|
|
ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /2
ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี
แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการถกเถียงกันคราวนี้ เพียงฟังและพิจารณาเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า มีการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้เข้าใจเรื่องราวกันมากทีเดียว หลายท่านก็พูดให้ทั้งตัวเองและคนอื่นยิ่งสับสน แล้วปัญหาก็เลยยิ่งสับสนแก้ไขยาก
บางคนพูดทำนองว่า ทำไมจึงไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี บางคนถึงกับอ้างรัฐธรรมนูญ บางคนว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ภิกษุณีสิ บางคนก็พูดทำนองว่า เถรวาทใจแคบ ทำไมไม่ทำอย่างในฝ่ายมหายานที่บวชภิกษุณีได้ บางคนว่าองค์กรปกครองคณะสงฆ์ คือมหาเถรสมาคม ทำไมไม่รับรองการบวชเป็นภิกษุณี
ความจริงก็เป็นเรื่องชัดเจนง่ายๆ ผู้หญิงเคยมีสิทธิบวชในสมัยพุทธกาลอย่างไร ปัจจุบันผู้หญิงก็ยังมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีอยู่เช่นนั้น แต่ความติดขัดอยู่ที่ไม่มีคนมีสิทธิบวชให้ หรือคนที่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีนั้น เวลานี้ไม่มี
ที่บางคนจะให้ภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณีโดยไม่ต้องมีภิกษุณีสงฆ์นั้น เป็นเพราะไม่รู้ขั้นตอนการบวชภิกษุณีนั้นว่า ทำอย่างไรบ้าง ตรงนี้แหละควรจะพูดเสียเลยว่า ภิกษุสงฆ์ไม่มีสิทธิบวชสตรีให้เป็นภิกษุณี แม้แต่บวชสามเณรี พระภิกษุก็บวชให้ไม่ได้ พระภิกษุบวชเด็กผู้ชายเป็นสามเณรได้ พระภิกษุณีก็บวชเด็กผู้หญิงเป็นสามเณรีได้ ฝ่ายไหนฝ่ายนั้น ภิกษุณีไม่บวชสามเณร ภิกษุก็ไม่บวชสามเณรี
ดังที่ทราบกันอยู่ว่า แต่เดิมมีภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นก่อน ต่อมาภิกษุณีรูปแรก คือพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ส่วนสตรีท่านอื่นที่ติดตามพระมหาปชาบดีโคตมีมา พระพุทธเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คือบวชโดยภิกษุสงฆ์
เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นแล้ว และภิกษุณีก็มีจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงให้ภิกษุณีสงฆ์บวชภิกษุณีก่อน แล้วจึงมาบวชที่ภิกษุสงฆ์ต่อภายหลัง กลายเป็นว่าภิกษุณีบวชจากสงฆ์สองฝ่าย
เมื่อถึงตอนนี้ ภิกษุสงฆ์จะประชุมบวชภิกษุณีได้ ต่อเมื่อภิกษุณีนั้นบวชเสร็จจากภิกษุณีสงฆ์มาแล้ว ขั้นตอนการบวชที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บวช ที่ศัพท์พระเรียกว่าสอบถามอันตรายิกธรรมต่างๆ นั้น ต้องทำโดยภิกษุณีสงฆ์
การที่ภิกษุสงฆ์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะบวชเป็นภิกษุณีนั้น พระพุทธเจ้าทรงระงับตัดไปแล้ว การที่จะยอมรับคุณสมบัติของสตรีที่ขอบวช ทรงให้เป็นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ เป็นธรรมดาตามหลักกฎหมาย เมื่อมีบัญญัติใหม่ บัญญัติเก่าที่ขัดกัน ก็ระงับไป
การบวชภิกษุณีแทบจะสมบูรณ์มาแล้ว ในขั้นตอนของภิกษุณีสงฆ์ ขั้นตอนของภิกษุสงฆ์เรียกได้ว่าเหลือแค่รับทราบและยอมรับตามที่ภิกษุณีสงฆ์ดำเนินการมา ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีมีสิทธิบวชสตรีเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้บวชให้
ต่อมาทรงอนุญาตแม้กระทั่งว่า เมื่อสตรีบวชเป็นภิกษุณีเสร็จในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แล้ว ถ้ามีเหตุติดขัด เช่นการเดินทางอาจมีอันตราย การบวชในขั้นภิกษุสงฆ์ เจ้าตัวภิกษุณีนั้นจะไม่มาเองก็ได้ เพียงให้มีผู้แจ้งแทนเรียกว่า การอุปสมบทโดยทูต (ทูเตนอุปสัมปทา)
ถ้าภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี หรือภิกษุบวชสามเณรี ดีไม่ดี อีกไม่ช้า คนที่ทวงสิทธิสตรีก็จะท้วงว่า พระภิกษุถือสิทธิอะไรมาเป็นผู้บวชให้แก่สตรี ทำไมสตรีจะต้องไปให้ภิกษุบวชให้
การยกเอารัฐธรรมนูญมาอ้างว่า สตรีต้องมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณีนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพราะผู้หญิงมีสิทธิบวชอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่มีผู้มีสิทธิบวชให้แก่สตรีนั้น
การอ้างรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ก็เหมือนกับว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไม่มีโรงเรียนแพทย์ หรือไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แล้วมีคนหนึ่งมาอ้างว่าตนต้องมีสิทธิได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้น หรืออะไรทำนองนั้น (รัฐธรรมนูญนี้อ้างกันจนชักจะเลอะ และเลยเถิด จนบางคนต่อไปรับประทานอาหารแล้ว ก็คงต้องอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้กระเพาะและลำไส้ของฉันมีสิทธิย่อยอาหารได้)
เวลานี้ เมื่อบวชเป็นภิกษุณีในสายเถรวาทไม่ได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีมหายานที่ไหนจะบวชเป็นภิกษุณีที่นั่นได้ พุทธศาสนามหายานมีนิกายย่อยแยกออกไปมากมาย มหายานบางแห่งบางนิกายยังมีภิกษุณี มหายานหลายแห่งก็ไม่มีภิกษุณี การที่จะบวชเป็นภิกษุณีมหายาน ก็บวชได้กับมหายานบางแห่งบางนิกายเท่านั้น
ส่วนเรื่องคณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมนั้น เมื่อเป็นเรื่องหลักพระธรรมวินัย ท่านทำได้แค่ให้ความรู้และท่านก็ต้องปฏิบัติตาม จะให้คณะสงฆ์มาตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองไม่ได้
ตามเรื่องที่ปรากฏและเถียงกันอยู่นี้ เห็นได้ว่า คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจ ไม่ว่าโดยพระธรรมวินัยหรือโดยกฎหมายของรัฐ ที่จะรับรองการบวชภิกษุณีนั้น จะทำได้ก็แค่รับรู้การบวชและให้ความรู้แก่ประชาชน
การให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนนี้เป็นหน้าที่ยืนตัว ที่ควรทำตลอดเวลา รวมแล้วก็ต้องย้ำว่า การจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร ก็ควรจะได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นบ้าง มิฉะนั้น พูดกันไปพูดกันมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่ยิ่งสับสน
ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา
ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
ข้อที่ ๓ เรื่องเก่าเกี่ยวกับสิ่งดีที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีเราก็มองข้ามไป ไม่เอาใจใส่ ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสองข้อที่พูดไปนั้นโดยตรง คือการที่สังคมไทยเรามีแม่ชีสืบมา
การที่เรามีแม่ชีก็เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า สังคมไทยเราเคยพยายามหาช่องทางให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการแสวงวิเวกหาความสงบ ในการมีชีวิตแบบผู้ปลีกตัวจากสังคม แล้วก็บำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติทางจิตภาวนาและปัญญาภาวนา
แต่สังคมของเราสมัยก่อนนี้ ไม่ใช่เป็นสังคมขยายใหญ่อย่างปัจจุบัน ที่ต้องมีเรื่องของกฎหมาย หรือระบบระเบียบข้อบัญญัติของรัฐหรือของสังคมอะไรต่างๆ มากมาย เพราะในอดีตสังคมของเราเป็นชุมชนแต่ละชุมชนที่สำเร็จในตัว เราอยู่กันง่ายๆ แต่พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องการจะมีสถานะอะไรต่างๆ ก็เกิดขึ้น
นอกจากนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็มีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ทำให้แม่ชีซึ่งเดิมนั้นคงอยู่เพื่อแสวงหาชีวิตที่สงบ เพื่อมีโอกาสปฏิบัติในทางวิเวกได้มาก ก็กลายเป็นว่า ต่อมาแม่ชีมีภาพเสียหาย เพราะมีแม่ชีที่ไปเที่ยวขอทาน เมื่อไม่นานมานี้มีคนมาเล่าว่า ที่ศูนย์การค้าบางแห่ง ซึ่งมีฝรั่งมามาก มีแม่ชีไปขอทาน ไปเที่ยวขอเงินจากฝรั่ง อย่างนี้ก็เสียหมด
นอกจากนั้น ในยุคหลังๆ มาถึงปัจจุบันนี้ แม่ชียังมีภาพเสียหายในด้านอื่นอีก เช่นว่า เป็นคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ตลอดจนเป็นคนอกหัก อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นเรื่องของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งบางทีผู้ที่อยู่ในระบบชีวิตแบบนั้นเองเป็นผู้ทำให้เสื่อมเอง เมื่อตัวแม่ชีปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งถ้าคนทั่วไปหรือสังคมส่วนรวมไม่ช่วยรักษา ก็ย่อมเสื่อมลงไป
แม้แต่พระภิกษุก็เหมือนกัน อย่างเวลานี้เมื่อมีพระภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสียมากๆ ภาพพระภิกษุเองก็เสื่อม ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายอย่างนี้ต่อไป สภาพก็จะไม่ต่างจากแม่ชี ต่อไปคนจะมองพระเสียหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ ในทางพระศาสนาถือว่า พระภิกษุเป็นบรรพชิต เป็นสมณะ ซึ่งตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์สอนว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี บรรพชิตเป็นผู้ไม่ทำร้ายคนอื่น สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นจึงเป็นสมณะ
ตามหลักการนี้ ภาพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็คือเป็นผู้ที่ไม่มีภัย คนไปพบพระที่ไหนก็ใจสบาย มีความร่มเย็น คนสมัยก่อนไปในป่า ในที่เปลี่ยว ในที่น่ากลัว พอเจอพระ ใจก็มา โล่งอก สบายใจเลย คือหมดภัยอันตราย แต่ภาพสัญลักษณ์นี้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี บางทีเจอพระ หรือแต่งเป็นพระจริง คือภายนอกห่มผ้ากาสาวพัสตร์จริง แต่ภายในเป็นพระหรือเปล่า คนชักจะไม่ไว้ใจ ไปเจอพระแทนที่จะปลอดภัย เลยชักหนักใจ อย่างนี้ก็ไม่ไหว
ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายกันมาก ไม่เฉพาะแม่ชีหรอก พระภิกษุก็จะหมดสถานะไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะมีสถานะดี ปัจจัยขั้นแรกไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนไกล ก็อยู่ที่คนผู้อยู่ในระบบนั่นเอง ที่จะประพฤติตัวและดูแลกันให้ประพฤติให้ถูกต้องตามหลัก
พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี
ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
แม่ชีเรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องภิกษุณีกันหรือไม่ก็ตาม ก็ขออย่าให้มองข้างเรื่องแม่ชีไป เมื่อแม่ชีมีอยู่ เราทำอย่างไรจะจัดให้ดี ให้มีสถานะเป็นที่น่าเคารพนับถือ ให้มีโอกาสปฏิบัติได้ดีมากที่สุด
พร้อมกันนี้ นอกจากการปฏิบัติในชีวิตส่วนตัว แม่ชียังมีความเป็นอยู่ที่ยืดหยุ่น เชื่อมกับสังคมของชาวบ้านได้ดีกว่าพระภิกษุ เพราะไม่มีวินัยเป็นกรอบมาก เพราะฉะนั้น ถ้าช่วยกันจัดปรับให้ดี แม่ชีของเราจะทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น
๑. เราควรสนับสนุนการศึกษาของแม่ชี และยกย่องสถานะด้วยวิธีการที่จำเป็นตามยุคสมัย
๒. เราควรสนับสนุนให้แม่ชีมีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคมให้มาก เช่น สอนเด็ก เป็นครูอาจารย์ ทำประโยชน์ในกิจกรรมประเภทสังคมสงเคราะห์ต่างๆ
ที่พูดมานี้แหละ คือการตอบคำถามว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วนี้ ทำอย่างไรเราจะมาช่วยกันส่งเสริมหรือจัดทำให้ดี อย่าให้ใครติเตียนได้ว่า ขนาดสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม เราก็ยังไม่สามารถทำให้ดีได้ จะคอยแต่ตื่นสิ่งใหม่ แล้วสิ่งใหม่นั้นต่อไปก็คงไม่ได้เรื่องอีก
มันจะเหมือนกับเป็นเครื่องฟ้องว่า สิ่งที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดี แล้วจะไปตื่นสิ่งใหม่ แล้วต่อไปสิ่งใหม่นั้นจะได้เรื่องหรือเปล่า ไม่ช้าก็คงเข้าแบบเดียวกัน ถ้าเหตุปัจจัยอยู่ที่สังคมไทยเอง ไม่มีความสามารถที่จะจัดสิ่งที่ตัวมีให้ดี ถึงจะได้อะไรมาใหม่ ไม่ช้าของดีนั้นก็จะเสื่อมทรามไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจสอบตัวเองว่าเหตุปัจจัยอยู่ที่ไหน ถึงเวลาที่ต้องศึกษาและพัฒนาตัวเอง
เป็นอันว่า จะพูดเรื่องภิกษุณีหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดทำให้ดี ก็คือเรื่องแม่ชี เราควรจะต้องมาช่วยกันให้โอกาสแม่ชี ด้วยการสนับสนุนต่างๆ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของสตรีแก่สังคม และแก่พระศาสนามาก
ในพุทธกาลเอง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับพระภิกษุ ก็ทรงจำแนกว่า พระภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นมัชฌิมะ เป็นนวกะ ภิกษุณีก็เป็นเช่นเดียวกัน มีเถรี มัชฌิมา นวกา ในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา พระพุทธเจ้าก็ตรัสแยกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นอุบาสกและอุบาสิกาประเภทพรหมจารี ถือพรหมจรรย์ กับอุบาสกอุบาสิกาที่ไม่ได้ถือพรหมจรรย์ เรียกว่าเป็นกามโภคี คือเป็นผู้อยู่ครองเรือน
พุทธพจน์นี้แสดงว่า อุบาสิกาประเภทที่เป็นพรหมจารี มีมาแต่พุทธกาลแล้ว ถ้าว่าไปแล้ว แม่ชีก็เป็นอุบาสิกาประเภทนี้ คือประเภทที่ท่านเรียกว่า โอทาตวสนา พรหมจารินี แปลว่า เป็นผู้นุ่งห่มขาว ถือพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรจะได้รับความเคารพนับถือ แต่เดี๋ยวนี้เราเอาใจใส่แค่ไหน
อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราต้องพยายามจัดสิ่งที่มีอยู่ให้ถูกต้อง และต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ บางคนที่พูดถึงเรื่องภิกษุณีก็ไม่ได้รู้ไม่ได้ศึกษาหลัก ได้แต่แสดงความเห็นเรื่อยไป เราควรจะพูดในสิ่งที่ตนรู้ การแสดงความเห็นนั้น ต้องมาคู่กับการหาความรู้
การแสดงความคิดเห็น
ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
การศึกษาปัจจุบันเดี๋ยวนี้พูดกันบ่อยว่า เด็กไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น จะต้องสนับสนุนให้เด็กแสดงความเห็น อย่าลืมว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ประเทศที่จะเจริญต้องเน้นการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้ และบนฐานของความรู้นั้น จึงแสดงความคิดเห็นได้เป็นหลักเป็นฐาน
ถ้าไม่มีความรู้ ไม่รู้เรื่องราว ก็ได้แค่แสดงความคิดเห็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็น ต้องมาคู่กับการหาความรู้ ให้ความคิดเห็นเกิดจากความรู้ความเข้าใจ และเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นที่มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ
ถ้าเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจก็พูดไป อย่างนั้นพูดได้แค่ว่าฉันต้องการอะไร แต่ถ้าจะก้าวต่อไปว่า ที่ฉันต้องการนั้นควรจะได้หรือไม่แค่ไหน ตอนนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ จะเอาแต่ชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้ ฉะนั้น การศึกษาทั่วไปนี้ อย่าเอาแค่ส่งเสริมให้เด็กชอบแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวก็แสดงความคิดเห็นเหลวไหลไร้สาระ เอาแค่มาพูดแข่งกัน ข่มกัน ทะเลาะกัน ไม่เป็นเรื่อง
การที่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็เพราะต้องการจะส่งเสริมสติปัญญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ ให้ได้แก่นสาร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมการหาความรู้ขึ้นมาเป็นคู่กัน โดยเฉพาะจะต้องส่งเสริมลักษณะนิสัยให้มีคุณสมบัติเป็นคนใฝ่รู้
ในประเทศที่คนไม่มีความใฝ่รู้ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนั้น จะไม่มีแก่นสารอะไร ข้างในกลวงหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า ถ้าการศึกษาไปเน้นในด้านการแสดงความคิดเห็น ก็เป็นการข้ามขั้นตอนไป เพราะฉะนั้น จะต้องหันไปเน้นด้านการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะต้องสร้างความเป็นคนใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นแกน แล้วการแสดงความคิดเห็นจึงจะไปได้ดี
เวลานี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่แล้ว ที่ว่าคนมักชอบแสดงความคิดเห็นกันมาก โดยไม่หาความรู้ และเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแค่ชอบใจไม่ชอบใจแล้ว ก็เลิกกัน หรือทะเลาะกัน ขัดใจกัน ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ และไม่หาความรู้ต่อไป
หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้เป็นขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า เมื่อรับรู้ด้วยตาหูจมูกเป็นต้น ไม่ใช่ว่าได้เห็นได้ยินแล้วก็ได้แค่ยินดียินร้าย ตาเห็นรูป พอถูกตาก็ชอบใจ ไม่ถูกตาก็ไม่ชอบใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสเริ่มด้วยเรื่อง อินทรียสังวร ว่า ให้รับรู้ดูฟังด้วยสติ ทำให้ได้ความรู้ ได้ปัญญา ท่านให้มองอะไรด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่มองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ
เรื่องนี้เป็นหลักขั้นต้นสำหรับพุทธศาสนิกชนว่า จะมองอะไรไม่ใช่มองแค่ชอบใจไม่ชอบใจ แต่ต้องมองด้วยความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ต้องมองตามเหตุปัจจัย ตอนนี้มีหลายใจนะ อย่างที่หนึ่งต้องตัดทิ้งคือมองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ ให้เปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย แล้วก็มองด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือมองเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจ
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ชีวิตของตัวเองก็ไม่งอกงาม สังคมก็ไปดีไม่ได้ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พึงนำมาใช้ แม้แต่ในการถกเถียงปัญหาของสังคม
|
Update : 10/6/2554
|
|