|
|
ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /3
สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า
หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
อย่างเรื่องของภิกษุณีนี้ ไม่ว่าจะได้แค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมา ซึ่งควรยกมาพิจารณาก็คือ การที่ได้ถกเถียงกันมานั้น ทำเพียงด้วยความชอบใจไม่ชอบใจ หรือทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มีการแสวงหาความรู้ให้เห็นเหตุปัจจัยหรือไม่ ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็ได้ฝึกตัวเองไปในตัว ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา เราก็ได้ประโยชน์
อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการชี้แจงตอบปัญหาต่างๆ เราต้องทำโดยมีเมตตา เรียกว่า ตั้งเมตตาธรรม อย่างที่ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปุเรจาริก คือเอาเมตตาความปรารถนาดีต่อกันมานำหน้า ส่วนจะได้แค่ไหน ก็ต้องว่าไปตามหลัก
ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็ฝึกตัวเองไปด้วย การพูดจากันก็เป็นเหตุเป็นผล และพูดสุภาพไม่หยาบคาย เอาละ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็คงจะได้จุดเน้น ๓ ข้อ คือ
๑. ขอให้ตั้งจิตเมตตาปรารถนาดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง
๒. หาทางทำให้ดีที่สุดเท่าที่หลักการเปิดให้ โดยไม่ให้ความต้องการมาล้มหลักการ ไม่เอาความต้องการของเราเหนือหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ไม่ใช่ว่าคราวนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรฉันไม่ฟังแล้ว ต้องเอาอย่างที่ฉันว่าก็แล้วกัน
๓. เรื่องราวกิจการที่เรามีอยู่แล้ว ขอให้สังคมไทยแสดงความสามารถออกมา โดยจัดการให้ดี มิฉะนั้นมันจะฟ้องว่า ต่อไปเธอรับสิ่งใหม่มาก็คงไม่ได้เรื่องอีกนั่นแหละ
แม่ชีมีอยู่แล้ว ก็แก้ไขปรับปรุงจัดทำให้ดี ให้แน่นอนเสียก่อน ส่วนเรื่องใหม่จะได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่เพิ่มเข้ามา ขอให้ช่วยเอาใจใส่เรื่องแม่ชีด้วย เราชาวพุทธด้วยกันทำไมไม่เอาใจใส่ ถ้าแม่ชีเป็นอะไรไป ก็ทำความเสื่อมเสียแก่พุทธบริษัทด้วย เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาใจใส่รับผิดชอบช่วยกันหนุนในทางที่ดี ส่งเสริมทั้งประโยชน์ตนของแม่ชีเอง และประโยชน์ผู้อื่นที่แม่ชีจะช่วยได้แก่พระศาสนา และแก่สังคมประเทศชาติ
เมื่อทำได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกตัวไปเรื่อยๆ เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ตลอดเวลานี้ให้ถูกต้อง
เราก็มาดูว่าเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ หรือพบปัญหาต่างๆ เราปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร จัดการปัญหานั้นอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติธรรม เราก็ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เราก็พัฒนาตัวเอง ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ผลดีก็เกิดทั้งแก่ตนเองและแก่สังคมพร้อมไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไปเอาความชอบใจไม่ชอบใจมาเป็นที่ตั้ง เราก็ไม่ได้ฝึกไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ชีวิตก็เสีย สังคมก็ไม่ได้
การปฏิบัติตามหลักอย่างนี้ ก็เพื่อไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน ซึ่งนอกจากทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงแล้ว ก็ช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขด้วย สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ก็คือ การที่เราได้แผ่ขยายธรรม คือความดีงามนี้ ให้กระจายออกไปทั่วถึง จนกระทั่งคนมายึดถือตั้งอยู่ในธรรม
สังคมจะอยู่ดีได้นั้น หลักพระพุทธศาสนาก็บอกแล้วว่าเราต้องมี ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าคนไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยคือมีประชาชนเป็นใหญ่ มันก็ไม่ไปไหน
ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ แต่ไม่มีธรรมเป็นใหญ่ เช่นประชาชนจำนวนมากเป็นคนขี้ยา ประชาชนส่วนมากเป็นคนเห็นแก่การเสพบริโภค มัวเมาลุ่มหลง ติดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว ตกอยู่ในความประมาท หวังผลจากสิ่งที่เหลวไหล ไม่หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม มัวแต่จ้องหาผลประโยชน์ ขัดแย้งแย่งชิงกันอยู่อย่างนี้ ถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่เมื่อประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่มีธรรม มันก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตยก็เสื่อมโทรม บ้านเมืองก็ไม่ก้าวหน้า ไม่ร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ ก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ เพราะประชาชนไม่มีคุณภาพ ประชาชนจะมีคุณภาพ ประชาธิปไตยจะดี ก็ต้องมีธรรมเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่เหนือประชาธิปไตย และต้องเป็นแกนของประชาธิปไตย ก็คือ ธรรมาธิปไตย ต้องให้ธรรมาธิปไตย มาเป็นแกนให้แก่ประชาธิปไตยอีกที จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี เพราะประชาชนตั้งอยู่ในธรรม
ฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้ อย่าไปภูมิใจแค่ประชาชนเป็นใหญ่ แค่นั้นไปไม่รอดหรอก ถ้าไม่มีธรรมเป็นใหญ่ ฉะนั้น เข้ามานำเอาหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยประชาธิปไตย ชาวพุทธจะต้องช่วยกันให้ธรรมเป็นใหญ่ อาจจะเลียนคำศัพท์ที่เขาเคยพูดก็ได้ เขาเคยพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราก็บอกว่า ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงจะมีความร่มเย็นงอกงามและเป็นสุขแท้จริง
จะพูดว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ได้ แต่ต้องพูดให้เป็นขั้นเป็นตอน คือ ต้องให้ธรรมเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจของคน แล้วให้ประชาชนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อย่างนี้จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี คือเป็นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นแกน หรือประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมาธิปไตย
สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน
เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
ขออนุโมทนาญาติโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่มีน้ำใจ ทั้งด้านหนึ่งคือศรัทธาในพระรัตนตรัย และอีกด้านหนึ่งคือมีจิตเมตตา มีความปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ แล้วสองอย่างนี้ก็มาประสานกัน จิตที่มีศรัทธาประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดี ก็แสดงออกมาทางกายกรรม และวจีกรรม
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักทิศ ๖ ที่ว่า อุบาสก อุบาสิกา หรือกุลบุตรกุลธิดานี้ ตั้งจิตประกอบด้วยเมตตาต่อพระสงฆ์ จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา จะทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา เมื่อมีเมตตาปรารถนาดี อยากจะให้พระสงฆ์มีกำลังในการปฏิบัติศาสนกิจ จึงมาอุปถัมภ์บำรุงโดยนำภัตตาหารมาถวาย เรียกกันว่า ทำบุญเลี้ยงพระ ให้พระสงฆ์มีกำลัง
พระสงฆ์จะได้ไม่ต้องมัวห่วงกังวลในด้านปัจจัยสี่ แล้วจะได้ตั้งหน้าตั้งตาอุทิศตัวอุทิศใจ อุทิศเวลา อุทิศเรี่ยวแรงกำลังให้กับการปฏิบัติศาสนกิจ โดยตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติเจริญไตรสิกขา แล้วนำธรรมมาเผยแผ่สั่งสอนแก่ประชาชน อย่างนี้ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยดี
เข้าหลักที่ว่า ญาติโยมถวายอามิสทาน และพระสงฆ์ก็ปฏิบัติหน้าที่อำนวยธรรมทานให้แก่ประชาชน ด้วยวิธีนี้พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงยั่งยืน และประโยชน์สุขก็จะเกิดขึ้นแก่สังคม ประเทศชาติและชาวโลกโดยทั่วไป
ในวาระนี้ ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร อภิบาลรักษาให้ชาวธรรมะร่วมสมัยทุกท่านพร้อมทั้งครอบครัวญาติมิตร และประชาชนคนไทย พร้อมทั้งชาวโลกทั้งมวล เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคี ที่จะช่วยกันดำเนินชีวิตและกิจการทั้งหลายให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมหมาย ยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่ชีวิต แก่ครอบครัว และแก่ส่วนรวม ทั้งสังคมประเทศชาติ และทั่วทั้งโลกสืบไป ตลอดกาลนาน
- ๒ -
ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
คุณภาวนีย์ บุญวรรณ นศ.ปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ สัมภาษณ์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่วัดญาณเวศกวัน ๑๗ กันยายน ๒๕๔๑
..........................................................
ไม่ว่าหญิงหรือชายมีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
ถาม :
๑. เรื่องที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงมาตุคามในแง่ที่ไม่ดี
๒. เรื่องที่ว่าในยุคแรกไม่ให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยผู้ที่จะบวชต้องรับครุธรรม ๘ ประการ มีผู้สงสัยว่า บางข้ออาจมีผู้เขียนเพิ่มเติมในหนหลังสมัยลังกา ไม่ใช่เป็นการบัญญัติของพระพุทธเจ้าเอง เช่นข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชมานาน มีพรรษามาก กว่าภิกษุ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ และห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ทราบว่าแม้ทำผิดด้วยหรือไม่
ตอบ :
การที่จะตอบเรื่องนี้ เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน คือ
๑. ต้องแยกเรื่องการบรรลุธรรมหรือศักยภาพในการบรรลุธรรมออกไปต่างหาก
๒. ต้องทราบเรื่องของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คณะสงฆ์ตั้งอยู่
๓. ต้องเข้าใจเรื่องศาสนกิจที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ปฏิบัติ
ถ้าแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความเป็นมนุษย์ และความเป็นหญิง เป็นชายนี้ โยงไปถึงการบรรลุธรรมด้วย ถ้ามองในแง่การบรรลุธรรมก็คล้ายกับว่าหมดความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้งหญิงและชายมีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์
ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า แต่ละคนเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง หมุนเวียนไป แล้วแต่กรรมของตน ในแง่นี้ทุกคนเป็นมนุษย์ จึงไม่มีอะไรต่างกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายจึงมีศักยภาพในการที่จะบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน ส่วนการที่เรามามองแยกเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายนี้ เป็นการมองในช่วงเวลาสั้นๆ ระยะหนึ่งๆ หรือเฉพาะหน้า แต่ความจริงแต่ละคนก็มีทั้งความเป็นหญิง และความเป็นชาย ที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ
ทำไมในคัมภีร์มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
ถาม :
ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงผู้หญิงในแง่ที่ไม่ดีอยู่เสมอ
ตอบ :
ก็ไม่เสมอหรอก คำติเตียนว่าผู้หญิงนั้นมีชุมนุมอยู่มากจริงๆ แห่งเดียวใน กุณาลชาดก ซึ่งทั้งเรื่องเต็มไปด้วยคำด่าว่าผู้หญิง น่าสังเกตว่า กุณาลชาดกเป็นชาดกเรื่องเดียวในพระไตรปิฎกที่มีเนื้อความเป็นร้อยแก้ว เรื่องอื่นในพระไตรปิฎกปกติจะมีแต่ตัวคาถา เมื่ออรรถกถาจะอธิบายจึงเขียนเป็นร้อยแก้ว แต่กุณาลชาดกนี้แปลกที่ในพระไตรปิฎกก็ดำเนินเรื่องเป็นร้อยแก้ว จนกระทั่งถึงข้อความที่เป็นคำกล่าวว่าสตรีจึงจะเป็นคาถา ซึ่งว่ารุนแรง และเยอะแยะไปหมด ทีนี้เราก็ต้องรู้ภูมิหลังว่ากุณาลชาดกเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไมจึงมีคำติเตียนว่าสตรีมากมาย
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่ เจ้าศากยะ กับเจ้าโกลิยะ จะทำสงครามกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปและทรงระงับสงครามได้ด้วยพระดำรัสตรัสสอนต่างๆ เมื่อระงับ สงครามลงได้ เจ้าทั้งสองฝ่ายก็สำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็เลยถวาย เจ้าชายที่มารบฝ่ายละ ๒๕๐ คน ให้บวชเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมา ทั้งสองฝ่ายก็คงฆ่ากันตายมากกว่านั้น ก็เหมือนกับว่าถวายชีวิตที่จะสูญเสียไปกับสงครามแด่พระพุทธเจ้า
ทีนี้พอบวชแล้ว ต่อมาก็ปรากฏว่าเจ้าชายหนุ่มๆ เหล่านี้ซึ่งไม่ได้มาบวชด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่เป็นความตั้งใจเฉพาะหน้าที่จะมุ่งตอบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ทีนี้ใจของตัวเองไม่พร้อม พอหายตื่นเต้น ก็คิดถึงแฟนล่ะสิ ยิ่งต่อมาบางองค์แฟนก็ส่งข่าวมาอีก พูดอย่างนั้นอย่างนี้ ใจก็ไม่เป็นสมาธิ วุ่นวายไปหมด ก็อยากสึกกันจำนวนมาก
พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์นี้แล้วก็ทรงพระดำริว่า จะต้องช่วยภิกษุหนุ่มเหล่านั้น แล้วก็ทรงพิจารณาว่าจะแสดงธรรมเรื่องอะไรดี เพื่อจะให้ภิกษุเหล่านี้บรรเทาความเบื่อหน่ายในพรหมจรรย์
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงพาภิกษุเหล่านี้เข้าป่าหิมพานต์ ไปชมนกชมไม้ ให้ได้บรรยากาศ ที่จะโน้มนำใจของภิกษุใหม่ไปในทางสงบรื่นรมย์ ตอนหนึ่งก็ได้เห็นฝูงนกดุเหว่าบินมา จึงทรงปรารภนกเหล่านั้นแล้วตรัสเล่าเรื่อง พญานกกุณาลในอดีต เจ้ากุณาลนี้รูปร่างงดงามมาก และมีนกดุเหว่าที่เป็นภรรยาเยอะแยะ แต่เจ้านกกุณาลมักจะด่าพวกนกภรรยาเหล่านั้นด้วยคำหยาบคาย จนเป็นเรื่องปกติของมัน
จะกล่าวฝ่ายนกอีกตัวหนึ่งชื่อ ปุณมุข เป็นนกดุเหว่าขาว มีภรรยาเยอะเหมือนกัน แต่นกปุณมุขนี่ชอบพูดกับภรรยานกทั้งหลายด้วยคำไพเราะ ต่อมานกปุณมุขมาหานกกุณาล ก็ถูกนกกุณาลด่าถอยกลับไป
ต่อมามีเรื่องว่านกปุณมุขเจ็บไข้ พวกภรรยาพากันทิ้งไป กลายเป็นว่านกกุณาลผู้หยาบคายนี่แหละไปช่วยรักษาโรค และช่วยเฝ้าดูแลต่างๆ ตอนนี้นกกุณาลก็เลยติเตียนว่าพวกผู้หญิงต่างๆ นานา ให้นกปุณมุขฟัง เล่าเป็นเรื่องเป็นราวว่าพวกผู้หญิงเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีดีเลย
การที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนกกุณาลนี้ก็ทรงมีเป้าหมายเหมือนกับว่า คนที่มีราคะต้องให้กรรมฐานประเภทอสุภะ จะได้เป็นเครื่องชักจูงใจไปในภาวะที่ตรงข้าม จิตที่ไปติดไปยึดผูกพันอยู่ จะได้คลายออก นี่ก็เป็นอุบายวิธี
เรื่องเล่าต่อไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้จบ ภิกษุหนุ่มเหล่านั้นใจก็คลายความคิดถึงแฟนลง แล้วก็ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป เรื่องก็เป็นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เต็มไปด้วยคำติเตียนว่าสตรี เป็นแหล่งที่หาได้ง่าย ที่ชุมนุมคำต่อว่าสตรี
ตอนที่ รัชกาลที่ ๕ จะทรงพิมพ์ชาดก มีเรื่องเล่าว่า พระสนมองค์หนึ่งจะให้เผาชาดกทิ้ง เพราะไม่พอใจว่าชาดกนี้ด่าผู้หญิงมากมาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชัดว่า เป็นการแก้ปัญหาความคิดถึงผูกพันที่เป็นเรื่องทางเพศระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ทางฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน เวลาภิกษุณีสาวๆ คิดถึงแฟนอยากสึก ภิกษุณีผู้ใหญ่ก็อาจจะเล่นงานผู้ชายเสียหนักก็ได้ แต่ไม่เป็นเรื่องบันทึกไว้
ส่วนกุณาลชาดกนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า แต่คำติเตียนนั้นไม่ใช่คำตรัสของพระองค์เอง แม้ว่าตามเรื่องจะบอกว่ากุณาลนั่นละต่อมาเป็นพระพุทธเจ้า ข้อสำคัญก็อยู่ที่เหตุปรารภในการตรัสแสดง ในกรณีอื่นก็อาจมีข้อปรารภอื่นอีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง ว่าเป็นจุดสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เรามองเรื่องราวต่างๆ โดยมีแง่มุมที่พิจารณาให้ตรงเรื่องกัน
เป็นอันว่าเรื่องคำกล่าวว่าเหล่านี้ อยู่ในวิธีการอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีไว้ สำหรับแก้ความฟุ้งซ่านจากราคะเกี่ยวกับการคิดถึงผู้หญิง หรือคนที่โกรธผู้หญิงมีเรื่องแค้นขึ้นมา อ่านสมใจแล้วจะได้ไม่ต้องไปฆ่าฟันทำร้ายกัน แต่อย่างที่ว่าแล้ว เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้าเอง
|
Update : 10/6/2554
|
|