มองว่านี่เป็นแฟนกันหรืออะไร เพราะชีวิตนักบวชนั้น คนอินเดียรู้กันอยู่แล้วว่า นักบวชไม่ว่าศาสนาไหนก็ถือว่าต้องอยู่พรหมจรรย์ พอมีภิกษุณีขึ้นมาก็แปลกแล้ว ไม่เข้าตาเขา ทีนี้พอเดินทางไปด้วยกันคนก็เพ่งก็จ้องว่า เอ๊ะ ! พระในศาสนานี้มีภรรยาด้วยนะ อะไรอย่างนี้

    มีเรื่องที่พระภิกษุกับพระภิกษุณีเดินทางเป็นคณะไปด้วยกัน ผู้คนพากันมาดูและล้อเลียน ทำให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบท กันไม่ให้ภิกษุและภิกษุณีเดินทางร่วมกัน แต่พอเดินทางแยกกัน เมื่อไปเฉพาะภิกษุณีแม้จะหลายรูปก็ถูกข่มเหง ก็ต้องมีพุทธานุญาตว่า ไม่ให้เดินทางด้วยกัน เว้นแต่เดินทางไกล ที่มีภัยอันตรายอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยก็เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นในการที่จะทำงานพระศาสนา

    ขอย้อนอีกนิดว่า ที่ว่าไม่ให้ภิกษุณีว่าภิกษุ ในอรรถกถาท่านอธิบายว่า ไม่ให้ตั้งตัวเป็นเจ้าเป็นนายหรืออะไรทำนองนั้น ถ้าจะพูดเชิงตำหนิหรือแนะนำก็พูดแบบให้เกียรติ เช่น ภิกษุทำอาการไม่สำรวม ภิกษุณีก็อาจจะพูดว่า พระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ ท่านไม่แสดงอาการอย่างนี้..... แต่ถึงฝ่ายภิกษุก็มีวินัยบัญญัติว่า ภิกษุที่จะว่ากล่าวให้โอวาทภิกษุณีต้องได้รับการแต่งตั้งจากสงฆ์

    ภิกษุณีสงฆ์นั้นเกิดขึ้นทีหลัง เป็นของใหม่ ก็ให้ปฏิบัติไปตามวินัยของภิกษุ เพราะบัญญัติ ไว้แล้ว แต่เมื่อภิกษุณีมีเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทใหม่เป็นข้อๆ เพิ่มเข้าไป ตอนแรกที่ภิกษุณีบวชเข้ามาก็ไม่รู้ว่าวินัยที่มีอยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็ทรงให้ภิกษุเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ให้ฟัง ต่อมาก็มีปัญหาว่าภิกษุมาสวดหลายครั้งเข้า คนก็ติเตียนภิกษุว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุมาสวดปาฏิโมกข์ให้ภิกษุณีฟัง และให้ภิกษุณีสวดเอง แต่ภิกษุณียังไม่รู้ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ ก็ต้องให้ภิกษุสอนให้ อย่างนี้เป็นต้น

    ตอนแรกๆ ก็มีการปรับตัวอย่างนี้ คือเรื่องนี้เป็นของใหม่ที่แปลกสำหรับสังคม คนก็ต้องเพ่ง ต้องจ้อง จะมีข้อตำหนิอะไรอยู่เรื่อย และภิกษุณีเองก็ไม่สบายใจ มีเรื่องเช่นว่า มีผู้ชายมาไหว้ ภิกษุณีก็ไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่านี่เรายินดีการไหว้ของบุรุษได้หรือเปล่า ก็ไปทูลถามพระ พุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็อีกแง่หนึ่ง แต่ปัญหาระยะยาวก็คือภาวะชีวิตร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ป่าอยู่เขาจาริกไปตามลำพัง

    ขอให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ พอตั้งขึ้นแล้วก็มีเรื่องราวที่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลอะไรเยอะ แต่เป้าอยู่ที่ว่า เอาละอย่ามัวเกี่ยงข้อปฏิบัติด้านสังคมเลย มุ่งไปที่การบรรลุธรรมเถิด อันนี้คือตัวเหตุผลที่แท้ ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายของการบัญญัติครุธรรมนี้ ที่ตรัสว่า เพื่อป้องกันความอ่อนแอและภัยที่จะเกิดแก่พระศาสนา เหมือนสร้างทำนบกันน้ำไหลบ่าล้น เราอาจจะมัวไปมองกันในแง่อื่นๆ และคิดอย่างโน้นอย่างนี้เลยไป ขอให้พิจารณาจุดนี้กันให้ดี

    ทำไมจะเป็นพระศาสดาต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย

    ถาม :

    เรื่องที่ว่าสตรีไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าหรือศาสดาได้ นี่มีในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

    ตอบ :

    มีในพระไตรปิฎก เรื่องเป็นพระพุทธเจ้านี้

    หนึ่ง ขั้นต้นไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นหญิงเป็นชาย อยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นอัน เดียวกัน ถ้าพูดในแง่ปัจจุบันขณะนี้ ก็ไม่มีคนไหน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ที่เป็นพระพุทธเจ้า และบนพื้นฐานนี้ เมื่อมองในแง่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าคนไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งนั้น ในความเป็นมนุษย์นั้น มีศักยภาพที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน

    แต่สอง
    ตอนที่เป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ชาย เพราะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ

    ๑. การค้นพบสัจธรรม
    ๒. การประกาศพระศาสนา


    ในขั้นก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีการบำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพชีวิตชนิดที่ว่าถึงไหนถึงกัน ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้หญิง ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ต้องสละวังไปอยู่ในป่า และทดลองวิธีปฏิบัติทุกรูปแบบนั้น ผู้หญิงก็ทำลำบากมาก เรียกว่าทำไม่ได้เลย ในชีวิตท่ามกลางสภาพอย่างนั้น

    ต่อมาเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะทำงานทำการเที่ยวจาริกไปทุกแห่งทุกที่ ค้างแรมพระองค์เดียวได้ทุกแห่งหน ก็ไม่เป็นที่สะดวกเลยสำหรับภาวะของสตรี ก็เลยกลายเป็นหลักที่ว่า เวลาเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นในภาวะที่เป็นบุรุษ แต่ถ้าพูดถึงขณะนี้ละก็ พูดไม่ได้ว่าหญิงหรือชาย เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจะเกิดเปลี่ยนเป็นหญิงเป็นชายไปได้เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นจะไปพูดว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เดี๋ยวจะเข้าใจผิด คือ มนุษย์ทุกคนนั่นละมีสิทธิเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ในระยะบำเพ็ญบารมีไปจนถึงการตั้งพระศาสนาจะเป็นผู้ชาย ในความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันนั้น เมื่อมาแยกออกเป็นหญิงกับชาย มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติภายใน และท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร เป็นที่คลี่คลายออกของศักยภาพ อย่างไร น่าจะได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อความรู้ ไม่ขึ้นต่อเพียงความคิดเห็น

    เป็นอันว่า ความเป็นหญิงเป็นชายนี่เปลี่ยนไปเรื่อย เป็นเพียงภายนอก ส่วนที่เป็นอันเดียวกัน คือความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์นี้เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพที่จะบรรลุธรรมหรือเป็นพระพุทธเจ้า เหมือนอย่างภิกษุณีรูปหนึ่ง ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า ในเรื่องว่ามีมารมารังควาน มารล้อว่า ผู้หญิงมีปัญญาสองนิ้วจะได้เรื่องอะไร มาอยู่อะไรที่นี่ ท่านก็ตอบไปทำนองนี้ว่า ความเป็นหญิงเป็นชายไม่มีในการบรรลุธรรม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องหญิงหรือชาย



    ถาม :

    มีข้อเขียนของบางคนนะคะ ว่าจริงๆ แล้วเมื่อก่อนผู้หญิงเป็นผู้นำ คือเป็นยุคของผู้หญิง แล้วพอ ๕-๖ หมื่นปีให้หลังนี้เป็นยุคของผู้ชายเป็นใหญ่ ก็ทำให้คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงยุคผู้ชายเป็นใหญ่ ในการจะทำอะไรก็ทำให้ผู้ชายทำได้สะดวกกว่า พร้อมกว่า แต่ถ้าเป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ความสามารถที่ผู้หญิงจะตั้งศาสนาจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม

    ตอบ :

    เรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายแง่ เรื่องที่นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาว่าไว้นั้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และสัมพันธ์กับสภาพสังคม คือสังคมยุคแรกที่เขาว่า ผู้หญิงเป็นใหญ่ ก็เพราะว่าเป็นระบบในครอบครัว ผู้หญิงจะเป็นแกน รู้ว่าคนไหนเป็นลูก ศูนย์กลางของครอบครัวก็อยู่ที่แม่ แม่ก็เป็นใหญ่ แต่ต่อมาพอชุมชนขยายตัว มีการขัดแย้งกันระหว่างเผ่าชน หรือคนต่างกลุ่ม ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจขึ้นมาเพราะจะต้องต่อสู้ ผู้ชายนี่โดยโครงสร้างร่างกาย เมื่อมีการรบราฆ่าฟันจะได้เปรียบ เพราะฉะนั้นผู้ชายก็เรืองอำนาจขึ้นมา นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยในเรื่องของโครงสร้างร่างกาย มันเป็นอย่างนั้นเอง

    บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ถ้าเรามองว่าวัฒนธรรมเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากตัวปัจจัย เช่นชีวิตคน สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และโอกาส ใช่ไหม ผู้ชายได้เปรียบขึ้นมา แล้วก็มาตั้งอะไรๆ เข้าข้างตน ก็เพราะมีโอกาสจากการที่มีกำลังกายเหนือ กว่า

    ตอนแรกก็อย่างที่ว่าแล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ที่ลูกหลานรู้ อยู่ใกล้ชิด และเลี้ยงดูเขามา ก็เป็นที่เคารพเป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจเป็นใหญ่ ต่อมาพอมีชุมชน มีเผ่าต่างๆ ต่างฝ่ายต่างมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ก็ขัดแย้งกัน รบกัน ผู้ชายก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น แล้วผู้ชายก็กลายเป็นใหญ่ ฉะนั้นในยุคที่ผ่านมานี่ ผู้ชายจะเป็นใหญ่มาตลอด เพราะมีเรื่องของการขัดแย้ง รบราฆ่าฟัน ใช้กำลังกายกันมาก

    ทีนี้ก็มองว่า เมื่อสังคมมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญขึ้น เราก็พยายามลดการที่จะถือเอากำลังทางร่างกายเป็นสำคัญ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้น ให้มีหลักจริยธรรม มีหลักความดี มีการให้เกียรติ มีการยกย่องกันด้วยความดีนั้น ไม่เอาแต่เรื่องของกำลังกาย และถ้าเอาแต่ใช้ กำลังร่างกายข่มขี่บังคับกันก็ถือเป็นความป่าเถื่อน อันนี้ก็เป็นโอกาสของผู้หญิงเพิ่มขึ้น

    แต่แม้ในขั้นอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า พอเอาเรื่องความเสมอภาคขึ้นมาพิจารณาก็ยังมีปัญหา แม้แต่พระราชบัญญัติแรงงาน ก็ต้องบัญญัติงานบางอย่างไม่ให้ผู้หญิงทำ เช่น งานที่ขึ้นที่สูงมากเกินไป ใช้เรี่ยวแรงกำลังมากเกินไป อย่างนี้ไม่ได้ กลายเป็นว่าถ้าให้ไปทำก็เท่ากับเป็นการรังแกผู้หญิง ในแง่นี้ ถ้าเสมอภาคกันทำไมไม่ให้ทำเท่ากันล่ะ อย่างนี้เป็นต้น


    • Update : 10/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch